13 พ.ย. เวลา 15:29 • สุขภาพ

Pharmacy First ของร้านยาอังกฤษต่างจากโครงการ CI ของไทยอย่างไร

จากดราม่าโครงการ common illness หรือ CI ที่แพทย์สภาฟ้องสภาเภสัชฯและ สปสช. ทำให้เกิดข้อโต้เถียงเป็นวงกว้าง ถึงความเหมาะสมของโครงการ CI ลุกลามไปจนถึงการเรียกร้องระบบสั่งจ่ายยาแบบ Prescription อย่างในหลายประเทศแถบตะวันตก คือแพทย์มีหน้าที่วินิจฉัยและกำหนดแนวทาางการรักษา ส่วนเภสัชกรมีหน้าที่จ่ายยา แบ่งหน้าที่กันชัดเจน
รศ.ดร.ภก. วิทยา กุลสมบูรณ์ จากมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ออกมาให้ทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยยกกรณีตัวอย่างของประเทศอังกฤษ ถึงบริบทของเภสัชกรต่อการให้บริการสาธารณสุขในชื่อ Pharmacy First ซึ่งใกล้เคียงกับบทบาทของเภสัชกรในไทย
บริการ Pharmacy First หรือแปลเป็นไทยแบบโต้งๆก็คือ "ไปพบเภสัชฯก่อน" สร้างขึ้นจากบริการ NHS Community Pharmacist Consultation Service ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2019 บริการให้คำปรึกษานี้เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อไปยังร้านขายยาในชุมชนเพื่อรักษาอาการป่วยเล็กน้อยหรือจัดหายาซ้ำเร่งด่วน
ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการอัพเดทในวันที่ 31 มกราคม 2024 ได้เพิ่มจากบริการให้คำปรึกษาเดิม โดยอนุญาตให้ร้านขายยาในชุมชนสามารถให้การดูแลสุขภาพสำหรับอาการทั่วไป 7 ประเภท ตามแนวทางการรักษาที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย
-หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
-โรคเริมหรือโรคพุพอง
-แผลติดเชื้อจากแมลงกัดต่อย
-งูสวัด
-ไซนัสอักเสบ
-เจ็บคอ
-การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะชนิดไม่ซับซ้อน (ผู้หญิงอายุ 16-64 ปี)
1
ประโยชน์ของบริการ Pharmacy First
อังกฤษก็พบปัญหาคล้ายๆไทยคือเรื่องของการเข้าถึงการรักษาและความล่าช้าในการให้บริการ โครงการ Pharmacy First ช่วยลดจำนวนการนัดหมายกับแพทย์ทั่วไป ทำให้ผู้ที่ต้องการการรักษาด่วนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและสะดวกขึ้น โดยรวมถึงการจัดหายาที่เหมาะสมสำหรับ 7 อาการทั่วไป เช่น ปวดหู เจ็บคอ และติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจลุกลาม
ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอังกฤษต่อร้านขายยาในชุมชนพบว่า ผู้ป่วยกว่า 90% ที่ได้รับคำแนะนำจากร้านขายยาในปีที่ผ่านมา รายงานว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำที่ดี
รัฐบาลและ NHS England มุ่งมั่นที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม แผน NHS ระยะยาวยังเน้นการใช้ทักษะและโอกาสของเภสัชกรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเข้าถึงผู้ป่วย
สำหรับ 7 อาการทั่วไป เภสัชกรจะปฏิบัติตามแนวทางการรักษาที่เข้มงวด รวมถึงคำแนะนำในการดูแลตนเองและการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเฝ้าระวังอาการ และหากเหมาะสมจะจัดหายาบางชนิดที่ต้องใช้ใบสั่งยาตามการอนุญาตโดยไม่ต้องพบแพทย์ทั่วไป
แนวทางการรักษาเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา รวมถึงแพทย์ทั่วไป เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญด้านการดื้อยาปฏิชีวนะ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรระดับชาติ เช่น สถาบัน National Institute for Health and Care Excellence (NICE) และ UK Health Security Agency เพื่อให้มั่นใจว่าขั้นตอนการรักษานี้สอดคล้องกับการดูแลที่ผู้ป่วยจะได้รับจากแพทย์ทั่วไปและเป็นไปตามแนวทางระดับชาติที่ทันสมัย
จากบริบทดังกล่าวเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับโครงการ common illness ของไทยก็พบว่ามีทั้งจุดเหมือนและจุดต่าง โดยไทยจำกัดประเภทของยา ในขณะที่อังกฤษเคร่งครัดและจำกัดอาการเจ็บป่วย ทำให้กรอบการจ่ายยาของร้านยาแบบอังกฤษโดยไม่มีใบสั่งแพทย์นั้นแคบกว่า และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์โดยเคร่งครัด
จากตัวอย่างนี้อาจกำลังเตือนใจทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า การตีกันให้ตายไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรต่อทั้งวิชาชีพและประชาชน แต่การมีหน่วยงานกลางอย่าง National Institute for Health and Care Excellence (NICE) และ UK Health Security Agency ที่เป็นไม้บรรทัดให้การประกอบเวชปฏิบัติและเภสัชกรรมชุมชน รวมถึงนำบทเรียนของอังกฤษมาปรับใช้ จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง ขอเพียงทุกฝ่ายมองผลประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ
1
อ้างอิง
โฆษณา