14 พ.ย. 2024 เวลา 02:22 • สุขภาพ

หัวรั้น ไม่ฟังใคร เอาแต่ใจเป็นที่หนึ่ง สิ่งใดที่เปลี่ยนใครบางคนให้มีอีโก้สูงล้นฟ้า

และหลงคิดว่าทุกอย่างต้องหมุนรอบตัวเอง
คุณคิดว่าตัวเองเป็นคน ‘ดื้อ’ ขนาดไหน?
คำว่า ‘ดื้อ’ ในที่นี้รวมทุกอาการดื้อ ทั้งดื้อแพ่ง ดื้อด้าน ดื้อดึง ดื้อเงียบ หรือคำอื่นใดก็แล้วแต่ที่ใช้อธิบายท่าทีและการแสดงออกว่าเป็นคน ‘หัวรั้น’ เพราะถือความคิดของตนเป็นใหญ่ แล้วผลักคำติเตียนหรือความเห็นต่างของใครๆ ให้กลายเป็นแค่ส่วนเกินหรือสิ่งระคายหูที่สร้างความรำคาญได้ตลอดเวลา จึงไม่เคยเปิดใจกว้างลองรับฟังสักครั้งว่า หลักใหญ่ใจความในคำทักท้วงของคนที่หวังดี ย่อมมีประโยชน์ให้เก็บกลับมาคิดทบทวนมากกว่าจะปล่อยให้ผ่านเลยไปเฉยๆ
ในความเป็นจริง เราทุกคนต่างมี ‘ความดื้อ’ อยู่ในตัวด้วยกันทั้งนั้น เพราะความดื้อคือเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ตลอดช่วงชีวิต เพียงแต่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในวัยเด็กที่ยังไร้เดียงสา วัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และวัยชราที่หยิ่งทะนงในประสบการณ์เดิมและยึดมั่นในขนบคร่ำครึ จนหลงคิดเข้าข้างว่าตัวเองผิดไม่เป็น
ส่วนวัยผู้ใหญ่ (อายุระหว่าง 21 ถึง 60 ปี) เมื่อเป็นวัยที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เท่ากับถูกคาดหวังให้มีวุฒิภาวะและวิจารณญาณในการใช้ชีวิต คือดูแลตัวเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีหลักประกันใดรับรองได้ว่า
ผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะผู้ใหญ่บางคนไม่ใช่แค่ดื้อธรรมดา แต่ความดื้อรั้นในตัวกลับเข้มข้นและรุนแรงมากกว่าวัยไหนๆ
บ่อยครั้งที่ความดื้อรั้น (Stubbornness) ในวัยผู้ใหญ่ ก่อให้เกิดปัญหาและความวุ่นวายต่อคนใกล้ชิดและคนที่อยู่รายล้อม ในสายตาของคนที่ได้รับผลกระทบหรือคนที่รับรู้ได้ถึงความดื้อ จึงมองเห็นคนคนนี้ว่าเป็นคนมลพิษที่ไม่น่าคบหาได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกออกห่างจากคนหัวดื้อได้ทันทีอย่างใจคิด เพราะต่อให้ไม่อยากยุ่งเกี่ยวขนาดไหน
หากถ้าเป็นคนที่ต้องทำงานด้วย โดยเฉพาะหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน คงต้องมองหาหนทางใหม่ว่า จะทำอย่างไรให้รู้เท่าทันนิสัยเสียของคนที่จ้องเอาแต่ใจ ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่า เราไม่ได้เป็นคนหัวดื้อเสียเอง
ข้อสำคัญที่บ่งชี้ได้เลยว่า ใครเป็นคนหัวดื้อ คือ การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่พอใจที่คนอื่นเห็นต่างจากสิ่งที่ตนกำลังคิดและทำ โดยไม่สนใจความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ เพราะปักใจเชื่อว่าทุกสิ่งที่ออกมาจากความตั้งใจของตัวเองเป็นสิ่งดีที่สุด
จึงยอมรับไม่ได้และมีท่าทีต่อต้านทุกครั้ง หากใครมาวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนะให้ปรับวิธีคิดและเปลี่ยนวิธีทำหรือล้มเลิกสิ่งนั้น
ในทางกลับกัน หากมีคนเห็นด้วยคอยสนับสนุน จะยิ่งรู้สึกดีและยืนกรานทำสิ่งที่ตรงกับความคิดและความเชื่อต่อไป คนหัวดื้อจึงแสดงอาการดื้อให้เห็นเฉพาะตอนที่ตนกำลังถูกขัดใจเท่านั้น ไม่ได้ดื้อรั้นอยู่กับทุกเรื่องตลอดทุกเวลา
แต่อาการดื้อรั้นที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นนิสัยเสีย ในบางสถานการณ์ก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะช่วยให้เรายืนหยัดและไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันของใครก็ตามที่ตั้งใจมุ่งร้ายหวังโจมตีตัวบุคคล เมื่อสิ่งที่เราทำกำลังขัดขวางผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำลายความน่าเชื่อถือจอมปลอม หรือกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียบางอย่างของใครคนนั้น
ดังนั้น สิ่งที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินชี้ขาดได้ว่า ตกลงใครกันแน่เป็นคนหัวดื้อไม่ฟังใครตัวจริง ก็คือ วุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity) เพราะทำให้เราตระหนักรู้อารมณ์ของตนและจัดการอารมณ์ไม่พึงประสงค์ได้
(ในที่นี้คือ ความดื้อรั้นเอาแต่ใจ) โดยไม่ละเลยต่ออารมณ์และความต้องการของผู้อื่น รู้จักคิดเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักระหว่างความถูกต้องกับความถูกใจ ก่อนสนองตอบเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย เพื่อรักษาความรู้สึกและสัมพันธภาพที่ดีเอาไว้
แตกต่างจากคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำอย่างสิ้นเชิง เพราะคนแบบนี้จะยิ่งดื้อรั้นและยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล กลายเป็นคนอีโก้สูงจนมองไม่เห็นหัวใคร
สาเหตุที่ทำให้คนเรากลายเป็นคนแบบนั้นได้ คือมีคนให้ท้าย เป็นไปได้ว่าถูกเลี้ยงดูอย่างตามใจมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นจึงติดนิสัยเอาแต่ใจ อยากได้อะไรต้องได้ ถือความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง เป็นคนชอบบงการและตัดสินผู้อื่นว่าไม่มีอะไรดีเทียบเท่าตน จึงไม่มีค่ามากพอให้สนใจ
หากเจาะลึกเข้าไปในตัวตน (ego) ที่สร้างขึ้นมาจากความเชื่อที่มีต่อตัวเอง จะพบเหตุผลที่ทำให้คนดื้อรั้น เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สบายใจหากต้องยอมรับความจริงว่า ความเชื่อซึ่งเป็นหลักยึดเหนี่ยวไว้นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควร แล้วความถือมั่นปล่อยวางไม่เป็นนี่เอง เป็นตัวการให้คนหลงคิดว่ากำลังจะถูกหักหน้าให้พ่ายแพ้ จึงดึงดันแข็งกร้าวต่อไป ใช้ความดื้อเป็นกลไกปกป้องตัวเองไม่ให้เป็นคนล้มเหลว พยายามรักษาความเชื่อที่เป็นทั้งจุดยืนเดียวและจุดอ้างอิงการมีอยู่ของตัวตนและคุณค่าในมุมมองของตัวเอง
เมื่อต้นตอของการเป็นคนหัวรั้นอีโก้สูงเกิดจากความเชื่อและวุฒิภาวะ วิธีเปลี่ยนแปลงตนเองไม่ให้ความมั่นอกมั่นใจไปทำร้ายคนอื่นและกลับมาทำลายตัวเอง เริ่มต้นที่การยอมรับก่อนว่า เราทุกคนผิดพลาดกันได้ ไม่โทษหรือตีตราว่าตัวเองเป็นคนขี้แพ้ สิ่งที่เราต้องทำคือเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าที่เคย โดยไม่ลืมรับฟังเสียงของคนอื่น เพราะคนที่เตือนด้วยความหวังดี มักจะเห็นมุมต่างที่เรามองข้ามไป
นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักประนีประนอม ต่อรอง หรืออ่อนข้อบ้างในบางครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องการทำงาน เลือกทำสิ่งที่ช่วยให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายในที่สุด แต่ก็ต้องไม่ยอมจนถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบได้ ระวังตนไม่ให้สุดโต่ง แต่ก็ไม่ยืดหยุ่นเกินพอดี
สำหรับคนที่ต้องข้องเกี่ยวกับคนหัวดื้อเอาแต่ใจส่วนมาก แทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย ที่เราจะเปลี่ยนแปลงความคิดของเขา ให้ทำใจและทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเป็น อะไรปล่อยผ่านได้ให้ปล่อยผ่าน ไม่มีประโยชน์หากเก็บคำพูดเหยียดหยามของคนหัวดื้ออีโก้สูงเอามาคิดเล็กคิดน้อย
เพราะเป็นคำพูดของคนที่มีแต่ความเกลียดชัง ยิ่งปะทะ ยิ่งมีปัญหาไม่จบสิ้น จึงควรพูดคุยเท่าที่จำเป็น และเน้นข้อมูลที่เป็นเหตุผล เพื่อเพิ่มน้ำหนักคำพูดของเราให้น่าเชื่อถือ พยายามไม่แสดงความคิดเห็นที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์หรือความรู้สึก เพราะจะกลายเป็นเป้าให้ถูกโจมตีได้
แม้ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะรับมือกันได้ง่ายๆ แต่ขอให้ภูมิใจและมั่นใจว่า ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างก็มีความดื้อดึงในบางเรื่องอยู่ในตัว อย่างน้อยตัวเราก็ไม่ได้เป็นคนเอาแต่ใจไร้เหตุผลแบบนั้น
ที่มา
APA. Schultz, D., & Schultz, S. E. (2016). Theories of personality (11th ed.). CENGAGE Learning Custom Publishing.
Santrock, J. W. (2008). Life-Span Development (12th ed.). McGraw-Hill Education.
VandenBos, G. R. (2015). APA Dictionary of Psychology (2nd ed.). American Psychological Association.
โฆษณา