Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTVHD36
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 พ.ย. เวลา 11:30 • ไลฟ์สไตล์
ลอยกระทง 2567: เปิดคำขอขมาพระแม่คงคา ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง
วันลอยกระทง 2567 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการ ‘ขอขมาพระแม่คงคา’
ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่อยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ทุกปีจะมีการทำกระทงจากใบตอง และใช้ดอกไม้มาประดับด้วยความประณีตงดงาม ก่อนจะนำไปลอยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อขอขมาและบูชาพระแม่คงคา เป็นการแสดงความขอบคุณที่ทำให้มนุษย์ได้มีน้ำให้ใช้ในการดำรงชีวิต และเพื่อตระหนักอยู่เสมอว่าต้องใช้แหล่งน้ำด้วยการรักษาความสะอาด ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด
ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา
‘ลอยกระทง’ มีตั้งแต่เมื่อไร และทำไมต้องลอย!?
จากเอกสาร ‘ลอยกระทง ขอขมาธรรมชาติ’ โดยอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวไว้ว่า ลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีร่วมกันของชุมชนทั้งสุวรรณภูมิ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ มีเพื่อใช้ขอขมาธรรมชาติ ผืนดิน ผืนน้ำ ทั้งนี้ไม่มีการระบุแน่ชัดว่ามีการลอยกระทงตั้งแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ ‘ผี’ นั้นมีมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีแล้ว
แน่นอนว่าผีนั้นก็คือ ผีดิน และผีน้ำ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “แม่คงคา” และ “แม่ธรณี” คนในสมัยตระหนักรู้ได้ว่ามีชีวิตอยู่ได้ด้วยดินและน้ำ เมื่อเรามีชีวิตอยู่รอดได้หนึ่งปี จึงมีการขอขมาที่ได้ล่วงเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียบย่ำ ถ่ายของเสีย ซึ่งก็มีการบูชาไปพร้อม ๆ กับการขอขมา ด้วยการใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ให้ลอยไปกับน้ำเป็นการบูชานั่นเอง
ต่อมาหลังจากมีศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียแล้ว ก็ได้ปรับพิธีกรรมจากการบูชาผีให้เข้ากับหลักศาสนามากขึ้น ทำให้ความหมายของการ ‘ลอยกระทง’ เปลี่ยนไป เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดาแทน
10 วัตถุประสงค์ของการลอยกระทง
10 วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการ ‘ลอยกระทง’
หากถามว่าเราลอยกระทงเพื่ออะไร ก็จะมีคำตอบที่หลากหลาย ตามแต่ละประเพณี ความเชื่อในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสรุปออกมาได้ ดังนี้
1. เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพุทธมารดา
2. เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งบรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
3. เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับรอยพระบาท ประดิษฐานไว้บนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีในอินเดีย
4. เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระ ที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล ซึ่งตำนานเล่าว่าเป็นพระเถระที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
5. เพื่อบูชาท้าวพกาพรหมบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
6. เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ
7. เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคาที่มนุษย์ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป
8. เพื่อระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
9. เพื่อสะเดาะเคราะห์หรือลอยทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ คล้ายพิธีลอยบาปของพราหมณ์
10. เพื่ออธิษฐานขอสิ่งที่ปรารถนา
คำขอขมาพระแม่คงคา
เปิดคำขอขมาพระแม่คงคา
เพื่อการขอขมาพระแม่คงคา ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำลำคลอง ทำให้แหล่งน้ำสกปรก จึงควรมีการกล่าวคำขอขมาอย่างถูกต้อง โดยพระเทพปฏิภาณเวที หรือเจ้าคุณพิพิธ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ
● สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ●
หรือกล่าวเป็นภาษาไทย (แบบย่อ) ว่า
"วันนี้วันเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่น เป็นศุภสมัย ลูกจัดกระทง ประสงค์จงใจ นำมากราบไหว้ พระแม่คงคา เทวาทรงฤทธิ์ ซึ่งสิงสถิต ทุกสายธารา ทั้งผีพรายน้ำ อย่าซ้ำโกรธา ลูกขอขมา อโหสิกรรม ทำกิจใดใด อุทกภัย อย่าได้เติมซ้ำ อย่าพบวิบัติ ข้องขัดระกำ อย่าให้ชอกช้ำ น้ำท่วมพสุธา อย่าให้สินทรัพย์ ต้องพลันย่อยยับ เพราะสายธารา อย่าให้ชีวิต ต้องปลิดชีวา พระแม่คงคา รับขมาลูก เทอญ"
พร้อมอธิษฐานขอพรจากพระแม่คงคา
มะยัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน ฐิตัง มุนิโน
ปาทะวะลัญชัง อะภิปูเชมะ อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะลัญชัสสะ ปูชา
อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
"ข้าพเจ้า...(ชื่อ-นามสกุล)...ขอกราบสักการะบูชา แด่รอยพระพุทธบาท
ที่ประทับอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ข้าพเจ้ากราบขอขมาพระแม่คงคา
ผู้ยังประโยชน์และชีวิตแก่ข้าพเจ้า ด้วยการกราบไหว้อย่างยิ่ง การบูชาอย่างยิ่ง
ด้วยประทีปและเศียรเกล้า และขอความสุขสวัสดีพึงมีแก่ข้าพเจ้า…(ชื่อ-นามสกุล)...
และครอบครัว ตลอดกาลนานเทอญ"
ทั้งนี้ หากไม่สะดวกในการขอขมาและอธิษฐานแบบยาว ก็สามารถตั้งนะโม 3 จบ พร้อมระลึกถึงพระแม่คงคา ก็สามารถทำได้เช่นกัน
การแสดงแสงสีเสียง จังหวัดสุโขทัย
ลอยกระทง
กิจกรรมดี ๆ ในวันลอยกระทง
ร่วมกันทำความสะอาดแหล่งน้ำ ลำคลอง ทั้งก่อนและหลังงานลอยกระทง เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
สร้างกุศลด้วยการทำบุญ ทำทาน
ประดิษฐ์กระทงด้วยวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
จัดกิจกรรมการละเล่น หรือการแสดงท้องถิ่น
ลดการเล่นพลุ ประทัด หรือวัสดุที่เป็นอันตรายในที่สาธารณะ และชุมชน
‘การลอยกระทง’ เป็นประเพณีที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ในปัจจุบันที่คนให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้การลอยกระทงนั้นเบาบางลงไป รวมถึงมีการคัดสรรกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของมนุษย์ จึงทำให้เกิดการลอยกระทงออนไลน์ขึ้นในหลายเว็บไซต์ แสดงให้เห็นแล้วว่า คนไทยไม่เคยลืมประเพณีลอยกระทง แต่พยายามรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด ตรงตามวัตถุประสงค์ของประเพณีลอยกระทงอย่างแท้จริง
สุขสันต์วันลอยกระทง 2567
ขอบคุณข้อมูลจาก: หนังสือลอยกระทง รักษ์น้ำ รักษ์วัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/news/8C/210836
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTVHD36 :
https://www.facebook.com/PPTVHD36
YouTube :
www.youtube.com/@PPTVHD36
ไลฟ์สไตล์
เทศกาล
ลอยกระทง
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย