เมื่อวาน เวลา 06:06 • การเมือง

ทรัมป์กับศิลปะแห่งการคาดเดาไม่ได้ - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

เราต่างพยายามทำนายกันว่าทรัมป์จะทำอย่างที่หาเสียงไหม จะทำอันไหน ทำแค่ไหน แต่ผมแอบสงสัยว่าแม้แต่ตัวทรัมป์เองก็ยังไม่รู้เองจริงๆ ด้วยซ้ำว่าจะทำอะไรแบบไหนบ้าง
เพราะทรัมป์มักจะชอบพูดเสมอว่าอาวุธของเขาคือ ความคาดเดาไม่ได้ (Unpredictability) คนลักษณะแบบทรัมป์ไม่มีคำตอบตายตัว พร้อมปรับเปลี่ยนจุดยืนและวิธีไปตามสถานการณ์ และตามผลการเจรจายื่นหมูยื่นแมว
นี่คือลักษณะที่ตรงกันข้ามกับไบเดน ตลอด 4 ปี ของไบเดนมีความเสถียรทางนโยบายสูงมาก ไบเดนไม่เคยเปลี่ยนทีมงานรอบตัว ไม่ว่าทีมงานด้านเศรษฐกิจ ต่างประเทศ และความมั่นคง โดยนโยบายเศรษฐกิจ การต่างประเทศและความมั่นคงของไบเดนก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ตลอด 4 ปี ทำให้คาดเดาได้ค่อนข้างแน่นอนแม่นยำว่าเขาจะทำอะไร ไม่ทำอะไร
ไบเดนยังมีจุดยืนเชิงอุดมการณ์ที่ชัดเจน มีบางเรื่องเจรจาไม่ได้ เช่น เรื่องยูเครนจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ หรือเรื่องมาตรการกีดกันเทคโนโลยีจีน เพราะไบเดนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องความมั่นคง และการปกป้องโลกเสรี แต่ทรัมป์ไม่มีแนวคิดจุดยืนอุดมการณ์เส้นตายแบบนั้น สำหรับทรัมป์ทุกเรื่องสามารถเจรจาแลกเปลี่ยนได้หมด
1
ทรัมป์เคยอธิบายว่า หากเขาอยู่ในตำแหน่ง ปูตินจะไม่กล้าบุกยูเครน เพราะปูตินจะกลัวความไม่แน่ไม่นอนคาดเดาไม่ได้ของทรัมป์ แม้มีความเป็นไปได้เพียง 1% ที่ทรัมป์จะเอานิวเคลียร์ถล่มปูติน ปูตินก็คงไม่กล้าเสี่ยง แตกต่างจากไบเดนที่ก่อนปูตินจะบุกยูเครน ไบเดนได้สื่อสารกับปูตินอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะทำอะไรบ้างหากปูตินเลือกที่จะบุกยูเครน (ซึ่งหลักๆ คือสหรัฐฯ จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงิน และจะส่งอาวุธช่วยยูเครน)
แต่ไบเดนเผยชัดเจนกับปูตินแต่แรกว่าสหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารไปรบกับรัสเซียเด็ดขาด ความคิดของไบเดนคือต้องการจะบอกปูตินให้ชัดแต่ต้นว่าห้ามหาข้ออ้างมาถล่มสหรัฐฯ นะ แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่านี่จึงเป็นเหตุผลที่ปูตินไม่กลัวสหรัฐฯ เพราะรู้แน่ชัดถึงเพดานของมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ ว่ายังไงก็ไปไม่ถึงการรบกับรัสเซียโดยตรง
ส่วนประเด็นเรื่องยูเครนขอเข้าร่วมนาโต้ ไบเดนมองว่าเป็นเรื่องเชิงหลักการที่เอามาเจรจาไม่ได้ ปูตินจะมาบอกได้อย่างไรว่าประเทศไหนเข้าร่วมกลุ่มไหนได้ไม่ได้ และหากยอมปูตินครั้งนี้ ปูตินได้คืบเอาศอกแน่ แต่ทรัมป์และทีมทรัมป์นั้นชัดเจนว่า การเจรจายุติสงครามยูเครนนั้น ประเด็นยูเครนจะต้องไม่เข้านาโต้สามารถเอามาเจรจาได้ และมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะตกลงกับปูตินในประเด็นนี้
หลายคนตกใจมากที่ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่าทรัมป์ไม่ได้มองไต้หวันเป็นเพื่อนตายที่ต้องช่วยไต้หวันสู้กับจีน ตรงข้ามทรัมป์พูดแบบไม่เกรงใจไต้หวันว่าไต้หวันควรต้องจ่ายเงินให้สหรัฐฯ ที่ต้องคอยคุ้มครองไต้หวัน แต่ความคาดเดาไม่ได้ของทรัมป์ว่าตกลงจะช่วยไต้หวันหรือไม่ ย่อมทำให้ไต้หวันเองก็คงไม่กล้าจะยกระดับท่าทีดุดันกับจีนจนเกินไป เพราะไม่รู้ว่าข้ามเส้นแดงของจีนเมื่อไหร่ จะถูกสหรัฐฯ ลอยแพหรือไม่
เมื่อไต้หวันลดความร้อนแรงกับจีนลง จีนก็ไม่มีข้ออ้างอะไรที่จะมายกระดับความร้อนแรงต่อไต้หวัน ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันจึงน่าจะลดลง ในขณะเดียวกัน ด้วยความคาดเดาไม่ได้ของทรัมป์ จีนเองก็เดาไม่ถูกเหมือนกันว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยไต้หวันหรือไม่มาช่วย เพราะสหรัฐฯ ในยุครัฐบาลทรัมป์วาระแรก จริงๆ แล้วได้ขายอาวุธให้ไต้หวันเป็นปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์
แตกต่างจากในยุคไบเดนที่ไบเดนออกมาพูดแล้วพูดอีกว่าจะช่วยไต้หวันหากจีนบุกไต้หวัน แถมแนนซี เพโลซี ประธานสภาฯ และผู้นำพรรคเดโมแครตก็ไปเยือนไต้หวันเพื่อแสดงการสนับสนุน ไต้หวันเองก็มั่นใจว่าอเมริกาอยู่ข้างไต้หวันแน่ ก็ยิ่งดุดันกับจีนแบบไม่เคยเป็นมาก่อน จีนเองก็ดุดันตอบโต้ออกมาซ้อมรบโชว์ จนความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันแตะระดับสูงที่สุดและสูงกว่าในยุครัฐบาลทรัมป์ 1 หลายเท่า
เรื่องสงครามการค้าเองก็เช่นกัน ทรัมป์อาจทำแบบที่หาเสียงไว้ ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนร้อยละ 60 และขึ้นภาษีสินค้าทั่วโลกร้อยละ 10 หรืออาจยังไม่ทำ ขู่ไปก่อนเพื่อเรียกมาเจรจา หรืออาจทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทีละกลุ่มสินค้า แบ่งทีละ Phase หรืออาจทำรวดเดียวเลย แต่ก็พร้อมจะเลิก พร้อมจะลด หากจีนยอมช่วยสหรัฐฯ โดยให้ประโยชน์สหรัฐฯ หรือซื้อของสหรัฐฯ มากขึ้น
ทั้งหมดไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว ไม่มีอะไรทำแล้วไม่เปลี่ยน ไม่มีอะไรที่เจรจาไม่ได้ พร้อมขึ้นพร้อมซัด แต่ก็พร้อมลดพร้อมเลิก ลดแล้วเลิกแล้วก็กลับมาขึ้นใหม่ได้เหมือนให้เรานั่งรถไฟเหาะ ตื่นเต้นตามทวีตเช้าเย็นเหมือนทรัมป์ในยุคแรกนั่นแหละ
ตัวทีมงานทรัมป์ที่เลือกมากับมือเองก็เช่นกัน หากไม่พอใจหรือหากขัดกับทรัมป์ เขาก็พร้อมปลดทุกเมื่อ ดังที่ในยุครัฐบาลทรัมป์ 1 เขาเปลี่ยนที่ปรึกษาด้านความมั่นคงมาแล้ว 6 คน ในเวลา 4 ปี ดังนั้น ถึงแม้เราจะพยายามทำความเข้าใจแนวคิดของทีมงานทรัมป์ เพื่อคาดเดาทิศทางนโยบายของทรัมป์ แต่ทีมงานก็พร้อมถูกปลดและพร้อมไปทุกเมื่อเช่นกัน
จริงๆ แล้ว พิชัยสงครามจีนก็มีสอนเรื่อง The Element of Surprise กล่าวคือการรบแบบคาดเดาไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้ศัตรูนับเป็นสุดยอดศิลปะแห่งสงคราม สำหรับทรัมป์เขาอาจไม่ได้อ่านตำราพิชัยสงครามจีน แต่คงเอามาจากลูกเล่นการทำและเจรจาธุรกิจแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ พร้อมพลิกแพลงตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มีอะไรตายตัว
1
ดังนั้น ถึงแม้ว่าทั้งไบเดนและทรัมป์จะโหดหินกับจีนไม่แพ้กัน แต่สำหรับจีนแล้ว น่าจะดีลกับไบเดนได้ง่ายกว่า เพราะอย่างน้อยรู้แน่นอนว่ากำลังเผชิญกับอะไร แต่เวลาดีลกับทรัมป์ ยากที่จะคาดเดาว่ากำลังจะเจอหมัดอะไร และถึงแม้ดูเหมือนจะเจรจาแลกเปลี่ยนประโยชน์กับทรัมป์ได้ทุกเรื่องก็ตาม
แต่ก็ไม่รู้แน่หรอกว่าทรัมป์จะพลิกกลับไปกลับมาอีกรอบเมื่อไหร่ หรือทรัมป์จะเอากล่องดวงใจของจีนอย่างเรื่องไต้หวันมาเล่นเป็นไพ่บีบจีนหรือไม่หากคุยกับจีนไม่รู้เรื่อง ความคาดเดาไม่ได้ทั้งหมดนี้สำหรับทรัมป์คือศิลปะ สำหรับจีนและโลกคือยุคแห่งความปั่นป่วนอลเวง
โฆษณา