14 พ.ย. เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จุดเริ่มต้น “Amway” ธุรกิจขายตรงที่อยู่คู่โลกมานาน 65 ปี

เปิดประวัติ 65 ปีของ “Amway” ธุรกิจขายตรงสัญชาติอเมริกัน ผู้ยืนหยัดเป็น No.1 ของวงการขายตรงต่อเนื่องเกิน 10 ปี
“ธุรกิจขายตรง” เป็นธุรกิจที่มีลักษณะเด่นคือการเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อลูกค้าตามที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงาน จนเกิดภาพตัวแทนขายตระเวนไปตามหมู่บ้านที่เราคุ้นเคยกันดี
เมื่อพูดถึงธุรกิจขายตรง เชื่อว่าชื่อหนึ่งที่เข้ามาในหัวของทุกคนแทบจะในทันทีต้องเป็น “แอมเวย์” (Amway) อย่างแน่นอน เพราะนี่คือบริษัทที่ไม่ได้โด่งดังแค่ในประเทศไทย แต่เป็นที่รู้จักในฐานะ “ธุรกิจขายตรงอันดับ 1 ของโลก”
Amway ธุรกิจขายตรงยอดขายอันดับ 1 ของโลก
แล้วทราบหรือไม่ว่า แอมเวย์ไม่ใช่ธุรกิจที่เพิ่งเกิดมาแค่ 20 หรือ 30 ปี แต่มีอายุเก่าแก่กว่า 65 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นมาจากสองผู้ก่อตั้งที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายอย่าง “เจย์ แวน แอนเดล” และ “ริช เดอโวส”
เด็กหัวการค้าที่อยากเป็นนายตัวเอง
เจย์เกิดเมื่อปี 1924 ในเมืองแกรนด์แรพิดส์ รัฐมิชิแกน โดยพ่อของเขาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จ แต่ต่อมาได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ ทำให้เจย์ต้องทำงานรับจ้างตัดหญ้าแลกกับค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่เด็ก
ขณะที่ริชเกิดเมื่อปี 1926 ในเมืองเล็ก ๆ ชื่อเอดา ซึ่งอยู่ใกล้กับแกรนด์แรพิดส์ เขาอาศัยอยู่กับปู่ย่าเพราะผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และได้เรียนรู้การขายของตั้งแต่เด็ก เพราะเขามักติดตามปู่ไปขายสินค้า สิ่งแรกที่ริชขายได้คือหัวหอมราคาไม่กี่เซ็นต์
เจย์และริชรู้จักกันครั้งแรกขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนมัธยมแกรนด์แรพิดส์คริสเตียน โดยเจย์นั้นต้องเดินไปโรงเรียนทุกวันซึ่งทำให้เขาเหนื่อยมาก แต่ริชมีรถและขับมาจากเมืองเอดาทุกวัน
เจย์จึงตัดสินใจทำข้อตกลงกับริช โดยขอติดรถไปโรงเรียนด้วยทุกวัน และจะออกค่าน้ำมันให้สัปดาห์ละ 25 เซ็นต์ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนของสองผู้ก่อตั้งแอมเวย์
ด้วยความที่ทั้งคู่ต่างช่วยที่บ้านทำงานหาเงินตั้งแต่เด็กเหมือน ๆ กัน ทำให้เจย์และริชเข้ากันได้ดีมาก ทั้งคู่ยังมีความฝันที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองเหมือนกันอีกต่างหาก เพราะมองว่าเป็นการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้โดยไม่ต้องทำงานอยู่ใต้ใคร
เมื่อเรียนจบ เจย์และริชถูกเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามครั้งที่ 2 แต่ปลดประจำการในปี 1946 จึงเริ่มร่วมกันลงทุนทำธุรกิจแรกนั่นคือธุรกิจ “โรงเรียนฝีกการบิน”
ริชลงทุนเงินเกือบ 700 ดอลลาร์สหรัฐที่เก็บหอมรอมริบไว้ขณะอยู่ในกองทัพเพื่อซื้อเครื่องบินไพเพอร์คับ (Piper Cub) และจับมือกับเจย์เปิดโรงเรียน “Wolverine Air Service” ขึ้นมา โดยมีคำโฆษณาว่า “ถ้าคุณขับรถได้ คุณก็ขับเครื่องบินได้”
ทั้งสองคนขับเครื่องบินไม่เป็น แต่พวกเขาเชื่อว่าการขับเครื่องบินจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาพอ ๆ กับการขับรถยนต์ในอนาคต และจ้างนักบินมาสอน
ปีต่อมา เมื่อพวกเขารู้ว่าไม่มีร้านอาหารอยู่ใกล้โรงเรียนฝึกบินของตนเลย จึงเปิด “Riverside Drive-Inn” เพื่อให้บริการอาหารแก่เด็กนักเรียนและนักบิน แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีประสบการณ์ในการทำอาหารหรือร้านอาหารมาก่อนเลยก็ตาม
นอกจากนี้พวกเขายังมีธุรกิจรถขายไอศกรีม ธุรกิจขายส่ง-ขายปลีกขนมปังและอาหารอบแห้ง รวมถึงยังลงทุนในการผลิตของเล่นไม้อีกด้วย ใช้ชื่อว่า Grand Rapids Toy Company แต่โชคไม่ดีที่บริษัทอื่นเริ่มผลิตโมเดลพลาสติกขึ้นรูปออกมาในเวลาเดียวกัน ทำให้มีของเล่นที่เบากว่าและราคาถูกกว่า ทำให้เจ๊งไปโดยปริยาย
เรียกได้ว่าก่อนจะมาถึงการก่อตั้งแอมเวย์นั้น เจย์และริชล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ไม่น้อยทีเดียว ริชเคยกล่าวไว้ว่า “ผมเชื่อเสมอมาว่า ความท้าทายที่ดีนำมาซึ่งโอกาสที่ดี เช่น การเรียนรู้ การเติบโต การสร้างความแข็งแกร่ง หรือการบรรลุเป้าหมายที่สูงขึ้น”
ริชเสริมว่า สำหรับเขาและเจย์ ความล้มเหลวไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่เป็นก้าวหนึ่งในเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ความล้มเหลวทุกครั้งช่วยสร้างรากฐานสำหรับความสำเร็จในอนาคตของพวกเขา
“เจย์ แวน แอนเดล” และ “ริช เดอโวส” ผู้ก่อตั้ง Amway
ก้าวสู่วงการขายตรง
ต่อมาในปี 1949 เจย์และริชได้ก่อตั้ง Ja-Ri Corporation เพื่อนำเข้าสินค้าจากประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งช่วงเดียวกันนี้ นีล มาสแคนต์ ลูกพี่ลูกน้องของเจย์ได้ชักชวนพวกเขาให้ไปขายตรงกับ “Nutrilite” (นิวทริไลต์) แบรนด์วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดัง
ในตอนแรกทั้งคู่ไม่ได้ให้ความสนใจกับนิวทริไลต์นัก แต่สนใจเรื่องราวของตัวแทนจัดจำหน่าย (Distributor) ที่ประสบความสำเร็จ จึงตัดสินใจเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายของนิวทริไลต์บ้าง ทำให้เจย์และริชเปลี่ยน Ja-Ri Corporation ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านิวทริไลต์โดยเฉพาะ
นิวทริไลต์ยังเป็นบริษัทขายตรงที่มี “ระบบเครือข่ายหลายระดับ” (Multi-Level Marketing) หรือการที่สมาชิกเครือข่ายขายตรง นอกเหนือจากจะได้ส่วนแบ่งโดยตรงจากยอดที่ตนเองขายได้แล้ว ยังได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมจากยอดของผู้ขายอื่นที่ตนเป็นคนแนะนำให้เข้ามาในระบบด้วย
ทั้งนี้ ระบบเครือข่ายในธุรกิจขายตรงนั้นมีความใกล้เคียงกับในอาชญากรรมแชร์ลูกโซ่อย่างมาก แต่ความต่างคือ ธุรกิจขายตรงจะยังคงมีรายได้หลักมาจากการขายสินค้า แต่แชร์ลูกโซ่จะหลอกเอาเงินค่าสมัครเข้าระบบ และไม่เน้นการขายของ
แน่นอนว่า เจย์และริชได้สร้าง “ดาวน์ไลน์” ของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน โดยใช้เวลาเกือบ 10 ปีสร้างลูกข่ายของตัวเองมากกว่า 5,000 ราย
ด้วยเครือข่ายที่มากขึ้น ทำให้เจย์และริชเริ่มสนใจทำธุรกิจขายตรงของตัวเอง ไม่อยู่ใต้นิวทริไลต์อีกต่อไป เพราะช่วงนั้นนิวทริไลต์กำลังเผชิญปัญหาเรื่องความมั่นคง และลูกข่ายบางคนสนใจอยากขายอย่างอื่นที่ไม่ใช่สินค้าสุขภาพ
ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจก่อตั้งธรุกิจขายตรง “American Way Association” หรือ “แอมเวย์” ขึ้นมาในปี 1959 โดยมีลูกข่ายบางคนตามมาเป็นดาวน์ไลน์ของพวกเขาในบริษัทใหม่นี้
แอมเวย์ใช้ระบบเครือข่ายแบบเดียวกับนิวทริไลต์ แต่มีการปรับแก้ในบางจุด โดยแอมเวย์ผสมผสานการขายตรงเข้ากับกลยุทธ์การตลาดแบบหลายระดับ
ผู้จัดจำหน่ายสินค้าแอมเวย์ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “เจ้าของธุรกิจอิสระ” (IBO) อาจทำการตลาดผลิตภัณฑ์โดยตรงให้กับลูกค้าได้ และอาจสนับสนุนหรือให้คำปรึกษาแก่บุคคลอื่นเพื่อให้กลายมาเป็น IBO ได้ด้วย
IBO อาจได้รับรายได้จากทั้งการเพิ่มราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่พวกเขาขายเอง รวมถึงโบนัสตามผลงานตามปริมาณการขายที่พวกเขาและดาวน์ไลน์ทำได้ นอกจากนี้ ผู้คนยังสามารถลงทะเบียนเป็น IBO เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ในราคาลดพิเศษได้อีกด้วย
Harvard Business School เคยนิยามแอมเวย์ว่าเป็น “หนึ่งในบริษัทขายตรงที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก โดยผู้ก่อตั้งแอมเวย์ประสบความสำเร็จได้ด้วยการใช้ระบบการจัดจำหน่ายแบบพีระมิดที่ซับซ้อน ซึ่งผู้จัดจำหน่ายอิสระของผลิตภัณฑ์แอมเวย์จะได้รับเปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ขาย และยังได้รับเปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ขายโดยผู้จัดจำหน่ายที่คัดเลือกมา”
ช่วงแรกเจย์และริชยังคงขายสินค้าที่รับมาจากแหล่งอื่น เช่น สบู่และข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ โดยใช้ห้องใต้ดินในบ้านของพวกเขาเป็นออฟฟิศและโกดัง
แต่ในปีเดียวกันนั้น แอมเวย์มีผลิตภัณฑ์ออริจินัลชิ้นแรกของตัวเอง นั่นคือน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ “ฟริสก์” (Frisk) หรือ “แอล.โอ.ซี.” (L.O.C.) ในปัจจุบัน ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์การผลิตและจำหน่ายมาจากนักวิทยาศาสตร์รายหนึ่งในโอไฮโอ จนขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
และนั่นคือก้าวแรกที่สำคัญของแอมเวย์ในการกลายเป็นบริษัทขายตรงระดับโลกที่มีผลิตภัณฑ์เกือบ 400 รายการ มีตัวแทนจำหน่ายหลายล้านคนในกว่า 100 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก โดยเข้ามาในไทยเมื่อปี 1987 (พ.ศ. 2530)
Amway ก่อตั้งขึ้นในปี 1959
สู่บริษัทขายตรงอันดับ 1 ของโลก
แอมเวย์เปิดตัวได้อย่างสวยงามและเติบโตอย่างรวดเร็ว จนสามารถขยายกิจการไปยังนอกสหรัฐฯ ได้ในเวลาเพียง 3 ปี โดยเริ่มที่แคนาดา และเข้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในเวลาต่อมา
บริษัทเดินหน้าพัฒนาสินค้ากลุ่มข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเป็นหลัก กระทั่งในปี 1968 แอมเวย์เริ่มผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มความงาม “Artistry” ด้วยผลิตภัณฑ์ 11 รายการและเครื่องสำอาง 37 เฉดสี และในปี 1972 ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของเจ้านายเจ้าอย่างนิวทริไลต์จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ทำให้แอมเวย์กลายเป็นบริษัทขายตรงที่มีผลิตภัณฑ์อยู่ 3 ขา ได้แก่สินค้าเครื่องใช้ในบ้าน (Home), สินค้ากลุ่มความงาม (Beauty) และสินค้าด้านสุขภาพโภชนาการ (Nutrition)
ซึ่งสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในบ้านนั้น ในเวลาต่อมาแอมเวย์พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ที่ทำความสะอาดน้ำดื่มและอากาศ เกิดเป็นเครื่องกรองน้ำแอมเวย์และเครื่องกรองอากาศแอมเวย์ที่หลายคนคุ้นเคย
ส่วนในสาขาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น นิวทริไลต์ได้ตั้งฐานฟาร์มชีวภาพ 4 แห่งใน 3 ประเทศที่ผ่านการรับรอง เพื่อดูแลเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน รวมถึงแอมเวย์จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านโภชนาการ สุขภาพ และพันธุกรรมจากทั่วโลก ในปี 2003
นอกจากนี้ในปี 2015 แอมเวย์เปิดศูนย์วิจัยพฤกษศาสตร์ในเมืองอู๋ซี ประเทศจีน เพื่อทำการศึกษาพืชที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนจีน (TCM) เพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ปีเดียวกันนี้ แอมเวย์ยังได้เข้าซื้อกิจการของเครื่องดื่มชูกำลัง “XS” ด้วย
ด้วยสินค้าที่หลากหลายและมีมาตรฐาน รวมถึงเครือข่ายที่กว้างขวาง ทำให้แอมเวย์ทำยอดขาย 1 พันล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1980 และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนที่สุดแล้วในปี 2012 บริษัทได้รับการจัดอันดับให้เป็น “บริษัทขายตรงอันดับ 1 ของโลก” โดย Direct Selling News Global 100 ซึ่งพิจารณาจากรายได้ของบริษัทขายตรงทั่วโลก
จากนั้น แอมเวย์ยังครองตำแหน่งดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยรายได้ในปี 2023 อยู่ที่ 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.7 แสนล้านบาท)
Amway มีตัวแทนจำหน่ายหลายล้านคนในกว่า 100 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก
ข้อครหาที่เลี่ยงไม่พ้น
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอมเวย์มักถูกมองในแง่ลบอยู่บ่อยครั้ง และไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในบางประเทศ จากความคล้ายคลึงกับแชร์ลูกโซ่ รวมถึงขั้นตอนการขายตรงที่บางครั้งชวนอึดอัด
ทั้งนี้ ในคำตัดสินของคณะกรรมการการค้าแห่งสหพันธรัฐเมื่อปี 1979 พบว่า แอมเวย์ไม่เข้าข่ายคำจำกัดความของแชร์ลูกโซ่พีระมิดเพราะว่า
1. ตัวแทนจำหน่ายไม่ได้รับเงินจากการรับสมัครบุคลากร
2. ไม่ได้กำหนดให้ตัวแทนจำหน่ายต้องซื้อสินค้าคงคลังจำนวนมาก
3. ตัวแทนจำหน่ายต้องรักษายอดขายปลีกอย่างน้อย 10 รายการต่อเดือน เท่ากับว่ารายได้หลักยังมาจากการขายสินค้า ไม่ใช่การรับสมัครคน
4. บริษัทและตัวแทนจำหน่ายทั้งหมดต้องยอมรับการคืนสินค้าคงคลังส่วนเกินจากตัวแทนที่เป็นดาวน์ไลน์
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการค้าแห่งสหพันธรัฐพบว่า “แอมเวย์มีความผิดในการกำหนดราคาและอ้างรายได้เกินจริง” บริษัทถูกสั่งให้หยุดการกำหนดราคาขายปลีกและการจัดสรรลูกค้าให้กับตัวแทนจำหน่าย และถูกห้ามไม่ให้รายงานจำนวนกำไร รายได้ หรือยอดขายที่ผู้จัดจำหน่ายน่าจะได้รับจากการดำเนินธุรกิจอย่างไม่ถูกต้อง
แอมเวย์ถูกสั่งให้ระบุรายได้เฉลี่ยจริงต่อตัวแทนจำหน่าย โดยระบุว่า ตัวแทนจำหน่ายมากกว่าครึ่งหนึ่งทำเงินไม่ได้เลย และโดยเฉลี่ยทำเงินได้น้อยกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ตามหนังสือพจนานุกรม The Skeptic's Dictionary ซึ่งรวบรวมเรื่องราวแปลก ๆ ในสหรัฐฯ มากกว่า 400 เรื่องช่วงทศวรรษ 2000 ระบุว่า “ในสหรัฐฯ คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐฯ กำหนดให้แอมเวย์ติดฉลากผลิตภัณฑ์ด้วยข้อความที่ว่า ผู้สมัครแอมเวย์ 54% ไม่ได้อะไรเลย และที่เหลือได้รายได้เฉลี่ยเพียง 65 ดอลลาร์ต่อเดือน”
ในปี 1982 ผู้ร่วมก่อตั้งแอมเวย์ เจย์และริช พร้อมด้วยรองประธานบริหารฝ่ายบริการองค์กร ถูกฟ้องในแคนาดาในข้อกล่าวหาทางอาญาหลายข้อ รวมถึงการมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศต่ำกว่าความเป็นจริงและฉ้อโกงภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลแคนาดาเป็นเงินกว่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 1965 ถึงปี 1980
ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกยกเลิกในปี 1983 หลังจากแอมเวย์และบริษัทในเครือในแคนาดาให้การรับสารภาพผิดฐานฉ้อโกงภาษีศุลกากร บริษัททั้งสองจ่ายค่าปรับ 25 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งเป็นค่าปรับที่สูงที่สุดที่ในแคนาดาในขณะนั้น
ยังมีเคสของแอมเวย์จีนซึ่งเปิดตัวในปี 1995 แต่หลังจากที่มีเคสแชร์ลูกโซ่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นในปี 1998 รัฐบาลจีนจึงออกกฎแบนบริษัทขายตรงทั้งหมด รวมถึงแอมเวย์ด้วย
แต่หลังจากการเจรจา บริษัทบางแห่ง เช่น แอมเวย์ ยังคงดำเนินงานผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ส่งเสริมโดยฝ่ายขายอิสระได้ จีนยีงได้ออกกฎหมายขายตรงฉบับใหม่ในปี 2005 และ 2006 ทำให้แอมเวย์เป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ได้รับใบอนุญาตให้กลับมาขายตรงอีกครั้ง
ถึงอย่างนั้น กฎหมายจีนห้ามครู แพทย์ และข้าราชการ ไม่ให้เป็นตัวแทนขายตรงของบริษัท และตัวแทนขายในจีนไม่มีสิทธิ์ได้รับคอมมิชชันจากยอดขายที่ดาวน์ไลน์ของพวกเขาทำได้
ขณะที่ในปี 2007 การดำเนินงานของแอมเวย์ถูกระงับในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ หลังจากการสอบสวนเป็นเวลานาน 1 ปีโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร ซึ่งได้ดำเนินการสั่งแบนแอมเวย์โดยอ้างว่าบริษัทใช้การตลาดที่หลอกลวง นำเสนอรายได้ที่เกินจริง และล่อลวงตัวแทนขายให้ซื้อเครื่องมือ “สร้างแรงจูงใจและฝึกอบรม” ปลอม
ในปี 2008 ผู้พิพากษาของสหราชอาณาจักรได้ยกฟ้องแอมเวย์ โดยระบุว่า การปฏิรูปครั้งใหญ่ซึ่งรวมถึงการห้ามกิจกรรมสร้างแรงจูงใจและวัสดุที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากแอมเวย์ ได้แก้ไขข้อบกพร่องของบริษัทที่สนับสนุนการขายวัสดุฝึกอบรมมากกว่าผลิตภัณฑ์และนำเสนอรายได้ที่ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาอังกฤษแสดงความเชื่อของเขาว่า แอมเวย์อนุญาตให้ผู้ขายอิสระนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับธุรกิจของตนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเหล่านี้
กลุ่มตัวแทนขายแอมเวย์บางกลุ่มยังถูกกล่าวหาว่าใช้กลวิธี “คล้ายลัทธิทางศาสนา” เพื่อดึงดูดตัวแทนขายรายใหม่ เช่นทัศนคติหวาดระแวงต่อบุคคลภายในที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กร การจัดสัมมนาที่คล้ายกับการชุมนุมเผยแผ่ศาสนา (Revival Meeting) และการมีส่วนร่วมอย่างมากของผู้จัดจำหน่ายแม้จะมีรายได้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
เคสที่หนักหนาที่สุดของแอมเวย์คือที่ประเทศ “อินเดีย”
ในเดือนกันยายน 2006 ตำรวจรัฐอานธรประเทศและเตลังคานา (CID) ได้เข้าตรวจค้นและยึดตัวแทนจำหน่ายแอมเวย์ในรัฐดังกล่าว และยื่นฟ้อง โดยกล่าวหาว่าบริษัทแอมเวย์ละเมิดพระราชบัญญัติการห้ามแจกรางวัลและการทุจริตหมุนเวียนเงิน
ตำรวจได้ปิดสำนักงานของบริษัททั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับแอมเวย์ รวมถึงสำนักงานของตัวแทนจำหน่ายแอมเวย์บางรายด้วย เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกล่าวว่ารูปแบบธุรกิจของบริษัทนั้นผิดกฎหมาย
ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้แจ้งตำรวจว่า แอมเวย์ในอินเดียอาจละเมิดกฎหมายบางฉบับ โดยระบุว่า “บางคนบอกว่า แอมเวย์เป็นธุรกิจที่ทำเงินจากการสรรหาคนมาเป็นตัวแทนจำหน่ายมากกว่าการขายผลิตภัณฑ์”
ในปี 2008 รัฐบาลรัฐอานธรประเทศได้ออกกฎหมายห้ามแอมเวย์โฆษณาในสื่อ
ต่อมาในปี 2011 ตำรวจรัฐเกรละได้ปิดสำนักงานของแอมเวย์ ที่เมืองโคซิโกเด กันนูร์ โคจิ โกตตายัม ทริสซูร์ โกลลัม และติรุวนันตปุรัม และกองปราบปรามทางเศรษฐกิจของตำรวจรัฐเกรละได้เข้าค้นสำนักงานของแอมเวย์ รวมถึงสั่งปิดคลังสินค้าของบริษัทในศูนย์เหล่านี้ สินค้ามูลค่า 21.4 ล้านรูปี ก็ถูกยึดด้วยเช่นกัน
กระทั่งปี 2013 เจ้าหน้าที่กองปราบปรามอาชญากรรมของตำรวจรัฐเกรละจับกุม วิลเลียม เอส. พินค์นีย์ กรรมการผู้จัดการและซีอีโอของแอมเวย์ อินเดีย เอ็นเตอร์ไพรส์ พร้อมกับกรรมการอีก 2 คนของบริษัทจากโคซิโกเด
ทั้งสามคนถูกจับกุมในข้อหาดำเนินแชร์ลูกโซ่แบบพีระมิด แต่ได้รับการประกันตัวในวันถัดมาและธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ แต่พินค์นีย์ถูกตำรวจรัฐอานธรประเทศจับกุมอีกครั้งโดยอาศัยข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่กล่าวหาว่าแอมเวย์มีการหมุนเวียนเงินโดยผิดจริยธรรม
ในเดือน เม.ย. 2022 กองบังคับการบังคับใช้กฎหมายได้ยึดทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้และเคลื่อนย้ายไม่ได้ของแอมเวย์อินเดียมูลค่ากว่า 91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 พันล้านบาท) รวมถึงโรงงานของบริษัทในเมืองฑิงฑิคุล รัฐทมิซนาฑู พร้อมกับบัญชีธนาคาร
ประวัติธุรกิจ Amway
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/234915
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา