14 พ.ย. เวลา 10:12 • ประวัติศาสตร์

ผ่าความจริง นางนพมาศรู้จักชาวอเมริกัน จริงหรือ?

“ลอยกระทง” ใกล้เข้ามาอีกปีแล้วนะครับ (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567) สิ่งที่เรามักจะนึกถึงในประเพณีนี้ที่ขาดไม่ได้ นอกจากตัวกระทงที่นำไปลอยในน้ำแล้ว นั่นคือ “นางมพมาศ” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์กระทงดังกล่าว ทางเพจขอเรียบเรียงและนำมาเล่านำเสนอในอีกมุมมองหนึ่งซึ่งหลายคนอาจไม่รู้หรือบางคนอาจรู้แล้วก็ได้ มาลองติดตามอ่านกันดูครับ
เรื่อง “นางนพมาศ” เชื่อกันว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย ผู้แต่งคือนางนพมาศ หรือ “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” แต่เชื่อว่าหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา จึงได้มีการแต่งขึ้นใหม่โดยคงเนื้อหาเค้าโครงเดิมและแทรกเนื้อหาใหม่เข้าไป โดยใช้ชื่อว่า “นางนพมาศ” หรือ “เรวดีนพมาศ” หรือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เป็นหนังสือตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 (สมัยรัชกาลที่ 6)
หน้าปกหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่มาภาพ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
  • เกี่ยวกับหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ความเป็นมาตามที่ปรากฏ “นางนพมาศ” เกิดในสมัยพระเจ้าเลอไทย (พระราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ในราชวงศ์พระร่วงของสมัยสุโขทัย มีบิดาเป็นพราหมณ์ชื่อ ชตรัตน์ มีราชทินนามว่า พระมโหสถ รับราชการในตำแหน่งปุโรหิต (พราหมณ์ประจำราชสำนัก ให้คำปรึกษาเรื่องธรรมเนียมประเพณีแก่ในวัง) มารดาชื่อ นางเรวดี ต่อมาได้เข้ารับราชการและได้เลื่อนอิสริยยศเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นสนมเอกในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท (พระราชโอรสของพระเจ้าเลอไทย)
ภาพวาดในจินตนาการของ “นางนพมาศ” ที่มา: X @thailand
จุดมุ่งหมายในการแต่ง เพื่อสรรเสริญพระเกียรติพระร่วงเจ้า และอธิบายคุณสมบัติที่ดีของนางสนม รวมถึงบันทึกพระราชพิธีทั้ง 12 เดือน ที่ทำกันในสมัยกรุงสุโขทัย
เนื้อหาคร่าวๆ เริ่มต้นว่าด้วยการกำเนิดมนุษย์ ชาติภาษา พร้อมแนะนำตัวผู้เขียน “ข้าน้อยผู้ได้นามบัญญัติชื่อว่า ศรีจุฬาลักษณ์” เล่าถึงกำเนิดอาณาจักรและจากนั้นก็สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระร่วงเจ้า เล่าถึงผู้คน ชาติตระกูลใน สุโขทัย และมาถึงประวัติส่วนตัวของนางนพมาศ
ช่วงต่อมา “นางนพมาศ” เล่าถึงพิธีพราหมณ์ทั้งสิ้น 12 พิธี เริ่มตั้งแต่เดือน 12 คือ “พิธีจองเปรียง” ตามด้วยเดือนอ้าย เดือนยี่ จนถึงเดือนสิบเอ็ด จบท้ายที่พิธีอาชยุศ ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “ว่าด้วยความประพฤติแห่งนางสนม” เรื่องกิริยามารยาท
ภาพวาด “พิธีจองเปรียง” ในเดือน 12 เครดิตภาพ: Facebook @WipakHistory
“พิธีจองเปรียง” หรือพิธีในวันเพ็ญเดือน 12 อันนี้แหละเป็นที่มาของประเพณี “ลอยกระทง” ในปัจจุบัน เป็นนักขัตฤกษ์โคมลอยโคมชัก โคมปักโคมห้อย (เดียวกันกับพิธีจองเปรียง ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน) ผู้คนพากันแต่งโคมชักโคมแขวน โคมลอยทั่วพระนคร ทำโคมตกแต่งลวดลายมาชักมาแขวนเรียงรายตามแนว โคมชัยเสาระหงหน้าพระที่นั่ง มีมหรสพด้วย
นางนพมาศทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) จุดประทีปเปรียง จุดดอกไม้ไฟ จุดพะเนียงพลุสว่างไสวไปหมด ในหนังสือเล่าต่อว่า “อันว่าโคมลอยรูป ดอกกระมุทก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่า ลอยกระทงทรงประทีป”
ยกโคมโดยชักโคมขึ้นยอดเสาที่บ้านพราหมณ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดร สมัย ร.3 พ.ศ. 2374 บนผนังหลังพระประธานโบสถ์วัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เครดิตภาพ: matichonweekly.com
  • บทวิเคราะห์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” ได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้เมื่อพิมพ์ครั้งแรกในส่วนคำนำมีใจความว่า
หนังสือเล่มนี้ [หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์] สังเกตได้ว่าแต่งในราวสมัย ร.2 - ร.3 เพราะถ้าเทียบสำนวนโวหารกับหนังสือรุ่นสุโขทัยอย่างไตรภูมิพระร่วง หรือหนังสือที่แต่งสมัยอยุธยาแล้ว เห็นชัดว่าหนังสือนางนพมาศใหม่กว่าอย่างแน่นอน
  • ยังมีที่จับผิดในส่วนของเนื้อหาที่กล่าวถึงชาติฝรั่งต่างๆโดยเฉพาะอเมริกัน ซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ (ในหนังสือใช้คำเรียกว่า “ฝรั่งมะริกัน”)
เนื้อหาที่กล่าวถึง ชาวอเมริกัน ในส่วนบทต้นของหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่มาภาพ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
  • ข้อเท็จจริง: สหรัฐอเมริกาได้เริ่มประกาศอิสรภาพแยกการปกครองจากราชอาณาจักรบริเตน เมื่อ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) หรือตรงกับสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีของไทย ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ว่านางนพมาศที่เกิดในสมัยสุโขทัยจะรู้จักคนอเมริกันได้แน่นอน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชี้อีกจุดหนึ่งในหนังสือกล่าวถึงปืนใหญ่ในสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะสมัยนั้นยังไม่มีปืนใหญ่เกิดขึ้นในโลก
”ยิงปืนใหญ่ไล่ผี” ในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ จิตรกรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 เครดิตภาพ: Matichon Online
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกราบทูลรัชกาลที่ 5 ว่าหนังสือที่ปรากฏนี้คงไม่ได้เก่าขนาดสุโขทัยเป็นแน่ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเห็นอย่างนั้น
1
แต่มีนักปราชญ์รุ่นก่อนๆ เช่น รัชกาลที่ 4 หรือ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เชื่อว่าน่าจะมีตัวฉบับเดิมที่เก่าแก่ แต่ต้นฉบับอาจชำรุดขาดไป มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีการแก้ไข เพิ่มเติมให้สมบูรณ์เท่าที่จะทำได้
และสันนิษฐานว่าในครั้งรัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกไว้ตอนหนึ่ง คือ ตอนที่ว่าด้วย “พระศรีมโหสถลองปัญญานางนพมาศ” จนจบ “นางเรวดีให้โอวาทของนพมาศ” ซึ่งกินเนื้อหาราว 1 ใน 3 ของเรื่อง
ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เพิ่งระบุในกฎหมายตราสามดวงและกฎมณเฑียรบาลซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1998 ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีข้อความระบุถึงชื่อตำแหน่งสนมเอกทั้ง 4 คือ อินทรสุเรนทร, ศรีสุดาจันทร์, อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษณ์ โดยที่ตำแหน่งสนมเอก “ศรีจุฬาลักษณ์” มีคนเสนอให้ความเห็นว่าเกี่ยวข้องกับราชวงศ์พระร่วงจากสุโขทัย
ดังนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งกล่าวถึงนางนพมาศ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยตามในหนังสือ และอีกอย่างคือ ศรีจุฬาลักษณ์ ก็ไม่ใช่ชื่อเดิมของนางนพมาศอีกด้วยที่จะนำมาต่อท้ายยศคำว่า “ท้าว”
ถึงแม้ว่าในศิลาจารึกของสุโขทัยบางหลักคือ จารึกหลักที่ 93 วัดอโสการาม จะปรากฏชื่อ “สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีเทพยธรณีดิลกรัตน์” เช่นเดียวกับจารึกหลักที่ 286 วัดบูรพาราม ที่เรียกชื่อพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาองค์นี้เอาไว้ว่า “สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครมหิศิเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า” แต่คำว่า “ศรีจุฬาลักษณ์” ในจารึกทั้งสองหลักที่ว่าดูจะเป็นชื่อคนมากกว่าที่จะเป็นชื่อตำแหน่ง
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบส วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา
  • สรุป
ดังนั้นเรื่องตำนานนางนพมาศซึ่งเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์กระทงในสมัยสุโขทัย จึงเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาตามจินตนาการในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการเชื่อมโยงด้วยชื่อตำแหน่งซึ่งเกิดในสมัยอยุธยาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์พระร่วงของสุโขทัย หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนก็จากเนื้อหาในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
อ่านบทความนี้จบแล้ว คุณยังเชื่อไหมว่านางนพมาศเป็นคนในสมัยสุโขทัยและรู้จักคนอเมริกัน แต่อย่างไรทางเพจคิดว่าเรื่องราวนางนพมาศเป็นสิ่งที่ต้องการสร้างความเชื่อประเพณีงามที่ดีสืบต่อกันไป โดยอาศัยเรื่องราวในสมัยสุโขทัยเป็นตัวเล่าเรื่องครับ
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร - https://www.finearts.go.th/main
<เครดิตภาพปก: ศิลปวัฒนธรรม>
โฆษณา