14 พ.ย. เวลา 14:16 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] CHROMAKOPIA - Tyler The Creator >>> หน้ากากนักรังสรรค์กับเฉดสีที่หายไป

*** ขอต้อนรับสู่ Uncut Version เกริ่นด้วยการย้อนไปพูดถึงสามอัลบั้มก่อนหน้านั้น ถ้าใครรู้ history แล้ว สามารถข้ามไปที่พารากราฟ CHROMAKOPIA ได้เลย
-ผมมองว่า Flower Boy ในปี 2017 คือจุดเริ่มต้นการรีแบรนด์ตัวเองครั้งสำคัญของ Tyler The Creator จากเด็กเกรียนโหวกเหวกโวยวายที่แสดงออกถึงความหลงไหลในฮิปฮอปและ skateboard สร้างภาพจำเด็กโข่งกางเกงขาสั้น จนมาสู่การเปลี่ยนผ่านที่วางท่าที gentle ขึ้น แนวเพลงเน้นความป็อปมากขึ้น คอนเซ็ปท์ที่จับต้องได้กว่าแต่ก่อน นั่นก็ทำให้นาย Tyler เริ่มที่จะแมส
โดยมีเพลงที่เข้าเป้าคนหมู่มากจริงๆอย่าง See You Again ถูกนำไปเปิดในคลื่นวิทยุ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเจ้าตัวก็ซาบซึ้งจนน้ำตาไหลที่เพลงตัวเองไปอยู่บนวิทยุได้เสียที ทั้งๆที่สมัยอัลบั้ม BASTARD จนถึง Cherry Bomb แทบไม่มีเพลงไหนถูกเอาไปเปิดในสถานีวิทยุได้เลย เนื่องด้วยความบ้าบอเกินเบอร์เนี่ยแหละ
เพลง See You Again นี้เองที่ทำให้ชาวไทยที่ยังไม่รู้จัก Tyler หรือชอบคอมเมนต์ใต้ข่าวในเชิง tyler who? เป็นอันต้องร้องอ๋อขึ้นมาทันที เมื่อมีคนใจดีช่วยอธิบายและยกตัวอย่างซิงเกิ้ลนี้ขึ้นมา แสดงว่ามนต์ขลัง See You Again ยังทำงานได้ผลจนถึงวันนี้จริงๆครับ
-ไม่ใช่แค่มนต์ของ See You Again เท่านั้นที่จะทำให้เจ้าตัวเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ตัวตนที่นำเสนอความเป็น “นายดอกไม้” นี้เองกลับมีสิ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยหัวจิตหัวใจของวัยรุ่นตอนโตแบบปุถุชนที่อ่อนโยน และเลือกที่จะไม่โกหกต่อความรู้สึกตัวเองอีกต่อไป นั่นก็เป็นความกล้าบางอย่างเกี่ยวกับการเปิดกว้างเรื่องรสนิยมทางเพศด้วย คอนเทนท์นี้เองที่ทำให้ Tyler ถูกมองไปในทางที่เปลี่ยนไปด้วย
เป็นการล้างไพ่อดีตเคยแรงที่ชอบเหยียดเพศผ่านเพลงอย่างสนุกปาก จนกลายมาเป็นคนที่แคร์ความรู้สึกตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นการผลักดันตัวเองเท่านั้น อัลบั้มนี้เองก็ทำให้ชาวโลกได้รู้จัก Rex Orange County ศิลปินหนุ่มอินดี้ได้กลายเป็นศิลปินน่าจับตามองในตอนนั้น จนถึงตอนนี้ได้เดินสายทัวร์รอบโลกไปแล้ว
-หลังจากที่ Flower Boy สร้างความน่าเชื่อถือให้แฟนเพลงได้ในระดับนึงแล้ว 2 ปีต่อมา Tyler เซอร์ไพร์สเราอีกครั้งด้วย IGOR งานที่ฉีกแนวทางจากชุดที่แล้วโดยสิ้นเชิง ทั้งการสร้างตัวตนด้วยไอ้หนุ่มผมวิกบลอนด์ใส่แว่นดำดูแปลกประหลาดผิดแผกจากแฟชั่นฮิปฮอปดั้งเดิม
การโชว์ความพระกาฬด้วยลูกล่อลูกชนที่ฉีกทุกข้อจำกัดเดิมๆด้วยแพทเทิร์นที่คาดเดาไม่ได้ การเสกให้แขกรับเชิญและชาวคณะประสานเสียงโดน distort ปรับ pitching กลายเป็นคนละคน แต่ก็ถูกหลอมรวมให้ลงตัวได้อย่างประหลาด เป็นความเก่งกาจที่ทำให้ Tyler กลับเข้าสู่โหมด aggressive เล่าเรื่องความรัก ความอลหม่าน ความสับสนได้อย่างมีชั้นเชิง
นอกจากจะทำให้คนฟังทึ่งแล้ว สำเร็จก็ฮือฮาด้วยการเปิดตัวยอดขายอันดับ 1 ในสัปดาห์แรก สามารถชนะ DJ Khaled ที่ขนศิลปินทั้งวงการฮิปฮอปมารวมไว้ในอัลบั้ม Father of Asahd ซึ่งนั่นก็ทำให้ DJ Khaled หัวเสียโคตรๆในการแพ้ยอดขายในครั้งนั้นจนเป็นศึก beef ที่เกิดปะทุขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ลากยาวมากนัก ต่างคนต่างอยู่ แต่ก็ยังมีเพลง EARFQUAKE สามารถขึ้นสู่อันดับสูงๆติดอันดับ 13 ใน Billboard Hot 100 อีกด้วย
-ทิ้งช่วงด้วยไทม์ไลน์คงที่ 2 ปีอีกเช่นเคย นาย Tyler ยังคงรักษาฟอร์มอย่างต่อเนื่องด้วย CALL ME IF YOU GET LOST กลับมาด้วยคาแรคเตอร์ที่แตกต่างไปอีก ภายใต้ alter-ego นามว่า Tyler Baudelaire ไอ้หนุ่มนักเดินทางที่หอบความมั่นใจมาเต็มกระเป๋าด้วยไลฟ์สไตล์แฟชั่นที่แพงยิ่งขึ้น เป็นการจัดเต็มความ ความเป็นแฟชั่นนิสต้ามากที่สุดชุดนึง
เหมือนจะเป็นการเข้าสู่โหมด flex แบบที่แรปเปอร์คนอื่นๆมักทำกัน แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือการคารวะ hip hop culture ดั้งเดิมด้วยการเพิ่ม DJ Drama มาเป็นดีเจเปิดแผ่น เรียกเสียง hype ให้ความรู้สึกเหมือนกลับไปฟังมิกซ์เทปยุค 2000 ตอนต้นอีกครั้ง งานโปรดักชั่นแน่นๆ ยังคงแสดงให้เห็นถึงพลังบู๊ที่ยังคงหลงเหลือ และความคิดสร้างสรรค์ในการหยิบจับสิ่งที่คนฟังฮิปฮอปอาจหลงลืมไปแล้วให้กลับมาตะโกนลั่นได้อีกครั้ง
เมื่อปีที่ผ่านมาก็เป็นการทิ้งช่วงจากอัลบั้มนี้ 2 ปีเป๊ะๆด้วยการเซอร์วิสแฟนเพลงด้วยชุดเพลง Deluxe Version (The Estate Sale) เป็นการทำให้หายคิดถึงในช่วงที่อัลบั้มใหม่ยังไม่เสร็จตามแพลนเดิม มันจะมีเอ็มวีและแทร็คปิดท้ายชุดเพลงแถมอย่าง SORRY NOT SORRY เป็นการส่งสาสน์ถึงการสังหาร alter-ego ที่ผ่านมา 7 ตัวที่ผ่านมา หากสังเกตจะพบว่า มันจะมีตัวละครนึงซึ่งสวมชุดเครื่องแบบทหารด้วย อันเป็นไปได้ว่า Tyler ส่งสัญญาณตัวละครตัวถัดไปที่ผู้เขียนกำลังจะพูดถึงต่อจากนี้
-ในที่สุด หากนับจาก CMIYGL ด้วยระยะเวลา 3 ปีกว่าๆด้วย CHROMAKOPIA ที่ยังคงพกความมั่นใจเต็มกระเป๋าด้วยการประกาศเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น คลิปทีเซอร์ปริศนาเพียงไม่กี่ตัวเป็นการแนะนำ alter-ego ใหม่อีกแล้ว คราวนี้มาในคอสตูมประดับยศคล้ายๆนายพลทหารนามว่า Saint Chroma ได้ทำการนำสวนสนามเหล่าไพร่พลเพื่อเข้าไปสู่คอนเทนเนอร์สีเขียวประดับชื่ออัลบั้ม
release date ที่แหกธรรมเนียมโดยสิ้นเชิงด้วยการปล่อยอัลบั้มในวันจันทร์ เวลาหกโมงเช้า (ตามเวลาอเมริกา) แทนที่จะปล่อยในวันศุกร์ตามธรรมเนียมดั้งเดิม ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวอยากให้คนทำงานตื่นมาฟังอัลบั้มใหม่ของตัวเองระหว่างไปทำงาน
แต่นั่นก็ไม่ทำให้เสียเปรียบในเรื่องการเก็บยอดขายในช่วงวันสุดสัปดาห์เลยแม้แต่น้อย เพราะอัลบั้มนี้เปิดตัวอันดับ 1 ด้วยยอดขายถล่มทลายเกือบ 3 แสนยูนิต ถ้ากลับไปเปิดตัววันศุกร์ มีหวังได้ทำยอดขายแซงเหล่า big three ได้เลย นั่นคือความสำเร็จที่พลังของ Tyler ยังคงเรียกร้องความสนใจได้อย่างต่อเนื่อง
-การที่ผมได้ recap ถึง 3 อัลบั้มก่อนหน้านั้นก็เป็นเพราะผมตั้งใจสำรวจฟอร์มการทำเพลงที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการเปลี่ยนหน้าได้ไม่ซ้ำอย่างชัดเจนที่สุด และนั่นก็ทำให้ผมค้นพบว่า CHROMAKOPIA เริ่มส่อเค้าลางติดหล่มและวนลูปในแบบที่สัมผัสถึงลายเซ็นต์เดิมๆและลูกเล่นที่พอคาดเดาได้จากเขาคนนี้ได้แล้ว
-ต่อให้ mood and tone จะมาแนวทางฟิล์มนัวร์เพื่อเปิดโหมด Dark แต่เนื้อในแล้วไม่ได้ชวน depress จิตตกมากขนาดนั้น ความติดเล่นของแรปเปอร์จอมไฮเปอร์ยังคงอยู่ นั่นทำให้ผมยังรู้สึกถึงกลิ่นแห่ง rap mode ดีดๆจาก CMIYGL อยู่ไม่จาง จนผมพลางคิดไปว่า นี่อาจจะเป็นภาคต่อจาก CMIYGL มากกว่า IGOR เลยด้วยซ้ำ
-การเพิ่มเติมความแกรนด์จากการกลั่นพลังงานประสานเสียงแบบ gospel รวมไปถึงความพยายามจากตัว Tyler เองที่ต้องบอกว่า “vocal เก่งขึ้นนะเรา” ได้อย่างไม่อายปาก ซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์อันล้นเหลือที่กลายเป็นสิ่งที่เพิ่ม spotlight ให้อัลบั้มนี้ในที่สุด
-สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การได้ Bonita Smith แม่ของตัวเองมาเป็นตัวละครสำคัญที่เป็นเหมือน life coach ส่วนตัวในการให้ advice และ guideline บางอย่างที่เป็นส่วนสำคัญในการเรียกสติ “ชายภายใต้หน้ากาก” ให้ได้ตื่นรู้เพื่อการเข้าใจตัวเองมากขึ้นจากการสะท้อนของคนใกล้ตัวที่สุด นี่จึงเป็นอัลบั้มที่เน้น self-reflect และพูดถึงเรื่องภายในตัวเองในแบบที่ส่วนตัวมากที่สุดชุดนึง
-เปิดอัลบั้มด้วย St.Chroma เป็นการแนะนำ alter-ego ใหม่ และฉายให้เห็นภาพรวมในอัลบั้มนี้กันตั้งแต่เนิ่นๆ ไล่ตั้งแต่ คุณแม่ Bonita ที่ฝากฝังไม่ให้ลูกชายรู้สึกว่า แสงออร่าหรือความคิดสร้างสรรค์มันเปล่งปลั่งในตัวอยู่เสมอ หาใช่ใครให้แสง อย่าให้ใครมาลดทอนความมั่นใจด้วยการหรี่ไฟนั้นลง เสียงกระทืบเท้าเดินสวนสนามคอยขับเคลื่อนตีมหลัก คอรัสประสานเสียงกอสเปลที่ลวดลายฮาร์โมนี่สวยงาม เสียงร้องสุดเจื้อยแจ้วจาก Daniel Caesar ที่จะมีบทบาทสำคัญในเพลงถัดๆไปด้วย
ไฮไลต์เด็ดอยู่ที่ whisper flow ที่มี energy มากที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังมา ก่อนเข้าสู่พาร์ทระเบิดตูมตามและเข้าแร็ปโหมดปกติโดยที่ไม่ใส่การ distort เช่นกัน ซึ่งเราจะได้ยินต่อจากนี้ หลักๆเขาเกริ่นด้วยการปลุกพลังความมั่นใจในตัวเอง อันเป็นแก่นหลักสำคัญในการประคับประคองตามบททดสอบที่ถาโถมมาเป็นโจทย์ทดสอบทัศนคติตลอดทั้งอัลบั้ม การสร้าง first impression ให้คนฟังตั้งแต่แทร็คแรกยังคงเก่งกาจเสมอมา
-หลังจากที่เปิดด้วยการบูสต์ความมั่นใจไปแล้ว ก็ไม่รีรอที่จะตีเหล็กตอนร้อนด้วย Rah Tah Tah บีทสุดเดือดดาลชวนระลึกถึงยุคที่ Odd Future เริ่มแนะนำตัวด้วยความห้าวเป้งในยุคแรกๆ พร้อมทั้งประกาศกร้าวด้วยว่า ตัวตึง LA คนต่อไปจาก Kendrick Lamar ก็คือกูเนี่ยแหละ ทั้งนี้ด้วยความอู่ฟู่ที่ประดังประเดตามการสาธยายมาทั้งเพลงนี้เองก็ดันมีการทิ้งเชื้อแห่งความวิตกกังวลที่อยู่ดีๆก็แว๊บเข้ามา นั่นเป็นการส่งต่อให้เพลง NOID ได้ทำหน้าที่สร้างความปั่นป่วนและหวาดระแวงในลำดับถัดไป
-สำหรับเพลง NOID (อันย่อมาจาก Paranoid ภาษาวัยรุ่นก็คือ นอยด์ นั่นแหละ) สิ่งที่โดดเด่นที่สุดก็คือแซมเปิ้ลเพลง Nizakupanga Ngozi ของวงชาวแซมเบีย Ngozi Family ที่กลายเป็นจุดเด่นที่เติมความรู้สึก “อิหยังวะ” ได้เข้าท่า ในขณะที่การขับเคลื่อนด้วย bassline ของ Thundercat ก็ดูเหมือนจะเป็นท่วงท่าเดิมๆที่เริ่มเห็นได้ทั่วไปแล้ว
การขยายท่อน Outro ที่แสดงท่าทีเริ่มจะหวงแหน privacy ที่ต้องสูญเสียไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่อน Left Shoulder Right shoulder ก็เข้าใจคิด จริงๆแล้วสำนวนนี้เป็นการเตือนเด็กที่กำลังข้ามถนนสไตล์ฝรั่งให้ระมัดระวังด้วยการมองซ้ายมองขวา ซึ่งก็สอดรับกับบริบทแห่งความหวาดระแวงที่ แต่ apply ให้ออกมาได้รสสนุกประหนึ่งได้ยักไหล่ นั่นก็ทำให้ไม่รู้สึกตึงไปกับคอนเทนท์จนเกินไป
-Darling, I ที่โชว์ความเพลย์บอยในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน ปกติแล้วจะมาแนวพร่ำพรรณนา คลั่งรักข้างเดียว สามารถตอกย้ำเซนส์ป็อปได้อย่าง catchy ด้วยท่วงทำนองอาร์แอนด์บีหวานๆที่ผสมผสานระหว่างแซมเปิ้ลเพลง Vivrant Thing ของ Q-Tip และเสียงกระดกลิ้นแบบเพลง Drop It Like It’s Hot ของ Snoop Dogg ซึ่งรวมๆแล้วได้อิทธิพลป็อป-อาร์แอนด์บีของ The Neptunes มาเต็มๆ
Teezo Touchdown มาเพิ่มลูกเอื้อนเค้าคลอกันไป เป็นความลั้ลลาของชายหนุ่มที่ยังไม่อยากจะยึดติดในความสัมพันธ์มากนัก Forever is too long. อีกทั้งเขายังรู้สึกสนุกกับการเป็นศิลปินทำเพลงโดยที่ไม่เหงา
-หลังจากที่โปรยเสน่ห์ไปทั่วแล้ว นำพาสู่สถานการณ์ที่ชวนกลุ้มเพราะไปทำคนท้องในเพลง Hey Jane ซึ่งชที่มาของชื่อเพลงไม่ได้ทึกทักถึงตัวละครสาวนามสมมติที่ชื่อ Jane เพียงอย่างเดียว แต่ยังอ้างอิงจากชื่อคลินิคทำแท้งออนไลน์ในนิวยอร์คที่ชื่อ Hey Jane อีกด้วย
เป็นแร็ปร่ายยาวที่ครุ่นคิดไปมาระหว่างมุมมองของนาย T (ตัว Tyler) ที่คิดไปคิดมาว่าจะทำยังไงกับเด็กในท้อง เจอบททดสอบแห่งความรับผิดชอบ ในขณะที่นาง Jane ก็รู้สึกกระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวนจากการตั้งครรภ์ แต่ก็พยายามประนีประนอมอย่างถึงที่สุดในการไม่อยากให้นาย T รู้สึกกดดันจนเกินไป เธอก็ปล่อยให้นาย T เป็นคนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร ต่างฝ่ายก็ยอมรับการตัดสินใจและเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ซึ่งก็จบสตอรี่แบบปลายเปิดอยู่ดี
-การต่อด้วย I Killed You จึงเป็นหยอกล้อ Hey Jane ได้อย่างตลกร้ายในที อ้าวเห้ย จบด้วยประโยค No pressure แล้วอยู่ดีๆก็ตัดสินใจเด็ดขาดตัดไฟตั้งแต่ต้นลมขึ้นมาซะงั้น (สุดแล้วแต่จะตีความถึงเจตนารมย์กันได้เลยครับ)
อันที่จริงแล้ว I Killed You ก็ไม่ได้มาแนวทาง horrorcore แต่อย่างใด เจตนาต้องการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงประเด็น self-identity ของคนดำที่มักจะโดนล้อปมสีผิวหน้าผมอยู่ร่ำไป I Killed You น่าจะเป็นการปัดเป่าถึงกลุ่มคนที่มีอคติต่อสีผิวเสียมากกว่า Donald Glover โผล่ร้องคอรัสในท่อน Outro เป็นการส่งไม้ต่อให้ตัวเองไปโผล่ในแทร็คต่อไปด้วย
-Judge Judy ถึงใครจะไม่ชอบเพลงนี้ก็ช่างแม่ง เพราะผมชอบเพลงนี้เหลือเกิน ความคล้องจองของชื่อเพลงเอย ความชิวล์อันเป็นธรรมชาติที่ส่งต่อตั้งแต่ต้นเพลงยันท่อนฮุกที่ติดหูวนไปโดยอัตโนมัติ แรกๆเป็นการปูทางที่โรแมนติกมากๆกับการที่เจอสาวที่ใช่ พร้อมทั้งไม่ด่วนตัดสินถึงอดีตที่แล้วมาของสาวท่านนั้นต่อให้เธอจะผ่านผู้ชายมามากน้อยกี่รายก็ช่างมัน ทุกอย่างดูเป็นใจจนกระทั่งอยู่ดีๆเธอก็หายตัวไปดื้อๆ พร้อมทิ้งจดหมายสุดใจสลายด้วยการแจ้งว่า เธอได้เสียชีวิตด้วยมะเร็งสมองที่ยากจะรักษา พร้อมทั้งขอบคุณช่วงเวลาสนุกๆด้วยกัน
-ตัดสลับมาที่โหมดบูสต์ self-worth พร้อมเดินสวนสนามอีกครั้งด้วย Sticky ที่ตอกย้ำความเป็น “ป๋าดัน” ที่ทำให้แขกรับเชิญที่มาร่วมวงได้เฉิดฉายโดยที่ไม่เป็นการแจมไปงั้นๆ ถึงแม้จะเป็นการโผล่ในลักษณะแว๊บๆแบบ cameo ก็ตาม แต่กลับให้รสที่โดดยิ่งกว่า verse 8-16 บาร์ปกติเสียอีก สองสาวแสบ GloRilla และ Sexyy Red ก็ชูรสความเป็น feminist ได้แหล่มชัด
ส่วน Lil Wayne ก็มอบความเซอร์ไพร์สที่โผล่มาโดยไม่ให้สุ้มเสียง “จุดปุ๊น” ก่อนขึ้น verse แต่ก็ได้ใจแฟนเพลงไทเลอร์อย่างถ้วนหน้า ถ้าหากใครติดตามไทเลอร์อย่างใกล้ชิดจะรู้เลยครับว่า Lil Wayne เป็นรุ่นพี่ที่ให้เกียรติโผล่มาแจมแทบทุกอัลบั้ม ตั้งแต่ยุค Cherry Bomb (ยกเว้น IGOR) และอัลบั้มนี้เขาก็ไม่พลาดเช่นกัน และเป็นการส่งต่อคบเพลิงให้เจ้าของเพลงได้ถูกเวลาด้วย ท่อนเต็มส่งท้ายของเจ้าของเพลงถือเป็นไคล์แม็กซ์ของจริง
-Take Your Mask Off นี่คือจุด kick start เพื่อปูทางเข้าสู่พาร์ทกะเทาะเปลือกของ Tyler อย่างมีนัยสำคัญ จะบอกว่า นี่คือโมเมนต์แห่งการปลอบประโลมก็ย่อมได้เช่นกัน ด้วยท่วงทำนองที่แลดูคลี่คลาย และการแร็ปให้กำลังใจจากนาย Tyler ที่ยกตัวอย่างถึงความรู้สึกยากลำบากที่จำเป็นต้องแอบซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น การซ่อนเพศสภาพภายใต้ร่มเงาแห่งศาสนา การเป็น single mom ที่พยายามประคับประคองลูกติดอย่างเหนื่อยหน่ายจนแทบไม่มีเวลาคิดที่จะมอบความสุขให้ตัวเอง แล้วก็วกกลับไปที่เรื่องของเจ้าของเพลงโดยอัตโนมัติ
-หลังจากที่ Tyler ยอมถอดหน้ากากเพื่อเตรียมพร้อมเปลือยตัวเองแล้ว โหมดแห่งความวิตกกังวลก็เริ่มต้นทันทีในเพลง Tomorrow ที่เซอร์ไพร์สคนฟังด้วยการร้องหลบปราศจากการ pitching กลั่นความรู้สึกล่องลอยจากตัวเองล้วนๆ พูดถึงการเผชิญการเปลี่ยนผ่านของวัยที่มาไวกว่าที่คิด เริ่มมีผมหงอก เริ่มต้องคิดเรื่องมีครอบครัวและทายาท คุณแม่ Bonita ก็อยากจะอุ้มหลานแล้ว ซึ่งนาย Tyler ยังคงรักสนุกและไม่พร้อมกับสิ่งนี้เลย
-Thought I Was Dead กลับเข้าสู่โหมดแร็ปสนุกขึงขังที่ประกาศกร้าวประหนึ่ง กูยังไม่ตายง่ายๆหรอก haters แถมได้ ScHoolboy Q มาร่วมแดกดันกับ Tyler ในรอบหลายปี ถ้ามองในมุมของการจัดเรียงแทร็คที่ถูกวางหลังจากที่ Tyler ถอดหน้ากากนั้นออกแล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ความโนสนโนแคร์ลดลงในแบบที่ยกธงขาวแต่อย่างใด
ไม่ว่าจะเป็น การแซะความน่ารำคาญของชาวเน็ตที่มักจะหยิบสเตตัสทวิตเตอร์เก่าๆมาด่าย้อนหลัง รวมไปถึงการพูดถึงประเด็นพิพาทที่ Tyler เคยไปแขวะแร็ปเปอร์ผิวขาวผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อเจ้านึง (ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นนาย ian) ซึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับ เทรนด์ฮิปฮอปยุคปัจจุบัน ประมาณว่า “ตอนนี้ทุกคนแม่งกลับยกย่องไอ้ผิวขาวที่ลอกเลียนสไตล์ Future และ Gucci Mane แล้วเคลมว่าเป็นตัวจริงตัวตึงประจำยุคนี้”
ในตอนที่มีกระแสข่าวนี้ ผู้จัดการส่วนตัวของ ian ก็ออกมาตอบโต้พร้อมแท็กถึง Tyler ด้วยว่า “กูเป็นคน ATL กูเซ็นสัญญา ian ด้วยตัวกูเอง ian ไม่ได้ลอกสไตล์ เค้าเรียกว่าได้อิทธิพล” (เอ๊ะคุ้นๆ)
-โหมดร้องที่ยกระดับจาก Tomorrow ไปสู่ความ soulful drama ที่ขยี้ปมส่วนตัวให้ขมกว่าเดิมอย่าง Like Him นี่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญแห่งปมปัญหาครอบครัวที่ฝังใจ Tyler อยู่ตลอดมา โดยเฉพาะปมเกี่ยวกับพ่อแท้ๆที่ทิ้งเขาไปตั้งแต่แบเบาะ ถ้าใครยังจำได้ Tyler เคยตัดพ้อถึงพ่อแท้ๆของตัวเองมาแล้วในเพลง Answer จากอัลบั้ม WOLF จนเป็นที่จดจำว่าเป็นเพลงเหงาที่สุดอย่างคาดไม่ถึงจากชายที่มีคาแรคเตอร์สุดวายป่วง ณ ตอนนั้น
พอมาถึงเพลง Like Him ด้วยมุมมองของชายวัย 33 ปีที่เกลียดพ่อฝังใจ กลับต้องมาครุ่นคิดถึงการปฏิเสธ DNA พ่อตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การได้ลักษณะทางกายภาพและอุปนิสัยบางอย่างที่เหมือนพ่อประหนึ่งเงาตามตัว นั่นก็ทำให้เขาโคตรจะเป็นกังวลในเรื่องของการได้คำสาปที่ทำให้เขาจะเป็นเหมือนคนที่เขาเกลียดมากที่สุดเสียเองหรือไม่? และนั่นก็เกิด plot twist ความรู้สึกส่วนลึกของคุณแม่ Bonita ที่พยายามเบรค Tyler ไม่ให้เกลียดพ่อของเขาไปมากกว่านี้
ในซีดีเวอร์ชั่น First Pressing จะมีเพลง Mother ซ่อนอยู่ ซึ่งจะบอกเล่าสถานการณ์และความรู้สึกที่มีต่อแม่เพิ่มเติม ผมยังไม่ได้ฟังตัวเพลงจึงไม่ขอลงรายละเอียดไปมากกว่านี้ครับ
-พอตัดความขม soulful จาก Like Him ด้วยเพลงถัดไปอย่าง Balloon ด้วยอิทธิพลของการแซมเปิ้ลเพลงป็อปญี่ปุ่นของ Akiko Yano นั่นทำให้เพลงนี้ค่อนข้าง shine bright ฉีกความเป็นฟิล์มนัวร์ที่ได้ปูทางไว้มากพอสมควร เหมือนได้ฟังเพลงคนละอัลบั้มก็ไม่ปาน แต่ก็เข้าใจเหตุผลถึงการมีอยู่ของเพลงนี้ด้วยคอนเทนท์ที่นาย Tyler ยังคงยึดอุดมการณ์ Work Hard Play Hard ไม่ไหลไปกับเทรนด์เพื่อเป็นคนอื่นได้โดยง่าย Doechii แร็ปเปอร์หญิงหน้าใหม่แห่งสำนัก TDE ก็ใส่ไฟแร็ปได้อย่างจัดจ้าน รับมุกตบมุกจากเจ้าของเพลงได้อย่างเข้าที
-ปิดท้ายอัลบั้มด้วย I Hope You Find Your Way Home อันเป็นการขมวดปมแห่งการออกไปค้นหาตัวเองได้เป็นอย่างดี ที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า CHROMAKOPIA อาจเป็นภาคต่อกลายๆของ CALL ME IF YOU GET LOST ก็เพราะผมเชื่อมโยงสาสน์ของเพลงนี้เข้ากับตีมอัลบั้มนั้นที่ว่าด้วยการหอบกระเป๋าออกเดินทางร่อนเร่ค้นหาจุดหมาย ซึ่งมันก็ไม่ใช่แค่การพร้อมเป็นสายซับให้ผู้ฟังที่กำลังหลงทางอย่างเดียว แต่เป็นเพราะ Tyler ก็เหมือนคนที่กำลังค้นหาสิ่งที่ขาดหายนั้นเหมือนกัน
CHROMAKOPIA เป็นการดึงดูดให้เข้าสู่โลกแห่งฟิล์มนัวร์ วิตกกังวลของการมีชื่อเสียงแบบที่เจอในเพลง NOID การครุ่นคิดถึงอนาคตที่ต้องตั้งเป้าหมายเรื่องการตั้งหลักปักฐานมี soulmate ในเพลง Darling, I การต้องรับมือการเป็นพ่อคนในเพลง Hey Jane, Tomorrow สำหรับเพลงปิดอัลบั้ม I Hope You Find Your Way Home ก็ยิ่งตอกย้ำคำตอบเดิมที่ว่า ยังคงเห็นแก่ตัวที่จะทำอะไรสนุกๆในเส้นทางการเป็นศิลปินต่อไป
ถึงแม้ว่า Home จะไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นอะไร แต่คำสอนของคุณแม่ Bonita ที่เคยฝากฝังไว้ตั้งแต่แทร็คแรก St.Chroma ที่บอกว่า จงอย่าสูญเสียความมั่นใจ เพราะเราคือแสงสว่างอยู่แล้ว นิยามแห่งหนทางการกลับบ้านนี้เองจึงต้องพึงระลึกถึงพลังแห่งความมั่นใจในตัวเอง คิดสร้างสรรค์ และการประคับประคองสติเพื่อนำมาสู่ทางสว่างแห่งการค้นพบตัวเองในที่สุด
องค์ประกอบสิ่งละอันพันละน้อยก็มีอะไรให้พูดถึง ไม่ว่าจะเป็น ชาวคณะประสานเสียง gospel ก็ช่างงดงามปลอบประโลม และที่เหนือไปกว่านั้นคือการเล่นคำคล้องจอง Thought I Was Dead มาเป็น The Light Comes From Within ในช่วง Outro ช่างเป็นอะไรที่ล้ำลึก และปูเข้าสู่ Intro เพลงแรกอย่างแนบเนียน เป็นเทคนิคการเล่นซ้ำวนลูปที่เริ่มจะถูกใช้ตามๆกันแล้วล่ะครับ อย่างไรก็ดี นี่คือเพลงปิดอัลบั้มที่ให้คำตอบผู้ฟังได้เคลียร์ชัดเหมือนเสียงน้าค่อม มันช่างจ้าซะเหลือเกินนนนนน
-หากแปลความหมายของชื่ออัลบั้ม CHROMAKOPIA นี่คือคำประสมระหว่าง Chroma แปลว่า ความเข้มข้นของสี Kopia แปลว่า ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมๆแล้วแปลว่า เฉดสีที่เข้มข้นอย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็ตั้งใจย้อนแย้งกับ mood and tone ของอัลบั้มโดยสิ้นเชิง เหลือไว้แต่ขาว-ดำ-เขียว-ซีเปีย และยังพ้องเสียงกับคำว่า Chromophobia ที่แปลว่า อาการกลัวสี
-แล้วก็มีทฤษฏีเกี่ยวกับคาแรคเตอร์ Alter-Ego ในรอบนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละคร Chroma The Great จากหนังสือเด็กเรื่อง The Phantom Tollbooth ของ Norton Juster ซึ่งตัวละคร Chroma เป็นวาทยากรที่ควบคุมวงออเครสตร้านำพาเฉดสีต่างๆบนโลกใบนี้ทั้งในตอนพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ถ้าขาดเขาไป โลกก็จะไร้ซึ่งเฉดสี
-เมื่อคิดเล่นๆในมุมของการสวมหัวโขนท่าน Saint Chroma ภารกิจที่ Tyler พยายามเสาะหามาตลอดก็คงจะเป็น “แสงสว่าง” หรือ “ความกระจ่างแจ้ง” บางอย่างที่มันได้เดินทางเข้ามาสู่ช่วงวัยรุ่นเลข 3 ที่ยังรู้สึกว่า การผ่านพ้นความสนุกมันช่างไวเกินกว่าจะต้องมาจริงจังเรื่องวางแผนการมีครอบครัวมากขนาดนั้น ซึ่งก็ตามมาด้วยความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งด้วย
ชีวิตชื่อเสียงอันเป็นดาบสองคมที่ต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา และการที่ต้องรับมือกับแฟนคลับประสาทแดกทั้งหลายที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว บางทีก็ต้องรับมือกับพวก PC police ที่มักจะเอาสเตตัสเก่าๆในโซเชี่ยลมีเดียและบทเพลงความรุนแรง horrorcore ในอดีตมาด่าย้อนหลัง รวมๆกันแล้วมันยังคงเป็นความมืดมนที่ยังคงต้องหา “แสงสว่าง” เพื่อความกระจ่างของความหมายชีวิตก็เป็นได้
-ถ้าว่ากันด้วยลูกเล่นที่อาจจะเผชิญการวนลูปจนพอจับไต๋ได้บ้างแล้ว ที่ผมคิดแบบนั้นก็เพราะ 3 อัลบั้มก่อนหน้านั้น Tyler สามารถฉีกแนวทางได้ไม่ซ้ำกันเลย แต่สำหรับอัลบั้มนี้ การติดด้วยลายเซ็นต์อันเป็นภาพจำ นั่นก็ทำให้คนฟังอย่างเราก็นึกไม่ออกจริงๆครับว่า ฉีกได้มากกว่านี้อีกมั้ย ? ฉีกขั้นสุดก็คงต้องยกให้ IGOR แล้วล่ะครับ และผมก็ยังยืนยันว่า IGOR คือจุดท็อปฟอร์มของ Tyler ได้อย่างสนิทใจ
-อย่างไรก็ดี ภายใต้ลูกเล่นที่ไม่ได้พลิกแพลงมากนัก และไปทาง “ครูพักลักจำ” ที่สามารถขโมยอย่างศิลปินได้เก่งพอสมควรแล้ว ความเซอร์ไพร์สจึงไม่ใช่ประเด็นแห่งซาวนด์ แต่อยู่ที่ความ thoughtful มากขึ้นต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ สังเกตได้เลยว่า ประเด็นที่หยิบยกในอัลบั้มนี้แทบจะเป็น deep conversation มากกว่าครั้งไหนๆ ผมเองก็เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การกลับมาในรอบหน้าคงได้คุยประเด็นที่ออกนอกสนามเด็กเล่นให้ขบคิดอย่างลึกซึ้งขึ้น
-การให้ความสำคัญกับเสียงจริงโดยที่ไม่มีการกร่อนและ pitching ใดๆก็นับว่า Tyler ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดแห่งการเป็นแร็ปเปอร์ แทนที่จำต้องพึ่งไอเท็มเสริมเพื่อขับเคลื่อน vocalist แต่รอบนี้ใช้เสียงจริงของตัวเองแม่งเลย แต่ก็มีบ้างที่ยังติดความติดเล่นไฮเปอร์บางอย่างที่ต้องแว๊บไปสู่ความดีดในห้องต่อไป แทนที่จะซึมซับความแกรนด์นานกว่านี้นิด
-ถึงแม้ว่าภารกิจแห่งการเป็นวาทยากรที่นำพาซึ่งเฉดสีที่ไม่ได้ฉายสีไปมากกว่า mood and tone ที่เจ้าตัวอยากให้เป็น แต่อย่างน้อย ทั้ง light ที่ยังคงแหล่มและ fire passion ที่ยังคงลุกโชนเสมอ หากคุณได้ดูฟุตเทจ MASK IS OFF: CHROMAKOPIA คุณน่าจะได้สัมผัสถึงพลังงานอันเปี่ยมสุขของศิลปินที่แทบไม่มีความรู้สึกว่า นี่คือภาระงานที่ต้องทำ แต่คือความรู้สึกที่อยากระบายความอัดอั้นที่ผ่านมาอย่างไรให้สร้างสรรค์เสียมากกว่า
หน้ากากก็เป็นแค่คอสตูม
Top Tracks: St.Chroma, Rah Tah Tah, Darling, I , Judge Judy, Sticky, Take Your Mask Off, Tomorrow, Thought I Was Dead, Like Him, I Hope You Find Your Way Home
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา