15 พ.ย. เวลา 00:55 • ธุรกิจ

อุปสรรคและความท้าทายภายใต้ดีล Seven & i Holdings

“เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์” (Seven & i Holdings) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเชนร้านสะดวกซื้อชื่อดัง 7-Eleven ได้ออกแถลงการณ์เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 13พ.ย.67 ที่ผ่านมาว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา “ข้อเสนอเข้าซื้อกิจการ ผ่านข้อตกลงรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูล” จาก “บริษัทอิโตชู คอร์ป” (Itochu Corp.) ของ “ตระกูลอิโต” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท
โดยการเข้าซื้อกิจการโดยผู้บริหาร (Management Buyout) หรือ MBO ดังกล่าวนี้ ถูกมองว่าเป็นการตอบโต้ “การเข้าซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร” (Hostile Takeover) ของ “อัลลิมงตาซิยง คูซ ทาร์ด” (Alimentation Couche- Tard) หรือ ACT ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกจากแคนาดา ซึ่งได้ค่อยๆขยับข้อเสนอเพื่อยื่นซื้อกิจการ มาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา จนกระทั่งข้อเสนอล่าสุด (ตามรายงาน ณ วันที่ 13พ.ย.67) มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7ล้านล้านเยน (1.5ล้านล้านบาท)
สำหรับข้อเสนอของฝ่ายตระกูลอิโต หากอ้างอิงจากรายงานของสื่อในประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ณ ปัจจุบัน มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 10 ล้านล้านเยน! (2.2ล้านล้านบาท) โดยแยกเป็นเงินลงทุนผ่าน บริษัทอิโต-โคเกียว จำกัด (Ito Kogyo) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ของตระกูลผู้ก่อตั้งประมาณ 3ล้านล้านเยน (673,164ล้านบาท)
ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้จากธนาคารยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง
ประกอบด้วย “ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย คอร์ปอเรชั่น (Sumitomo Mitsui Banking Corporation ) ซึ่งเป็นธนาคารผู้ให้การสนับสนุนหลัก , “ธนาคารมิตซูบิชิ UFJ” (Mitsubishi Bank) และ “ธนาคารมิตซูโฮ” (Mizuho Bank) อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 ธนาคารชื่อดัง ยังคงไม่ได้มีการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวแต่อย่างใด
ด้าน “สตีเฟน ดาคัส” (Stephen Dacus) ประธานคณะกรรมการพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้มากำกับดูแลและตรวจสอบการเสนอขอซื้อกิจการดังกล่าว ระบุว่า “กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนทางเลือกทั้งหมดอย่างเป็นกลางเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด”
ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่าสูงถึง 10ล้านล้านเยน นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศญี่ปุ่น ทำให้หากดีลดังกล่าว สามารถบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ จะถือเป็น MBO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
แซงหน้าสถิติเดิมที่ บริษัทไทโช ฟาร์มาซูติคอล โฮลดิ้ง (TAISHO PHARMACEUTICAL HOLDINGS CO.LTD) ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ “บริษัทโอเทมอน” (OTEMON Co.Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ด้วยมูลค่า 700,000 ล้านเยน (157,457ล้านบาท) ก่อนจะนำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์
รวมถึงยังแซงหน้า การควบรวมกิจการ ของ ธุรกิจเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่ มูลค่า 7ล้านล้านเยน (1.5ล้านบาท) ของ “ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอล” (Takeda Pharmaceutical) และ บริษัทไชร์ (Shire) ก่อนหน้านี้ด้วย
** หมายเหตุ อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14พ.ย.67 **
มูลค่าตลาด Seven & i Holdings :
ปัจจุบัน Market Cap. ของ Seven & i Holdings อยู่ที่ประมาณ 6ล้านล้านเยน (1.3ล้านล้านบาท) และด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใด ผู้บริหารของ Seven & i Holdings จึงได้ “ปฏิเสธ” ข้อเสนอซื้อกิจการของ “อาลีเมนเทชัน คูซ-ทาร์ด” ก่อนหน้านี้หลายต่อหลายครั้ง
เนื่องจากมองว่า เป็นข้อเสนอที่มีมูลค่า “ต่ำเกินไป” (โดยข้อเสนอแรกอยู่ที่เพียงประมาณ 5ล้านล้านเยน หรือ 1.1ล้านบาท เท่านั้น) เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดของบริษัท ที่มีสาขาทั่วโลกรวมกันมากกว่า 85,800 แห่ง
สถานการณ์ของ Seven & i Holdings :
ก่อนหน้าที่ “ริวอิจิ อิซากะ” (Ryuichi Isaka) ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานบริษัท Seven & i Holdings เมื่อปี 2016 บริษัทประสบปัญหาภายในมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยอดขายตกต่ำ รวมถึงแรงกดดันของกลุ่มทุน ValueAct Capital กองทุนเฮดจ์ฟันสัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอ้างอิงจากรายงานของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ถือหุ้นในบริษัทมากกว่า 4%
เนื่องจาก กลุ่มทุน ValueAct Capital ต้องการให้ Seven & i Holdings “เร่งดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างองค์กร” ที่มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ซึ่งสร้างผลกำไรอย่างงดงามเป็นหลัก พร้อมกับ “กำจัด” ส่วนธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรออกไป โดยเฉพาะเชนซุปเปอร์มาร์เก็ต “อิโต โยคะโด” (Ito Yokado) ซึ่ง “ฉุดรั้งรายได้” ในภาพรวมขององค์กร จนกระทั่งทำให้ธุรกิจประสบปัญหา
ซึ่งประเด็นการปฏิรูปองค์กรดังกล่าวนั้น ได้กลายเป็น ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่ทำให้ “โทชิฟูมิ ซูซูกิ” (Toshifumi Suzuki) อดีตประธานบริษัทคนเก่า ซึ่งบริหารงานมายาวนานถึง 25 ปี “ต้องถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง” ตามรายงานข่าวของสื่อในประเทศญี่ปุ่น
หลังการผลักดันให้ลูกชาย ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน รวมถึงการร้องขอการสนับสนุนให้ถอดถอน ริวอิจิ อิซากะ ออกจากตำแหน่ง ประสบความล้มเหลว จนกระทั่งเกิดการโต้เถียงอย่างดุเดือดในการประชุมผู้บริหาร ขณะเดียวกัน “แผนปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป” นั่นก็คือการค่อยๆทยอยปิด ซุปเปอร์มาร์เก็ตอิโต โยคะโด ที่ไม่มีกำไรบางส่วน ภายในระยะเวลา 5 ปี
ซึ่งถือเป็น “ลักษณะเฉพาะตัว” ในการบริหารธุรกิจตามแบบฉบับญี่ปุ่นดั้งเดิม ที่มักพยายามปกป้องธุรกิจที่มีประสิทธิภาพในการสร้างผลกำไรต่ำเอาไว้ก่อนเพื่อรอคอยการฟื้นตัวในอนาคตแบบค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะเลือก “ปรับเปลี่ยนแบบทันทีทันใด” ในสไตล์การบริหารแบบตะวันตกที่มุ่งเน้นเรื่องผลกำไรเป็นหลัก นั้น ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจาก กลุ่มทุน ValueAct Capital ที่สนับสนุน “ริวอิจิ อิซากะ” อย่างออกนอกหน้า
และเป็นผลให้ “ริวอิจิ อิซากะ” ซึ่งสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นให้กับบริษัทในระยะหลัง ได้ขึ้นนั่งตำแหน่งประธานบริษัทได้สำเร็จ พร้อมกับเดินหน้าแผนการปฏิรูปองค์กรอย่างเต็มตัวในที่สุด
เพราะอะไร ACT จึงต้องการซื้อ Seven & i Holdings :
นักวิเคราะห์ของ CNBC มองว่า เหตุผลหลักในการเข้าซื้อน่าจะเป็นเพราะ “ราคาหุ้นของ Seven & i Holdings มีราคาไม่สูงนัก”
โดยหากอ้างอิงข้อมูลจาก LSEG ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลตลาดการเงินระดับโลก ระบุว่า Price to Earnings Ratio หรือ P/E หุ้นของ Seven & i Holdings ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 27.9 และ Price book Value Ratio หรือ P/BV อยู่ที่ 1.47
อีกทั้ง หาก ACT สามารถซื้อกิจการ Seven & i Holdings ได้สำเร็จ จะเป็นการต่อยอดธุรกิจค้าปลีกให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบัน ACT มีสาขาทั่วโลกเพียง 16,700 แห่ง (ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐและแคนาดา) ในขณะที่ 7-Eleven มีสาขาทั่วโลกรวมกันถึง 85,800 แห่ง
อุปสรรคและความท้าทาย :
นักวิเคราะห์จาก UBS Securities มองว่า อุปสรรคและความท้าทายสำหรับการเข้าซื้อกิจการ Seven & i Holdings ในอนาคตไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะก็คือ ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุให้ ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ในภาวะซบเซาเป็นเวลานาน เป็นเพราะผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่ถือเป็นรายได้หลักของบริษัท
โดยส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะรูปแบบธุรกิจที่เข้าใกล้จุดอิ่มตัว แถมยังเต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดจาก “มูลค่าเสนอซื้อกิจการ” ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดหมาย
ขณะเดียวกัน ไม่ว่า ACT หรือ “ตระกูลอิโต” จะเป็นฝ่ายได้ 7-Eleven ไปไว้ในครอบครอง การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ อาจกลายเป็นแรงดึงดูดชั้นดีให้รัฐบาลสหรัฐฯ หรือ รัฐบาลญี่ปุ่น ใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดการค้าเข้ามาตรวจสอบก็เป็นได้
เพราะฝ่าย ACT มีสาขาจำนวนมากในสหรัฐฯ ในขณะที่ฝ่ายตระกูลอิโต นอกจาก 7-eleven แล้ว ก็มี เชน Family Mart ที่มีสาขาจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่นอยู่ในมือด้วยเช่นกัน
** หมายเหตุ บริษัทอิโต-โคเกียว จำกัด (Ito Kogyo) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ของตระกูลอิโต ปัจจุบัน ถือหุ้นใน Seven & i Holdings รวม 8.2% นอกจากนี้ “จุนโระ อิโต” หนึ่งในสมาชิกครอบครัว ซึ่งนั่งตำแหน่งรองประธานบริหาร ก็ถือหุ้นในบริษัท 0.37% ด้วย **
จุดกำเนิดของ Seven & i Holdings :
ต้นกำเนิดของ Seven & i Holdings นั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นร้านขายเสื้อผ้าชื่อโยคะโด (Yokado) ในย่านอาซากุสะ กรุงโตเกียว ตั้งแต่เมื่อปี 1920 จากนั้นจึงค่อยๆกระจายความหลากหลายทางธุรกิจออกไปจนสามารถเปิดร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แห่งแรกได้ในปี 1974
จากนั้นจึงได้ขยายกิจการจนมีทั้งเชนร้านสะดวกซื้อ (7-Eleven) และเชนซุปเปอร์มาร์เก็ต (อิโต โยคะโด) และกลายเป็น Holding Company ได้สำเร็จในปี 2005 และดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ACT VS Seven & i Holdings :
ก่อตั้ง :
ACT : ปี 1980
Seven & i Holdings : ปี 2005
ประเภทธุรกิจ :
ACT : อาหาร , เครื่องดื่ม , แอลกอฮอล์และบุหรี่
Seven & i Holdings : Food Markets
Market cap.
ACT : 52,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Seven & i Holdings : 37,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จำนวนพนักงาน :
ACT : 149,000 คน
Seven & i Holdings : 170,757 คน
รายได้และกำไร ปี 2023 :
ACT : 71,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ : 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Seven & i Holdings : 88,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ : 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
OUTFIELD MAN สำนักข่าว TRUST NEWS
#เซเว่นอีเลฟเว่น #ซื้อกิจการ #7eleven #Seven&iHoldings #ญี่ปุ่น #บริษัทแม่ #สำนักข่าวทรัสต์นิวส์ #Trustnews #ธุรกิจ
โฆษณา