Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โรงพยาบาลเพชรเวช
•
ติดตาม
15 พ.ย. เวลา 01:49 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเพชรเวช
มะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยเงียบของคุณผู้ชายทุกคนที่ควรระวัง
ต่อมลูกหมากมีลักษณะคล้ายเมล็ดเกาลัดอยู่รอบท่อปัสสาวะในบริเวณปากทางออกของกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ และผลิตน้ำเมือก ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าต่อมลูกหมากคือลูกอัณฑะ แต่อัณฑะจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะย่อยสลายฮอร์โมนเพศชายมากขึ้นทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในต่อมลูกหมากมีปริมาณเพิ่มขึ้น การที่ต่อมลูกหมากโตขึ้นผิดปกติอาจเป็นที่มาของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร ?
มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้มากในเพศชาย โดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติ และรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนมะเร็งอุดตันทางเดินปัสสาวะในที่สุด โดยเซลล์มะเร็งเหล่านี้จะสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ไต ตับ และปอด ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหาย และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะพิจารณาดูจากขนาดของก้อนเนื้อและการกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ดังนี้
- ระยะเริ่มต้น ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะมะเร็งยังอยู่เพียงในต่อมลูกหมาก และมีขนาดเล็ก
- ระยะไม่ลุกลาม หรือแพร่กระจาย มะเร็งเริ่มโตขึ้น แต่ยังคงอยู่เฉพาะในต่อมลูกหมาก ไม่ได้ลุกลามไปอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้เคียง
- ระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งเริ่มกระจายออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ กระดูก และปอด เป็นต้น
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ?
- เพศชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมาก่อน
- ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
- ผู้ที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน
สัญญาณมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคนี้เป็นโรคที่ค่อย ๆ สะสมและจะไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรกจนกระทั่งเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตไปกดทับท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะ ดังนี้
- ปัสสาวะไหลช้า มีอาการติดขัด และออกยาก
- ปัสสาวะบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- หลังปัสสาวะจะรู้สึกเหมือนยังปัสสาวะไม่สุด
- รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
- มีเลือดปนกับปัสสาวะ
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
หากเชื้อมะเร็งลุกลามอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมาอีก เช่น ปวดหลัง ปวดสะโพก น้ำหนักลด อ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
ตรวจเพื่อให้รู้ป้องกันการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในระยะแรก การตรวจหาความผิดปกติจึงมีความจำเป็น โดยโรคนี้สามารถใช้วิธีตรวจได้หลายประการ ดังนี้
- การตรวจเบื้องต้น (Screening Test) เป็นการตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์จะใช้วิธีสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนัก เพื่อคลำดูขนาด ลักษณะ และรูปร่างของต่อมลูกหมากว่ามีความผิดปกติหรือไม่
- การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Prostate-specific Antigen : PSA) เพื่อวิเคราะห์หาสาร PSA ในกระแสเลือด หากมีระดับค่าของสารมากกว่าปกติอาจวินิจฉัยได้ว่าอวัยวะกำลังเกิดการอักเสบ หรือมีเชื้อมะเร็งได้
- การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจด้วยการใช้คลื่นเสียง โดยจะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปทางทวารหนัก แล้วใช้คลื่นเสียงช่วยในการถ่ายภาพของต่อมลูกหมาก
- การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
- การตัดชิ้นเนื้อ แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากเพื่อนำชิ้นเนื้อส่งวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
- การผ่าตัด เป็นตัวเลือกในการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยจะเป็นการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ บางส่วนออกไปด้วย
- รังสีบำบัด จะมีทั้งการฝังแร่และการฉายรังสี โดยแพทย์จะพิจารณาตามชนิดของความเสี่ยง ซึ่งการใช้รังสีรักษาจะให้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการผ่าตัด เพราะสามารถควบคุมเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง
- ฮอร์โมนบำบัด เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด เพื่อลดการผลิตฮอร์โมนเพศชายที่มาจากต่อมใต้สมอง
- การทำเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำที่แขน หรือการรับประทานยา วิธีนี้มักใช้กับมะเร็งในระยะที่แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นแล้ว ซึ่งวิธีการรักษานี้จะไม่สามารถช่วยให้หายได้ แต่จะเป็นการควบคุมการเกิดมะเร็งเพียงเท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ เมื่อเซลล์มะเร็งเกิดการกระจาย และแพร่เข้าไปในอวัยวะใกล้เคียงจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมา เช่น
- เชื้อกระจายเข้าสู่กระดูกหรือกระเพาะปัสสาวะ จะทำให้เกิดความเจ็บปวดรุนแรง และกระดูกแตกร้าวได้
- ผู้ป่วยที่ทำการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การทำรังสีบำบัด และการทำฮอร์โมนบำบัดย่อมส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทใกล้กับต่อมลูกหมากที่ควบคุมการตอบสนองของอวัยวะเพศชาย ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และอาจเกิดภาวะภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งต้องทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนนี้ต่อไป
ขึ้นชื่อว่ามะเร็งหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความจำเป็นเพราะจะช่วยให้เราสามารถทราบว่าเรามีความเสี่ยงของการเป็นโรคใดหรือไม่ หากตรวจพบจะสามารถวางแผนในการรักษาที่ถูกต้อง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ไลฟ์สไตล์
การแพทย์
เรื่องเล่า
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย