15 พ.ย. 2024 เวลา 02:28 • ข่าว

นครพนม ติดอาวุธความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ #2

ในยุคที่มีการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีค่อนข้างสูงคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่เคยได้ยิน คำว่า “ไซเบอร์” ไม่ว่าจะเป็น ข่าว หรือสื่อสังคมออนไลน์ มักจะปรากฏคำนี้ให้เห็นหรือได้ยินเป็นประจำ และมีหลายคนให้ความหมายคล้าย ๆ กัน วันนี้พามารู้จัก คำว่า “ไซเบอร์” ในบริบทที่เข้าใจง่าย ๆ ของบทความนี้กันครับ
“ไซเบอร์” (Cyber) เป็นคำที่ใช้พูดถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงโลกเสมือนที่เกิดจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกันในรูปแบบดิจิทัล คำว่า "ไซเบอร์" ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมากในช่วงยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน
ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมา เช่น "Cyber Crime" การกระทำผิดกฎหมายโดยใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือ , “Cyber Bully” การกลั่นแกล้ง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น X) เป็นต้น นอกจากนี้ “ไซเบอร์” ยังรวมถึงเรื่องของการรักษาความปลอดภัยข้อมูล หรือ "Cybersecurity" ที่เกี่ยวกับการป้องกันระบบและข้อมูลจากการถูกโจมตีหรือการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต
นักศึกษาร่วมอบรม
ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสร้างผลกระทบให้แก่ผู้เสียหายจำนวนมาก ทั้งในระดับบุคคล หน่วยงาน-องค์กร และประเทศชาติ จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอัปเดตสถิติการแจ้งความออนไลน์ของผู้เสียหาย ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2567 พบยอดแจ้งความสะสมมากถึง 612,603 เรื่อง โดยใน 14 ประเภทนี้เป็นคดีหลอกซื้อขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด และยังพบว่าประเทศไทยติดอันดับที่มีอาชญากรรมทางออนไลน์ ติดอันดับ 6 ของโลก (อินเดีย ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ไทย)
ด้วยเหตุนี้ จึงมีกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และหน่วยงานในเครือข่าย เพื่อให้ความรู้และการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากไซเบอร์ในอนาคต โดยดึงนักเรียน เยาวชน นักศึกษา ผู้พิการ ผู้แทนหน่วยงาน-องค์กร และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟัง ที่ห้อง Eternity Conference Center โรงแรมแม่โขงเฮอริเทจ อ.เมือง จ.นครพนม
ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ 1 จ.เชียงใหม่) และจะเดินสายจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ให้ครบทุกภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cybersecurity Agency) ตัวย่อภาษาอังกฤษ NCSA ตัวย่อภาษาไทย สกมช.
จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ต่อมาในปี 2565 ได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านไซเบอร์เป็นระดับพื้นฐานและระดับเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถ การป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ นั่นหมายความว่า สกมช. เริ่มมีบทบาทในด้านศักยภาพเต็มรูปแบบได้เพียง 3 ปี
สำหรับภารกิจหลักของ สกมช. มีการดำเนินงานภายใต้ 4 ภารกิจหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศ ได้แก่ การป้องกัน (พัฒนาระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้าน Cybersecurity ให้กับประชาชนและองค์กร การตรวจจับ (เฝ้าระวังและตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และระบบสารสนเทศของประเทศ)
การรับมือ (ประสานงานและสนับสนุนการรับมือกับเหตุการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) และ การฟื้นฟู (ช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการฟื้นฟูระบบที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์)
ส่วนความสำคัญที่มีต่อภาคธุรกิจและประชาชน คือ การสร้างมาตรฐาน (กำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้าน Cybersecurity ที่องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคาม) การให้ความรู้ (จัดอบรม สัมมนา และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ Cybersecurity เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนและองค์กร)
การประสานงาน (ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์) และ การพัฒนาบุคลากร (ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้าน Cybersecurity เพื่อรองรับความต้องการของประเทศ)
อาจารย์นรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล
อาจารย์นรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติ 14 คดีออนไลน์ที่คนไทยโดนหลอกมากที่สุด (ปี 2565 - 2567) พบว่า หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการไม่เป็นขบวนการ 296,042 คดี หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 82,162 คดี หลอกให้กู้เงิน 63,878 คดี หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 45,787 คดี ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) 42,404 คดี
หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน 25,344 คดี และ หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 22,342 คดี พร้อมกันนี้ ยังมีข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์ (1 มิถุนายน 2565 - 30 มิถุนายน 2567) ถูกแจ้งความออนไลน์มากถึง 575,507 เรื่อง โดยกลุ่มวัยทำงาน อายุ 30-44 ปี ตกเป็นเหยื่อมากที่สุด ซึ่งเหยื่อที่เป็นผู้หญิง พบในอัตราร้อยละ 64 และเหยื่อที่เป็นผู้ชาย พบในอัตราเพียงร้อยละ 36
อาจารย์นรินทร์ฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันภัยไซเบอร์มีหลากหลายรูปแบบ นอกจากการมีสติที่ดีอยู่กับตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้อง “คิด” ก่อน “คลิ๊ก” เสมอ โดยเฉพาะจำพวกลิงก์ต่าง ๆ ในแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์
นาวาเอกหญิง ศิริเนตร รักษ์วงศ์
นาวาเอกหญิง ศิริเนตร รักษ์วงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ใน 1 ปี พบสถิติคุกคามทางไซเบอร์มากถึง 1,827 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นของหน่วยงานราชการ แม้จะรู้วิธีรับมือก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การรู้เท่าทันเป็นการป้องกันได้ระดับหนึ่ง
สกมช. จึงต้องมีแผนดำเนินงาน ขยายความร่วมมือด้านเครือข่ายจัดการกับภัยคุกคาม พัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแต่งตั้งพนักงานและเจ้าหน้าที่ไซเบอร์ ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เป็นเครือข่ายประจำจังหวัด เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้ถึงประชาชนมากที่สุด
การปฏิบัติตามมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ห้วงเดือนตุลาคม 2566-เดือนกันยายน 2567) สกมช. มี การปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุก ได้แก่ การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 90 รายงาน , การเผยแพร่ข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์และข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จำนวน 449 รายงาน และการทดสอบความปลอดภัยของระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์ จำนวน 111 หน่วยงาน
การปฏิบัติตามมาตรการเชิงรับ ได้แก่ การแจ้งเตือนเหตุการณ์และให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา จำนวน 1,827 หน่วยงาน และการตอบสนองและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 38 หน่วยงาน รวมถึง การบริหารด้านการจัดการคุณภาพ ได้แก่ สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 78 ครั้ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 9,000 คน
การประชุม The Second Joint Coordinating Committee (JCC) Meeting
นอกจากการปฏิบัติตามมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ผ่านมา สกมช. เข้าร่วมการประชุม The Second Joint Coordinating Committee (JCC) Meeting เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Center (AJCCBC) ระหว่างเดือนกันยายน 2566 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
พร้อมหารือถึงแผนงานที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานในระหว่างเดือนมีนาคม 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยเน้นย้ำถึงการเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมให้มากขึ้นจากเดิม และมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายระดับสากลผ่านการดำเนินงานของกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
การดำเนินงานของ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Center ภายใต้ความร่วมมือของประเทศไทย ญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน เปิดเผยถึงความสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมาว่า มีบุคลากรในอาเซียนเข้าร่วมมากกว่า 260 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความรู้และทักษะใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัล ผลงานที่สำคัญของ AJCCBC ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ และโครงการที่เน้นการสร้างศักยภาพด้าน Cybersecurity ให้แก่ผู้เข้าร่วม
นักศึกษาร่วมอบรม
เป็นการเพิ่มความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการรับมือกับภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นกับความร่วมมือประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ และการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้ AJCCBC กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ด้าน Cybersecurity ในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการสร้างและแบ่งปันความรู้ การพัฒนาทักษะ และการเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความท้าทายในโลกไซเบอร์
ส่วนช่วงเวลาที่เหลือของปี AJCCBC มีแผนที่จะขยายการฝึกอบรมและสัมมนา เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้าน Cybersecurity ของอาเซียน และยังคงเดินหน้าสนับสนุนการสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในภูมิภาคอีกด้วย
นางสงวน มะเสนา
ด้าน นางสงวน มะเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยของไซเบอร์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาควบคู่กันเสมอกับความก้าวหน้าในการพัฒนา แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย คือ ผลกระทบที่เป็นด้านลบ หากทุกคนติดตามข่าวสารจะเห็นว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์มีการแพร่ระบาดไปทั่วทุกแห่ง และพร้อมถูกโจมตีได้ตลอดเวลา เวทีนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ชาวนครพนมจะได้รับความรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี และผลกระทบที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นภัย ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สิ่งเหล่านี้หวังว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะได้นำความรู้ไปสื่อสาร เผยแพร่กับพี่น้องชาวนครพนม ให้ใช้ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย นางสงวน กล่าว
ผู้แทน และบุคลากร ม.นครพนม
ภาพ : ประชาสัมพันธ์การเกษตรและสหกรณ์ นครพนม/สวท.นครพนม FM 90.25 MHz
บทความ : นครพนมโฟกัส
#นครพนมโฟกัส #สร้างสรรค์พื้นที่สื่อโฟกัสตรงประเด็น #NKPFOCUS #บทความ #สื่อสร้างสรรค์ #ข่าวนครพนม #ข่าวท้องถิ่น #ข่าวอีสาน #สื่ออีสาน #นครพนม #ไซเบอร์ #ภัยไซเบอร์ #Cyber #สกมช #เครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ #สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
โฆษณา