15 พ.ย. 2024 เวลา 03:17 • ท่องเที่ยว

ภูเขาทอง วัดสระเกศ .. สักการะพระบรมบรรพต ก่อนวันลอยกระทง

"ครั้งหนึ่ง .. ครั้งหนึ่ง เธอจำได้ไหม
สองเราเคยเที่ยวงานวัดบ้านใต้ ทำบุญปิดทององค์พระมาลัย
ก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน..."
ฉันเดินไปพลาง ปากก็ฮัมเพลง "งานวัด" ของวง "เพื่อน" ไปพลาง และเหตุที่เลือกเพลงนี้ขึ้นมาก็เพราะว่าฉันกำลังจะไปเดินงานวัดค่ะ แต่งานวัดที่ว่านี้ไม่ใช่วัดบ้านใต้ ไม่มีพระมาลัย และไม่ได้ไปก่อพระเจดีย์ทรายที่ไหน แต่ที่นี่มีเจดีย์ภูเขาทององค์ใหญ่ให้สักการะกัน
.. ใช่แล้ว... ฉันกำลังจะไปเดินเที่ยวงานวัดภูเขาทอง ที่ได้ชื่อว่าสงานวัดย้อนยุคที่มีขนาดใหญ่ที่จะหาดูได้ยากสำหรับเมืองหลวง
ในสมัยโบราณ งานวัดสระเกศจะจัดกันปีละหน เป็นวัฒนธรรมงานวัดแบบแท้ๆ และถือว่าเป็นงานระดับที่ยิ่งใหญ่สุดคลาสสิคของเมืองกรุงกันเลยทีเดียว
“วัดสระเกศ” เป็นวัดโบราณ .. เดิมชื่อ “วัดสะแก” เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา และภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ และขุดคลองรอบวัดชื่อว่า “คลองมหานาค” (เพื่อป้องกันพระนคร)
.. และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสระเกศ" ซึ่งแปลว่า “ชำระพระเกศา” เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจราจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ครองราชย์สมบัติใน พ.ศ. 2325
สำหรับงานวัดภูเขาทองที่วัดสระเกศแห่งนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นงานวัดเก่าแก่ จัดกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว และทางวัดก็พยายามคงบรรยากาศเหมือนแต่ก่อนไว้ให้มากที่สุด
บรรยากาศงานเริ่มคึกคักตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ภูเขาทองในตำแหน่งมองเห็นโดดเด่นได้แต่ไกล
.. ภูเขาทองมีผ้าแดงผืนใหญ่ห่มคลุมอยู่ เนื่องจาก 3 วันก่อนหน้าที่จะมีงานวัดภูเขาทองนั้น จะมีพิธีห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ ซึ่งเป็นพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่งซึ่งเชื่อว่า ผู้ที่ได้ร่วมพิธีกรรมนี้จะมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข แคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ
เจดีย์ภูเขาทองที่เราเห็นตั้งสง่าอยู่ทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
.. ซึ่งหลังจากที่ท่านทรงสร้างพระปรางค์วัดอรุณฯ ในฝั่งธนบุรีเสร็จลง ก็มีดำริให้สร้างพระปรางค์ขึ้นที่วัดสระเกศ โดยตั้งพระทัยว่าจะสร้างให้สูงใหญ่ยิ่งกว่าพระปรางค์วัดอรุณฯ
วิธีสร้างพระปรางค์วัดสระเกศก็คือ ต้องขุดดินลงไปจนลึก เอาท่อนซุงปูเรียงขัดกันไว้ก้นหลุม แล้วเอาอิฐ กรวด เศษกระเบื้องต่างๆ ใส่อัดเข้าไปไม่ให้เหลือช่องว่าง จากนั้นจึงขนดินมาถมให้สูงแล้วก่อเป็นฐานพระปรางค์
Photo : Internet
.. แต่ในขณะที่สร้างไม่ทันเสร็จ ด้วยเหตุที่สภาพธรรมชาติทางธรณีวิทยาของพื้นดินกรุงเทพฯเป็นเลนตม น้ำหนักของฐานพระปรางค์ที่มากจึงกดให้ดินทรุดพังลงมา ยอดพระปรางค์ก็หักโค่นลงมาเสียก่อน
Photo : Internet
Photo : Internet
.. จากนั้นก็ไม่ได้มีการก่อสร้างอะไรต่ออีก ดังนั้นเมื่อกองดินซึ่งเป็นฐานพระปรางค์ถูกทิ้งร้าง ก็มีพวกวัชพืชไม้เลื้อย รวมทั้งต้นไม้ต่างๆ ขึ้นเต็มจนดูเหมือนภูเขาจริงๆ
“วัดสระเกศ” ในรูปลักษณ์ที่เราเห็น สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่พระองค์ได้รับ “พระบรมสารีริกธาตุ” มาจากรัฐบาลอินเดีย ซึ่งขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งคำจารึกพิสูจน์ได้ว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นของพระสมณโคดม ซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราช
.. พระองค์ท่านจึงนำมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ภูเขาทองนี้ และจัดให้มีงานสมโภช 7 วัน 7 คืน จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา และกลายเป็นงานวัดที่เก่าแก่ที่สุดงานหนึ่งอีกด้วย
ส่วนที่เรียกว่า “ภูเขาทอง” ก็เพราะในกรุงเก่า หรือกรุงศรีอยุธยา ก็มีคลองที่ชื่อว่าคลองมหานาค และใกล้ๆ คลองก็มีเจดีย์ที่ชื่อว่า เจดีย์ภูเขาทองอยู่เช่นกัน เหมาะเจาะกับชื่อคลองที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้ขุดไว้ข้างวัดสระเกศ ก็มีชื่อว่า “คลองมหานาค” เช่นกัน ดังนั้นภูเขาดินข้างๆ คลองนี้ที่สร้างเจดีย์ขึ้นมาก็ควรเรียกว่า “ภูเขาทอง” ให้เหมือนกัน ที่มาที่ไปก็เป็นเช่นนี้แหละค่ะ
เราจะเดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปต่างๆบน “ภูเขาทอง” ด้วยกันนะคะ
รอบๆ “พระบรมบรรพต” หรือ ภูเขาทองมีการจัดวางรูปสัตว์หลายชนิด ซึ่งฉันเดาเองว่าคงเป็นการจำลองบรรยากาศของป่าหิมพานต์มาไว้ที่นี่ ทำให้ภาพภูเขาทอง ณ จุดนี้สวยมาก จึงมีผู้คนมาเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันไม่น้อย
ปูนปั้น ณ บันไดทางเดินขึ้นภูเขาทองบอกไว้ว่า เราต้องเดินขึ้นบันได 344 ขั้น .. แต่มองจากสายตาไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่เพราะขั้นบันไดถี่และไม่สูง
ในรายทาง .. มีรูปปั้นต่างๆเรียงรายเป็นชั้นๆ เหมือนการจัดตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม เช่นรูปปั้นพระพุทธรูปปางต่างๆ เจ้าแม่กวนอิม และสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งคงเป็นสัตว์ประจำราศี
.. บรรยากาศนั้นร่มรื่น ทำให้การเดินบ้าง หยุดถ่ายรูปบ้างนั้น รื่นรมย์ไม่น้อย
เมื่อกล่าวถึงทางขึ้น ก็อยากจะตัดไปเล่าถึงบริเวณทางลงจุดหนึ่งในคราวเดียวกันสักนิด .. ทางลง หรือ “ทางแร้งลง” .. หลายคนอาจจะสงสัยเมื่อมองเห็นประติมากรรมรูป “นกแร้ง” บนไหล่ทางของบันไดว่ามีความเป็นมาอย่างไร?
Photo : Internet
ห่ากินเมือง โรคระบาดครั้งใหญ่ ที่มาของตำนาน แร้งวัดสระเกศ
ในสมัยอยุธยาเมื่อมีคนตายลงโดยเฉพาะตายจากโรคติดต่อ .. ถ้าเป็นคนมีฐานะดีก็จะเผา แต่ถ้าเป็นคนยากจนก็จะทิ้งศพไว้ให้แร้งกินจนเป็นประเพณีเรื่อยมาถึงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อคราวห่ากินเมือง เพียง 15 วันมีคนตายไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ซากศพจึงถูกนำมาทิ้งที่วัดสระเกศที่อยู่ใกล้กับประตูผีและปล่อยศพไว้ให้แร้งกินจนเป็นที่มาของตำนาน “แร้งวัดสระเกศ”
ตำนานแร้งวัดสระเกศสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงยกเลิก สวดพระปริตร ทำพิธีทางศาสนา และพิธีอาพาธพินาศ เพื่อกำจัดโรค ตรงกันข้ามพระองค์ทรงออกพระราชบัญญัติการสุขาภิบาล สร้างระบบน้ำประปาสะอาด นำการแพทย์ที่ทันสมัยจากตะวันตกเข้ามาใช้ในการรักษา
ระหว่างชานพักของแต่ละชั้น จะมองเห็นระฆังเป็นแถว รอให้ผู้คนมาตีระฆังให้เสียงกังวานไปไกล .. อาจจะบอกเล่าการมาถึงที่นี่ของเรา
เอาล่ะ ...เดินยังไม่ทันจะเหนื่อยฉันก็ขึ้นมาถึงบริเวณที่จะจุดธูปเทียนปิดทองสักการะพระบรมสารีริกธาตุจำลอง ช่วงเทศกาลอย่างนี้คนจะเยอะเป็นพิเศษก็อย่าหงุดหงิดไป คิดไว้ในใจว่าวันนี้เรามาทำบุญกัน
ตำนานการได้มาของพระบรมสารีริกธาตุ วัดสระเกศ ..
ถึง พ.ศ.๒๔๔๑ มิสเตอร์ วิลเลี่ยม เครกตัน เปบเปอร์ ชาวอังกฤษ ได้ขุดพบอัฐธาตุในสถูป อยู่ในพื้นที่ใกล้ตำบลปิบราห์วะ ซึ่งก็คือเมืองกบิลพัสดุ์
.. มีอักษรจารึกอ่านได้ว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในส่วนที่ศากยะวงศ์(ตระกูลของพระพุทธเจ้า)ได้รับแบ่งปันมา .. ดังนั้นพระบรมสารีริกธาตุที่คันพบครั้งนี้ จึงมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์อย่างแน่นอน
ขณะนั้นมาเควส เคอสัน เป็นอุปราชปกครองอินเดีย มีความคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เพราะเคยอยู่ที่กรุงเทพฯมาก่อน ..
มาเควส เคอสัน เห็นว่าพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภกนั้น ก็มีแต่ที่ประเทศสยามเท่านั้น .. จึงได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลเกล้าฯจะถวายพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบในครั้งนี้
มีเรื่องเล่าว่าเหตุที่ท่าน มาเควส เคอสัน รีบทูลเกล้าถวายนั้นเพราะเกรงว่า พระบรมสารีริกธาตุอาจถูกทำลายไป ดังที่เคยมีข่าวบาทหลวงทุบทำลายพระบรมสารีริกธาตุที่ประเทศรีลังกา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยายมราช(ปั้น สุขุม) เมื่อครั้งยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เป็นผู้แทนไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียมายังประเทศสยาม
คราวนั้นประเทศศญี่ปุ่น ลังกา พม่า ไซบีเรีย ได้ส่งทูตมาขอรับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุชุดที่ขุดพบที่อินเดียนี้ด้วย พระองค์ได้พระราชทานให้เพื่อพุทธศาสนิกชนในประเทศอื่นจะได้มีไว้กราบไหว้ระลึกเป็นพุทธานุสติ
เรากราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์ภูเขาทอง แล้วเดินไปไหว้พระพุทธรูปต่างๆภายในชั้นเดียวกับพระบรมสารีริกธาตุ
มีบันไดเวียนเป็นทางขึ้นไปถึงพระเจดีย์เพื่อชมความงามของภูเขาทอง หรือ พระบรมบรรพต
ลักษณะภูเขามีพระเจดีย์ทรงลังกาอยู่บนยอดเป็นสีทอง ในวันนี้พระเจดีย์ได้รับการห่มคลุมด้วยผ้าสีแดง ดูแปลกตาและให้บรรยากาศที่ศักดิ์สิทธิ์ แตกต่างจากวันธรรมดาอื่นๆที่เราเคยมาสักการะ .. เราสักการะเจดีย์ภูเขาทองด้วยการร่วมเดินทักษิณาวัตรสักสามรอบกับผู้เลื่อมใสอื่นๆ
พิธีการอันเชิญผ้าแดงและพิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุ .. มีการปฏิบัติสืบทอดต่อมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
โดยขั้นตอนในพิธีห่มผ้าแดงนั้นจะมีขึ้นก่อนวันงาน 3 วัน ภายในงานประชาชนได้ร่วมกันจารึกชื่อของตนเองลงบนผ้าแดง ก่อนที่จะอัญเชิญขึ้นห่มองค์บรมบรรพตภูเขาทองเป็นเวลา 9 วันเพื่อความเป็นสิริมงคล
คนส่วนใหญ่ที่ขึ้นมาด้านบน มักจจะเขียนชื่อตนและคนรอบข้างไว้บนผ้าสีแดงที่ทางวัดจัดเอาไว้ให้ ซึ่งผ้านี้จะใช้ห่มพระธาตุ .. ใครอยากทำบุญด้วยการบริจาคสามารถทำได้
“หมุดสะดือประเทศ” ที่ยอดภูเขาทองวัดสระเกศ .. วันนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะมีสิ่งอื่นๆทับบดบังไป .. แต่ไม่เป็นไร เพราะเราเคยมาชมกันแล้วในคราวก่อนๆที่มาเยือน พระบรมบรรพตแห่งนี้
“ภูเขาทอง” แห่งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และถือว่าเป็นจุดชมวิวทัศนียภาพของเมืองโดยรอบที่สวยงามอีกที่หนึ่ง ..
ณ จุดนี้สามารถมองไปได้ไกลทุกทิศโดยที่ไม่มีตึกสูงกว่ามาบังให้เสียภูมิทัศน์
โฆษณา