16 พ.ย. 2024 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์

ลอยกระทง คืออะไร? มาจากไหน? ใครนำมา?

ลอยกระทงก็เพิ่งผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวานนี้ แต่ก็จะขอติดควันหลงวันลอยกระทงกันสักหน่อย แน่นอนว่าคนไทยเราใคร ๆ ก็รู้จักลอยกระทง บ้างก็จำจากบทเรียนต่อ ๆ กันมาว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ในสุโขทัยที่ประดิษฐ์โดยนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงแล้วประเพณีลอยกระทงมันเริ่มที่สุโขทัยจริง ๆ หรือเปล่านะ?
⭐ ศัพทมูลวิทยาว่าด้วยนามของ “กระทง”
คำว่าลอยกระทงนี้ คำว่าลอยนี้เป็นศัพท์ไทเก่าอยู่แล้วที่ยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่ในส่วนของคำว่ากระทงนี้ ทางราชบัณฑิตยสถานได้ให้ข้อมูลว่าอาจจะเป็นคำยืมมาจากภาษาจีนเก่าว่า 鐙 ซึ่งในระบบการสร้างใหม่ของระบบเสียงจีนเก่าตามหลักการของแบกเตอร์ (William Baxter) นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันถอดเสียงอ่านได้ว่า /*k-tˤəŋ/ กเติง ซึ่งก็ชวนสงสัยอยู่เหมือนกันว่ามีความเป็นไปได้มากแค่ไหนว่าการลอยกระทงอาจจะมาจากทางจีน
3
ในทฤษฎีที่กล่าวว่ากระทงมาจากจีนนั้น กล่าวกันว่าลอยกระทงมีที่มาจากเทศกาลเก็บเกี่ยวในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงของจีน ซึ่งในเทศกาลดังกล่าวก็มีการลอยโคมลงน้ำคล้ายกับการลอยกระทงของไทย แถมจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันด้วย อีกทั้งการลอยโคมนี้ยังถูกลอยขอขมาเทพเจ้าแห่งสายน้ำในเทศกาลเซี่ยหยวนเจี๋ยเหมือนกัน แต่เซี่ยหยวนเจี๋ย อย่างถึงอย่างนั้นก็ยังมีบางส่วนที่เชื่อว่าการลอยโคมของจีน มันก็พัฒนามาจากการลอยประทีปของอินเดียเหมือนกัน
1
⭐ จากดีวาลีสู่ลอยกระทง
นอกเหนือจากทฤษฎีที่ว่าลอยกระทงมาจากจีนแล้ว ก็ยังมีทฤษฎีที่ว่ามาจากอินเดีย ซึ่งก็จัดอยู่ในช่วงเดือนไล่เลี่ยกันกับลอยกระทงเหมือนกัน ซึ่งทฤษฎีนี้ เชื่อว่าลอยกระทงอาจจะพัฒนามาจากการลอยประทีปในเทศกาลดิวาลีของอินเดีย แต่ทั้งนั้นทั้งนี้เป้าประสงค์ของดิวาลีกับเป้าประสงค์ของลอยกระทงนับว่าเป็นคนละอย่างกันเลย
ดิวาลีมีทั้งวางบนบกและลอยน้ำ โดยมีความเกี่ยวข้องกับการนิวัตินครของพระราม ทำให้ดิวาลีมีความเกี่ยวเนื่องกับเทพในศาสนาฮินดูอย่างพระวิษณุและพระแม่ลักษมี ในขณะที่ลอยกระทงแบบของไทยนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อขอขมาพระแม่คงคาแทน
⭐ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เก่าจริง หรือเก่าหลอก?
การลอยกระทงในไทยนี้มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านคำบอกเล่าของซิมง เดอ ลา ลูแบร์ อย่างไรก็ดี มีการกล่าวถึงการลอยกระทงว่ามีมาในสุโขทัย และคิดค้นโดยท้าวศรีจุฬาลักษณ์ดังที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมที่เล่าลือกันว่าเก่าถึงสุโขทัยอย่างตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อย่างไรก็ดี ถ้าเรามาศึกษาความจริงแล้วเราจะพบว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น “เก่าไม่จริง”
ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงให้ความเห็นไว้ว่าเป็นงานวรรณกรรมต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง เพราะสำนวนไม่คล้ายกับวรรณคดีสุโขทัยเรื่องอื่น ๆ ตลอดจนมีการกล่าวถึงชนชาติอื่น ๆ อย่างชาวอเมริกา ซึ่งชาวสยามเราเพิ่งรู้จักอเมริกาในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง แต่ถึงอย่างนั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เองก็มีการเชื่อว่าอาจจะเป็นการชำระใหม่ ซึ่งอาจจะมีตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จริง ๆ อยู่แต่ขาดหายไป
2
⭐ ลอยกระทง ของไทยหรือของใคร
ลอยกระทงนี้ เอาเข้าจริงก็ค่อนข้างยากที่จะสรุปได้ถ่องแท้ว่ามาจากไหนกันแน่ แต่จากหลักฐานทั้งหมดก็บ่งชี้ประการหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ไม่ว่าจะที่พบในไทยก็ดี หรือที่จีนก็ดี แต่ทั้งนี้ไทยรับโดยตรงมาจากอินเดีย หรือไทยรับมาจากคนอื่นอีกต่อหนึ่งนั้นก็ยากที่จะพิสูจน์ อินเดียส่งไปจีนแล้วมาไทย? หรืออินเดียส่งไปอาณาจักรพระนคร (เขมรโบราณ) แล้วมาไทย? หรืออินเดียส่งตรงมายังไทยเหมือนอย่างที่พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กล่าวถึงเอาไว้ก็ยากที่จะสรุปได้
2
ด้วยความที่ว่ามันเดินทางส่งต่อวัฒนธรรมกันไปมา อาจทำให้เนื้อหาหลาย ๆ ประการของในแต่ละพื้นที่มีการเปลี่ยนไปจากต้นฉบับเดิม ในอินเดียก็ไม่เหมือนไทย ในจีนก็ไม่เหมือนอินเดีย ผันแปรไปตามแต่ละพื้นที่ของแต่ละวัฒนธรรมไป
#ลอยกระทง #Bnomics
โฆษณา