Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bangkok Bank SME
•
ติดตาม
15 พ.ย. เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ไม่เริ่มตอนนี้ อาจสายเกินไป! ผู้ประกอบการ SME ไทย "พร้อม" แค่ไหน? กับการใช้ “กลไกทางคาร์บอน”(Part 2)
ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หันมาใช้มาตรการทางการค้าหลากหลายรูปแบบ เพื่อบีบให้ประเทศคู่ค้าหามาตรการ และดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเหตุนี้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “กลไกทางคาร์บอน” จึงมีความจําเป็นอย่างมากต่อผู้ประกอบการ SME ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไม่น้อย และไม่อาจหลีกเลี่ยงภาวะกดดันจากคู่ค้าในต่างประเทศได้
“กลไกทางคาร์บอน” (Carbon Mechanism) จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการ SME หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย แต่ในระยะยาว นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ ไม่ว่าจะในรูปแบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS)
และกลไกคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit mechanism) จะทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green & Climate Technology), และการขยายการลงทุนกับกลุ่มพลังงานสะอาด, พลังงานทดแทนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นจนนำไปสู่ Zero Carbon หรือ Net Zero ได้ในที่สุด
ปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า เมื่อองค์กรใดเกิดการปรับตัวและวางแผนควบคุมการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่าย และสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่องค์กรได้ด้วย ในขณะที่องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวหรือลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
บทความนี้ เราจะมาเจาะลึกกันว่า กลไกทางคาร์บอน ทำไมถึงเป็นโอกาสและความท้าทายที่ SME ต้องรู้และต้องรีบทำ
“กลไกทางคาร์บอน” โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจไทย
ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่อาจนิ่งเฉยได้ หลายประเทศได้นำกลไกทางคาร์บอน มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ว่าจะในรูปแบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System : ETS) และกลไกคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit mechanism)
ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายใน 73 ประเทศทั่วโลก ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ครอบคลุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกราว 11.66 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GtCO2eq) คิดเป็น 23 % ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยทั่วโลก และยังมีอีกหลายประเทศที่ยังอยู่ระหว่างวางแผนที่จะนำภาษีคาร์บอนหรือ ETS มาใช้
ทั้งนี้ การนำกลไกทางคาร์บอนภาคบังคับมาใช้ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยเป็นเครื่องมือที่จะสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการปรับตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการที่ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบทั้งในแง่เศรษฐกิจและกายภาพไม่น้อยเลย
นอกจากนั้น หากกลไกราคาคาร์บอนของไทยเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการที่ประเทศคู่ค้ากำหนด จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการเหล่านั้น จากการที่ผู้ส่งออกไทยสามารถนำภาษีคาร์บอนที่ชำระในประเทศไปหักออกจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคาร์บอนที่เกิดจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ได้ อาทิ EU CBAM ที่จะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569
ดังนั้น หาก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มบังคับใช้ กลไกราคาคาร์บอนของไทย ก็มีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก ๆ เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน การขนส่ง การผลิต และการก่อสร้าง การเตรียมความพร้อมของธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการ SME ควรเร่งจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง
พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งต้องติดตามมาตรการสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการจากประเทศคู่ค้าที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจในโลกการค้าที่ท้าทาย เพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจไปพร้อม ๆ กับ ทำให้ SME ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยเริ่มจากทำเรื่องที่ง่าย ๆ กับตัวเองก่อน เช่น การใช้พลังงานทดแทน อย่างโซลาร์เซลล์ การใช้รถไฟฟ้าในการขนส่ง เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหลายฝ่าย ขณะที่พลังงานและโลจิสติกส์ ก็มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจของ SME อย่างมากเช่นกัน
มาดูตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ที่สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็น การลดการใช้พลังงานในองค์กร การขนส่ง และการจัดการของเสีย ในกระบวนการผลิต เป็นต้น
ยกตัวอย่าง บริษัท กุญชร โมเดิร์น ลิฟวิ่ง จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มุ่งเน้นความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ โรงแรมสีเขียว (Green Hotel) อย่างเช่น โรงแรมพลาย ไพร์ม โฮเทล ระยอง ทั้งการสร้างความร่วมมือกับชุมชนและท้องถิ่น เพื่อให้เกิดผลในระยะยาว
ปัจจุบันโรงแรมเรามีการปล่อยคาร์บอนต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 450 ตันต่อปี และตั้งเป้าที่จะลดลงอีก 10% ภายในปีหน้า รวมถึงการจัดการด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และเปลี่ยนรถภายในองค์กรเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อประหยัดพลังงาน เรามี Model Business เรื่องความยั่งยืน ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ถ้าเราทำโซลาร์เซลล์ สถาบันการเงินให้กู้มาทำได้ ถ้าเราเปลี่ยนรถใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เรียกว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้ว ถัดไปก็มาดูว่า เรามีการใช้พลังงานมากแค่ไหน มีอะไรที่ยังไม่ประหยัด ก็เปลี่ยนมาใช้ของที่ช่วยประหยัดพลังงาน พยายามนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาเป็นแนวทาง คือ ใช้ของให้ยาวขึ้น เหลือของเสีย (Waste) น้อยลง ซื้อให้น้อยที่สุด แล้วที่เหลือจะเริ่มง่ายขึ้นเอง ทำแค่นี้ไปก่อน ไม่ต้องคิดเยอะ เพราะการลงทุนตรงนี้คุ้มแล้ว
ผู้ที่ต้องการศึกษา การพัฒนาธุรกิจโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ โรงแรมสีเขียว (Green Hotel) สามารถอ่านฉบับเต็มเพิ่มเติมได้ที่
https://bangkokbanksme.com/en/htb-fcs
อีกหนึ่งยกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ ‘loqa’ (โลกา) อิฐรักษ์โลกจากวัสดุเหลือทิ้ง ที่ผสาน “ดีไซน์” กับ “ความยั่งยืน” Transition ธุรกิจสู่ Net Zero โดยนำขยะเซรามิกและแก้วเหลือทิ้ง มาแปรรูปเป็นอิฐและวัสดุตกแต่งรักษ์โลก เพราะในผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของ loqa จะใช้วัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ถึง 80-85% ปัจจุบัน ทำให้ในเวลาเพียงปีกว่า
สามารถลดเซรามิกเหลือทิ้งไปได้กว่า 100,000 กิโลกรัม เมื่อเรานำมาผ่านกระบวนการอีกครั้ง จากเดิมที่ต้องใช้ความร้อนประมาณ 1,200-1,400 องศาเซลเซียส ก็สามารถลดการใช้ความร้อนน้อยกว่าอิฐทั่วไปได้ถึง 10-15%
ที่สำคัญ ถ้าลูกค้าอยากจะทุบทิ้งหรือย้ายบ้านก็ส่งกลับมาให้เราแปรรูปต่อได้ เพราะสินค้าของเขาสร้างขึ้นจากแนวคิด Circular Design ทั้งหมด
ส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ ‘loqa’ มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการทำ Offset ตัวคาร์บอนที่ปล่อยออกมา โดยใช้คาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่า ผลิตภัณฑ์ loqa (โลกา) จนได้รับการรับรอง ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ อย่างเป็นทางการจาก @beclimateneutral 2 ปีติดต่อกัน
สุดท้าย สิ่งที่เจ้าของแบรนด์ loqa ตั้งเป้าหมายต่อจากนี้ คือ ต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์ loqa ของเขาเป็น Carbon Negative หรือ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ติดลบ คือการลดการปล่อยคาร์บอน และเน้นการดูดซับก๊าซคาร์บอนมากกว่าการปล่อย นั่นหมายถึง ทุกครั้งที่เขาผลิตภัณฑ์ของเขา คือการช่วยดูดซับคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน หรือการปลูกป่าเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอน ดังนั้น ใครใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา เท่ากับมีส่วนช่วยลดโลกร้อนไปด้วยกันนั่นเอง
ส่วนผู้ที่ต้องการศึกษากระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิด Circular Design สามารถอ่านฉบับเต็มเพิ่มเติมได้ที่
https://bangkokbanksme.com/en/loaqsme
สะท้อนให้เห็นว่า พอผู้ประกอบการ SME ทำแบบนี้ได้ ตัวคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของเราก็จะลดลงเอง ในที่สุดบริษัทใหญ่ที่เขาเคยซื้อกับเรา ในอนาคตเขาจะต้องกำหนดให้เราประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นท์ด้วย แต่เราสามารถเริ่มทำตอนนี้ได้เลย ไม่ต้องไปรอให้เขาประกาศ ซึ่งพอเราทำอย่างนี้เราอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ก็สามารถขอราคาที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทใหญ่ได้ เพราะเขาต้องจ่ายเพิ่มอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องทำให้ดีก่อน
สิ่งเหล่านี้คือ ความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SME ไทย แม้วันนี้จะยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับ ทว่าการได้เริ่มทำก่อนย่อมได้เปรียบกว่า ทั้งยังเป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน และมีส่วนช่วยรักษาโลกใบนี้ให้เกิดความยั่งยืน ไปสู่ผู้สืบทอดธุรกิจด้วย
แล้วธุรกิจ SME จะได้ประโยชน์อะไร จากการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์
- ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทหรือองค์กร
- ช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกปรับค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- เพิ่มภาพลักษณ์ของบริษัทหรือองค์กรในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
- ตอบสนองต่อเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจน ทำการตลาดกับคู่ค้าธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อขายเป็นคาร์บอนเครดิต ต้องทำอย่างไรบ้าง
สำหรับการทำโครงการคาร์บอนเครดิตในไทย ต้องขึ้นทะเบียนกับ T-VER เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต โดยมีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ และเสียค่าธรรมเนียม รวมถึงต้นทุนค่าดำเนินงานอื่น ๆ ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เก็บได้จากการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถนำไปซื้อ-ขายได้ในศูนย์แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต FTIX ได้
ทำไม? ธุรกิจ SME ต้องสนใจการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
โอกาสสร้างรายได้ใหม่ ธุรกิจ SME สามารถสร้างรายได้จากการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) และ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) แล้วไปขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต นำส่วนที่เหลือมาขายในตลาด หรือลงทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อขาย
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน: ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ดึงดูดลูกค้า และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว: ภาครัฐไทยมีนโยบายส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนธุรกิจสีเขียว เปิดทางให้ธุรกิจไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และความรู้
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้กลไกทางคาร์บอนและการส่งเสริมภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียของภาคตลาดทุนไทยต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการใช้กลไกลทางคาร์บอน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และพัฒนาตลาดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจ SME ให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแรง
อ้างอิง
ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (สพท.)
The Institute for Sustainable Development of Natural Resources and Environment
https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/65478
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO)
https://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=dHJhZGVfY29uY2VwdA==
https://climate.ec.europa.eu/eu-action/eu-emissions-trading-system-eu-ets/what-eu-ets_en
https://climate.ec.europa.eu/eu-action/eu-emissions-trading-system-eu-ets_en
https://bangkokbanksme.com/en/loaqsme
https://bangkokbanksme.com/en/htb-fcs
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย