15 พ.ย. เวลา 12:00 • การเมือง

ยิ่งสูงยิ่งหนาว

บนหลังคาโลกที่ถูกปกคลุมขาวโพลนไปด้วยหิมะ อากาศหนาวเหน็บเข้าไปถึงกระดูก พายุหิมะที่พัดมาปะทะใบหน้าเย็นยะเยือกจับขั้วหัวใจ อุณหภูมิติดลบเกิน 20 องศาเซลเซียส บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่แสนจะโหดร้าย
แต่ก็ยังมีคนท้าทาย ต้องการเป็นผู้พิชิต ขึ้นไปยืนปักธงประกาศศักดาบนจุดสูงสุดของโลก ที่ความสูง 8,848.86 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
ทั้งที่รู้ดีว่าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ต้องจ่ายด้วยราคาที่แสนแพง ถึงกับต้องแลกกันด้วยชีวิต
ทุกๆปี จึงมีผู้เอาชีวิตตัวเองไปสังเวยให้กับยอดเขาเอฟเวอเรสต์ไม่ต่ำกว่า 10 คน บางปีสูงถึงเกือบ 20 คนก็มี จากจำนวนนักปีนเขาทั้งหมดปีละประมาณ 1,000 คน ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงตายที่สูงมาก
ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2562 มีข่าวช็อคความรู้สึกผู้คน เมื่อศพที่ถูกแช่แข็งอยู่ในกองหิมะ เผยโฉมออกมาให้เห็นมากถึงเกือบ 300 ศพ สาเหตุจากธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ถูกเร่งให้หลอมละลายลงอย่างรวดเร็ว จากภาวะโลกร้อน
หิมะถล่ม เป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้นักปีนเขาเสียชีวิต สูงถึง 41.6%
รองลงมา อันดับ 2 คือ การป่วยจากภาวะแวดล้อมบนที่สูงมากๆ (Acute Mountain Sickness) อากาศหายใจที่มีออกซิเจนเบาบาง ทำให้เวียนหัว ปวดศีรษะ อาเจียน จนถึงหัวใจวายเฉียบพลัน คิดเป็น 22.2% อันดับ 3 เนื่องจากนักปีนเขาหมดแรง เป็นเหตุให้เสียชีวิต 16.8% อันดับ 4 พลัดตกจนได้รับบาดเจ็บสาหัส และต่อมาเสียชีวิต 12.5% และอีก 6.9% จากสาเหตุอื่นๆ
คุณวิทิตนันท์ โรจนพานิช ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์และผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นคนไทยคนแรก ที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
ตามมาด้วยนายแพทย์อาคม กิจวนิชประเสริฐ เป็นคนที่สอง สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ทันตแพทย์หญิง นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ คือคนไทยคนที่สาม และเป็นผู้หญิงไทยคนแรก ที่สามารถปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2559
และล่าสุดแพทย์หญิงมัณฑนา ถวิลไพร วัย 35 ปี จาก จ. ขอนแก่น เธอสามารถพิชิตยอดเขาเอฟเวอเรสต์ สำเร็จเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566
เบื้องหลังที่ไม่มีใครทราบ 8 ปีแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวและอดทน ในการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง
ด้วยการสะพายเป้หลังน้ำหนัก 16 กิโลกรัม เดินขึ้นลงบันไดในโรงพยาบาล ก่อนและหลังเข้างาน ฝึกปีนหน้าผาจำลองในวันหยุด ลดกิจกรรมการสังสรรค์กับเพื่อนและอื่น ๆเกือบทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เก็บออมเงินกว่า 3 ล้านบาทจากการเข้ากะเวรฉุกเฉินเป็นทุนค่าใช้จ่าย ถ่วงน้ำหนัก 3 กิโลกรัมที่ข้อเท้า ให้เหมือนกับการใส่รองเท้าแครมปอน สำหรับปีนภูเขาหิมะ
เธอเล่าว่า แรงผลักดันภายในใจมันแรงมาก และมั่นใจว่า ถ้าไม่ฝึกก็จะปีนไม่ได้
ในการปคนเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ต้องมีไกด์มืออาชีพที่ถือใบอนุญาตจากทางการของเนปาล เรียกว่าเชอร์ปา มาเป็นผู้นำทาง ประมาณเหมือนไกด์นำทางเมื่อตอนเข้าป่าปิด บนภูกระดึง
“ถ้าเรามองไม่เห็น โอกาสตายสูงมาก ถ้าไม่มีคนจริงใจกับเรา เขาทิ้งเราแน่ ๆ” แพทย์หญิงมัณฑนาย้อนนาทีชีวิต ที่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ แทบช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตอนขาลง เป็นหรือตายขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนอื่น การเลือกไกด์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
จนกระทั่งเฮลิคอปเตอร์มารับเธอไปรักษาที่เมืองลุกลา แล้วย้ายไปกรุงกาฐมาณฑุ และต้องเร่งเดินทางกลับไทย เพราะยารักษาอาการหิมะกัดในเนปาลเริ่มขาดแคลน จึงหายาก ขืนรออาจไม่ทันการ
เธอถูกส่งตัวฉุกเฉินกลับถึงมือหมอในประเทศไทย หลังจากภาระกิจพิชิตหลังคาโลกสำเร็จไปเพียง 3 วัน ได้รับการวินิจฉัยอาการและทำการรักษาจากแพทย์ รพ. ศรีนครินทร์ ด้วยอาการกระจกตาบวมและผิดรูป จากความดันอากาศต่ำบนที่สูง มือชาจากการถูกหิมะกัดและอีกหลายจุดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะนิ้วเท้า ที่อาจต้องตัดทิ้งบางส่วน
นี่คือราคาแสนแพงที่แพทย์หญิงมัณฑนา ถวิลไพร หญิงไทยตัวเล็กๆ ที่ใจไม่เล็กยินดีจ่าย
ยีราฟคอยาว ได้เปรียบสัตว์อื่นทุกชนิด ในการหาอาหารในที่สูง สามารถเก็บยอดอ่อนบนต้นไม้สูงๆ ที่สัตว์อื่นได้แต่แหงนคอมอง มาลองลิ้มชิมรสอันหอมหวานเป็นอาหารได้
แต่ยามใดที่ยีราฟหิวน้ำ มันจำเป็นจะต้องกางขาหน้าออกเพื่อโน้มคอลงต่ำให้กินน้ำได้
นั่นคือภาวะที่อ่อนแอและเสี่ยงที่สุดของยีราฟ นักล่าทั้งสิงโตและไฮยีน่า จะเฝ้ารอโอกาสนี้เพื่อเข้าโจมตี
ความสูงเหมือนยีราฟ แม้จะเป็นความใฝ่ฝันที่สัตว์หลายชนิดอยากได้ แต่ก็แฝงไว้ด้วยอันตราย หากประมาทพลั้งเผลอ ไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจถึงตายได้ทุกเวลา
ยิ่งสูงยิ่งหนาวจริงๆ
สัญชาติญาณความทะเยอทะยานของมนุษย์ ที่ถูกฝังมาในดีเอ็นเอตั้งแต่เกิด ก็เหมือนกัน เริ่มจากความต้องการขั้นพื้นฐาน ไล่ขึ้นไปเป็นลำดับๆ จนถึงขั้นสูงสุด ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's hierarchy of needs) ที่แสดงเป็นแผนภูมิรูปพีระมิดให้เข้าใจง่ายๆ 5 ขั้น
เริ่มจากแค่ให้พอมีกิน ในขั้นต่ำสุด ที่เป็นความต้องการพื้นฐานทางกายภาพ อย่างปัจจัย 4 สูงขึ้นไปเป็นขั้นที่ 2 คนเราต้องการความมั่นคง มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
สูงขึ้นไปอีกเป็นขั้นที่ 3 คนเราต้องการมิตรภาพและความรัก ถัดไปขั้นที่ 4 อยากมีเกียรติยศมีศักดิ์ศรี ได้รับความเคารพและยกย่อง จากสังคม
และขั้นสูงสุดของมนุษย์ ที่เรียกว่าชีวิตสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ สามารถบรรลุเป้าหมายหลักในชีวิตที่มุ่งหวังได้ มีอิสระภาพในทุกเรื่องตามที่ต้องการ
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุด ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากพิสูจน์ความสามารถในการบริหารประเทศ ที่เดิมพันด้วยคุณภาพชีวิตปากท้องประชาชนคนไทยจำนวน 66 ล้านคนให้ดีขึ้น
นอกจากความรู้จากวุฒิการศึกษาที่เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานแล้ว ยังต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ประสบการณ์บริหารองค์กรระดับชาติ เข้าใจกลยุทธ์การเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ระดับประเทศ ทั้งแนวกว้างและลึก
ลำพังข้อมูลที่เตรียมไว้กล่าวเปิดงาน หรือตอบคำถามนักข่าว เฉพาะแต่ในไอแพด ไม่พอ
คอยตรวจสอบและควบคุม ทั้งตัวเองและคณะรัฐมนตรีไม่ให้บกพร่องเรื่องจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาล ต้องมีไหวพริบปฏิภาณแก้ไขสถานการณ์ในยามคับขันได้ทันท่วงที
ไม่ใช่โยนไมค์ให้รัฐมนตรีคนอื่นตอบแทน เมื่อนายกเจอกองทัพนักข่าวรุมถาม จนหมดภูมิที่จะตอบ
นายกรัฐมนตรี จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ เหนือคนธรรมดาทั่วไป จึงจะสามารถนำพาประเทศชาติให้รอดปลอดภัยไปได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คุกรุ่นทั้งภัยเศรษฐกิจและสงคราม ที่จ่อคอหอยอยู่หลายจุด ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกอยู่ในขณะนี้
อยากให้ประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศทุกคน ได้ช่วยกันตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อประเมินความพร้อม สำหรับผู้ที่กำลังแบกรับภาระกิจสำคัญในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร อายุ 38 ปี ว่าได้เคยผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง มีผลงานอะไรที่ภูมิใจที่สุด มีความรู้ความสามารถให้ประชาชนมั่นใจได้แค่ไหนว่ามีความสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญนี้ได้ เหมาะสมที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่
“ทุกคนมีเอเวอเรสต์เป็นของตัวเอง” (Everyone has their own Everest to climb.) คำพูดเชิงปรัชญาของ “วานดา รุตเคียวิคส์” นักปีนเขาหญิงชาวโปแลนด์ และสตรีคนที่ 3 ของโลกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อ พ.ศ. 2521 กล่าวเอาไว้ เป็นประโยคเปรียบเทียบว่า ทุกคนต่างมีเป้าหมายยิ่งใหญ่เป็นของตัวเอง
แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาว แต่ก็น่าแปลกใจ ที่หลายคนก็ตะเกียกตะกาย ไขว่คว้าขึ้นไปหาความสูง
หากความทะเยอทะยานนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว จะปีนสูงกว่ายอดเขาเอฟเวอเรสต์ ก็ไม่มีใครว่า ทำได้สำเร็จตัวเองก็ภูมิใจ ผิดพลาดก็เจ็บเอง หรือกลายเป็นศพถูกแช่แข็งใต้กองหิมะ ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร
แต่ความทะยานอยากที่จะนั่งในตำแหน่งสูงสุดของสังคมส่วนรวม โดยที่ขาดความพร้อม ย่อมไม่ยุติธรรมต่อประชาชนเจ้าของประเทศ ที่ต้องมาทนหนาวอยู่บนความเสี่ยงที่สูง
ส่วนนายกรัฐมนตรี หากบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด จนเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ จะด้วยมือไม่ถึง หรือเกิดกรณีทุจริตจากความตั้งใจ อย่างที่เคยเกิดกับรุ่นพ่อมาแล้ว อาจจะต้องเจอกับความหนาว ชนิดที่เรียกว่า หนาวจนเหงื่อกาฬตก
โดย.. พี่ชื่อวิช
โฆษณา