Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย
•
ติดตาม
15 พ.ย. เวลา 17:38 • ปรัชญา
๓. จิตตวรรค
หมวดว่าด้วยการฝึกจิต
๑. เมฆิยเถรวัตถุ
เรื่องพระเมฆิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเมฆิยเถระ ดังนี้)
[๓๓] จิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก๑-
ผู้มีปัญญาสามารถควบคุมให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
[๓๔] จิตนี้ย่อมดิ้นรนไปมา๒-
เหมือนปลาที่ถูกยกขึ้นจากน้ำโยนไปบนบก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรละบ่วงแห่งมาร๓-
@๑ ดิ้นรน หมายถึงดิ้นรนไปในอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์เป็นต้น
-กวัดแกว่ง หมายถึงหวั่นไหว ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ดุจทารกไม่อาจทรงตัวอยู่ในอิริยาบถเดียวได้นาน ฉะนั้น
-รักษายาก หมายถึงให้ดำรงอยู่ในอารมณ์ธรรมที่เป็นสัปปายะได้ยาก
-ห้ามยาก หมายถึงห้ามหรือกันมิให้ซ่านไปในวิสภาคารมณ์ได้ยาก
@๒ ดิ้นรนไปมา หมายถึงยินดีในกามคุณ ๕ เมื่อถูกพรากจากกามคุณ ๕ ให้หยุดนิ่งอยู่ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็จะดิ้นรนไปมา ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้
@๓ บ่วงแห่งมาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ(วงจรกิเลส) ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน
๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๓๕] การฝึก๑- จิตที่ควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงง่าย๒-
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา จัดว่าเป็นความดี เพราะจิตที่ฝึกแล้วย่อมนำสุขมาให้๓-
@๑ การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกด้วยอริยมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค, สกทาคามิมรรค, อนาคามิมรรค, และอรหัตตมรรค
@๒ เปลี่ยนแปลงง่าย หมายถึงเกิดดับเร็ว
@๓ สุข ในที่นี้หมายถึงสุขที่เกิดจากอริยมรรค, อริยผล, และสุขที่เกิดจากการบรรลุนิพพานอันเป็นประโยชน์สูงสุด
๓. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[๓๖] ผู้มีปัญญาควรรักษาจิตที่เห็นได้ยากยิ่ง ละเอียดยิ่ง ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา เพราะจิตที่คุ้มครองแล้วย่อมนำสุขมาให้
๔. สังฆรักขิตเถรวัตถุ
เรื่องพระสังฆรักขิตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสังฆรักขิตเถระ ดังนี้)
[๓๗] คนเหล่าใดสำรวมจิตที่เที่ยวไปไกล๑- เที่ยวไปดวงเดียว๒-.ไม่มีรูปร่าง๓- อาศัยอยู่ในถ้ำ๔-
คนเหล่านั้นจักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร๕-
@๑ เที่ยวไปไกล หมายถึงรับอารมณ์ที่อยู่ไกลได้
@๒ เที่ยวไปดวงเดียว หมายถึงเกิดขึ้นทีละดวงๆ ดวงหนึ่งดับ ดวงหนึ่งจึงเกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
@๓ ไม่มีรูปร่าง หมายถึงไม่มีสัณฐาน ไม่มีสี เป็นต้น
@๔ อาศัยอยู่ในถ้ำ หมายถึงอาศัยอยู่ในมหาภูตรูป ๔ และหทัยรูป
@๕ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ)
๕. จิตตหัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระจิตตหัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘] ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์
*[๓๙] ผู้มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ ไม่ขุ่นมัวด้วยโทสะ ละบุญและบาปได้แล้ว มีสติตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัย๖-
@๖ ไม่มีภัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีภัยคือกิเลส คาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ
๖. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๔๐] ภิกษุรู้ว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน ควรป้องกันจิตนี้ เหมือนป้องกันพระนคร แล้วใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร๑-
และควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด๒-
@๑ มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร
@๒ ควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด หมายถึงเมื่อภิกษุบรรลุสมาบัติได้วิปัสสนาอ่อนๆ ชนะกิเลสได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรยึดติดอยู่เพียงสมาบัตินั้น ควรพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตที่ผ่องใส
แล้วรักษาระดับจิตนั้นไว้ได้ ในที่สุดจะสามารถบรรลุมรรคผลอันสูงสุด ชนะกิเลสมารได้อย่างสิ้นเชิง
๗. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย ดังนี้)
[๔๑] อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้ก็จักปราศจากวิญญาณ ถูกทอดทิ้งทับถมแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น
๘. นันทโคปาลกวัตถุ
เรื่องนายนันทะผู้เลี้ยงโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๒] จิตที่ตั้งไว้ผิด๑- พึงทำให้ได้รับความเสียหายยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร๒-
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน
@๑ จิตที่ตั้งไว้ผิด หมายถึงจิตที่ตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ถึงความพินาศฉิบหายในโลกนี้ และตกไปในอบายภูมิ ๔ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ
@๒ โจรเห็นโจร หมายถึงโจรเห็นโจรที่เป็นคู่อาฆาตกันแล้วจะต้องฆ่ากัน หรือเบียดเบียนให้ได้รับความเสียหาย
๙. โสเรยยวัตถุ
เรื่องพระโสเรยยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๓] จิตที่ตั้งไว้ชอบ๓- ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง
ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้
หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ให้ไม่ได้
@๓ จิตที่ตั้งไว้ชอบ หมายถึงจิตที่มุ่งมั่นประพฤติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
จิตตวรรคที่ ๓ จบ
อ้างอิง
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
๓. จิตตวรรค
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=12
พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย