Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สำนักคิด
•
ติดตาม
17 พ.ย. 2024 เวลา 07:45 • ประวัติศาสตร์
ตาก
กลยุทธ์ สำคัญในไม่สำคัญ: ‘เมืองตาก’ จุดยุทธศาสตร์สร้างฐานอำนาจพระเจ้าตากสิน
เกิดข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับพระราชประวัติช่วงต้นพระชนม์ชีพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เนื่องจากหลักฐานที่กล่าวถึงพระองค์มีเพียงน้อยชิ้นนัก และยังไม่สามารถปะติดปะต่อให้มีความแน่ชัดได้ ซึ่งในหมู่นักประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้าเรื่องราวของพระองค์ในช่วงต้น ต่างมีความเห็นแยกออกไปหลายแนวคิด แต่ในที่นี่ผู้เขียนจะขอเสนอแนวคิดที่สำคัญ ๒ คิด ดังนี้
แนวคิดที่ ๑ ฉบับตำนาน
ตำนานที่รู้จักกันแพร่หลาย มาจากหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ เชื่อกันว่าเขียนโดยก.ศ.ร. กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลังสิ้นรัชกาลของพระองค์ไปแล้วกว่า ๑๔๘ ปี ได้กล่าวถึงเนื้อหาช่วงต้นพระชนม์ชีพของสมเด็จพระเจ้าตากสินว่า
...ในปลายแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ มีชาวจีนอพยพชื่อ “ไหฮอง” มาอาศัยอยู่บริเวณกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยา ใกล้บ้านพระยาจักรี มีความสามารถในเรื่องการค้าขาย จนพระยาจักรีตั้งเป็นขุนพัฒน์นายอากรบ่อนเบี้ยกอปรด้วยภรรยาทาสชายหญิงและทรัพย์สมบัติโดยสมบูรณ์
จีนไหฮองมีภรรยาเอกเป็นหญิงไทยชื่อนางนกเอี้ยง ครั้นเมื่อนางนกเอี้ยงตั้งท้องได้ ๑๐ เดือน ก็คลอดบุตรชายหนึ่งคน ในจุลศักราช ๑๐๙๕ (ราวปี พ.ศ.๒๒๗๗) มีรูปพรรณสัณฐานงดงามถูกต้องตามตำรา
เมื่อทารกคลอดออกมา บัดนั้นอากาศก็ปราศจากเมฆหมอก ไม่มีฝนตกลงมาสักหยด แต่กลับบังเกิดอสุนีบาตผ่าลงมาที่แห่งห้องทารกคลอดนั้น แต่ทารกกลับอยู่รอดปลอดภัย ครั้นทารกคลอดได้เพียง ๓ วัน ก็มีงูเหลือมใหญ่เข้าไปขดเป็นทักษิณาวรรตอยู่ในกระด้งโดยรอบทารก จีนไหฮองเห็นดังนั้นก็ตกใจ กลัวจะเป็นลางร้ายแก่บิดามารดาตามคติความเชื่อของชาวจีน จึงคิดนำทารกไปทิ้งเสีย เมื่อพระยาจักรีทราบเรื่องจึงรับเอาบุตรจีนไหฮองมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แล้วตั้งชื่อให้ว่า “สิน”
พระยาจักรีเลี้ยงดูเด็กชายสินเป็นอย่างดี พออายุได้ ๙ ขวบก็ส่งไปเรียนที่สำนักพระอาจารย์ทองดีมหาเถระ วัดโกษาวาสน์ นัยหนึ่งว่าวัดคลัง เด็กชายสินเป็นคนเฉลียวฉลาด พออายุได้ ๑๓ ปี ก็ริอาจเป็นเจ้ามือ “ตั้งบ่อนถั่ว” ในพระอารามชวนเด็กวัดเล่นพนันกันสนุกสนาน
ครั้นเมื่อพระอาจารย์ทองดีจับได้ จึงลงโทษหนักด้วยการมัดมือคร่อมกับบันไดน้ำทำประจาน ตั้งแต่หัวค่ำจนเวลายามเศษ (เวลาหลัง ๒๑.๐๐ น.) พระอาจารย์ทองดีพึ่งระลึกขึ้นได้ว่ามัดเด็กชายสินไว้ ซึ่งในช่วงเวลานั้นน้ำขึ้นสูงแล้ว กลัวเด็กชายสินจะจมน้ำ จึงเดินไปที่ท่าน้ำพร้อมกับพระสงฆ์อันมาก
ครั้นถึงบันไดก็เห็นน้ำท่วมตลิ่งแล้ว จึงสั่งให้พระสงฆ์เที่ยวจุดไฟหาเด็กชายสิน ก็พบสินที่ริมตลิ่ง มือยังมิติดอยู่กับบันได แต่บันไดหลุดถอนออกมา ทำให้สินปลอดภัยอย่างน่ามหัศจรรย์ พระสงฆ์ทั้งหลายจึงพากันทำนายว่า เด็กชายสินผู้นี้มีบุญบารมีสูงนัก ภายภาคหน้าคงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแน่แท้
เนื้อหากล่าวต่อไปว่า เมื่อเด็กชายสินเติบโตขึ้นเป็นหนุ่ม พระยาจักรีได้นำพาตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ ก่อนบวชอีก ๓ พรรษา เมื่อสึกออกมาก็ถวายงานรับใช้จนเติบโตขึ้นในวงรัชการสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เพราะเป็นคนมีสติปัญญามาก จึงสร้างความดีความชอบเป็นที่พอพระทัยแก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้น หลวงยกกระบัตรเมืองตากถึงแก่กรรมลง ทำให้ตำแหน่งว่างเปล่ามาช้างนาน จึงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้นายสินมหาดเล็ก ดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากสืบมา
เนื้อเรื่องต่อจากนั้นก็เข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการเสียกรุง และการกลับมาการกู้บ้านกู้เมืองของพระยาตากสิน ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ที่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารเป็นส่วนใหญ่
จะเห็นว่าอภินิหารบรรพบุรุษกล่าวถึงช่วงกำเนิดของพระยาตากสินได้เหลือเชื่อราวกับอยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่ปาน ซึ่งเนื้อหาในหนังสือมีผู้นำมาดัดแปลงเขียนเป็นวรรณกรรมในยุคหลัง จนมีลักษณะเป็นตำนาน กึ่งจริงกึ่งเท็จ ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจริงแท้ประการใด
หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ เชื่อกันว่าเขียนโดยก.ศ.ร. กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลังสิ้นรัชกาลของพระองค์ไปแล้วกว่า ๑๔๘ ปี
แนวคิดที่ ๒ พระยาตากเป็นพ่อค้าเทียมเกวียน
ด้านพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้ชำระเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๘ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าผู้ชำระอาจอยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับพระเจ้าตากสิน จึงเป็นฉบับที่นักประวัติศาสตร์มีการกล่าวอ้างถึงมากที่สุด ก็ไม่ได้เขียนถึงพระราชประวัติในช่วงต้นของพระเจ้าตากสินมากนัก บอกไว้เพียงว่า
“เดิมชื่อจีนเจ้ง ซึ่งเป็นพ่อค้าเกวียน มีความชอบในแผ่นดิน ได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ณ เมืองตาก”
เพียงประโยคสั้น ๆ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ต่อมาว่า แท้จริงในช่วงต้นพระชนม์ชีพของพระยาตาก ท่านอาจเคยเป็นพ่อค้าเกวียนมาก่อน สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารอีกหลายฉบับ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก ๒/ก๑๐๑ ระบุว่า
“ขณะนั้นยังมีบุตรจีนคลองสวนพลูคนหนึ่ง ขึ้นไปค้าขายอยู่ ณ เมืองตากหลายปี”
อีกทั้งยังสอดคล้องกับคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ที่ว่า
“อนึ่ง เรือระแหง แขวงเมืองตาก แลเรือหางเหยี่ยวเมืองเพชรบูรณ์ นายมบรรทุกครั่งกำยาน เหลกหางกุ้ง เหลกล่มเลยเหลกน้ำภี้ ใต้หวายชันน้ำมัน ยางยาสูบ เขาหนัง หน่องาสรรพสินค้าตามเพศบ้านเพศเมืองมาจอดเรือขายตามแถวปากคลองสวนพลู พวกจีนตั้งเตาต้มสุราเลี้ยงสุกีขาย แลทำเส้นหมี่แห้งขาย ๑”
ชี้ให้เห็นว่าช่วงก่อนกรุงแตก มีพ่อค้าจีนไปค้าขายที่เมืองตากกันอย่างคึกคัก จึงมีความเป็นไปได้ว่าพระยาตากสินน่าเป็นหนึ่งในพ่อค้าชาวจีนย่านสวนพลู ที่เคยคุมกองคารวานสินค้าไปค้าขายตามที่ต่าง ๆ มิได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นขุนนาง แล้วจึงได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตากอย่างที่รู้กันโดยทั่วไป
ภาพจำลองการค้าขายในเมืองตาก ที่มา: www.silpa-mag.com
สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ หลักฐานแทบทุกชิ้นต่างกล่าวคล้ายกันว่าพระยาตากสินเดิมเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดาที่ไต่เต้าตัวเองจนมีอำนาจ และสามารถกอบกู้บ้านเมืองจากการรุกรานของทหารพม่าได้สำเร็จ จนแผ่นดินกลับมาเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงปลายอาณาจักรอยุธยาไม่ได้จำกัดอำนาจไว้เพียงแค่ในหมู่เจ้านายและเชื้อพระวงศ์ระดับสูงเท่านั้น แต่สามัญชนที่มีสติปัญญาและความสามารถก็อาจเป็นใหญ่ได้เช่นกัน
หากวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้ จะพบว่านับตั้งแต่ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๗๕-๒๒๓๑) เป็นต้นมา อยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองด้านการค้าถึงขีดสุด และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุคของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ; พ.ศ. ๒๓๐๑-๒๓๑๐) ทำให้ปรากฏชื่อ “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” ขึ้นอย่างมากมาย เช่น เมืองนครราชสีมา เมืองกาญจนบุรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองจันทร์บุรี เมืองฝาง (สวางคบุรี) รวมถึงเมืองตาก (ระแหง) เป็นต้น
จึงเป็นการยากที่เจ้านายระดับสูงจะสามารถปกครองหัวเมืองเหล่านี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นแนวคิดที่ว่าพระยาตากอาจเคยเป็นพ่อค้าเทียมเกวียนมาก่อนจึงมีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน
เมื่อยึดข้อมูลดังนี้ คำถามขั้นต่อไปคือ “เหตุใดนายสินจึงเลือกเมืองตากในการเริ่มต้นเส้นทางสายการเมือง ?”
เพราะเมื่อเทียบกับหัวเมืองศูนย์กลางปลายแดนแห่งอื่น เมืองตากเป็นเพียงเมืองชายขอบเล็ก ๆ ที่แทบไม่ได้รับความสนใจจากส่วนกลางเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีอาณาเขตติดกับรัฐพม่า (ราชวงศ์คองบอง) ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกพม่ารุกรานได้ง่าย จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเจ้านายอยุธยามากนัก
กำพล จำปาพันธ์ ได้เสนอไว้ในบทความชื่อ “แม่ตาก” (เมืองตากของพระเจ้าตาก) ใครว่าเล็ก? “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” ในลุ่มน้ำแม่ปิง กับ ความสัมพันธ์บนทางสามแพร่ง” ว่า
...เมืองระแหง (เมืองตาก) มีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางการเมือง และได้เปรียบทางการค้าอยู่มาก เนื่องจากมีเขตแดนตั้งอยู่ปลายสุดของราชอาณาจักรอยุธยาในลุ่มแม่น้ำปิง ขึ้นเหนือไปเป็น “เมืองสร้อย” (ซึ่งจมบาดาลอยู่ใต้เขื่อนภูมิพล) ถัดไปอีกเป็น “เมืองเถิน” ถือเป็นเขตล้านนา ส่วนทางทิศตะวันตกเป็นด่านชายแดนแม่สอดติดกับพม่าที่มะยะวดี (เมียวดี) เมืองระแหงจึงเป็นชุมทางสามแพร่ง อยุธยา-ล้านนา-พม่ามอญ อันเป็นทำเลเหมาะแก่การตั้งพักสินค้า
นอกจากเป็นจุดยุทธภูมิที่ดีในการตั้งพักสินค้าแล้ว เมืองระแหงยังเหมาะแก่การเริ่มต้นอาชีพราชการสำหรับขุนนางรุ่นใหม่ที่ต้องการเติบโตในวงราชการ เพราะหากศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ดี จะพบว่ายิ่งขุนนางกินตำแหน่งสำคัญมากเท่าไหร่ ย่อมถูกจับตามองจากพระเจ้าแผ่นดินมากเท่านั้น เห็นได้จากตำแหน่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคน ไม่ว่าตำแหน่งออกญากลาโหมก็ดี สมุหนายกก็ดี หรือแม้แต่ตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีก็ดี ล้วนไม่มีใครอยู่ได้นาน เพราะมักพบเหตุเภทภัยทางการเมืองแทบทั้งสิ้น
แผนที่ภูมิประเทศของอาณาจักรอยุธยา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. ที่มา: แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม)ประเทศไทย)
ด้วยเหตุนี้จึงมีส่วนให้นายสินตัดสินใจเลือกพื้นที่เมืองตากขึ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสร้างฐานอำนาจขึ้นมา เพราะมองในสายตาของพ่อค้า เมืองตากสามารถเป็นได้ทั้งจุดเชื่อมต่อไปยังเมืองชายแดนอื่นได้ โดยเฉพาะการเดินทางผ่านเมาะตะมะขึ้นไปยังอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งด้านการค้าในยุคนั้น อีกทั้งการเป็นเจ้าเมืองยังช่วยให้ท่านมีอำนาจคุมกำลังไพร่พล รวมถึงการออกนโยบายต่าง ๆ ซึ่งพ่อค้าไม่อาจทำได้
จุดสังเกตุของแนวคิดนี้ก็คือ นายสินซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงพ่อค้าคารวานเร่ร่อน ใช้กลอุบายใดจึงก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าเมืองตากได้
เพราะการจะเป็นเจ้าเมืองในอยุธยาก็ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่าย ๆ เนื่องจากอยุธยาเป็นอาณาจักรใหญ่มีประวัติยาวนานนับร้อย ๆ ปี มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขสูงสุด ซึ่งมีอำนาจสั่งการได้เด็ดขาด อีกทั้งยังสามารถแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เป็นเจ้าเมืองลูกหลวงหลานหลวงช่วยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณได้ตามพระราชอำนาจ ทำให้เป็นเรื่องยากที่พ่อค้าเล็ก ๆ จะเป็นเจ้าเมืองสักคนได้
กระนั้นใช่ว่าจะไร้หนทางเสียทีเดียว ข้อมูลจากศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิเคราะห์ในหนังสือชื่อ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่านายสินน่าจะเคยคุมคารวานค้าขายไปทั่ว แล้วมีความสนิทสนมกับพระยาตากคนเดิม โดยอาศัยความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องการค้าภายในเมืองจนสำเร็จด้วยดี เมื่อพระยาตากคนเดิมเสียชีวิตลง จึงได้เสนอตัวเป็นเจ้าเมืองตากคนต่อไป
ศ.ดร. นิธิ เสนอต่อไปว่าด้วยทักษะของนายสินที่มีความชำนาญหลายด้าน ทั้งเรื่องภาษาที่มีหลักฐานระบุว่าท่านพูดได้ทั้งภาษาญวน (เวียดนาม) ภาษาลาว และภาษาจีน (แต๋จิ๋ว) อีกทั้งยังมีความเก่งกาจเรื่องการวางแผนการรบ มีฝีมือในการต่อสู้ทั้งเพลงดาบ หมัดมวย โดยเฉพาะเรื่องการรู้จักเส้นทางต่าง ๆ เป็นอย่างดี เหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับพ่อค้าเกวียน ที่ต้องรู้เรื่องเหล่านี้ไว้เพื่อป้องกันตนเองจากโจรผู้ร้าย
กลยุทธ์สำคัญในไม่สำคัญ
หนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เขียนโดย: ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
เมื่ออ้างอิงตามข้อมูลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ในเชิงกลยุทธ์แล้ว พระยาตากสินมีการวางแผนได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนพลิกบทบาทจากสามัญชนให้เป็นหนึ่งในขุนนางคนสำคัญได้อย่างรวดเร็ว
พระยาตากสินใช้กลยุทธ์แบบ “การมีฐานที่มั่นของตนเองไว้ก่อน” แล้วจะรุก-รับขยับขยายเช่นไรก็สะดวกง่ายดาย
พระยาตากสินใช้เมืองตากเป็นพื้นที่พลิกเปลี่ยนแนวคิดครั้งใหญ่ในการสร้างฐานอำนาจ แม้ว่าข้อมูลในบางหลักฐานจะกล่าวอ้างว่าท่านวิ่งเต้นเพื่อรับตำแหน่ง แต่ก็เป็นการกล้าได้กล้าเสียอยู่ไม่น้อย เพราะนับว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยให้นายสินก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วยังสามารถคุมความได้เปรียบทางการตลาดที่แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย
แนวคิดที่ได้รับจากกลยุทธ์นี้ จึงเป็นการวางแผนอย่างมีเป้าหมาย เพื่อสามารถครอบครองพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ ที่มีผลต่อการครอบครองทรัพยากรของตนเองไว้ ด้วยการใช้จุดด้อยของเมืองตาก ที่เป็นเมืองชายขอบนอกสายตาพลิกแต้มหมากให้ตนเองได้เปรียบ หรือจะเรียกว่าเป็นการใช้กลยุทธ์ “สำคัญในไม่สำคัญ” ก็ว่าได้
การเดินหมากที่แนบเนียนนี้ ชี้ให้เห็นว่าพระยาตากสินมีพระเนตรที่ยาวไกลเพียงใด อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ที่รู้จักเดินเกมหมากได้อย่างชำนาญ และเมื่อโอกาสรุกฆาตมาถึง ท่านก็ไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดมือไปอย่างง่ายดาย
เนื่องจากสิ่งนี้เกี่ยวเนื่องกับตัวท่านโดยตรง เพราะในยุคสมัยที่สงครามเกิดขึ้นได้ทุกเวลาเช่นนี้ ประชาชนย่อมได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า จึงหาความมั่นคงให้ชีวิตได้ยาก ดังนั้นการชิงความได้เปรียบจึงเป็นสิ่งที่ผู้มีวิสัยทัศน์พึงกระทำ และยิ่งหากสิ่งนั้นเป็นการช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนหมู่มากได้แล้ว ทุกสิ่งล้วนดีงามทั้งสิ้น.
ผู้เขียน: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ Credit: ต่อบุญ เทพพันธ์กุลงาม
.
Refer:
-ห้องสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (๒๔๗๓). อภินิหารบรรพบุรุษ. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ โปรดให้พิมพ์เป็นเจ้าภาพชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ สุประดิษฐ์
-จันทนุมาศ (เจิม), พัน. (๒๕๐๓). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). พระนคร:โรงพิมพ์พระจันทร์
-สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๐๕). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร: โอเดียนสโตร์
-สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๑๔). ไทยรบพม่า (เล่ม๒). พระนคร:สำนักพิมพ์คลังวิทยา
-ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (๒๕๔๘). สังคมจีนในประเทศไทยประวัติศาตร์เชิงวิเคราะห์. กรุงเทพฯ:มูลนิธิโตโยต้า
-ศานติ ภักดีคำ, บรรณาธิการ. (๒๕๕๘). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน .มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี
-นิธิ เอียวศรีวงศ์. (๒๕๕๙). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน
-สุเจน กรรพฤทธิ์. (๒๕๖๒). ๒๓๑๐ กรุงธนบุรีผงาด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติสารคดี
Link:
กำพล จำปาพันธ์. (๒๐๒๔). “แม่ตาก” (เมืองตากของพระเจ้าตาก) ใครว่าเล็ก? “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” ในลุ่มน้ำแม่ปิง กับ ความสัมพันธ์บนทางสามแพร่ง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://www.lannernews.com/16072567-01/
อยุธยา
สมัยอยุธยา
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย