บ่นเบาๆ กับเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นอง คลองก็เน่า

ผมเขียนบทความนี้ในคืนวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีการลอยกระทงกันเมื่อคืนที่ 15 ที่ผ่านมา ก็ได้แต่หวังว่าจะมีคนฉุกคิดได้ว่าลอยกระทงปีหน้าจะลอยยังไงดี
ผมจำได้อย่างกระท่อนกระแท่นว่า ตอนเด็กๆ น่าจะอายุราว 10 ขวบที่ผมเริ่มรู้จักการลอยกระทง ผมทำกระทงเองแบบง่ายๆ เอาก้านกล้วยมาตัดเรียงเป็นแพแล้วก็ดันตัดปลายนิ้วกลางมือซ้ายผมจนติดเป็นแว่นไปกับใบมีด แต่ก็ได้ทำจนเสร็จ แล้วผมก็ลอยมันในโอ่งน้ำที่ใช้ล้างน้ำแข็งที่บันไดหน้าบ้าน
เผลอปล่อยมันไว้ไม่กี่วันมันก็ส่งกลิ่นเน่า จนเกิดเป็นความทรงจำว่าลอยกระทงระบบปิดมันต้องเน่าแน่ๆ
ปกติแล้วเราก็มีการทิ้งของเสียจากครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม มีการใช้สารเคมีในดินจนปนเปื้อนแหล่งน้ำที่กระทำอย่างสม่ำเสมออยู่แล้วในแต่ละวัน
วันไหนๆ ก็มีอยู่แล้ว Credit: SpringNews
แต่พอถึงวันขอบคุณแม่คงคาเราก็ยิ่งโหมกระหน่ำขอบคุณด้วยการปล่อยขยะสีสวยที่ย่อยสลายง่ายบ้างยากบ้างแทนคำขอบคุณท่านเข้าไปอีก
ผู้เยียวยาท่านแม่ Credit: มติชน
ผมก็ไม่รู้ว่าแม่คงคาท่านเป็นพลังอำนาจหรือวิญญาณลักษณะใด แต่ถ้าท่านมีความรู้สึกก็น่าจะเหน็ดเหนื่อยมาทั้งปีแล้ว พอถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองนี่ดันเหนื่อยหนักเป็นพิเศษเข้าไปอีก
ทำไมถึงแค่บ่นเบาๆ.....
ผมเพิ่งรู้จากการหาข้อมูลทางกูเกิ้ลว่าหลายๆ คนและหลายๆ หน่วยงานมีความคิดในเรื่องนี้เหมือนกับผมหลายปีมาแล้ว ดังนั้นผมคงไม่ต้องตะโกนดังๆ เพื่อเสนอแนวคิดเรื่องนี้อีกเพราะเริ่มมีแนวร่วมที่เสียงมันเริ่มดังแล้ว
มันมีแนวคิดตั้งแต่การเปลี่ยนวัสดุให้เป็นมิตรต่อน้ำบ้าง การเปลี่ยนวิธีปฏิบัติบ้าง การนำพลาสติกใช้แล้วมาทำกระทงลอยในระบบปิดแล้วเก็บมาใช้ใหม่ ไปจนถึงไม่ต้องมีมันเลยไอ้พิธีนี้
Credit:Mthai, เดลี่นิวส์, Mono29.com, Spacebar.th
ยุคแรกๆ ก็มีการส่งเสริมให้ใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายง่ายในไม่กี่วัน เช่น ต้นกล้วย ใบตอง ใบไม้ต่างๆ ต่อมาก็มีการทำกระทงด้วยขนมปังบ้าง ทำด้วยน้ำแข็งบ้าง และก็ทำด้วยพลาสติกรีไซเคิล
ถ้าย้อนหลังไปสักหนึ่งร้อยปีมันก็น่าเห็นด้วยนะ เพราะจำนวนของกระทงต่อปริมาตรน้ำในแม่น้ำลำคลองที่เป็นระบบเปิดมันยังคงพอเพียงที่จะไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย แต่ตอนนี้เรามีชุมชนที่หนาแน่น รวมทั้งประชากรแฝงและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเป็นพิเศษในช่วงค่ำคืนอันโรแมนติกนี้
สรุปว่าท่านแม่ท่านรับไม่ไหวหรอก.......
โฟมถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายเสมอเพราะใช้เวลาในการย่อยสลายนานมาก แต่โฟมไม่ทำให้น้ำเน่านะครับ
พอเรารู้สึกว่าน้ำเริ่มเน่าจากต้นกล้วย-ใบตอง ก็เริ่มมาให้ความสำคัญกับกระทงขนมปัง-อาหารปลา ยิ่งได้อาหารปลาสีสวยๆ ประดับเข้าไปก็ยิ่งเลิศเลอ เห็นไหม สวยก็สวย ปลาก็กินได้
เอิ่ม ... ปลามันก็คงกินกันจนอ้วก ผมว่าขนมปังและอาหารปลาที่ปลากินไม่หมดมันยิ่งทำให้น้ำเน่าเร็วกว่าต้นกล้วย-ใบตองเยอะ พวกนั้นกว่าจะเน่าได้น่าจะราว 3-4 วัน และมันยังลอยน้ำด้วย มีเวลาช้อนเก็บเป็นขยะได้ทัน ส่วนขนมปังพอมันยุ่ยแล้วมันก็จมอย่างรวดเร็ว เน่าก็เร็ว
ปลาสวายรับแขกที่คลองบางหลวง เจอกันมาสามปียังคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่งั้นจะถามว่าคืนนั้นพวกเอ็งอ้วกกันมั้ย Credit: Four Square City Guide
ผมเห็นแว่บๆ ว่ามี แฮชแท็ก #ยกเลิกลอยกระทง ซึ่งผมค่อนข้างเอียงไปทางนี้นะถ้าเราคิดถึงการลอยกระทงในแง่ของ “การขอบคุณ” แต่ผมก็ว่าในแง่ของส่วนรวมมันอาจจะต้องมองในแง่ของสังคม-เศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่ามันมีผลดีผลเสียยังไงบ้าง เอาไว้ฉลาดกว่านี้ก็จะเอามาบอก
ร้านค้าแถวใกล้บ้านศิลปินคลองบางหลวงปกติปิดกันราว 6 โมงเย็น คืนนี้คึกคักจนดึก บรรยากาศดีๆ ที่หายากในกรุงเทพฯ Credit: Aiim's Tales Canal Boutique House
คืนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ผมเห็นมีการลอยกระทงออนไลน์ ซึ่งตัวคนลอยนั่งอยู่บ้านแล้วเข้าเว็บไปลอย กับลอยกระทงดิจิตอล โดยคนลอยต้องเดินทางไปยังสถานที่ๆ จัดเตรียมไว้ แล้วสแกนโค้ดแล้วเข้าไปส่งกระทงไปลอยเห็นในหน้าจอ LED โดยไม่ต้องใช้กระทงจริง มันก็ดีนะ มันได้ฟิลไม่ถึงก็จริง แต่ก็ดีกว่าเลิกไปเลย
Credit: ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า, Mngronline
ขอเล่าความหลัง.......
เมื่อ 42 ปีที่แล้ว วันที่ 31 ตุลาคม 2525
เป็นงานลอยกระทงครั้งแรกของการแตกเนื้อหนุ่ม ผมกับเพื่อนรวมเป็น 4 คนพากันไปเที่ยวเชียงใหม่ ท่ามกลางค่ำคืนอันมีลมหนาวโชยเบาๆ ผมแบกกล้องราคาแพงไปพร้อมกับความหนุ่มที่พร้อมจะเสีย ได้เดินดูไฟ ได้แลกเปลี่ยนไฟฟ้าสถิตกับสาวที่เกาะติดในบ้านผี ได้ถ่ายรูปสาวแปลกหน้าสองคน ซึ่งป่านนี้เธอทั้งสองอายุคงเข้าเลข 6 กันแล้ว
สะพานนวรัตน์ และของขวัญจากท่านแม่ริมแม่น้ำปิง
ในมุมมองของผม ประเพณีลอยกระทงนั้น “ของมันต้องมี” เพราะผมยังโหยหากลิ่นธูปเทียน-แสง-สี-เสียง-ความสนุกสนาน-และสาบสาว ที่มากับสายลมหนาว
มีใครเป็นแบบผมบ้าง
ได้โปรดช่วยกันรักษาประเพณีลอยกระทงไว้เถอะ แต่ก็อย่าลืมรักแม่คงคาด้วย ......
โฆษณา