17 พ.ย. เวลา 09:02 • การเมือง

ย้อนเหตุการณ์รัฐประหารตนเองในประเทศไทย 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

รัฐประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นการรัฐประหารตนเองของจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของประเทศไทย มีสาเหตุมาจากนายญวง เอี่ยมศิลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) จังหวัดอุดรธานี พรรคสหประชาไทย ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่างๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก
เป็นชนวนเหตุให้ จอมพล ถนอม ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หัวหน้าพรรคสหประชาไทย และนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาสมัยนั้นว่า"นายกฯคนซื่อ" ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงยึดอำนาจตนเอง โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนรัฐประหารที่ผ่านมา แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ
จากนั้นประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เวลา 20.11 น. และห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
คณะปฏิวัติครองอำนาจจนวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติให้จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับนี้มีการนำเอารัฐธรรมนูญมาตรา 17 กลับมาใช้อีกครั้งเหมือนยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใดๆ
อันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีกฎหมายฉบับใดๆ มารองรับ
จอมพลถนอมได้รวบอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว ท่ามกลางความไม่พอใจของนิสิต นักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่มีรัฐธรรมนูญการปกครองอย่างถาวรมาตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501(สมัยจอมพลสฤษดิ์) แล้ว ซึ่งกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2511 ที่ถูกยกเลิกไปในการปฏิวัติครั้งนี้ก็ต้องใช้เวลาร่างนานถึง 10 ปี ประกอบกับเหตุการทุจริตต่าง ๆ ในรัฐบาล ก็กลายเป็นสาเหตุให้เกิด เหตุการณ์ 14 ตุลา ในอีก 2 ปี ต่อมา
หลังจากการปฏิวัติไม่นาน อุทัย พิมพ์ใจชน สส.จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยบุญเกิด หิรัญคำ สส.จังหวัดชัยภูมิ และอนันต์ ภักดิ์ประไพ สส.จังหวัดพิษณุโลก ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ถือเป็นการท้าทายผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา การตีความของศาลทำให้ทั้งสามคนตกเป็นจำเลยและถูกสั่งให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่ต่อมา สส. ทั้ง 3 คนถูกปล่อยตัวหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในสมัยรัฐบาลที่มีสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
โฆษณา