ความเป็นจริงก็คือ ธุรกิจ “อาหารภัตตาคาร” นั้น ไม่ได้แบ่งจาก “ประเภทของอาหาร” แต่แบ่งจากคุณภาพและราคาของอาหารที่ขายในภัตตาคาร ผู้ที่แข่งขันกันจริง ๆ คือภัตตาคารที่ขายอาหารที่มีระดับราคาและคุณภาพใกล้เคียงกัน ซึ่งจะดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน เช่น คนกลุ่มรายได้สูงระดับ A B หรือ C เป็นต้น
1
พูดง่าย ๆ ก็คือภัตตาคาร A ไม่ได้แข่งขันขายสุกี้กับ ก. โดยตรง ลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทนั้นเป็นคนละกลุ่มกัน มีน้อยที่ลูกค้าของ A ไปกินสุกี้ที่ร้าน ก. บางทีพวกเขาจะบอกว่า “ไม่อร่อย” คุณภาพอาหารยังไม่ค่อยดี บริการช้ารอนานเกินไป เป็นต้น
ส่วนลูกค้าของ ก. นั้น มีน้อยที่ไปกินร้าน A พวกเขามักจะบอกว่า “แพง” และมักจะขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ บางคนก็บอกว่า “เลิกไปนานแระ” เพราะของ ก. คุ้มและดีกว่า แล้วก็อาจจะเล่าด้วยภาพในโซเชียลว่าภัตตาคาร A เหงา ส่วนของ ก. คนแน่นร้าน เป็นการยืนยันด้วยว่า ก. ดีกว่า A และเป็น “ผู้ชนะ”
ความจริงก็คือ คู่แข่งที่แท้จริงของ A คือภัตตาคารที่อยู่ในห้างหรู ไม่ว่าพวกเขาจะขายอาหารอะไร อาจจะเป็นร้านสเต็กระดับปานกลางที่ราคาต่อหัวเฉลี่ยการกินต่อครั้งใกล้เคียงกับสุกี้ของ A อาจจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นซึ่งบางทีก็มีหุ้น A เป็นเจ้าของด้วยซ้ำ และเหตุผลที่ A ตั้งภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นมาแข่งกับตนเองก็เพราะว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคอาหารนั้น ถึงจะชอบเมนูบางอย่างเป็นพิเศษมากกว่า แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะไม่ชอบกินอะไรที่ซ้ำกันบ่อย แม้แต่ “คนรักสุกี้” เองนั้นก็อาจจะกินแค่ “เดือนละหน”
1
ยอดขายของภัตตาคารสุกี้ A อาจจะตกเพราะเหตุผลมากมายรวมถึงการเพิ่มขึ้นของภัตตาคารในห้างหรูอย่างมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนอาจจะเปลี่ยนรสนิยมไม่ชอบกินสุกี้มากดังแต่ก่อนเพราะมีอาหารแปลกใหม่มาขายมากมาย เศรษฐกิจอาจจะไม่ค่อยดี คนจึงใช้จ่ายน้อยลง แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับความสำเร็จในการขยายตัวของภัตตาคาร ก. เลย
ลองมาดูอีกกรณีหนึ่งที่อาจจะคล้ายกันก็คือ หุ้นสะดวกซื้อ X ที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมขายความสะดวกในการซื้ออาหารและสินค้าที่อยากหรือจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีบริษัท Y มาเปิด “ร้านสะดวกซื้อ” เช่นเดียวกันแต่เน้นที่การขายสินค้าของชำมากกว่า “อาหารพร้อมกิน” แบบร้านสะดวกซื้อ X หรือถ้าจะเข้าใจง่ายก็คือ คล้ายกับร้าน “มินิมาร์ท” หรือร้านขายของชำแบบเดิมแบบเดิมมากกว่า อย่างไรก็ตาม สินค้าของร้าน Y จำนวนหนึ่ง อาจจะซัก 40-50% จะซ้ำกับของ X
1
แรกเริ่ม Y จะเน้นเปิดตามหัวเมืองในย่านชุมชนที่มีรายได้ต่ำกว่า X และก็ประสบความสำเร็จขยายตัวอย่างรวดเร็ว เหตุผลน่าจะมาจากการสามารถเอาชนะร้านชำหรือโชห่วยดั้งเดิมที่หดตัวถดถอยลงไปเรื่อย ๆ อยู่แล้วเนื่องจากธุรกิจเป็นแบบครอบครัวที่มีต้นทุนสูงและประสิทธิภาพต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพพอ
อีกเหตุผลหนึ่งก็อาจจะเป็นว่า บริษัท Y มีความสามารถในการบริหารเหนือกว่าร้าน “มินิมาร์ท” ที่เคยรุ่งเรืองในยุคก่อนที่ร้านสะดวกซื้อ X จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด สะดวกซื้อ Y น่าจะประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการเข้าไปจับตลาด “ระดับ C” ของสินค้าสะดวกซื้อ แต่ไม่ได้เป็นคู่แข่งตรง ๆ กับร้านของ X แบบเดียวกับร้านสะดวกซื้อเครือข่ายอื่นโดยเฉพาะที่เป็นต่างชาติที่เน้นที่ลูกค้ากลุ่มระดับกลางคือ C+ ขึ้นไป ที่ต้องแข่งทางด้านอาหารพร้อมกินด้วย