18 พ.ย. เวลา 01:06 • ธุรกิจ

สรุปครบจบในโพสต์เดียว! อัปเดตเทรนด์ผู้บริโภคในปีหน้า

โดย Accenture Life Trends 2025 ที่คนทำแบรนด์ คนทำธุรกิจ ต้องรู้เพื่อปรับตัว
อัปเดตเทรนด์ผู้บริโภคในปีหน้า! โดย Accenture Life Trends 2025 เมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป แล้วธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร ?
1
❤️ หัวใจสำคัญของ ‘เทรนด์ มักเกิดจาก มนุษย์’
Accenture Life Trends 2025 ที่จัดโดย Accenture ที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยี และธุรกิจระดับโลก พูดเกี่ยวกับแนวโน้มในแต่ละปีของผู้บริโภค, พฤติกรรม, ทัศนคติต่อสิ่งรอบตัว, ธุรกิจ, เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ซึ่งปีนี้แนวโน้มทั้ง 5 เทรนด์ ของ Accenture Life Trends 2025 ที่น่าสนใจจะมีอะไรบ้าง เพื่อเตรียมรับมือกับความต้องการลูกค้าเปลี่ยนไป แล้วธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร
เทรนด์ที่ 1 : Cost of hesitations ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องของ AI
แกนของเทรนด์เกี่ยวข้องกับ ‘ต้นทุนของความลังเล’ เพราะความลังเลของผู้บริโภคจะนำไปสู่การไม่กล้าตัดสินใจในการซื้อสินค้า หรือเรื่องอื่น ๆ ที่ตามมา เทรนด์แรกนี้จึงเปิดภาพมาเพื่อปูให้เห็นว่า การมาของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ผู้บริโภคมีความเชื่อถือต่อเทคโนโลยีลดน้อยลง เพราะผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม และความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น เพราะเทคโนโลยีเข้าถึงง่ายขึ้น แค่ตื่นขึ้นมาเราก็สามารถหยิบมือถือขึ้นมาโพสต์ได้แล้ว!
ไหนจะกระแสของการหลอกลวงแบบ Deep-fake ซึ่งมีรายงานระบุว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบ Deep-fake เพิ่มขึ้นสูงถึง 1,530% ตั้งแต่ปี 2022 - 2023 เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอเมริกาเหนือ รวมไปถึงกลุ่มมิจฉาชีพต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มจะแยกแยะได้ยากขึ้นกว่าเดิม ว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนคือการหลอกลวง ความลังเลใจเหล่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนบนโลกออนไลน์
แนวโน้มนี้เกิดจากปฏิกิริยาความลังเลของผู้บริโภคเมื่อต้องอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ที่ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ ส่งผลให้ไม่สามารถเชื่อภาพสินค้า, รีวิว, แคมเปญการตลาด และเนื้อหาจากช่องทางออนไลน์ได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป ซึ่งถือเป็นความท้าทายของแบรนด์ที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่น ทางด้าน Generative AI เองเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังก็จริง แต่ก็มีคนนำมาใช้ทั้งในทางสุจริต และประสงค์ร้าย คนสามารถก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ง่ายขึ้น ซึ่งนำมาสู่ความสับสน และความลังเลใจของผู้คน
📍 จากผลสำรวจของ Accenture Life Trends 2024 ระบุไว้ว่า
- 52% ของผู้คนส่วนใหญ่ เคยเห็นข่าวปลอม หรือบทความที่ไม่เป็นความจริง
- 52% เคยประสบกับการโจมตีหรือกลโกงจาก Deepfake เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือเงิน
- 38.8% เคยเห็นรีวิวสินค้าที่เป็นการหลอกลวงทางออนไลน์
📍 รายงานจาก Getty Images เปิดเผยว่า ผู้คนรู้สึกไม่ค่อยดีนักกับแบรนด์ที่ใช้ภาพที่สร้างด้วย AI ผลสำรวจจากผู้คนกว่า 7,500 คนใน 25 ประเทศพบว่า
- 90% ของผู้บริโภคต้องการทราบว่าภาพนั้นสร้างด้วย AI หรือไม่
- 87% ให้คุณค่ากับความแท้จริงของภาพ ที่สำคัญ
- 76% บอกว่าพวกเขารู้สึกยากขึ้นในการแยกแยะระหว่างภาพจริงและภาพที่สร้างด้วย AI ซึ่งเพิ่มความสงสัยมากขึ้น
🤔 แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
1
🔹 “The whole point of business is to build that trust with their consumers.” สิ่งที่เรียกว่า Trust หรือความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ กลายเป็นคีย์สำคัญของการทำธุรกิจไปแล้ว และเป็นหัวใจหลักที่สำคัญมาก ๆ ในโลกดิจิทัล แบรนด์ควรมอบความไว้วางใจในทุกช่องทางที่ลูกค้าของคุณอยู่
🔹 Deep-fake ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นความเร็วในการจัดการ + ความปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญ แพลตฟอร์มควรพัฒนา และลงทุนในการจัดการเนื้อหาที่อันตราย และหลอกลวง เพื่อรับมือกับความลังเลใจของผู้บริโภค รวมไปถึงจรรยาบรรณในการใช้ AI ความรับผิดชอบของแบรนด์สำคัญอย่างมาก เพื่อลดความกังวลใจให้กับผู้บริโภค
เทรนด์ที่ 2 : The parent trap นี่คือยุคที่สื่อเลี้ยงลูกมากกว่าพ่อแม่
เทรนด์ที่ 2 เรียกได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่มีความท้าทายมากมายรออยู่! ซึ่งหนึ่งในความท้าทายนั้นคือการช่วยให้คนรุ่นใหม่สร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ รวมไปถึงเท่าทันการใช้เทคโนโลยี เพราะการเติบโตปัจจุบันแตกต่างจากยุคเดิมอย่างมาก เรียกได้ว่าพ่อแม่ยุคใหม่มีภาวะความเปราะบางสูงขึ้น ซึ่งมักกังวลอิทธิพลจากสื่อทางออนไลน์แทนลูก และกลัวลูก ๆ จะถูกชักจูงไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรง เมื่อไหร่ที่เราสนใจสื่อที่นำไปสู่ในทางที่ไม่ดี อัลกอริทึมก็จะจับได้ว่าเรามีความสนใจเนื้อหาเหล่านั้นมากขึ้น
มีเหตุการณ์หนึ่งในญี่ปุ่น กับปรากฏการณ์ตัดขาดความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างสุดขั้วที่เรียกว่า "ฮิกิโคโมริ" (Hikikomori) เป็นที่จับตามองตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแพร่หลาย และเด็กผู้ชายวัยรุ่นเริ่มแยกตัวอยู่คนเดียว โดยคุณ Vivek Murthy ศัลยแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ได้บอกไว้ว่า วิกฤตสุขภาพจิตในวัยรุ่น (โดยเฉพาะช่วงอายุ 18-25 ปี) ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมี Social Media เป็นสาเหตุสำคัญ
2
📍 รายงานจากข้อมูลของ YouGov พบว่า
- 64.7% ของผู้คนทั่วโลกคิดว่าพ่อแม่ควรจำกัดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียของลูก ๆ
ต้องยอมรับว่าบริษัทเทคโนโลยียังขาดความเข้าใจต่อสถานการณ์ของผู้ปกครอง การแนะนำให้ผู้ปกครองเพียงแค่ยึดสมาร์ตโฟนไปจากลูก ๆ เป็นการแนะนำที่ขาดความเข้าใจ ดังนั้นเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับแบรนด์คือ หรือเราอาจจะต้อง Radical Rethink
🤔 แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
🔹 การสร้างแบรนด์ หรือการทำการตลาดในกลุ่มวัยรุ่น (คน GEN Z) อาจไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่ Social Media อีกต่อไป แต่การผสมผสานออฟไลน์ สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริง รวมไปถึงการมอบข้อเสนอที่เป็นมิตรกับผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์
1
🔹 เรื่องของขอบเขตการเข้าถึงทั้งในแง่โฆษณา, สื่อทุกชนิด แบรนด์ต้องคำนึงให้มาก การทำเนื้อหาที่นำไปสู่การเป็นอันตรายต่อกลุ่มวัยรุ่นคงไม่ดีนัก หรือการเจาะจงเรื่องเพศ อะไรที่มีความสุ่มเสี่ยงเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องระมัดระวัง และต้องรีบจัดการเรื่องนี้ทันทีอย่างเด็ดขาด
เทรนด์ที่ 3 : Impatience economy ผู้บริโภคมีความอดทนต่ำ แต่มีความต้องการมากขึ้น!
แกนหลักของเทรนด์นี้คือ ‘เศรษฐกิจแห่งความใจร้อน’ หมายถึง ผู้บริโภคมักแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วผ่านเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่เข้าถึงได้เร็วขึ้น เพื่อตอบสนองความใจร้อนที่เพิ่มขึ้น ในทางกลับกันความอดทนก็ลดลง หากแบรนด์ไม่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ โอกาสที่ผู้บริโภคจะหันไปเชื่อในสังคมออนไลน์ก็จะมากขึ้น สิ่งสำคัญคือแบรนด์จะเติมช่องว่างเหล่านี้เพื่อรักษาลูกค้าไว้ได้อย่างไร
📍 จากผลสำรวจของ Accenture Life Trends 2024 ระบุไว้ว่า
- 68.2% ของผู้คนจะมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้นหากแบรนด์ให้ความรู้ผ่านบล็อก และวิดีโอ
- 63.2% มักจะได้รับแรงบันดาลใจจาก Social Media ในการทำตาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคน 18-34 ปี
- 55% ของผู้คนชอบวิธีแก้ปัญหาแบบรวดเร็วมากกว่าวิธีดั้งเดิม ยอมเสี่ยงลงทุนเพื่อสุขภาพและการเงินของตนเอง
📍 อีกผลสำรวจเกี่ยวกับ Long-term Support ที่ผู้บริโภคต้องการ
- 61.1% การลงทุนทางการเงิน
- 59.9% สุขภาพร่างกาย
- 58.9% สุขภาพจิต
- 57.2% การประกันภัย
- 56.6% การศึกษาและการพัฒนาทักษะ
สิ่งใดที่แบรนด์สามารถทำให้ชีวิตผู้บริโภคง่ายขึ้นหรือช่วยประหยัดเวลาได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าแก่การใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นหรือระยะยาว รวมไปถึงผู้บริโภคยินดีจ่ายเพื่อประสบการณ์ใหม่ที่น่าจดจำ กลุ่ม Gen Z และ Millennials รักการซื้อสินค้าที่ไม่แพงมาก แต่สามารถเพลิดเพลินได้ไม่รู้จบ
เรื่องของ Person-to-Person Quality ก็สำคัญมาก ผู้บริโภคมีความชอบแตกต่างกัน แล้วถ้ายิ่งเนื้อหานั้นมาจาก Influencers ที่เขาชื่นชอบ ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันเรื่องราวกับแฟนคลับที่ชอบเหมือน ๆ กัน นี่คือความได้เปรียบของแบรนด์ที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
🤔 แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
🔹 แบรนด์ควรใช้เวลานี้ตรวจสอบประสบการณ์ที่มอบให้กับลูกค้า เช่น มีระบบอะไรที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเข้าถึงง่าย ราบรื่นไม่มีสะดุด รวมถึงความใส่ใจส่วนบุคคล เพื่อมอบประสบการณ์ที่เข้าถึงลูกค้าอย่างแท้จริง และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
🔹 ผู้บริโภคต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือจากแบรนด์ที่เข้าใจ การมีช่องทางที่รู้ว่าลูกค้าอยู่ตรงไหนสำคัญมาก แล้วเข้าไปสื่อสารให้มาก ทำให้เขารู้สึกใกล้ชิดและใช้เสียงของลูกค้าเป็นตัวเชื่อมโยง ซึ่งนี่คือ Insight ที่แท้จริง
เทรนด์ที่ 4 : The dignity of work อย่าทำให้ AI เป็นเหมือนมนุษย์ และอย่าทำให้มนุษย์เป็นเหมือน AI
แกนสำคัญของเทรนด์นี้ต้องยกให้กับ ‘ผู้นำ (Leader)’ เพราะการปฏิบัติต่อพนักงานจะเป็นตัวกำหนดว่าพนักงานจะยอมรับหรือกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากทางเทคโนโลยีอย่าง Generative AI หรือการให้คุณค่าในการใช้ชีวิตในองค์กร
ดังนั้นการลงทุนในคุณค่าระหว่างนายจ้างและพนักงานจะประสบความสำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับการลงทุนในคุณค่าที่เห็นร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพราะหากพนักงานขาดแรงจูงใจและไม่มีอิสระในการทำงาน เราจะไม่มีวันคาดหวังในเชิงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ, การบริการที่ดี และประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ลูกค้าได้เลยแม้แต่น้อย
📍 จากผลสำรวจของ Accenture Life Trends ระบุไว้ว่า
- 52% พนักงานส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างงานและชีวิต
- 48% พนักงานส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับเงินเดือน
- 39% พนักงานส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ
สัญญาณนี้น่าสนใจ เพราะมีแนวโน้มที่ว่า ‘เงินอาจมีผลน้อยลงในการกระตุ้นให้คนทำงานหนักขึ้น’ และจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ YouGov ทั่วโลกพบว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้คนให้ความสำคัญกับเวลาว่างมากขึ้น รวมไปถึงการศึกษาของ Future of Work ของ Accenture พบว่ามีเพียง 29% ของพนักงานที่เชื่อว่าผู้นำองค์กรสนใจในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพนักงาน
📍 นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจที่เกี่ยวข้องกับคนทำงาน ระบุไว้ว่า
- 82% จากการศึกษาของ Gartner ระบุไว้ว่า พนักงานอยากให้องค์กรควรมองพวกเขาในฐานะ “คน” มากกว่าเป็นแค่ “ทรัพยากร”
- 49.5% จากการศึกษาของ Accenture Life Trend พบว่า “การเพิ่มประสิทธิภาพ” เป็นข้อความที่พนักงานได้รับจากนายจ้างมากที่สุด ซึ่งมากกว่าข้อความเกี่ยวกับการเพิ่มคุณค่าให้ลูกค้า หรือการพัฒนาบุคลากร
- 42% จากการศึกษาของ Credit Karma พบว่า Gen Z และ Millennials ประสบกับ "Money Dysmorphia" หรือความรู้สึกไม่มั่นคงด้านการเงิน ส่งผลให้บางคน "acting their wage" หรือทำงานเพียงเท่าที่ได้รับค่าจ้าง ไม่ยอมทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ในช่วงที่เกิดการปลดพนักงาน หรืองดการจ้างงาน
🤔 แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
🔹 พนักงานต้องการได้รับการเติมพลังใหม่ โดยเริ่มจากผู้นำเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะการเห็นความเป็นมนุษย์ร่วมกันอย่างแท้จริง ทั้งการเจอตัวและทำงานผ่านออนไลน์ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ ซึ่งผู้นำควรใส่ใจและจับตาดูเรื่องของความรู้สึกของคนทำงานให้มากขึ้น
🔹 อย่าทำให้ AI เป็นเหมือนมนุษย์ และอย่าทำให้มนุษย์เป็นเหมือน AI ภารกิจสำคัญของผู้นำในยุคต่อไปคือการออกแบบงานที่เติมเต็มคุณค่าด้วยศักดิ์ศรีและความเคารพร่วมกัน เพื่อรักษาคนเก่งไว้
🔹 การให้เกียรติคนทำงาน ทำให้เขาเห็นว่าเขามีตัวตน เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อเป้าหมายของทีมเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงควรมีสิทธิ์ให้พนักงานแสดงความคิดเห็นในการใช้งาน AI เพราะพวกเขาเหล่านี้รู้วิธีการทำงานของตัวเองดีที่สุด ขณะนี้การใช้ Generative AI ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ผู้นำควรคิดว่าจะให้พนักงานรับผิดชอบต่อผลงานที่ AI สร้างขึ้นอย่างไร
เทรนด์ที่ 5 : Social rewilding การปรับสมดุลระหว่างเทคโนโลยี และโลกแห่งความเป็นจริง
แกนสำคัญของเทรนด์นี้คือ “การเชื่อมโยงสังคมกลับสู่โลกจริง” ผู้คนส่วนใหญ่กำลังมองหาประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและคนรอบตัว นี่คือ Social Rewilding คือการพยายามเชื่อมโยงสังคมกลับสู่โลกจริง ซึ่งมักจะเกี่ยวกับธรรมชาติ และปรับสมดุลบทบาทของเทคโนโลยี ให้ผู้คนละทิ้งหน้าจอบ้าง แล้วหันกลับไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพราะโลกที่เคลื่อนไหวรวดเร็วนี้ การจะหยุดพักจากเทคโนโลยี และมุ่งเน้นกิจกรรมที่เติมเต็มและการสื่อสารพูดคุยกันในชีวิตจริง จะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ
📍 จากผลสำรวจของ Accenture Life Trends ระบุไว้ว่า กิจกรรมทางกายที่ผู้คนทำมากขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
- 48% ใช้เวลาอยู่กลางแจ้งหรือในธรรมชาติ
- 47% พบปะกับเพื่อนในชีวิตจริง
- 47% ช้อปปิ้งในร้านโชห่วย หรือร้านขายของชำ
- 36% ช้อปปิ้งในร้านค้าปลีกอื่น ๆ (เช่นค้าปลีกที่อยู่ในห้าง)
- 30% อ่านหนังสือหรือแมกกาซีนแบบเล่ม
📍 นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคที่น่าสนใจ ดังนี้
- 79% จากการศึกษาของ Axios และ Generation Lab พบว่า ผู้บริโภคบางกลุ่มมองหาความเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งกับคนในโลกจริง Gen Z เลือกปฏิสัมพันธ์แบบเจอหน้ามากกว่าแอปหาคู่
- 62.1% ระบุว่าพวกเขาออกเดตแบบพบปะกันมากขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มากกว่าเจอกันในออนไลน์
- ในด้านงานอดิเรก ก็มีผู้คนบางกลุ่มสนใจงานฝีมืออย่างการปั้นเซรามิก หรือทำกิจกรรมออฟไลน์มากขึ้น อาจจะเป็นการอ่านหนังสือแทนการอ่าน E-Book, ออกกำลังกาย, เดินเล่น, ฟังดนตรีสด และก็ยังมีคนกลุ่มเล็ก ๆ ของคนที่อายุต่ำกว่า 30 กำลังหาความสุขจากการขับรถคลาสสิกรุ่นใหม่จากยุค 80 และ 90 Scott Linford เพิ่มขึ้น
- ในมุมของแบรนด์ก็น่าสนใจ เราจะเริ่มเห็นความเรียบง่ายจากแบรนด์มากขึ้น มีหลายบริษัทละทิ้งการออกแบบที่เป็นรายละเอียดหนัก ๆ แล้วหันมาใช้ตัวอักษร sans serif หรือบางแบรนด์ก็กลับมาใช้โลโก้เก่าในสไตล์ที่มีรายละเอียดแบบ sans serif ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของอุตสาหกรรมแฟชั่น
🤔 แนวทางการรับมือ สิ่งที่แบรนด์ หรือธุรกิจต้องคิดทบทวนและไปต่อ
🔹 แบรนด์ควรเริ่มมองหาวิธีสื่อสารที่ไม่ใช่แค่ในโลกดิจิทัล แต่การเชื่อมต่อประสบการณ์กับลูกค้าแบบเจอตัวในโลกความเป็นจริง จะสร้างความแตกต่างได้มาก โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีความสนุก และอยู่เคียงข้างกับลูกค้าในเวลาที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ
🔹 ถึงเวลาที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว บางแบรนด์อาจได้รับประโยชน์จากการใช้สุนทรียะที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งกำลังมีความสำคัญมากขึ้นต่อผู้คน หรือพิจารณาจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ สร้างรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนในการออกไปสู่ธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
หากใครสนใจอ่านเพิ่มเติมแบบจัดเต็ม สามารถดาวน์โหลด
Report : Accenture Life Trends 2025
✍🏻 เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
🎨 ภาพประกอบ: อลิสา อรุณสิริเลิศ
โฆษณา