18 พ.ย. 2024 เวลา 00:34 • ศิลปะ & ออกแบบ
ท่าพิพิธภัณฑ์

200 Years Journey Through Thai Modern Art History

นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวศิลปะไทยในรอบ 200 ปี
โลกเรามีศิลปินที่ทำผลงานศิลปะในแขนงต่างๆ หลายคนเรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น ลีโอนาร์โด ดาวินชี, ไมเคิล แองเจลโล, โมเนต์, แวน โกะห์, ซัลวาดอร์ ดาลี, ฟรานซิสโก โกยา และอีกมากมาย
2
แต่หากพูดถึงศิลปินไทยแล้ว คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงศิลปะอาจนึกออกได้ไม่กี่ชื่อ นี้จึงเป็นเหตุผลให้ทางคุณออน กรกมล และคุณพิ พิริยะ วัชจิตพันธ์ สองสามีภรรยาผู้หลงใหลในงานศิลปะ ได้จัดนิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History ขึ้นมาที่ “ท่าพิพิธภัณฑ์” เพื่อแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทยที่น่าภาคภูมิใจในคนทั่วไปได้รับรู้ ผ่านผลงานศิลปะในรอบกว่า 200 ปี
2
โดยในงานจะเริ่มไล่เรียงผลงานมาตั้งแต่ยุครุ่งอรุณของศิลปะสมัยใหม่ไทย เมื่อราว 200 ปีที่แล้ว ที่ขรัวอินโข่ง ศิลปินชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังผสมผสานกับอิทธิพลจากตะวันตก ต่อด้วยยุคที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินว่าจ้างศิลปินตะวันตกมาสร้างสรรค์ผลงานประดับประดาปราสาทราชวัง มายังยุคศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานให้กับวงการศิลปะ มาถึงปัจจุบันที่ศิลปินไทยมีความเป็นปัจเจกบุคคล มีหลากหลายสไตล์ได้รับการยอมรับจนกลายเป็นกระแสหลักที่ส่งอิทธิพลไปยังวงการอื่นๆ
2
นิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History ที่ท่าพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นการนำผลงานศิลปะไทย 150 กว่าชิ้นในรอบ 200 ปี มาจัดแสดง โดยแบ่งออกเป็น 8 โซน 8 เรื่องราว
2
ผมไปดูแล้วรู้สึกชื่นชมผลงานหลายชิ้น ทั้งความงาม ทั้งแนวคิด หลายผลงานผมไม่เคยได้เห็นมาก่อน ส่วนผลงานที่เคยเห็นมาบ้างก็เพิ่งจะมารู้ที่มาที่ไปเบื้องหลังของผลงานก็ที่งานนี้ ด้วยเพราะทางนิทรรศการจะมีแปะ QR code ไว้คู่กับผลงานให้เราสามารถสแกนเข้าไปอ่านหรือรับชมคลิปวิดิโอเบื้องหลังผลงานได้ด้วย ผมขอยกตัวอย่างที่ผมประทับใจมาให้เพื่อนๆ ได้รับชมกัน
1
“ปริศนาธรรม” ผลงานของขรัวอินโข่งศิลปินชื่อดังในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ได้วาดภาพเรือล่องไปในมหาสมุทรท่ามกลางบ้านเรือนและวิวทิวทัศน์ธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลัง ภาพนี้ได้สอดแทรกพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ในภาพด้วย โดยเปรียบให้เรือเป็นเหมือนพระพุทธเจ้าที่นำพามนุษย์เดินไปสู่ทางธรรมได้
2
“เสนาหลวง” “คุณพ่อ คุณแม่ คุณอา ลูกชายใหญ่” ภาพล้อฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
2
“เสียงขลุ่ยทิพย์” ผลงานประติมากรรมของอาจารย์ เขียน ยิ้มศิริ เป็นรูปของนักดนตรีชายไทยนั่งเป่าขลุ่ยในลีลาที่งดงามอ่อนช้อย การเอี้ยวคอและลำตัวสร้างจังหวะสอดรับกับแขนที่กางออก และนิ้วมือที่กรีดกรายลงบนเครื่องดนตรี การนำลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์มาปั้นเป็นนักดนตรีชาวบ้านที่เปลือยท่อนบนกำลังนั่งเป่าขลุ่ย คือ การนำศิลปะชั้นสูงมาเล่าเรื่องวิถีชีวิตสามัญธรรมดาของคนระดับล่าง ซึ่งวิธีการและการนำเสนอเนื้อหาแบบนี้คือ ลักษณะสำคัญของศิลปะสมัยใหม่
2
ภาพร่างลายเส้นงานประติมากรรมทางศาสนาของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี
1
“Blooming Sakura in Ueno Park” ผลงานภาพวาดของอาจารย์ ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ ที่ถูกเขียนขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ของปี พ.ศ.2488 ในสวนอุเอะโนะ ภาพสีน้ำมันชิ้นนี้เกิดจากการใช้เกรียงปาดป้ายลงไปแบบสดแบบฉับพลันโดยไม่สนใจเก็บรายละเอียด ซึ่งเป็นแนวทางการเขียนภาพแบบอิมเพรสชันนิสม์ หากมองดูภาพใสระยะใกล้จะเห็นแต่แต้มสีหยาบๆ เป็นภาพนามธรรม
แต่เมื่อถอยห่างออกมาดูจะเห็นเป็นภาพทิวทัศน์ซากุระในสวนอันสวยงาม ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานไม่กี่ชิ้นของประกิตที่รอดพ้นจากการถูกทำลายจากการโจมตีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่น และสามารถนำกลับมาประเทศไทยได้
2
“Girl with Red Book” ผลงานของ มีเซียม ยิบอินซอย เป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ได้รับเหรียญทองจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยที่เธอเองไม่ได้เรียนศิลปะ เธอได้รับแรงบันดาลใจทางศิลปะมาจากการพาลูกไปรักษาตัวที่ทวีปยุโรปแล้วมีโอกาสได้ชมผลงานของศิลปินระดับโลกมากมาย จนเธออยากเริ่มทำงานศิลปะ
ภาพนี้มีเซียมวาดหญิงสาววัยรุ่นในชุดสีขาวบริสุทธิ์ นอนอ่านหนังสือล้อไปกับแนวนอนของผืนผ้าใบ โลกของหญิงสาวเปิดออกอย่างสดใสร่าเริงเฉกเช่นหนังสือปกแดงในมือของเธอที่ถูกเปิดอ่าน ท่ามกลางดอกไม้ และพืชพันธุ์ที่เบ่งบานล้อมรอบ
2
“เทวะปักษา” ผลงานของอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์ได้วาดรูปเทวดาที่มีร่างกายเป็นมนุษย์ อัดแน่นไปด้วยกล้ามเนื้อกำยำ แต่มีหัวเป็นนก มีปีกและกรงเล็บ รูปเทวะปักษานี้ถูกนำเสนอคล้ายกับทวารบาล หรือเทวดาที่ปกปักรักษาบานประตู โดยอาจารย์ถวัลย์ได้วาดเทวะปักษาบนบานประตูด้านขวาในลักษณะที่เหมือนกับกำลังก้าวออกมาจากช่องประตูแล้วกำลังยื่นศีรษะและวางมือทาบไปกับบานประตูสีทองทางด้านซ้าย เป็นการผสมผสานงานจิตรกรรมเข้ากับสถาปัตยกรรมออกมาได้อย่างดี
2
“Wisdom Ways” ผลงานของอาจารย์ ปัญญา วิจินธนสาร เป็นรูปพระพักตร์ของพระพุทธรูปสีทอง ลายเส้นถ่ายทอดพุทธลักษณะอันงดงามด้วยความละเอียดประณีต พระโอษฐ์แย้มยิ้ม พระเนตรมองต่ำ สงบ สำรวม แฝงไว้ด้วยความเมตตาต่อสรรพสัตว์ จุดเด่นของผลงานชิ้นนี้ คือ การใช้แผ่นเงินและแผ่นทองปะติดลงบนผิวของกระดาษสี่เหลี่ยมเล็กๆ สีทองและสีเงินสลับเป็นแถวตารางอย่างเป็นระเบียบครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของภาพ
2
ทำให้ภาพมีประกายระยิบระยับสวยงาม ประหนึ่งประกายของพระธรรมคุณที่แผ่ออกจากพระพุทธเจ้า และยังสื่อถึงพระพุทธคุณที่ทรงสั่งสมพระบารมีในห้วงเวลานับแสนกัลป์แห่งการเวียนว่ายก่อนจะมาถึงพระชาติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
1
“Untitled” (2549) ผลงานของอาจารย์ ชาติชาย ปุยเปีย เป็นภาพใบหน้าของศิลปินแสยะยิ้ม พร้อมกับลูกตาที่ปูดโปนเบิกโพลง โดยใช้คู่สีเงินกับสีทองมาเป็นโทนสีในการวาด ทำให้ภาพวาดมีบรรยากาศที่ดูแปลกประหลาด สุกสว่างเหนือจริง กล้ามเนื้อและรายละเอียดริ้วรอยบนใบหน้าถูกขับเน้นให้เห็นชัดเจน สายตาที่จ้องมองออกมาหาคนดูนำมาซึ่งความรู้สึกอึดอัดกระอักกระอ่วน เป็นรอยยิ้มที่ซุกซ่อนความไม่น่าไว้วางใจ
1
“Cry Me A River” ผลงานคาแรคเตอร์น้อง Crybaby Molly อันโด่งดังของคุณ นิสา ศรีคำดี ศิลปินอาร์ตทอยคนแรกของไทยที่ได้ร่วมงานกับ POP MART ด้วยแนวคิดที่เราไม่ต้องเก็บอารมณ์ความรู้สึก ใครๆ ก็ร้องไห้ออกมาได้ โดยในงานนิทรรศการเราจะเห็นน้องมอลลี่ขนาดไซส์ยักษ์กำลังแช่ในอ่างน้ำ โดยมีแค่ส่วนหัว ส่วนขากับมือข้างหนึ่งที่กำลังคีบอะไรบางอย่างโผล่พ้นออกมาจากน้ำ
2
“Memory House” ผลงานคาแรคเตอร์น้องมาร์ดี เด็กสามตาหน้าบึ้งของคุณ Alex Face พัชรพล แตงรื่น ผลงานนี้จะเป็นประติมากรรมรูปน้องมาร์ดีขนาดใหญ่อัดแน่นอยู่ในบ้านไม้หลังเก่า เป็นการสะท้อนความทรงจำของบ้านวัยเด็กของคุณ พัชรพล
2
เหล่านี้แค่ตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งในนิทรรศการ ยังมีผลงานอีกกว่า 150 ชิ้นที่รอให้ทุกคนไปรับชม ซึ่งหากใครสนใจเรื่องราวผลงานศิลปะไทยในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา ว่ามีเรื่องราวอย่างไร มีประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการความเป็นมาอย่างไร ก็สามารไปชมได้ที่นิทรรศการ 200 Years Journey Through Thai Modern Art History ที่ ท่าพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เปิดบริการทุกวัน เวลา 9.00-17.00 น. คนไทยค่าเข้าชม 100 บาท
1
แล้วเราจะเข้าใจถึงคำพูดที่ว่า “อายุสั้น ศิลปะยืนยาว” กันครับ
2
โฆษณา