18 พ.ย. เวลา 02:51 • ความคิดเห็น

มาลับขวานกันเถอะ

คุณ angela duckworth แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ศึกษาและทำงานวิจัยเรื่องปัจจัยที่ทำให้บุคคลต่างสาขาอาชีพประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และได้ข้อสรุปจนเขียนหนังสือในเรื่องที่คุณแอนเจล่าค้นพบ คุณแอนเจล่าก็ยังเอาเรื่องนี้ไปเล่าใน ted talk และก็กลายเป็น talk ที่มีคนดูสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ อีกด้วย
คุณแอนเจล่าบอกว่า จากข้อมูลวิจัยในการเก็บตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากหลากหลายวิชาชีพนั้น เธอค้นพบว่าส่วนผสมของการที่มี passion คือความปรารถนาและหลงใหลในสิ่งที่ทำอย่างแรงกล้ากับ Perseverance คือความอึด อดทน มุมานะพยายามนั้น คือปัจจัยหลักที่ทำให้บุคคลหลากหลายอาชีพประสบความสำเร็จคล้ายๆ กัน
1
เธอบอกว่าปัจจัยสองอย่างนี้สำคัญกว่าความฉลาด หรือพรสวรรค์ที่มีติดตัวด้วยซ้ำ เธอบอกว่าเราจะสามารถรู้และทำนายได้เลยว่าทหารใหม่คนไหน หรือเซลล์ใหม่คนไหนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตโดยดูจากสองปัจจัยนี้ร่วมกัน
เธอเรียกส่วนผสมนี้ว่า GRIT
GRIT ในตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่พูดถึงมากในโลกธุรกิจตะวันตกว่าเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ผมมาคิดสนุกๆต่อว่า ในโลกตะวันออกอย่างเรา หนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นก็มีพูดถึงอยู่คล้ายกันแต่กว้างกว่าและอยู่มานานกว่ามากที่เรียกว่า อิทธิบาทสี่ ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแปลตรงตัวว่าหนทางสู่ความสำเร็จเช่นกัน ที่น่าสนใจคือ สองข้อแรกของอิทธิบาทสี่นั้นเหมือนกับที่ GRIT พูดถึงก็คือ passion ที่ตรงกับฉันทะ และ Perseverance ก็คือวิริยะนั่นเอง
แต่อิทธิบาทสี่นั้นยังมีอีกสองข้อที่ทำให้หนทางสู่ความสำเร็จนั้นแจ่มชัดขึ้น ข้อที่สามก็คือ จิตตะ หรือ แปลในภาษาอังกฤษก็คือ focus ที่นอกจากจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าและความวิริยะแล้ว การที่ใจจดใจจ่อกับสิ่งที่ทำนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
ผมนึกถึงคำถามที่คุณเศรษฐา ทวีสิน ถามนักเรียนในคลาสเอบีซีว่าที่สนใจทำอสังหาริมทรัพย์ว่าใครทำเป็นงานอดิเรกบ้าง คือมีธุรกิจตัวเองแล้วสนใจมาทำอสังหา ก็มีคนยกมือหลายคน คุณเศรษฐาบอกว่าคุณไม่มีทางสู้ผมได้ เพราะผมไม่ทำอย่างอื่น ชีวิตผมทำอสังหาอย่างเดียว 100% ความทุ่มเทนั้นต่างกันอย่างลิบลับ ถ้าอยากทำอสังหาก็ต้องโฟกัสที่อสังหา ก็เป็นตัวอย่างเรื่องจิตตะที่ชัดเจนมากๆ เรื่องหนึ่ง
2
ข้อสุดท้ายของอิทธิบาทสี่นั้นที่เรียกว่า วิมังสานั้น คนส่วนใหญ่จะงงๆเพราะคำแปลไม่ชัดเจนนัก ถ้าเปิดพจนานุกรมก็จะแปลว่าไตร่ตรอง ใคร่ครวญ พิจารณา ใช้ปัญญา แต่ผมกลับพบว่ามีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจง่ายกว่าก็คือ testing rationing ก็คือการทดลองทำ แล้วเรียนผิดเรียนถูกจนเกิดประสบการณ์และปัญญาก็จะตามมา เหมือนกับสิ่งที่ startup ปัจจุบันค้นพบก็คือการลองไปก่อน ทดสอบ มี prototype แล้วสังเกตใคร่ครวญจนบังเกิดความรู้ขึ้นมา
เป็นกรณีเดียวกับที่โทมัส อัลวา เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟที่ต้องทดลองเป็นพันเป็นหมื่นครั้งกว่าจะค้นพบวิธีที่ทำให้สำเร็จ ซึ่งทำให้เกิดคำพูดอันโด่งดังของเอดิสันว่า “ I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work” นั่นเอง
คนอย่างเอดิสัน หรือคนอย่างพี่เก้ง จิระ มะลิกุล พี่ใหญ่แห่งบริษัทภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเมืองไทยอย่าง GDH ผู้ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จของ GDH ว่าเกิดจากอิทธิบาทสี่ ก็คือความหลงใหลในงานสร้างหนัง ความมุมานะทำงานหนักไม่ย่อท้อ หนังเรื่องหนึ่งต้องเตรียมเขียนบทกันเป็นปีๆ พี่เก้งก็ไม่ทำอะไรในชีวิตนอกจากสร้างหนัง หายใจเข้าออกเป็นหนัง และท้ายที่สุดก็ลองผิดลองถูก
หนังสิบเรื่องแรกของ GDH นั้นส่วนใหญ่จะเจ๊ง กว่าจะหาสูตร เข้าใจตลาดจริงๆก็ต้องลองแล้วลองอีกจนเกิดปัญญาขึ้นมาและกลายเป็น GDH ผู้ที่ทำเรื่องไหนก็ฮิตเรื่องนั้นในที่สุด
เราพอเข้าใจสามข้อแรกของอิทธิบาทสี่ได้ไม่ยาก แต่ข้อสี่ที่เรียกว่าวิมังสานั้นสำคัญแค่ไหน ผมอยากจบด้วยเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ผมเคยได้ยินมาไว้ดังนี้ครับ..
1
มีคนตัดฟืนคนหนึ่งทำงานให้เจ้านายที่เขารักมาก มี passion อย่างเต็มเปี่ยม มีความวิริยะอุตสาหะอย่างเต็มที่ และใจจดใจจ่อกับการตัดฟืนเพื่อให้เจ้านายใช้ ไม่คิดเรื่องอื่นเลย
วันแรกตัดไป 10 ชั่วโมงได้มาหนึ่งกอง วันที่สองตัดไป 11 ชั่วโมงได้มาเท่าเดิม วันที่สามกลายเป็น 12 ชั่วโมง เขาสงสัยในตัวเองมากว่าทำอะไรผิด เพราะมีทั้ง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ แล้ว เลยไปปรึกษาเจ้านายว่าทำไมยิ่งตัดยิ่งได้น้อย
เจ้านายถามสั้นๆ ว่า ครั้งสุดท้ายที่ลับขวานน่ะเมื่อไหร่เหรอ
1
ครั้งสุดท้ายที่เราได้ลับขวานตัวเอง ได้ลองอะไรที่ท้าทายแล้วแป้กบ้าง ไปในที่ที่คนในอาชีพเราไม่ไปบ้าง ได้เรียนรู้ัอะไรจากคนเก่งๆ ในสาขาที่เราไม่รู้บ้าง ได้ทำแผนที่ทำให้ใจสั่นไม่รู้จะทำได้บ้างแล้วหรือไม่ เพราะถ้าขวานทื่อ ยิ่งทำก็จะยิ่งถอยไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะครับ……
โฆษณา