Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
18 พ.ย. เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“Sanrio” อาณาจักรมหาอำนาจแห่งความน่ารัก เจ้าของคาแรคเตอร์หมื่นล้าน
ย้อนเส้นทาง “Sanrio” จากโรงงานผ้าไหมสู่อาณาจักรคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนสุดน่ารักที่สร้างรายได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท
ปี 2024 ถือเป็นปีพิเศษสำหรับ “Hello Kitty” (เฮลโลคิตตี) คาแรคเตอร์การ์ตูนจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รักและได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะเป็นปีครบรอบอายุ 50 ขวบของเจ้าแมวสีขาวติดโบว์สุดน่ารักตัวนี้
หากถามว่า Hello Kitty เป็นที่รักขนาดไหน ก็ในระดับว่านี่คือแฟรนไชส์คาแรคเตอร์ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก แซงหน้ามิกกี้เมาส์และสตาร์วอร์สของดิสนีย์ เป็นรองเพียงแฟรนไชส์โปเกมอน (Pokemon) เท่านั้น
Sanrio เจ้าของคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนยอดนิยมมากกว่า 450 ตัว
ชื่อเสียงของ Hello Kitty นั้นแม้แต่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร ยังทรงอวยพรวันเกิดให้เธอระหว่างการเสด็จเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการของจักรพรรดิและจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. 2024 ที่ผ่านมา
นั่นทำให้ชื่อของบริษัท “Sanrio” (ซานริโอ) กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกเช่นเดียวกัน ในฐานะผู้ให้กำเนิด Hello Kitty รวมถึงคาแรคเตอร์ชื่อดังอื่น ๆ อีกกว่า 450 ตัว เช่น ซินนามอน, คุโรมิ, ปอมปอมปุริน, มายเมโลดี, กูเดทามะ ฯลฯ
แต่ทราบหรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของซานริโอและคาแรคเตอร์ขวัญใจมวลชนนี้ มาจาก “โรงงานผ้าไหม”
จากผ้าไหมสู่คาแรคเตอร์แรก
เมื่อกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของซานริโอ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงผู้ก่อตั้งอย่าง “ทสึจิ ชินทาโร” ทายาทของบ้านทสึจิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลซาเองุสะผู้มั่งคั่ง ครอบครัวของเขามีเรียวกังถึง 3 แห่งในเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ทำให้ต้นทุนชีวิตของชินทาโรถือว่าค่อนข้างดีกว่าคนทั่วไป
ด้วยฐานะทางบ้านที่ดี ทำให้ชินทาโรได้เขาเรียนในโรงเรียนคริสต์ และได้สัมผัสวัฒนธรรมตะวันตกที่แตกต่างจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะธรรมเนียมการให้ของขวัญในวันเกิดหรือช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งจะเป็นรากฐานให้เขากลายเป็นผู้เปลี่ยนโฉมธุรกิจการให้ของขวัญในญี่ปุ่นในภายหลัง
ชินทาโรสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมีจากวิทยาลัยเทคนิคคิริว (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยกุนมะ) และศึกษาเรื่องการผลิตด้วย แต่ถูกทางบ้านกดดันจนต้องมารับราชการ ก่อนจะผันตัวเป็นครู และมาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของจังหวัดยามานาชิในที่สุด
กระทั่งปี 1960 ขณะอายุประมาณ 33 ปี เขาตัดสินใจลาออกจากราชการ และนำเงินเก็บรวมกว่า 1 ล้านเยน มาก่อตั้งบริษัท Yamanashi Silk Center ขึ้นที่ย่านนิฮงบาชิของกรุงโตเกียว โดยผลิตสินค้ากลุ่มผ้าไหมผ้าแพร ก่อนที่ต่อมาจะขยายมาผลิตรองเท้าแตะด้วย
ช่วงราวปี 1962 ชินทาโรต้องการทำให้รองเท้าของเขาแตกต่างจากเจ้าอื่นในตลาด จึงลองเพนต์วาดลวดลายน่ารัก ๆ ลงบนรองเท้า และปรากฏว่ายอดขายเติบโตขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ และประสบความสำเร็จเป็นพิเศษหากลวดลายนั้นเป็น “สตรอว์เบอร์รี”
บริษัทจึงออกแบบออริจินัลดีไซน์แรกของตัวเองขึ้นมาเป็นรูปสตรอว์เบอร์รี และเริ่มผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่มีลวดลายดังกล่าว โดยเป็นสินค้ากลุ่ม “ของขวัญ” เช่น การ์ดอวยพร ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้กัน และทำให้วัฒนธรรมการให้ของขวัญของคนญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไป รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของหลักปรัชญาการทำงานของซานริโอที่ว่า “ minna nakayoku” หรือ “การทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
ทสึจิ ชินทาโร ผู้ก่อตั้ง Sanrio
ชินทาโรเห็นโอกาสจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์น่ารัก ๆ จากต่างประเทศมาทำเป็นลวดลายสินค้าของเขา เช่น สนูปปี (Snoopy) และพีนัตส์ (Peanuts)
เมื่อสินค้ากลุ่มของขวัญมีแนวโน้มที่ดี ในปี 1969 เขาได้ตั้งบริษัทใหม่แยกออกมาจาก Yamanashi Silk Center เพื่อโฟกัสสายการผลิตนี้โดยเฉพาะ และตั้งชื่อว่า “Sanrio Greeting”
ที่มาคำว่าซานริโอนั้น ในหนังสือ “นี่คือความลับของซานริโอ” (これがサンリオの秘密です) ระบุว่า คำว่า “ซานริ” นั้น มาจากชื่อของจังหวัดยามานาชิที่เป็นจังหวัดบ้านเกิด โดยอ่านแบบ “องโยมิ” หรืออ่านแบบถอดเสียงจากภาษาจีน (ยามานาชิในภาษาจีนอ่านว่า ซานหลี) ส่วนคำว่า “โอ” นั้นมาจากเสียง “โอ้” หรือคำอุทานเวลาตื่นเต้น
ซานริโอถ้าแปลแล้วเท่ากับการเรียกชื่อจังหวัดยามานาชิแบบตื่นเต้น ๆ นั่นเอง
จากนั้นในปี 1971 บริษัทได้เปิดกิฟต์ชอปแห่งแรกขึ้นมาที่ย่านชินจูกุของโตเกียว ใช้ชื่อว่า “Gift Gate” (กิฟต์เกต) และ 2 ปีหลังจากนั้นบริษัทแม่ได้ยุบเอา Sanrio Greeting มารวมกับ Yamanashi Silk Center และเปลี่ยนชื่อเป็นซานริโอ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน ชินทาโรเริ่มมีความคิดแล้วว่า “หากสามารถสร้างคาแรคเตอร์ของตัวเอง” ขึ้นมาได้ น่าจะประหยัดค่าลิขสิทธิ์ไปได้มากโข จึงได้จ้างนักวาดการ์ตูนมาสร้างดีไซน์และลวดลายน่ารัก ๆ ที่จะนำมาลงบนผลิตภัณฑ์ของตนได้
จนในที่สุดเขาได้ดีไซน์คาแรคเตอร์แรกของซานริโอขึ้นมา คือ “โคโระจัง” (Corochan) ถือกำเนิดขึ้นในปี 1973 เป็นหมีน้อยน่ารักที่นิสัยสุดแสนจะชิลล์ ชื่อของเขามาจากแก้มที่ดูเหมือนขนมโครเกต์
“โคโระจัง” คาแรคเตอร์ตัวแรกของ Sanrio
กำเนิดเหล่าคาแรคเตอร์ที่ทุกคนหลงรักแห่งหมู่บ้านแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
เมื่อมีตัวแรกออกมาแล้ว ตัวที่สองก็ไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นระดับตำนาน นั่นคือ Hello Kitty ออริจินัลดีไซน์แรกออกแบบโดย ชิมิซึ ยูโกะ มีลักษณะเป็นแมวสีขาว ติดโบว์สีชมพู และไม่มีปาก
ซานริโอระบุว่า ที่ Hello Kitty ไม่มีปาก เป็นเพราะต้องการให้เป็นทูตและสัญลักษณ์ของความเป็นมิตรทั่วโลก ซึ่งจะไม่ถูกแบ่งแยกด้วยภาษาหรืออารมณ์ใด ๆ รวมถึงการไม่มีปากยังสื่อว่า ทุกสิ่งที่ Hello Kitty สื่อสารคือการพูดออกมาจากหัวใจ
ในตอนแรก Hello Kitty ยังไม่มีชื่อ ชิมิซึได้ชื่อคิตตีมาจากหนังสือ Through the Looking-Glass ของ ลูอิส แครอลล์ ในฉากหนึ่งในช่วงต้นของหนังสือ อลิซเล่นกับแมวที่เธอเรียกว่าคิตตี
ชินทาโรต้องการให้ซานริโอเป็นแบรนด์ของ “การสื่อสารทางสังคม” เขาจึงคิดว่าจะให้แมวขาวตัวนี้ชื่อว่า “Hi Kitty” ก่อน ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “Hello Kitty”
ซานริโอยังสร้างสตอรี่ของเธอให้เป็นเด็กผู้หญิงชื่อ คิตตี ไวต์ (Kitty White) เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ในเขตชานเมืองของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สูงเท่ากับแอปเปิล 5 ลูก และหนักเท่ากับแอปเปิล 3 ลูก เป็นเด็กผู้หญิงที่สดใสและใจดีที่เก่งในการทำคุกกี้และชอบเล่นเปียโน มีครอบครัวใหญ่ซึ่งรวมถึงพี่สาวฝาแฝดของเธอ “มิมมี” (Mimmy) ที่ผูกโบว์สีเหลือง พ่อชื่อจอร์จ และแม่ชื่อแมรี
ซานริโอตัดสินใจที่เลือกให้ Hello Kitty เป็นชาวอังกฤษเพราะอังกฤษเป็นกระแสนิยมในญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ Hello Kitty ถูกสร้างขึ้น และต้องการความแตกต่าง เพราะซานริโอมีตัวละครหลายตัวที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากสหรัฐฯ อยู่แล้ว
ในปี 1975 ซานริโอได้ออกกระเป๋าพลาสติกใสสำหรับใส่เหรียญ มีรูปแมวสีขาวหัวโตพร้อมคำว่า “Hello” เขียนอยู่ นี่คือการปรากฏตัวครั้งแรกของ Hello Kitty ต่อสายตาชาวโลก และหลังจากนั้นยังปรากฏตัวในสินค้าอีกหลายอย่าง รวมถึงคาแรคเตอร์ตัวนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นทูตของยูนิเซฟด้วย
Hello Kitty ภายในนิทรรศการ "CUTE" ที่ Somerset House ใจกลางลอนดอน
จากนั้นซานริโอได้เดินหน้าออกแบบออริจินัลคาแรคเตอร์ของตัวเองออกมาอีกจำนวนมาก เช่น มายเมโลดี (My Melody) ที่ออกมาในปี 1975 เป็นกระต่ายสีขาวที่มักสวมฮู้ดสีแดงหรือชมพูคลุมหูไว้เสมอ เป็นเพื่อนสนิทของ Hello Kitty ปรากฏตัวทั้งในรายการทีวีและวิดีโอเกม รวมถึงเป็นพิธีกรรายการวิทยุด้วย
ปี 1996 ซานริโอเปิดตัวปอมปอมปุริน (Pompompurin) เป็นสุนัขโกลเดนรีทรีฟเวอร์สุดน่ารัก เอกลักษณ์คือหมวกเบเร่ต์สีน้ำตาลและบุคลิกร่าเริง มักชอบนอนหลับ สะสมรองเท้า และออกไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ อาหารโปรดคือพุดดิ้งครีมคาราเมล
ปอมปอมปุรินเป็นแรงบันดาลใจให้กับสื่อต่าง ๆ มากมาย รวมถึงชุดเกราะที่ตัวละครอนิเมะสวมใส่ เช่น อลิซ ซูเบิร์ก จากอานิเมะชื่อดัง “Sword Art Online” นอกจากนี้ยังปรากฏตัวในเกม Animal Crossing ของนินเทนโด แฟน ๆ ต่างชื่นชอบปอมปอมปุรินเพราะความอ่อนโยน นิสัยชอบงีบหลับ และบุคลิกที่ผ่อนคลายของมัน
นอกจากนี้ยังมีซินนามอน หรือชื่อเต็มคือซินนามอนโรล (Cinnamoroll) เปิดตัวในปี 2001 ออกแบบโดย โอคุมูระ มิยูกิ มีลักษณะเป็นสุนัขสีขาว หางหยิกคล้ายขนมปังอบเชย และมีหูยาว บินได้
ซินนามอนเป็นตัวละครซานริโอที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจาก Hello Kitty โดยเคยได้รับการโหวตให้เป็นตัวละครซานริโออันดับ 1 ประจำปี 2017–2018 และอีกครั้งในปี 2020-2023
ความนิยมของซินนามอนทำให้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตการท่องเที่ยวของชินากาวะและมักปรากฏตัวในรายการอานิเมะ วิดีโอเกม และคาเฟ่ ทำให้เขาเป็นตัวละครยอดนิยมทั่วโลก!
Cinnamoroll คาแรคเตอร์ของ Sanrio ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคหลัง
ยังมีคุโรมิ (Kuromi) ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะคู่แข่งของมายเมโลดี เป็นกระต่ายสีขาวสวมหมวกตัวตลกสีดำที่มีหัวกระโหลกสีชมพูอยู่ด้านหน้าและหางปีศาจสีดำแทนที่หางกระต่ายธรรมดา คุโรมิเป็นหัวหน้าแก๊งไบค์เกอร์ที่รู้จักกันในชื่อ “คุโรมิ 5” ซึ่งสมาชิกแก๊งจะสวมชุดสีดำและขี่จักรยานไปรอบ ๆ ในลักษณะคุกคาม
ในปี 2022 คุโรมิเอาชนะคู่แข่งในการจัดอันดับตัวละครซานริโอได้เป็นครั้งแรก โดยได้อันดับที่ 3 ในขณะที่มายเมโลดีได้อันดับที่ 5
เมื่อซานริโอมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากตัวละครสุดน่ารักเหล่านี้ แฟน ๆ จึงเริ่มถามว่า ทำไมบริษัทจึงไม่เล่าเรื่องราวแบ็กกราวด์ของทุกตัวละครที่ละเอียดกว่านี้ ชินทาโรจึงปรับปรุงเรื่องราวของบริษัท
เขาตัดสินใจว่า สตอรี่ของชื่อซานริโอจะมาจากคำภาษาสเปนว่า San (ศักดิ์สิทธิ์) + Rio (แม่น้ำ) รวมกันเป็น “แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์” โดยวางแผนให้ตัวละครของซานริโออาศัยและสร้างวัฒนธรรมแสนน่ารักที่สงบสุขบนริมฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง
ชินทาโรบอกว่า “ซานริโอก่อตั้งขึ้นด้วยความปรารถนาที่จะสร้างวัฒนธรรมอันสันติบนริมฝั่งแม่น้ำ ... ความหวังของเราคือการสร้างชุมชนของผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างสันติและคำนึงถึงกันและกัน”
เขาเสริมว่า “การจัดหาผลิตภัณฑ์ทางสังคม การสื่อสาร และของขวัญที่หลากหลาย รวมถึงการ์ดอวยพร เพลง วิดีโอ หนังสือ และความบันเทิง เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ เราหวังว่าสิ่งที่เราทำจะขยายมิตรภาพและความปรารถนาดีไปยังทุกมุมโลกเช่นเดียวกับสายน้ำที่ไหลผ่านทั่วโลก”
สินค้าที่มีลวดลายเป็นคาแรคเตอร์ของ Sanrio
เส้นทางที่มีทั้งล้มและลุก
การเดินทางของซานริโอหลังการคิดค้นออริจินัลคาแรคเตอร์ของตัวเองนั้นต้องเรียกว่าเป็นไปอย่างสวยงาม มีการเปิดร้านอาหาร Sanrio Salon, ตั้งบริษัททำภาพยนตร์แอนิเมชัน ขยายสาขาร้านค้าและสำนักงานไปยังต่างประเทศ
ความสำเร็จของ Hello Kitty ทำให้ซานริโอเห็นลู่ทางทำเงิน จึงเริ่มขายสิทธิเครื่องหมายการค้า Hello Kitty ให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่สนใจนำเจ้าแมวสีขาวไปตกแต่งผลิตภัณฑ์ของตน
เดิมที Hello Kitty ทำการตลาดเฉพาะกับเด็กสาวที่ยังไม่เป็นวัยรุ่นเท่านั้น แต่ตั้งแต่ช่วงปี 1990 กลับประสบความสำเร็จทางการค้าในกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน และเติบโตได้ดีในตลาดต่างประเทศ ในปี 2014 คาแรคเตอร์นี้มีมูลค่าประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว
จะบอกว่า Hello Kitty เป็นเหมือน “นางแบก” ของซานริโอก็คงไม่ผิดนัก
ตัวละครของซานริโอนั้น นอกจากจะปรากฏตัวอยู่ตามสินค้าต่าง ๆ แล้ว ยังมีทั้งการ์ตูน ภาพยนตร์แอนิเมชัน เกม ไปจนถึงสวนสนุก
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซานริโอประสบปัญหาในการทำเงิน เนื่องจากความสนใจในตัวคาแรคเตอร์ Hello Kitty ของบริษัทเริ่มลดน้อยลง
ยอดขายของซานริโอเคยพุ่งสูงขึ้นแบบมีนัยสำคัญเพียง 2 ครั้ง คือในปี 1999 และ 2014 เป็นผลมาจากความนิยมในตัวการ์ตูน แต่ โยชิโอกะ ยาสึกิ นักวิเคราะห์จากบริษัทการลงทุน SMBC Nikko กล่าวว่า ความต้องการสินค้าของบริษัทที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องไม่ยั่งยืน
“ในอดีต ผลงานของบริษัทมีขึ้นมีลงมากมาย เหมือนกับว่ากำลังนั่งรถไฟเหาะ” โยชิโอกะกล่าว
หลังปี 2014 รายได้ของซานริโออยู่ในขาลงต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2015 รายได้อยู่ที่ 7.4 หมื่นล้านเยน จากนั้นร่วงจนดิ่งเหวที่สุดในปีงบประมาณ 2021 เหลือเพียง 4.1 หมื่นล้านเยนเท่านั้น หายไปเกือบครึ่ง
ความนิยมในตัว Hello Kitty เริ่มลดลงในระยะหลัง
ซีอีโอที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่น
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของซานริโอเกิดขึ้นในปี 2020 เมื่อชินทาโรตัดสินใจส่งต่อตำแหน่งซีอีโอที่ดูแลมากว่า 60 ให้กับหลานชาย ทสึจิ โทโมคุนิ ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้นนั้น ทำให้เขาเป็นซีอีโอที่อายุน้อยที่สุดของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่น
ภายใต้การนำของโทโมคุนิซึ่งเข้ามาบริหารในจังหวะที่ซานริโอกำลังย่ำแย่ เขาตัดสินใจว่า จะต้องมีการเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดของคาแรคเตอร์ของบริษัท “ผใไม่ได้หมายความว่าจะต้องลดความนิยมของ Hello Kitty ลง แต่เป็นการกระตุ้นให้คนอื่นรู้จักคาแรคเตอร์อื่น ๆ มากขึ้น” เขากล่าว
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา Hello Kitty เสียตำแหน่งตัวละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดของซานริโอไป และตำแหน่งดังกล่าวตกเป็นของซินนามอนแทน ทำให้บริษัทพยายามผลักดันคาแรคเตอร์ตัวนี้ขึ้นมาแบกแทน
นอกจากนี้ ซานริโอยังเริ่มคิดค้นคาแรคเตอร์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ขายแค่ความน่ารัก เช่น “Aggressive Retsuko” หรือ Aggretsuko แพนด้าแดงจอมโมโห ซึ่งเป็นตัวแทนของความหงุดหงิดของผู้หญิงวัยทำงานทั่วไป ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นเจน Z ปรากฏตัวครั้งแรกในซีรีส์การ์ตูนทางสถานีโทรทัศน์ TBS ของญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลายเป็นที่นิยมทั่วโลกบนเน็ตฟลิกซื
ตัวละครที่ไม่ธรรมดาอีกตัวหนึ่งคือ “กูเดทามะ” (Gudetama) หรือ “ไข่จอมขี้เกียจ” ซึ่งวัน ๆ ใช้ชีวิตอยู่แบบภาวะซึมเศร้าและมักพูดจาเย็นชาสะท้อนถึงความเป็นจริงอันมืดมนของชีวิต ซึ่งกลับไปโดนใจคนวัยทำงานที่กำลังห่อเหี่ยวกับชีวิต
นอกจากจะกระจายความหลากหลายของคาแรคเตอร์แล้ว โทโมคุนิยังส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศและโฟกัสการจัดการกับสินค้าลอกเลียนแบบอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เพราะสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับบริษัทในแต่ละปี
ทสึจิ โทโมคุนิ ซีอีโอคนปัจจุบันของ Sanrio
“ตอนนี้เรากำลังใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจจับสินค้าปลอมและร้องขอให้นำสินค้าออก” โทโมคุนิกล่าว
เขาเสริมว่า สำหรับกลยุทธ์การตลาดของบริษัท การร่วมมือกับแบรนด์ใหญ่ๆ เช่น Starbucks, Crocs และทีมเบสบอล LA Dodgers ถือเป็นกุญแจสำคัญ “นอกเหนือจากการโปรโมตของเราเองแล้ว ด้วยการร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลก เรากำลังพยายามให้ตัวละครของเราอยู่ในตลาดตลอดทั้งปีโดยไม่เว้นว่างบ่อยนัก”
ขณะเดียวกัน การเข้ามาของโทโมคุนิไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีนักในญี่ปุ่นซึ่งมีวัฒนธรรมเรื่องวัยวุฒิที่ค่อนข้างเคร่งครัด เขาบอกว่า “คงจะเป็นเรื่องโกหกหากผมบอกว่าไม่มีการต่อต้านจากผู้จัดการและพนักงานคนอื่น ๆ”
นอกจากนี้ เขายังบอกด้วยว่า เขาขัดแย้งกับปู่ คือชินทาโร เกี่ยวกับวิธีบริหารบริษัท “กระทั่งหลังจากผ่านไปประมาณ 1 ปี ปู่ของผมก็ยอมให้ผมบริหารบริษัทตามที่เห็นว่าเหมาะสม และเขาจะปล่อยให้ผมจัดการเอง”
แต่ผลงานของเขาออกมาเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า การปฏิรูปธุรกิจของบอสคนใหม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาได้ โดยปีงบประมาณ 2022 ยอดขายเพิ่มขึ้นมาเป็น 5.2 หมื่นล้านเยน จากนั้นปีงบประมาณ 2023 พุ่งกลับมาที่ระดับ 7.2 หมื่นล้านเยน
ที่น่าทึ่งคือ ในปีงบประมาณ 2023 ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2024 ยอดขายของซานริโออยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านเยน (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท)
เท่ากับว่า ภายในเวลา 2 ปีหลังจากที่โทโมคุนิเข้ารับตำแหน่งซีอีโอ ซานริโอก็กลับมามีกำไรอีกครั้ง ซึ่งนักวิเคราะห์อย่างคุณโยชิโอกะเรียกว่าเป็น “การฟื้นตัวที่สวยงาม”
ราคาหุ้นของบริษัทยังเพิ่มขึ้น 10 เท่าตั้งแต่ปี 2020 และปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าตลาดหุ้นมากกว่า 1 ล้านล้านเยน (มากกว่า 2.2 แสนล้านบาท)
ความสำเร็จของซานริโอในยุคหลังนี้เกิดจากการขยายหลักปรัชญาของบริษัทที่ต้องการสร้างความสุขให้ทุกคน โดยนอกจากการสร้างความสุขผ่านความน่ารักแล้ว การมีคาแรคเตอร์ที่เข้าอกเข้าใจผู้ใหญ่ที่กำลังดิ้นรนในสังคมอย่าง Aggressive Retsuko หรือกูเดทามะ กลายเป็นอีกหนึ่งหนทางในการ “ทัชใจ” ผู้บริโภคนั่นเอง
ประวัติธุรกิจ Sanrio
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/236702
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealth
sanrio
ญี่ปุ่น
ธุรกิจ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย