บันทึกถึงนักเทนนิสสนามเทนนิสประจำจังหวัดสระบุรี พ.ศ.2519

ความเดิมตอนที่แล้ว ................
9 มกราคม 2519 ผมตัดสินใจหนีกลับสระบุรี ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ 14.20 น. ถึงสระบุรีราว 6 โมงเย็น พอเดือนเมษายน 2519 แม่ก็เดินทางไปลาออกจากโรงเรียนที่กรุงเทพฯ
**ข้อมูลอาจเพี้ยนหรืออาจผิดไปเลยเพราะเป็นความทรงจำจาก 48 ปีที่แล้ว***
ก่อนกลับหลายเดือน ผมได้ไปรับการรักษากับคุณหมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม จนพฤติกรรมคงที่ และผมไม่รู้ว่าหมอบอกพ่อผมยังไงบ้าง แต่อย่างเดียวที่รู้คือหมอแนะนำให้ผมเล่นกีฬา
ผมไม่มีคนใกล้ตัวที่เล่นกีฬาเลย การที่เป็นลูกคนเดียว เล่นขายของแบบผู้หญิงกับน้องเปิ้ล.ธัญญาภรณ์-ปาล์ม.ปาริชาติ ปากเพรียว หลานเจ้าของบ้านที่อยู่ตรงข้ามเท่านั้น ส่วนพ่อผมก็เล่นแต่สนุ๊กซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นกีฬาหรือเป็นการพนัน เห็นแต่ละวันกลับบ้านมีแต่แบงค์ยู่ยี่ๆ เต็มกระเป๋า
สโมสรข้าราชการที่พ่อเล่นสนุ๊กอยู่ติดกับสนามเทนนิส ใช้รั้วตาข่ายเดียวกันเลย บอร์ดที่ใช้น๊อกบอลก็ติดอยู่ที่รั้วที่โดนบอลอัดเป็นรูทำให้ต้องวิ่งเข้าไปเก็บบอลแถวโต๊ะสนุ๊กบ่อยๆ
พ่อเป็นพนักงานอนามัยที่ๆ ทำงานอยู่เยื้องจากสนามเทนนิสนิดเดียว ตอนนั้นพ่อเงินเดือนราว 1,800 บาท ถ้าเทียบกับราคาทองคำตอนนั้นที่ราคาต่อบาทราว 1,400 บาทก็ถือว่าไม่เลว
ภาพแรกถ่ายจากที่ทำงานพ่อราวปี 2519  ฝั่งตรงข้ามจะเป็นทางเข้าบ้านผมพอดี   ภาพที่สองจากกูเกิ้ลแมพ ถ่ายเมื่อ กรกฎาคม 2567
ไม้เทนนิสที่พ่อซื้อให้อันแรกไม่รู้ว่าแกเอามาจากไหน ยี่ห้ออะไรจำไม่ได้ สภาพเหมือนผ่านศึกมาโชกโชนจนนึกว่าเขาเอาไม้มาเหลาทำเอง กริ๊ปก็หายไปแล้ว ด้ามเป็นไม้เปลือย มีตะปูตัวเล็กๆ ที่ใช้ตอกหนังกริ๊ปโผล่มานิดนึง ราคา 50 บาท
สภาพแบบนี้แหละครับ มีตะปูโผล่มาเหมือนกันเลย
พ่อพาผมไปสมัครกับนายสนามเทนนิสตอนนั้น ท่านเป็นผู้พิพากษาชื่อ มงคล สระฏัน รูปหล่อ ใจดี ท่านเป็นคนสอนวงสวิงเริ่มต้นให้ โดยให้ฝึกตีลูกเทนนิสที่ใส่ไว้ในถุงเท้าที่ห้อยมาจากเสา
ผมเคยผ่านสนามเทนนิสที่อยู่หลังศาลากลางจังหวัดแห่งนี้มาก่อนหน้านี้หลายปี เพราะบ้านก็อยู่ไม่ไกลจากสนามเท่าไหร่ จากการเป็นลูกข้าราชการชั้นผู้น้อย มันก็ดูเหมือนว่ากลุ่มคนชุดขาวในสนามตอนนั้นดูไฮโซเกินกว่าที่ผมจะมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ตอนนั้นสนามยังเป็นดินสีเหลืองแดงบดด้วยลูกกลิ้งปูนขนาดใหญ่และราดด้วยกากน้ำตาลส่งกลิ่นหวานเอียนเป็นเอกลักษณ์ ผมก็แค่เดินผ่านหรือเกาะรั้วสนามดูบ้างเท่านั้น
พอปี 2519 ที่ผมเข้าไปร่วมในสนามมันกลายเป็นราดด้วยยางมะตอยไปแล้ว มีลุงเหรียญที่เป็นเจ้าหน้าที่คอยเปิดสนามและติดตั้งเน็ต แกจะมาราวๆ สักบ่ายสามบ่ายสี่มาเตรียมสนามไว้ให้เรา ตอนนั้นมีสองสนาม และมีบอร์ดน๊อกที่อยู่ท้ายสนามสอง
เวลาผ่านไปหลายเดือนโดยที่ยังไม่ได้ลงตีบอลในสนามเลย ได้แต่ฟาดระบายอารมณ์กับถุงเท้าใส่บอลจนขาดไปหลายข้าง มีเหตุการณ์ประทับใจตอนที่ฝึกตีบอลก็คือได้เจอกับพี่โต้ง-ชนะ เตชะเสน ตอนนั้นแกเป็นนักเทนนิสทีมชาติ และเป็นคู่แข่งของมือหนึ่งในตอนนั้นคือ สมภาร จำปีศรี ดูเหมือนจะผลัดกันแพ้ชนะกันตลอด พี่โต้งสนิทกับนักเทนนิสของสระบุรีหลายคน พี่โต้งเข้ามาช่วยแนะวิธีตีบอลให้ผมด้วย
แต่การที่ฝึกตีถุงเท้าตีลมมาหลายเดือนมันก็ช่วยให้มีพื้นฐานวงสวิงที่ดี วงสวิงที่ดีจะทำให้เราใช้แรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสายตาที่นิ่งจะทำให้ตีโดนจุดกลมกล่อม(Sweet Spot) ได้ทุกครั้ง
วงสวิงสวยที่ได้จากการ"รำไม้"มาหลายเดือน ถ่ายเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2520
ไม้เทนนิสตอนปี 2518 ส่วนมากจะทำด้วยไม้และถ้าใช้กับเอ็นไนล่อนแล้วจะกินแรงมากเพราะแรงสะท้อนน้อย แต่ถ้าเป็นพวกเหล็กอย่าง Wilson T2000 จะตีได้เบาแรงผิดกันมาก แต่ไม้ก็แพงมาก การมีวงสวิงที่ดีมันต้องประสานกันตั้งแต่สายตาที่ต้องจับไปที่ลูกให้นานที่สุด-ความเร็วของเท้าและการวางเท้า-ล็อคข้อมือข้อศอก-ถ่ายน้ำหนัก-บิดสะโพก-ควบคุมหน้าไม้ให้เป็นองศาตามแต่ว่าจะเป็นตี สไลด์ หรือ แฟลต หรือ ท็อปสปิน ผิดกับไม้เทนนิสรุ่นหลังๆ ที่สามารถยืนกางขา-หน้ามองตรง-สะบัดข้อมือตอนกระทบลูก(โดยข้อมือไม่ปวด)
ส่วนมากตอนนั้นจะใช้ไม้เทนนิสที่ทำด้วยไม้กัน เอ็นก็มักเป็นไนล่อน ถ้าเอ็นแท้ซึ่งสปริงดีกว่าราคาราวเส้นละ 200 บาท ถ้าเป็นนักเทนนิสที่เล่นจริงจังก็มักจะใช้ไม้เทนนิสที่เป็นเหล็กหรืออลูมีเนียม ส่วนที่เป็นไฟเบอร์กลาสจะมาหลังปี 2520 เล็กน้อย Credit: eBay, Nigeria School of Law
เหตุที่ผมต้องฝึกสวิงกับถุงเท้านานหลายเดือนก็เพราะว่าไม่รู้จะเล่นกับใครและไม่มีสนามว่างให้เล่น แค่ผู้ใหญ่ที่ส่วนมากเป็นข้าราชการชั้นหัวหน้าก็แย่งกันเล่นอยู่แล้ว และคนที่อายุรุ่นเดียวกับผมก็มีอยู่คนเดียวคือ ตู่-โยธิน อิ่มฤทัย ที่มักจะมากับพี่สาว พี่แตน-แขนภา อิ่มฤทัย เข้าใจว่าตู่ก็ไม่ได้เล่นในสนามเช่นกัน จะมีตอนหลังที่ใช้วิธีมากันก่อนราวบ่ายสองบ่ายสามแล้วกางเน็ตเอง ซึ่งก็ต้องเป็นวันที่เราไม่ได้ไปโรงเรียน
ด้านล่างเป็นรายชื่อนักเทนนิสในช่วงนั้นที่ผมพอจำได้
ตอนนั้นมือ 1 ของสนามคือพี่จี๊ด-สามัคคี แกเป็นนายช่างโรงงานปูนซีเมนต์ แกจะมากับพี่กำพลที่เป็นรุ่นน้องหรือลูกน้องที่โรงงาน พี่จี๊ดใช้ไม้ Kawasaki ที่แกเป็นตัวแทนจำหน่าย ส่วนพี่กำพลผมจำไม่ได้ อาจจะใช้ Head Master สีน้ำเงิน, พี่สมชาย ผิวขาวไว้หนวด ขับวอลโว่สีฟ้า ใช้ไม้ Wilson Advantage ไม้อันนี้สวยจนน้ำลายไหล, พี่เส่ง ไว้หนวดอีกคน ตัวผอมๆ น่าจะใช้ Wilson T2000
Wilson Advantage ตัวหรูของพี่สมชาย และ Head Master ที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้เริ่มจะจริงจังกับการเล่นเทนนิส
ลุงใหม่-เจ้าของร้านรองเท้านิวสไตล์ที่อยู่ตรงข้ามโรงพัก ใช้ Wilson T2000, ลุงเรือ-เจ้าของร้านถ่ายรูปในตลาดก็เป็นหนึ่งในขาประจำ, ลุงธงชัย พ่อของ ธานินทร์-ทัศนีย์-นารีรัตน์-ทัดดาว ปุวรัตน์ ที่เล่นเทนนิสเกือบทั้งบ้านปล่อยให้แม่เฝ้าบ้าน แต่พวกนี้ก็มีมาประจำแค่ลุงธงชัยกับนารีรัตน์
ร้านนิวสไตล์ถ่ายเมื่อ กรกฎาคม 2567
พี่ตุ้ม-นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์ แก่กว่าผมราว 2-3 ปี เป็นเยาวชนที่เก่งที่สุดของสระบุรี ฝีมือสูสีกับพี่จี๊ด น่าจะใช้ Head Professional สีแดง
พี่ตุ้มมือ 1 เยาวชนของเราใช้ Head Professional size L ตัวท็อปของ Head ในตอนนั้น
ซ้อเล็ก-อยู่ร้านอะไรในตลาดจำไม่ได้ มีลูกชายชื่อเส่งยู้, พี่เล็ก-เจ้าของร้านตัดเสื้อศุภมิตร เป็นพี่สาวของพี่ย้ง, พี่หล้า-สาวสวยแนวหมวยลูกร้านทองห้อยจั๊วในตลาด, พี่มณี-เอส สุริยา ปั้นสนิท สองพี่น้องร้านสระบุรีการเกษตรที่สวยแบบไทย เอสใช้ไม้ Slazenger, พี่จุ๋ม-ติ๋ง สาวลูกร้านทำกุญแจ “เส่ย” หลังสถานีรถไฟ, พี่แตน-แขนภา อิ่มฤทัย พี่สาวตู่ ใช้ Head Master
ร้านทองห้อยจั๋ว ถ่ายเมื่อ กรกฎาคม 2567
กลุ่มข้างบนจะเป็นขาประจำที่ต้องมาแบ่งสนามใช้กันคนละนิดคนละหน่อย หรือบางทีก็อาจมีคนไม่ได้เล่นเลยในวันนั้น แต่ก็ถือว่าถ้าได้เล่นน้อยก็ได้สังสรรค์เยอะทดแทนกันไป
มีอีกกลุ่มคือพวกไม่ค่อยได้มาบ่อย คือพวกที่ติดงาน หรือทำงานกรุงเทพฯ คนแรกได้แก่ พี่ย้ง-วิวัฒน์ อิงคประดิษฐ์ พระเอกตลอดกาลของผม เขาทำงานกรมการข้าว ศิษย์เก่าม.ขอนแก่น แกจะมาเย็นวันศุกร์หรือเช้าวันเสาร์เพราะทำงานอยู่กรุงเทพฯ, พี่ประยูร เลี่ยวไพรัตน์ ตอนนั้นแกเรียนที่หอการค้ามั้ง ใช้ไม้ pdp สีขาวขอบส้มที่แกบอกว่าตัว p หมายถึงประยูร, พี่ตุ้ย-สาธิต สุดบรรทัด ลูกคุณหมอทวี สุดบรรทัด ไฮโซหรือไม่ก็มีถนนชื่อเดียวกับนามสกุลแกแหละ
ถนนประจำตระกูล?
ใหม่ๆ ในรุ่นเดียวกันที่จะจับกลุ่มตอนเย็นๆ ก็จะมีผม, ตู่, รัตน์, เอส(ซึ่งไม่ค่อยได้มา), ติ๋ง, ติ๊ง(สาวขายาวบ้านใกล้สนาม) และก็มีพี่แตน, พี่จุ๋ม-ธิดารัตน์, พี่ตุ้ม ซึ่งถือเป็นรุ่นกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่ที่มีฝีมือดีพอที่จะเล่นกับผู้ใหญ่และก็อายุน้อยพอที่จะสนุกกับเด็กรุ่นผมได้
ต่อมามีเสือ-อเนก หาญจำปา ลูกลุงใหม่ซึ่งเดิมเขาเล่นบอลประจำอยู่ที่สนามศาลากลางหน้าสนามเทนนิส และมีเล็ก-สมชาย พลชัย ซึ่งผมไม่แน่ใจทั้งชื่อและนามสกุล ลูกผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ย้ายมาจากลพบุรี
แดง-บัญชา ประทับศักดิ์ น่าจะเป็นตู่ชวนมาเล่นเพราะเรียน สบว.รุ่นเดียวกัน ตอนแรกแดงใช้ไม้อะไรไม่รู้ แต่พอ บิยอร์น บอร์ก ดัง มันก็มีไม้ Donnay ใหม่เอี่ยมสวยกริบมาใช้ เป็นรุ่นที่ประหลาดในตอนนั้นจากการที่มีการพันกริ๊ปยาวมากให้เหมาะกับการตีแบ๊คแฮนด์สองมือ
แล้วแดงก็หัดตีสองมือจนเป็นธรรมชาติ น่านับถือจริงๆ เพราะสำหรับผมการตีสองมือมันยากมากที่จะกะจังหวะเท้าที่ต้องใช้ความเร็วมากกว่าเดิม และต้องปรับไหล่และแขนอย่างมาก แต่ก็แลกมาด้วยความเด็ดขาดของแบ๊คแฮนด์
Credit: instagram.com/stefanjohanssonofficial  และ getnippon.com  จะเห็นว่ากริ๊ปถูกพันจนสูงมากกว่าปกติ
ภารกิจของแดงอย่างหนึ่งก็คือมารับผมที่บ้าน เพราะผมไม่มีรถอะไรเลย มันจะขี่มอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเก่าๆ เครื่องหลวมๆ เสียงเครื่องปุ้กๆๆๆๆ เป็นอันรู้กันว่ามันมาแล้ว
บ้านหลังนี้คือบ้านเช่าหลังสุดท้ายที่สระบุรี เป็นบ้านที่แดงมารับไปเล่นเทนนิสตอนบ่ายๆ  ไม่น่าเชื่อว่ามันยังอยู่หลังผ่านไปเกือบห้าสิบปี
น่าจะต้นปี 2520 ก็มีเข้ามาเล่นอีกคือพี่เตี้ย-วิทยา ไทยถนอม ที่บ้านทำโรงไม้มั้ง, หมึก -วิทวัส นุตคำแหง ลูกคุณครูถวิล-คุณครูละม้าย บ้านอยู่เสือขบใกล้บ้านผม เป็นเพื่อนสมัยอนุบาลด้วย ทั้งพี่เตี้ยและหมึกเล่นแบดฯ กันก่อนแต่ชวนกันเปลี่ยนมาเล่นเทนนิส
บริเวณศูนย์เยาวชนเดิม ที่เดิมเป็นห้องโถงใช้จัดกิจกรรมของจังหวัด และเป็นสนามแบดฯ ที่พี่เตี้ยและหมึกเล่นประจำ ตอนนี้เป็นอะไรไม่รู้
วงรอบของกิจกรรมในสนามก็จะเริ่มราวบ่ายสาม ลุงเหรียญจะมาเก็บกวาดทำความสะอาดสนาม เอาเน็ตมาขึง แล้วนักเทนนิสคนแรกที่จะมาก็คือลุงสุจิต-ร้านขายยาเสือ 11 ตัว พวกผู้ใหญ่ก็จะมากันหลังเลิกงาน ที่อยู่ไกลสุดน่าจะเป็นพี่สมชาย แกทำงานหรือเป็นเจ้าของโรงโม่หินที่ไหนสักแห่ง และก็พี่จี๊ด-พี่กำพล สมาชิกต่างมาด้วยรถเก๋งบ้างมอเตอร์ไซค์บ้าง หลายคนก็มากินอาหารที่ร้านอาหารสโมสรที่อยู่ติดกับสนามเลย เจ้าของร้านชื่อลุงกำจร บุญใจ มีลูกชายสองคนที่นานๆ ก็มาเล่นเทนนิสด้วย ชื่อพี่เล็กกับอ๊อด
พี่แตน-ไอ้ทิต ตอนนั้นพีแตนยังไม่ได้บำรุงผิว เล่นจนผิวสองสี ผมเองก็ตัวด่างเหมือนกัน  ผมใช้ไม้ Head Pro. size M  โดยถอนเงินออมสินจนหมดบัญชีแล้วฝากพี่ย้งซื้อจากสิงคโปร์ ราว 700 กว่าบาทในขณะที่ตอนนั้นทองราวบาทละ 1,400 บาท
นักเทนนิสที่สนามส่วนมากจะเล่นกันเป็นคู่ สนามละ 4 คน เพราะคนเล่นมีจำนวนมาก พอฟ้าเริ่มมืดก็ทยอยกันกลับบ้าง มีส่วนหนึ่งก็เล่นต่อโดยเปิดไฟสนาม เล่นเสร็จแล้วเท่าที่รู้ก็ต่างคนต่างกลับบ้าน ผมก็เดินกลับบ้านที่อยู่ไกลไม่กี่ร้อยเมตร หรือไม่แดงก็ไปส่ง
สำหรับผม เย็นวันศุกร์ก็จะลุ้นว่าจะมีใครจากกรุงเทพฯ กลับมาบ้าง ที่รอโดยเฉพาะคือพี่ย้งที่ถือว่าแกเป็นหัวหน้าแก๊งเด็ก ทั้งที่แกอายุมากกว่าผม 13 ปีแต่แกก็มาสนิทกับกลุ่มเด็ก แกสอนเทนนิสผมและเล่นด้วยกันบ่อย แถมยังเป็นครูสอนขับรถคนแรกของผมด้วย เราเจอกันวันสุดท้ายคือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 แต่ก็คุยทางโทรศัพท์และทางเฟสบุ๊คบ้าง เวลาคุยกันแกใช้สรรพนามว่า “ชั้นกับแก” บางทีแกก็บอกคนอื่นว่า “ชั้นเป็นพ่อมัน” ผมไปกินข้าวบ้านแกนับครั้งไม่ถ้วน นอนบ้านแก 4 แห่ง ผมรักและคิดถึงพี่เสมอครับ แล้วเจอกันที่ดาว....
ภาพแรก พี่ย้งเมื่อปี 2562   ภาพที่สอง ไม้เทนนิสที่แกซื้อตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่น ล้ำสมัยมาก  ภาพที่สามและสี่ ร้านศุภมิตของเจ๊เล็ก และบ้านหัวมุมของแกที่ผมมักไปพักผ่อน Credit: eBay
พี่ประยูร เลี่ยวไพรัตน์ ตอนนั้นยังเรียนม.การค้ามั้ง แกก็จะมาเย็นวันศุกร์หรือไม่ก็วันเสาร์ ไม่ค่อยเจอแกบ่อยนัก แต่แกก็ให้เกียรติชวนผมไปเป็นเพื่อนจีบสาวกับแก ทำเป็นไปให้น้องสาวพี่เสริมเขาสอนกีตาร์ใช่ไหมพี่ยูร!
ไม้เทนนิสก็สวย คนใช้ไม้ก็หล่อ  Credit: eBay
พี่ตุ้ย-สาธิต สุดบรรทัด ตอนนั้นพี่ตุ้ยเรียนเทคโนพระจอมเกล้าบางมด แกได้สร้างความตื่นเต้นให้ประชาชนรอบศาลากลางด้วยการเอารถโกคาร์ทที่แกสร้างเองไปซิ่งที่สนามรอบศาลากลางอยู่สองสามวัน แกร่างสูงใหญ่ เล่นเทนนิสดุดัน ฝีมือดี คลับคล้ายคลับคลาว่าผมเคยไปหิ้วกระเป๋าให้แกที่ไปแข่งเทนนิสรายการนึงในกรุงเทพด้วย
ถนนหน้าศาลากลาง-- รถโกคาร์ทของพี่ตุ้ยจะตรงไปแล้ววนขวาเป็นวงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางจะเป็นสนามที่เสือใช้เตะบอลบ่อยๆ ก่อนหันมาเล่นเทนนิส
พี่ตุ้ยแกชอบซิ่งมาก เคยนั่งรถเบนซ์คันใหญ่สีขาวที่แกพาไปไถลเกือบลงข้างทางแถวบ้านแก แต่ส่วนมากแกจะใช้ Toyota Celica สีฟ้าเขียวสองประตู ทันสมัยสุดตอนนั้น เคยนั่งกับแกไปลพบุรี แกเหยียบ 130 ผมนี่รู้ซึ้งเลยถึงคำว่าขี้หดตดหาย สมัยเมื่อราว 48 ปีที่แล้วสภาพถนนมันเล็กและก็ไม่เรียบ แล้วใครที่ขับถึง 100 ได้ถือว่าเร็วสุดแล้ว วันนั้นถ้าเจอควายเดินตัดหน้านี่ก็จบเลย
Credit: Toyota Celica Club Thailand
วันเสาร์ตอนเช้ามักจะคึกคัก จะมีผู้ใหญ่บางคนมาบ้าง แต่พวกเด็กจะมากกว่า หลายครั้งที่ผมออกจากบ้านเช้าแล้วกลับถึงบ้านค่ำ เพราะเล่นตั้งแต่เช้าจนใกล้เที่ยง หยุดพักกินข้าวหรือหาที่เที่ยวกัน โดยมีพี่ย้งเป็นหัวหน้า กินข้าวบ้านพี่ย้งบ้าง ที่ไปไกลๆ ก็น้ำตกมวกเหล็กแล้วเลยไปน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ที่ไปบ่อยก็คือน้ำตกสามหลั่น ซึ่งตอนนั้นพี่อู๊ด-วิสูตร(อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติ) เป็นหัวหน้าอุทยานฯ แฟนพี่อู๊ดชื่อพี่แป๊ว ตอนเย็นก็ออกมาเล่นเทนนิสต่อกับพี่อู๊ด ช่วงนั้นเล่นจนตัวดำเกรียมเป็นมันผิวสะท้อนแสงได้เลย
ภาพแรกน้ำตกสามหลั่นอยู่ห่างจากตัวเมืองราว 16 กม. Credit:Sanook.com ภาพสอง พี่อู๊คนยืน และพี่แป๊วยืนเท้าเอว วันเลี้ยงส่งไอ้ทิตเข้ากรุงเทพ  ภาพสาม ไปเที่ยวน้ำตกมวกเหล็กกัน จากซ้ายคือ พี่จุ๋ม-พี่แตน-พี่ด๋อย-ตู่-เล็ก-พี่ย้ง-ไอ้ทิต
ทุกกี่เดือนจำไม่ได้จะมีการแข่งขันกระชับมิตรหรือประเพณีอะไรประมาณนี้ของนักเทนนิสเขต 1 ซึ่งจะมี สระบุรี ลพบุรี อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง โดยจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพ
ภาพนี้ไม่ใช่การแข่งประเพณี แต่เป็นการไปเยือนสนามเทนนิสจังหวัดระยอง  ที่นั่นสนามเป็นพื้นคอนกรีตขัดเงา ทำให้นักเทนนิสสระบุรีตีเหมือนคนหัดเล่นเลยเพราะลูกมันตกแล้วแฉลบเร็วมากไม่เหมือนพื้นยางมะตอยที่เคยชินที่ช้าและกระดอนสูง
มีเหตุการณ์ที่ประทับอยู่ในใจคือการเลี้ยงหลังแข่งขันที่ลพบุรีเป็นเจ้าภาพ คิดว่าจัดในค่ายทหาร มีไอ้พวกเด็กหนุ่มสระบุรีสามสี่คนจับกลุ่มกันห้าวแอบเอาเบียร์มากันคนละแก้ว น่าจะจิบกันในมุมสลัวๆ แต่ก็ไม่รอดพ้นสายตา พลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ ก็โดนเรียกไปอบรมอยู่พักนึงว่าอายุขนาดนี้ยังไม่สมควรกิน ถ้าท่านไม่อบรมวันนั้นโลกนี้จะมีขี้เมาเพิ่มขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้
ถ่ายตอนไปแข่งประเพณีเขต 1 ที่นนทบุรี ตอนนั้นพี่จี๊ดเป็นนายสนามและเป็นตัวแทนของไม้ Kawasaki ก็เลยแจกเสื้อให้ทุกคน
อีกเหตุการณ์หนึ่งยังภูมิใจมาจนถึงวันนี้เกิดขึ้นที่นนทบุรี เป็นการแข่งประเพณีเหมือนกัน ผมได้แข่งกับ พนมกร พลัดเชื้อนิล เล่นเซ็ตเดียว ตอนนั้นพนมกรดังมาก ไม่แน่ใจว่าติดทีมชาติหรือยัง จังหวัดนนฯ มีคนดังอีกคนคือ พนมพร ชูชม ซึ่งดังก่อนพนมกร
ปกติคนที่เล่นกับระดับพนมกรต้องเป็นมือ 1 ของฝั่งเราซึ่งก็คือพี่ตุ้มแต่ตอนนั้นแกน่าจะแข่งอีกสนามอยุ่ ผมคงเป็นมือรองระดับเด็กแน่เลย ก็เลยถูกเรียกให้ไปเล่นกับพนมกร แน่นอนว่าสกอร์คือ 6-0 ตามที่ทุกคนคาด แต่ที่ภูมิใจมันอยู่แค่การการยิงโฟร์แฮนด์แบบสะเปะสะปะไปครั้งเดียวเท่านั้นที่ทำให้พนมกรสะดุ้งเสียให้ผมไป 1 แต้ม ครั้งเดียวเท่านั้นที่ทำให้คนที่ดูเฮกันลั่นขำกันใหญ่ โห.... ผมได้แต้มจากพนมกรนะเนี่ย
สองคนที่ยืนติดกันถือแร็กเก็ตคือ พนมกร พลัดเชื้อนิล และ แทมมารีน ธนสุกาญจน์ ถ่ายเมื่อ 30 มกราคม 2563  Credit: ThaiPost.net
ช่วงปี 2519 เป็นปีที่ผมมีความสุข ผมได้อยุ่กับพ่อแม่ มีการเรียนที่ใช้ได้ มีความสนุกกับการเล่นเทนนิส มีเพื่อนทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ที่อบอุ่น และมีสาวให้แอบเล็ง
ภาพแรก ติ๋ง-ตู่-ทิต ขำเพราะแย่งกันยื่นหน้าเข้าหากล้องจนตู่ถูกศอกหลงจากใครไม่รู้ ถ่ายที่สนามเทนนิส ช่างบังเอิญที่ไม่หลุดโฟกัส   ภาพสอง ตู่-เอส-ทิต หนึ่งในสาวที่แอบเล็ง ที่ต้องแอบเพราะเธอมีแฟนแล้ว
แต่แล้วผมก็ต้องจากสระบุรีเนื่องจากพ่อกลับดาวกะทันหันในเดือนเมษยายน ปี 2520 ผมบวชหน้าไฟแล้วก็ยังกลับมาเล่นเทนนิสได้อีกราว 1 เดือน แม่ก็พาผมกลับมาอาศัยอยู่กับตาที่ดาวคะนอง ระยะแรกผมก็ยังคิดถึงเพื่อนๆ และคิดถึงสนามเทนนิสอยู่จึงหาโอกาสกลับมาหาเพื่อนและมาเล่นเทนนิสอีกหลายครั้ง ได้อาศัยนอนบ้านตู่บ้างบ้านเสือบ้าง ต้องขอขอบคุณน้าอ๊อด-แม่ตู่ร้านตัดผมท่านชายและลุงใหม่-พ่อเสือร้านรองเท้านิวสไตล์มา ณ ที่นี้ด้วย ผ่านไปราวปีนึงผมก็เริ่มห่างการเยี่ยมเยือนไปจนไม่ได้กลับไปอีกนานมาก
**รูปแรก** 12 พฤษภาคม 2520  พีอู๊ด-พี่แป๊ว-พี่มณี-พี่หมู-พี่จุ๋ม-พี่แตน-พี่ต้อย-พี่แอ๊ว.ลดาวัลย์ เจริญวัย-พีตุ้ย.สาธิต-ติ๋ง-ติ๊ง-นารีรัตน์-แดง - มีอีก 4 คนที่มองไม่ชัด  **รูปสอง** ขากลับนั่งท้ายรถของพี่อู๊ด มี พี่ต้อย-พี่แตน-พี่จุ๋ม-แดง   **รูปสาม** ถ่ายแถวหน้าบ้านเช่าวันที่ 16 พฤษภาคม 2520 ก่อนย้ายบ้านเข้ากรุงเทพ มีเพื่อนมาส่ง ตู่-หนิง-พี่แตน-ทิต-พี่จุ๋ม ถ่ายโดยพี่ตุ้ย เจ้าของรถเฟี้ยตสีฟ้า
ราวเดือน พฤษภาคม 2567 ตู่-โยธิน ชวนผมติดรถไปเยี่ยมพี่แตนที่รพ.สระบุรี ดีใจมากที่ได้เจอทั้ง ตู่-พี่แตน-น้าอ๊อด-พี่ตุ๊ก-หนิง สระบุรีเปลี่ยนไปมาก เสียดายที่ไม่มีเวลาพอที่จะไปเยี่ยมเพื่อนคนอื่นๆ ได้
ผมเกิดที่รพ.ศิริราช แต่ชีวิตวัยเด็กที่ถูกหลอมให้เป็นตัวตนถาวรของผมอยู่ที่สระบุรี ผมต้องขอขอบคุณสนามเทนนิสสระบุรีที่มอบความสุขในช่วงปี 2519 ให้ผม และขอขอบคุณบุคคลทั้งหลายที่เอ่ยถึงข้างต้นที่เป็นส่วนประกอบของความสุขที่ยังคงคาค้างอยู่จนบัดนี้ แล้วผมจะไปเยือน.....
โฆษณา