เมื่อวาน เวลา 06:03 • ปรัชญา
วัดพระธรรมกาย

🌟สมาธิ🌟

(สมาธิเบื้องต่ำ และสมาธิเบื้องสูง)
๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗
นโม.....
กถญฺจ สมาธิ สมฺมทกฺขาโต.....
เริ่มต้นพระธรรมเทศนา ในเรื่องสมาธิ ด้วยคำปุจฉาวิสัชชนาโดยพระพุทธองค์เองว่า
กถญฺจ สมาธิ สมาธิที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วเป็นไฉน
หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้แสดงให้เข้าใจโดยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท ดังนี้
สมาธิโดยปริยัติเบื้องต่ำ
อิธ อริยสาวโก พระอริยสาวกในพระธรรมวินัย กระทำให้ปราศจากอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธรรมารมณ์ ไม่ได้เกี่ยวแก่ใจเลย เรียกว่า ปราศจากอารมณ์ทำให้ได้สมาธิตั้งมั่นจิตเป็นธรรมชาติหนึ่ง ไม่มีสองต่อไป
สมาธิโดยปริยัติเบื้องสูง
อิธ ภิกขุ วิวิจฺเจว ภิกษุผู้ศึกษาในธรรมวินัยสงัดแล้วจากกาม อกุศลทั้งหลายเข้าถึง ปฐมฌาน ความเพ่งที่หนึ่ง ประกอบด้วย องค์ ๕ ประการคือ วิตก วิจารปีติสุข เอกัคคตา
สงบวิตก วิจาร ได้แล้ว เข้าถึง "ทุติยฌาน" ความเพ่งที่ ๒ ประกอบด้วย "ปีติ" และ "สุข" เกิดจากวิเวก
สงบปีติ เข้าถึง "ตติยฌาน" ความเพ่งที่ ๓ มีองค์ คือ "สุข" เกิดแต่ "วิเวก" หรือสุขเอกัคคตา
ละทุกข์ละสุข ดับความดีใจ เสียใจ เข้าถึง "จตุตถฌาน" ความเพ่งที่ ๔ มีสติบริสุทธิ์ เฉยเป็น องค์ประกอบ (อุเบกขา, เอกัคคตา) เหล่านี้เป็นสมาธิในทางปริยัติ
สมาธิในทางปฏิบัติเบื้องต่ำ
พระอริยสาวกกระทำอารมณ์ทั้ง ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์) ไม่ให้ติดใจ คือ ละอารมณ์ หลุดจากจิต เหลือแต่จิตล้วนๆ เหมือนคนเวลานอนใกล้จะหลับ
เมื่อยังไม่หลับ มีอารมณ์เข้าไปติดอยู่กับอารมณ์ทั้ง ๖ อดีตปัจจุบันอนาคต อารมณ์เหล่านี้วุ่นอยู่กับใจติดอยู่กับใจ เปลื้องจากกันไม่ได้ ตลอดคืนยันรุ่งก็ไม่หลับ เพราะอารมณ์เข้าไปติดกับใจ มันไปบังคับใจเสีย มันไม่หลุด เรียกว่า ละอารมณ์ไม่ได้
"เมื่อ ละอารมณ์ได้ ในทางปฏิบัติไม่เกี่ยวด้วยอารมณ์เลย ใจหลุดจาก อารมณ์เหมือนอะไร เหมือนไข่แดงกับไข่ขาวอยู่ด้วยกันจริงๆ แต่ว่าไม่เกี่ยวกัน ไข่แดงมีเยื่อหุ้มอยู่นิดหนึ่งบางๆ ไม่เกี่ยวกับไข่ขาวด้วย ไข่ขาวหุ้มอยู่ข้างนอกไม่ติดกัน รสชาติของไข่แดงก็รส หนึ่ง รสชาติของไข่ขาวก็รส หนึ่ง ไม่เข้ากัน อยู่คนละทาง เห็นปรากฏทีเดียว เห็นที่ไหน อยู่ที่ไหน จึงเป็นทางปฏิบัติ เห็นปรากฏชัดอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่"
พอเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ตาของกายมนุษย์ละเอียด ก็เห็นรู้ว่าดวงจิตของมนุษย์นั้น เวลานี้ไม่เกี่ยวด้วยอารมณ์ทั้ง ๖ นิ่งแน่นอนอยู่กับดวงจิตไม่คลาดเคลื่อน ดวงจิตนั้นก็ ซ้อนอยู่กับดวงจำดวงเห็น ดวงวิญญาณก็ ซ้อนในดวงจิต เป็นจุดเดียวกัน เรียกว่า ถึงซึ่งความเป็นหนึ่ง (เอกคฺคตา) ไม่มีเขยื้อน เหมือนน้ำที่ใส่ไว้ในแก้วตั้งไว้มั่น ไม่มีลมพัดมา เป็นสมาธิเบื้องต่ำโดยปฏิบัติ
สมาธิท่านวางหลักมาก ไม่ใช่แต่ปราศจากอารมณ์ถึงความเป็นหนึ่งเท่านี้ มีถึง ๔๐ ยกเป็น ปริยายเบื้องสูง เหลืออีก ๓๒ เป็นสมาธิฝ่ายนอกพระศาสนา หรือสมาธิข้างนอก คือเห็นข้างนอก แล้วน้อมเข้าไปข้างในได้
"ถ้าสมาธิตรงข้างในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เช่นนี้ละก็ถูกเป้าหมายใจดำพุทธศาสนา"
สมาธินอกพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองอนุโลม มี กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ รวมเป็น ๓๒ เป็นสมาธิโดยปริยายเบื้องต่ำ
"แต่ว่าสมาธิโดยทางปริยัติไม่เห็น...ถ้าสมาธิในทางปฏิบัติ ผู้ได้ ผู้ถึงเห็นทีเดียว"
สมาธิในทางปฏิบัติโดยปริยายเบื้องสูง
เมื่อเข้าถึงฌานที่ ๑ ก็เป็นตัวปฏิเวทแล้ว เข้าถึงฌานที่ ๒ ก็เป็น ปฏิเวทอีก ปรากฏชัดด้วยตาของตัว เข้าถึงกายไหน ก็เป็นปฏิเวทกายนั้น
ใจหยุดนิ่งกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เกิดเป็นฌานขึ้นกลางดวงจิตที่หยุดนั้นโดยนิ่งหนักเข้าๆ พอถูกส่วนเข้า ก็เข้ากลางของหยุดนั้น พอถูกส่วน เป็นดวงผุดขึ้นมา ดวงใหญ่รอบตัว วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ วา ( ศอก) หนาคืบหนึ่ง กลมรอบตัว มีกายมนุษย์ละเอียดขึ้นนั่งอยู่กลางดวงนั้น
ดวงจิตมนุษย์ละเอียด เห็นดวงจิตตัวเอง ก็นิ่งอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้น พ้นจากกายมนุษย์หยาบแล้ว
กายมนุษย์ละเอียด ก็นั่งอยู่กลางดวงฌาน วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ วา ( ศอก) กลมรอบตัวเป็นวงเวียนหนาคืบหนึ่ง กายมนุษย์ละเอียด เข้าฌานแล้วจะไปไหนก็คล่องแคล่ว
เมื่อเข้าฌานเช่นนั้นแล้วก็คล่องแคล่ว เกิดวิตกว่านี่อะไร ไม่เคยเห็น ตรึกตรอง วิจาร เกิดวิตก คือ ตรวจตรา ดู สีสันวรรณะ รอบเนื้อรอบตัว ซ้ายขวา หน้าหลัง เกิดปีติชอบใจ เต็มส่วนปีติสุข กายสบายใจ แล้วก็นิ่งเฉย เกิดแต่วิเวก ใจวิเวกนิ่งอยู่กลางดวง เต็มส่วนของฌาน
ใจกายมนุษย์ละเอียดอยู่ในฌานนี้ ยังใกล้ของหยาบนัก เราจะทำให้สูงขึ้นกว่านี้
ใจกายมนุษย์ละเอียด ก็ขยายจากปฐมฌานของกายมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลาง ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด หนักเข้าก็ถึงดวงอีกดวง เรียกทุติยฌาน เป็นกายทิพย์ทีเดียว กายทิพย์ละเอียดเข้าฌาน อาศัยกายทิพย์หยาบเข้าฌานต่อไป แต่ทีนี้ไม่มีวิตก วิจาร เหลือแต่ปีติ เพราะดีกว่า ใสสะอาดกว่าเก่าปีติเต็มส่วน นิ่งเฉยกลางนั้น
ใจกายทิพย์ละเอียดขยายจากฌานที่สอง ได้ฌานดวงใหม่ คือ ตติยฌาน กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด เข้าฌานนั้น โดยอาศัยกายรูปพรหมหยาบนั่งนิ่งในดวงตติยฌาน ในนี้ไม่มีปีติ มีแต่สุขกับเอกัคคตา นิ่งเฉยอยู่กับสุขนั้น กายรูปพรหมรู้ว่าละเอียดกว่านี้มีอีก
ใจกายพรหมละเอียดก็ขยายจิตจากตติยฌาน นิ่งอยู่กลางดวงจิตของตัว กลางของกลาง กลางของกลาง ถูกส่วนเข้า ผุดขึ้นมาอีกดวง เป็นดวงที่ที่ เข้าถึงจตุตถฌาน อาศัยกาย อรูปพรหมหยาบและละเอียดเข้าจตุตถฌานไป หนักเข้าเป็นอุเบกขา มีแต่ใจเฉยสติบริบูรณ์
ใจกายอรูปพรหมละเอียด ก็หยุดนิ่งในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำ ให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียดอยู่ศูนย์กลางจตุตถฌาน จะเข้าอรูปฌานต่อไป เข้าอากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ต่อไปนี้ใช้กายรูปพรหมละเอียดไม่ได้ ใช้กาย อรูปพรหมกายเดียวเข้าฌาน นี้เป็นฌานในภพ ฌานทั้ง ๔ เป็นสมาธิโดยปริยายเบื้องสูง
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร
🌟รับธรรมะดี ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายในได้ที่นี่
โฆษณา