19 พ.ย. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

มรสุมแฟรนไชส์ไทย ทุกข์คนซื้อ หายนะคนขาย ตลอดปี 67

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย สะท้อนถึงความไม่สมดุลของระบบแฟรนไชส์ ทั้ง #แฟรนไชส์ซอร์ และ #แฟรนไชส์ซี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ การแข่งขันในตลาด การควบคุมมาตรฐาน การสร้างความสัมพันธ์ในเครือข่ายแฟรนไชส์ รวมถึงการสนับสนุนจากแฟรนไชส์ซอร์ ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายของแฟรนไชส์ในไทย
มาดูกันว่า มีแบรนด์แฟรนไชส์ไหนบ้าง เจอมรสุมซัดเข้าเต็มๆ ในปี 2567
1. สุกี้จินดา
#สุกี้จินดา สุกี้สายพานสไตล์จีนหม่าล่าเจ้าแรกในไทย ที่มีน้ำซุปให้เลือกถึง 7 รส ในบรรยากาศสตรีทฟู้ดเมืองจีน เปิดสาขาแรกอยู่ที่ซอยประชาราษฏร์บำเพ็ญ 9-11 ย่านห้วยขวาง เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 63 ก่อนขยายสาขาในต่างจังหวัด รูปแบบให้บริการลูกค้าเป็นแบบ "เสิร์ฟแบบเสียบไม้ วางบนสายพาน" ลูกค้าสามารถหยิบวัตถุดิบได้ตามความต้องการ ราคาเริ่มต้น 5-50 บาท มีเมนู 50-60 รายการ มีน้ำซุปให้เลือกมากถึง 7 น้ำซุป เติมได้ไม่อั้น ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีน
มีกลุ่มลูกค้าหลักๆ เป็นกลุ่มนักศึกษา วัยรุ่น คนทำงาน และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน อายุประมาณ 20-35 ปี ก่อนหน้านี้ร้านสุกี้จินดาเปิดให้บริการทั้งหมด 42 แห่ง กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดหัวเมืองใหญ่ อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระยอง เชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับมรสุมที่เกิดขึ้นกับแฟรนไชส์ “สุกี้จินดา” ก็คือ การปิดสาขาแฟรนไชส์ซีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาแฟรนไชส์ โดยย้อนกลับดู เฟซบุ๊ก สุกี้จินดา ได้ออกมาประกาศว่า สุกี้จินดา สาขาพระประแดง จะเปิดทำการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เป็นวันสุดท้าย อันเนื่องมาจากสาขานี้เป็นสาขาแฟรนไชส์ของร้านสุกี้จินดา และได้มีการทำผิดสัญญาในการร่วมธุรกิจกับแบรนด์ จึงขอยกเลิกสัญญาและปิดกิจการ ทางร้านขอขอบคุณลูกค้าที่ให้การสนับสนุนมาตลอด
ไม่เพียงแค่นี้ “สุกี้จินดา” สาขาอุบลราชธานี ยังได้ประกาศให้ลูกค้าทราบว่าจะเปิดให้บริการวันสุดท้าย 15 ตุลาคม 2567 และขอแจ้งปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้สุกี้จินดาสาขาอุบลราชธานีเป็นสาขาแฟรนไชส์ สาเหตุของการปิดกิจการเกิดจากปัญหาของสาขาเอง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสุกี้จินดาสาขาอื่น จึงต้องกราบขออภัยลูกค้ามา ณ โอกาสนี้ และขอบพระคุณลูกค้าที่น่ารักทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ทำให้ในปัจจุบันสุกี้จินดาเหลือสาขาราวๆ 34 สาขา และยังคงปิดรับแฟรนไชส์ชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม จากการประกาศปิดสาขาแฟรนไชส์ของ “สุกี้จินดา” ในหลายๆ สาขาไปก่อนหน้านี้ รวมถึงอีก 2 สาขาล่าสุด อย่างพระประแดงและอุบลราชธานี ได้มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ลูกค้าที่เคยมาใช้บริการทั้ง 2 สาขา ต่างก็รู้สึกเสียดาย และเสียใจที่เป็นสาขาใกล้บ้าน เพราะเพิ่งไปใช้บริการมาไม่นานมานี้ แถมพนักงานก็บริการดีอีกต่างหาก
2. Texas Chicken
เป็นที่น่าเสียดายอยู่ไม่น้อยสำหรับแฟนไก่ทอด Texas Chicken หลังจากประกาศปิดตัวถาวรในไทย เมื่อ 30 กันยายน 2567 #TexasChicken เป็นแฟรนไชส์ไก่ทอดสัญชาติอเมริกัน เปิดดำเนินการมานานกว่า 72 ปี เดิมชื่อ Church’s Chicken ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้ง George W. Church Sr. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2495 เมืองซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส
ปัจจุบันมีจำนวนสาขาประมาณ 1,500 แห่งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย Texas Chicken ถูกนำเข้ามาโดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)’ หรือ OR เปิดให้บริการสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2558 ที่เซ็นทรัลเวสต์เกต
หากมาดูจำนวนสาขาของร้าน Texas Chicken ในไทย สิ้นไตรมาส 2/2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 97 สาขา ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2566 ที่มีอยู่ 107 สาขา นั่นแสดงว่าปิดสาขาไปก่อนหน้านี้แล้ว 10 สาขา การเข้ามาเปิดตลาดของแฟรนไชส์ไก่ทอด Texas Chicken ในประเทศไทย นับว่าได้ว่าสร้างกระแสจนได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากมีคนติดตามเพจ Facebook ไก่ทอด Texas Chicken มากกว่า 5.4 แสนคน
ความโดดเด่นของ Texas Chicken เมนูอาหารต่างๆ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย อย่าง “ไก่ทอด” อันเลื่องลือที่นำไก่ชิ้นใหญ่ไปทอดจนหอมกรอบ ทว่าเนื้อยังคงความฉ่ำของไก่เอาไว้อันเป็นสูตรลับเฉพาะที่ Texas Chicken อีกทั้ง แร็พที่จริงใจ ที่ก่อนหน้านี้มีโปรโมชัน Wrap’n Fries 1 แถม 1 กันไปแล้ว หรือแม้กระทั่ง ไก่ทอด, ขนมปังกลม, วิงซ์แซ่บ, บิสกิต และอื่นๆ อีกมากมาย
ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ไก่ทอด Texas Chicken ในประเทศไทย มีผลประกอบการขาดทุนสะสมมาโดยตลอดไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท แม้บริษัทฯ จะพยายามปรับตัวและทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานคู่แข่งรายใหญ่ในตลาดอย่าง KFC ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 65% และมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. Black Canyon
มรสุมที่เกิดขึ้นกับแฟรนไชส์กาแฟ “แบล็คแคนยอน” มาจากกรณีช่วงคืนวันที่ 1 พ.ย. 2567 มีการส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่น LINE โดยใช้แอคเคาท์ Official ของแบล็คแคนยอนไปยังลูกค้า พร้อมระบุว่าเกิดการ Hack และขโมยข้อมูลของแบล็คแคนยอน มากกว่า 958 GB รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และมีการส่งลิงค์ให้ลูกค้าของแบล็คแคนยอนคลิกร่วมด้วย
ต่อมาทางแบล็คแคนยอนได้ทำการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลของลูกค้าที่ได้ถูกละเมิด ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล์ โดยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินใดๆ หลังจากนั้นได้แจ้งให้ลูกค้าระมัดระวังอาจมีผู้แอบอ้างในการติดต่อเพื่อขอข้อมูลและทำธุรกรรมอื่นๆ กับลูกค้า และอย่ากดลิงค์หรือดาวน์โหลดข้อมูลที่ตรวจสอบที่มาไม่ได้
ทำให้เฟซบุ๊ก Black Canyon ประกาศว่า “เรียนลูกค้าทุกท่าน แบล็คแคนยอนขอเรียนยืนยันว่าข้อมูลของลูกค้าทุกท่านได้รับการจัดเก็บด้วยมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยข้อมูลที่จัดเก็บเป็นข้อมูลทั่วไป ไม่มีการเก็บข้อมูลทางด้านการเงินของลูกค้าแต่อย่างใด เราขอให้ทุกท่านมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูล และขอขอบคุณที่ไว้วางใจในการใช้บริการกับเรา”
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแฟรนไชส์กาแฟ “แบล็คแคนยอน” ย่อมส่งผลกระทบต่อลูกค้าอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะลูกค้าหลายๆ คนกังวลว่าข้อมูลส่วนตัวโดยเฉพาะชื่อ นามสกุล รวมถึงเบอร์มือถือส่วนตัว จะถูกส่งไปให้มิจฉาชีพ นั่นหมายถึงอาจมีความเสี่ยงว่าจะถูกมิจฉาชีพรวมไปถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 พ.ย. เฟซบุ๊ก Black Canyon ชี้แจงว่า บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ขอแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลจากการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลของลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินการปรับปรุงคุณภาพ และกระบวนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลตามหลักมาตรฐานสากล โดยคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้
หลังจากนั้นวันที่ 12 พ.ย. 2567 บริษัทฯ แจ้งความคืบหน้าในกรณีเหตุข้อมูลรั่วไหลจากการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยทางบริษัทฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทางหน่วยงานรัฐ และเอกชน ดำเนินการสืบสวนสอบสวน และแก้ไขสถานการณ์ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ โดยพบว่าเป็นเหตุการณ์บุกรุกข้อมูลบางส่วนขององค์กรเท่านั้น
4. Subway
เรียกได้ว่าถูกมรสุมซัดกระหน่ำเข้าเต็มๆ สำหรับแฟรนไชส์ฟาสต์ชื่อดังสัญชาติอเมริกัน Subway กรณีโดนลูกค้าจำนวนมากร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหาร, วัตถุดิบขาด, กระดาษห่อ ไม่มีพิมพ์ลาย Subway, กระดาษห่อลาย Subway สีเลอะติดอาหาร ขนมปังไม่ใช่ของ Subway และอื่นๆ เข้าไปจำนวนมาก ผ่านทั้งทางโลกโซเชียลมีเดีย และทางเพจของ Subway Thailand
ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจแฟรนไชส์ทั่วโลกที่มักจะเข้มงวดในเรื่องคุณภาพมาตรฐานเหมือนกันทุกสาขา ยิ่ง Subway เป็นแฟรนไชส์ชื่อดังจากอเมริกา ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอาหารและการบริการตามมาตรฐานอเมริกาอยู่แล้ว
เบื้องต้นทาง บริษัท โกลัค จำกัด ผู้ถือสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย ต้องออกมาประกาศถึงข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นผ่านทางเพจ ระบุว่า “จากการตรวจสอบพบว่าสาขาที่ได้รับข้อร้องเรียนเหล่านี้ล้วนเป็นสาขาที่ถูกยกเลิกสิทธิแฟรนไชส์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 105 สาขา
ซึ่งทาง Subway Thailand ได้แนบเอกสารรายชื่อสาขาดังกล่าวไว้ในประกาศ ตัวอย่างสาขาที่ถูกยกเลิกสิทธิแต่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่ สาขา CP ทาวเวอร์ สีลม, ปตท.บางแสน, ปตท.สุขสวัสดิ์, เชลล์ ลาดพร้าว, ทองหล่อ, เชลล์ ท่าพระ, คาลเท็กซ์ ประชานุกูล, ดิ อัพ พระราม 3, บางจาก ราชพฤกษ์ เป็นต้น
ต่อมาเพจ Subway Thailand ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการดูสาขาที่ได้รับแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง โดยระบุว่าผู้บริโภคสามารถสังเกตจากเลขที่ร้านและเครื่องหมายสัญลักษณ์ Authorized Franchise ที่แสดงอย่างชัดเจน ประกอบกับการมีอาหารและวัตถุดิบครบถ้วนตามเมนูมาตรฐาน ปัจจุบันมีสาขาที่ได้รับแฟรนไชส์ถูกต้องเหลืออยู่เพียง 51 สาขา
จะว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดกับ Subway ถือเป็นปัญหาภายในของซับเวย์เอง ทั้งปัญหาเรื่องของระบบแฟรนไชส์ ปัญหาสัญญาแฟรนไชส์ ปัญหาการจัดการ ปัญหาการสื่อสารในระบบแฟรนไชส์ และไม่มีการสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบ
สรุป มรสุมที่เกิดขึ้นกับทั้ง 4 แบรนด์แฟรนไชส์ ปัจจัยหลักๆ น่าจะมาจากเรื่องการบริหารจัดการระบบแฟรนไชส์ที่ไม่ดีพอ การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานแฟรนไชส์ การสร้างความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซ์ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลข่าวสารไปยังผู้บริโภคด้วย
#แฟรนไชส์ #วิกฤตแฟรนไชส์ #แฟรนไชส์ไทย #ปิดสาขา #ปัญหาแฟรนไชส์ #ระบบแฟรนไชส์ #ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์
โฆษณา