Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
19 พ.ย. เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์
"เกษียณต้องคุมรายจ่าย เพราะรายได้หายากแล้ว" เปิด 3 เทคนิคการวางแผนภาษีสำหรับวัยเกษียณเพื่อเซฟรายจ่าย
หากถามว่า “คุณอยากหาเงินนาน ๆ หรือใช้เงินนาน ๆ ” มั่นใจได้ว่าคนส่วนใหญ่ย่อมต้องอยากใช้เงินนาน ๆ ซึ่งทำให้ “การเกษียณ” จึงเป็นเหมือนเป้าหมายความฝันของใครหลายคน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นฝันร้ายของคนที่ไม่ได้เตรียมการ เพราะสิ่งที่หายไปพร้อมกับงานก็คือ รายได้
อย่าลืมว่านอกจากเรื่องของการเก็บเงินแล้ว การบริหารเงินก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากของคนเกษียณที่จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ ทั้งนี้ คำว่าบริหารเงิน นอกจากทำให้งอกเงยแล้ว ยังต้องทำให้ต้นทุนที่เกิดขึ้นต่ำที่สุดอีกด้วย “ภาษี” จึงเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ที่คนเกษียณทุกคนควรให้ความสำคัญ
ก่อนอื่นมาดูเหตุผลกันก่อนดีกว่า ว่าทำไมคนไทยวัยเกษียณ ถึงมัก “ละเลย” เรื่องการวางแผนภาษี แน่นอนว่าเหตุผลยอดฮิตข้อแรก ก็คือ ความไม่รู้ เพราะส่วนใหญ่มุ่งเน้นวิธีการหาเงิน และอีกเหตุผลก็คือ ภาษีที่เกี่ยวกับคนเกษียณส่วนใหญ่เป็นการเสียแบบ หัก ณ ที่จ่าย ทำให้เงินภาษีที่เสียไปเป็นเงินเพียงเล็กน้อย
[ 4 เหตุผลควรรู้ ที่วัยเกษียณควรให้ความสำคัญ ]
1) เกษียณ คือ วัยหยุดหา แล้วหันมาบริหารทรัพย์สิน งานหลักของคนเกษียณคือ การให้เงินทำงาน และเมื่อเกษียณย่อมมีมูลค่าทรัพย์สินที่มากกว่าช่วงวัยทำงาน ดังนั้น การวางแผนภาษีจะสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของชีวิต
2) หากมีการวางแผนภาษีหลังเกษียณ เช่น กำหนดก้อนเงินที่จะใช้ในอนาคตไกล ๆ หรือก้อนที่จะส่งต่อให้ลูกหลานอย่างชัดเจน ก็จะสามารถซื้อกองทุนรวมหรือประกัน ในรูปแบบที่ประหยัดภาษีได้ เป็นต้น
3) ทำให้สามารถมีเงินเกษียณใช้ต่อปีมากขึ้น เมื่อประหยัดภาษีได้มากขึ้น ย่อมมีเงินสดเหลือมากขึ้น ทำให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นได้โดยปริยาย
4) เหลือเงินส่งต่อให้ลูกหลานมากขึ้น นอกจากการบริหารภาษีจะเป็นประโยชน์กับเหล่าคนเกษียณแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับลูกหลานและคนข้างหลัง ที่จะประหยัดภาษีที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อของทรัพย์สินทั้งทางตรงและทางอ้อม
[ 3 เทคนิคการวางแผนภาษีคนวัยเกษียณ ]
1. การเลือกใช้สิทธิ์ Final Tax
หรือการที่สรรพากรยอมให้เงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วสามารถเลือกที่จะนำมารวมหรือไม่รวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้ เช่น หากได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินในบัญชีธนาคาร ปีละ 100,000 บาท จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% หรือ 15,000 บาท หากมีรายได้น้อยสามารถที่จะขอนำเงินได้ 100,000 บาท มายื่นคำนวณภาษีและขอเงิน 15,000 บาทคืนได้ทั้งจำนวน
หากมีรายได้ที่อยู่ในฐานภาษีที่สูงกว่าหรือเท่ากับ 15% สามารถเลือกที่จะยอมให้สรรพากรหักภาษีไป 15,000 บาท และไม่ต้องนำเงินได้ 100,000 บาท มารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีได้หากใช้ชีวิตหลังเกษียณ 20 - 30 ปี เงินภาษีที่ประหยัดก็นำไปเป็นใช้จ่ายได้
2. การเลือกใช้สิทธิ์ค่าลดหย่อน
เนื่องจากสรรพากรให้สิทธิ์ลดหย่อนที่เป็นประโยชน์กับคนเกษียณเอาไว้ ไม่ว่าจะในกรณีที่มีรายได้น้อยหรือมากก็ตาม เช่น หากขาดรายได้และต้องให้ลูก ๆ ดูแล ลูก ๆ ที่มาเลี้ยงดูก็สามารถหักค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
แต่หากมีเงินได้มากพอเลี้ยงดูตัวเองได้ เมื่ออายุ 65 ปี ขึ้นไป จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนเพิ่มปีละ 190,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์มากหากนำไปใช้คู่กับการวางแผนเรื่อง Final Tax
3. การวางแผนการส่งต่อล่วงหน้า
สำหรับผู้ที่มีลูกหลานให้ส่งต่อทรัพย์สิน การจัดการภาษีที่เกี่ยวข้องไว้แต่เนิ่น ๆ ก็เป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเสียภาษีมรดก คือ มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาท หรือมีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะโดนเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้น การวางแผนภาษีที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อ จะเป็นประโยชน์มาก เช่น การทยอยส่งต่อทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ ที่นอกจากจะทำให้เสียภาษีน้อยลงแล้ว ยังช่วยให้เกิดความเท่าเทียม ลดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งหลังจากเราจากไป ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
การวางแผนภาษีในวัยเกษียณเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดี การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จะช่วยให้ผู้เกษียณอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลกับภาระภาษีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เขียนโดย: สรวงพิเชฏฐ์ หลายชูไทย นักวางแผนการเงิน CFP®
#aomMONEY #สมาคมนักวางแผนการเงินไทย #วางแผนภาษี #วัยเกษียณ
6 บันทึก
6
3
6
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย