19 พ.ย. เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม

นักวิทย์ฯ ระดมสร้าง ‘ขี้วาฬ’ ปล่อยสู่ทะเล หวังคืนสมดุลสู่ผืนน้ำ-ช่วยกักเก็บคาร์บอน

☝️Click >> เติมปุ๋ยให้ทะเล!! ‘นักวิทย์ฯ’ สร้างขี้วาฬเทียมปล่อยสู่ทะเล หวังช่วยเก็บคาร์บอนและคืนสมดุลธรรมชาติในท้องทะเล
🔎Clear >> รู้หรือไม่ว่า ‘อำพันทะเล’ (Ambergris) หรือ ‘ขี้วาฬ’ หรือบ้างก็เรียก ‘อ้วกวาฬ’ จะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่หายากและมีค่ามาก ๆ ในวงการเครื่องหอมและอุตสาหกรรมน้ำหอมแล้ว ขี้วาฬยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญต่อระบบนิเวศ เช่น ธาตุเหล็ก, ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ที่สำคัญ เมื่อปล่อยให้มันสัมผัสกับแสงอาทิตย์ ของเสียของวาฬจะกระตุ้นให้เกิดแพลงตอนพืชอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลหลายชนิดลอยไกลหลายกิโลบนผิวน้ำ
แต่ภายหลังจากอุตสาหกรรมการล่าวาฬในศตวรรษที่ 20 นั้น ก็ทำให้ประชากรวาฬกว่า 3 ล้านตัว หรือ 99% ของวาฬทั้งหมดลดลง ส่งผลให้ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลปั่นป่วน
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมนักวิจัยจากมูลนิธิ WhaleX พยายามจำลอง ‘ขี้วาฬเทียม‘ ขึ้นมาทดแทนประชากรวาฬที่เสียไป
ย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2021 ทีมนักวิจัยของ WhaleX ภายใต้การอนุญาตจากรัฐบาลออสเตรเลีย ได้ทดลองปล่อยขี้วาฬจำลองขนาดเท่าของจริงลงในทะเลแทสมัน ทางตะวันออกของออสเตรเลีย และวางแผนจะเพิ่มปริมาณการทดลองขึ้นเป็น 5 เท่าในปีหน้า
WhaleX ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่เชื่อในไอเดียนี้ แต่โปรเจกต์ Marine Biomass Regeneration ที่นำโดย เดวิด คิง นักเคมีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็กำลังทำการทดลองที่คล้ายกันนี้ ต่างกันก็แต่สถานที่ทดลองและเทคนิคที่ใช้ในการผสมขี้วาฬเทียมเท่านั้น
“เราเชื่อว่าถ้าสามารถจำลองการทำงานของขี้วาฬได้ ในอีก 40 - 50 ปี บางทีเราอาจจะสามารถทำให้จำนวนประชากรปลา, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสัตว์มีเปลือกทั้งหลายในทะเลกลับมาเหมือนเมื่อ 400 ปีก่อนได้” คิงกล่าว
ทั้งนี้ ขี้วาฬ ถือเป็นระบบนิเวศสำคัญทางทะเล และเป็นเหมือน ‘ปุ๋ย’ ที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเจริญเติบโตได้อย่างดีเยี่ยม เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของ ‘แพลงตอนพืช’
ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำขนาดเล็กแล้ว ยังคอยซึมซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากให้จมลงไปใต้ทะเล และกักเก็บไว้ไม่ให้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้เป็นเวลานานด้วย โดยมีการประมาณว่า ‘ไพโตรแพลงตอน’ ในทะเลช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 22 ตัน/ปี หรือเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่รถยนต์ 4.8 ล้านคันปล่อยออกมาในแต่ละปี
ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของ WhaleX ในตอนนี้ จึงเป็นการปล่อยขี้วาฬปลอมลงสู่พื้นที่ทางทะเล 300 จุดที่ถูกเรียกว่า ‘พื้นที่แห่งความตาย (Dead Zones)’ หรือบริเวณในท้องทะเลที่มีสารอาหารต่ำรอบโลก เพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 1.5 พันล้านตัน/ปี
อย่างไรก็ตาม หากจะนำการทดลองนี้ไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น ทีมนักวิจัยยังต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสารที่พวกเขาจะไม่ทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ควบคุมการปล่อยสารลงในทะเล ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งสองทีมข้างต้นต้องพิสูจน์ว่า นวัตกรรมของพวกเขาจะไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเล
แน่นอนว่า ถ้าพวกเขาทำได้สำเร็จ นี่จะเป็นอีกเทคนิคที่อาจช่วยให้ท้องทะเลฟื้นตัวจากการถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ ด้วย ‘ขี้วาฬเทียม’ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารระลอกใหม่ในทะเลได้อย่างมากเลยทีเดียว
ที่มา: Springnews / Smithsonianmag / Hakaimagazine
โฆษณา