19 พ.ย. เวลา 02:00 • ความคิดเห็น

นับหนึ่งถึงแสนล้าน

ในยุคทุนผูกขาด รายใหญ่ได้เปรียบอย่างมากแบบนี้ จะหาใครที่สร้างตัวเองด้วยลำแข้งจากเงินทุนก้อนเล็กๆ จนเติบใหญ่ระดับแสนล้านได้ในชั่วอายุคนแบบไม่ได้มีมรดกใดๆ ผมนึกชื่อตามนิ้วมืออาจจะยังไม่ครบมือข้างเดียวเลยด้วยซ้ำ
และถ้าคนๆนั้นหาญกล้ามาทำธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่รู้ ไม่ได้เรียนมาก็ยิ่งน้อย แถมถ้าคนๆนั้นสามารถทำธุรกิจที่ตัวเองไม่รู้ไม่ถนัดได้สามสี่ธุรกิจติดกันก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และถ้าเป็นผู้หญิงที่เกิดและทำธุรกิจในสมัยที่ผู้ชายเป็นใหญ่ด้วยก็น่าจะเหลือคนเดียวเท่าที่ผมรู้
ก็คือ พี่จูน จรีพร จารุกรสกุล แห่ง WHA สาวเก่ง สวย เผ็ด คนนี้นั่นเอง
ผมเพิ่งได้มีโอกาสสัมภาษณ์พี่จูนเต็มๆ ครั้งแรกร่วมกับคุณกระทิง พูนผลที่ HOW Club เมื่อเช้า แม้ว่าจะรู้จักพี่จูนมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ตามฟังพี่จูนไปสัมภาษณ์ที่โน่นที่นี่อยู่บ่อยๆ เอาจริงๆ คือผมก็แอบงงว่าผู้หญิงที่บุคลิกดีดูไฮโซแบบพี่จูน ทำไมทำธุรกิจแต่ละอย่างมีแต่สายโหด สายวิศวะ สายก่อสร้าง ระยะหลัง พี่จูนเจอนักลงทุนระดับโลกเยอะ ก็ยิ่งมีไอเดียมาเล่าบนเวทีได้อย่างสนุกและมีความคิดจะทำโน่นลงทุนนี่ตลอด
หลายคนฟังแล้วก็อาจจะคิดได้ว่า ก็บริษัทพี่จูน WHA ใหญ่ขนาดมีมาร์เกตแคปสองแสนล้านแล้วนี่ ทำอะไรก็มีสตางค์ จ้างคนก็ได้ ก็ทำได้สิ..
แต่หลังจากได้สัมภาษณ์พี่จูนอย่างลึกซึ้งแล้ว ถึงรู้ว่า ความคิดกระหายใคร่รู้ พยายามดูเทรนด์ต่างๆแล้วลงมือทำนั้นเป็นกระบวนท่าของพี่จูนมาตั้งแต่พี่จูนตั้งบริษัทเล็กๆ ที่มีทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาทเมื่อสามสิบปีก่อน!
ลองมาฟังว่ากระบวนท่าหาเมกะเทรนด์แล้วใส่ทั้งตัวแบบไม่มียูเทิร์นแบบพี่จูนนั้นทำอย่างไรกันนะครับ…
เทรนด์ที่หนึ่ง พลาสติก
พี่จูนผู้ที่วันนี้ดูจะเหมือนวิศวกรโยธาผสมเทคเก่งๆ ในวันนี้นั้น สามสิบปีก่อนจบด้านสาธารณสุข ไม่มีอะไรเกี่ยวกับงานที่ทำเลย เริ่มงานประจำก็เป็นรีเทลยาก่อนจะไปเรียนบริหารต่อ
พี่จูนเป็นหนอนหนังสือ อ่านหนังสือทุกประเภทแม้แต่ถุงกล้วยแขก อ่านข่าวทั้งในและต่างประเทศจนเห็นเทรนด์นึง ในช่วงนั้นเป็นยุคช่วงโชติชัชวาล ของป๋าเปรม ปิโตรเคมีกำลังบูม พลาสติกกำลังเริ่มเป็นที่แพร่หลาย พี่จูนเห็นสถิติว่าเมืองไทยอัตราการใช้พลาสติกยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และอเมริกา
พี่จูนก็เลยตั้งบริษัทด้วยเงินที่มี ทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท เริ่มทำบริษัทเทรดดิ้งสินค้าที่ทำด้วยพลาสติก ไม่ได้มีประสบการณ์ ไม่ได้มี connection เริ่มต้นใดๆ แค่คิดว่าพลาสติกน่าจะมีอนาคต แค่นั้นเอง
ปีแรกพี่จูนบอกว่ารายได้แสนกว่าบาท ไม่ใช่กำไรนะครับ รายได้ซึ่งน้อยมาก เพราะไม่เคยทำ ค่อยๆ หาความรู้ หาสินค้ามาขาย อะไรที่ไม่รู้ คนผลิตตอบไม่ได้ พี่จูนก็ใช้วิธีไปอ่านตำราเคมีเอาจนรู้และออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ ท่าไม้ตายของพี่จูนคือต้องรู้รายละเอียดด้วยตัวเอง ต้องเป็นทัพหน้า ต้องขายเอง ทำให้ได้ก่อนถึงไปสอนลูกน้อง
ทำจนมีรายได้ประมาณนึง เป็น SME ขนาดเล็กมาก
เทรนด์ที่สอง งานราชการ
ในช่วงก่อนต้มยำกุ้ง พี่จูนดูข่าวสารบ้านเมืองในตอนนั้นแล้วเกิดความวิตกและคิดว่าเศรษฐกิจกำลังจะพัง ต่อไปจะค้าขายยาก ขายไปก็อาจจะเก็บเงินไม่ได้ พี่จูนก็เลยลุกขึ้นมาบอกสามีซึ่งงงกับความคิดพี่จูนว่า ต้องไปบุกราชการละเพราะขายเอกชนต่อไปความเสี่ยงสูง แต่ตัวเองไม่เคยขายผลิตภัณฑ์พลาสติกอะไรเข้าราชการเลย ต้องเริ่มจากศูนย์ ขับรถไปทั่วประเทศเพื่อไปคุยไปลองขายหน่วยราชการต่างจังหวัด ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านราชการอีกเช่นเคย แค่คิดว่าเทรนด์มันต้องมาทางนี้
พี่จูนที่เป็นผู้หญิงอายุไม่มากในสมัยนั้น ขับรถปีนึงเป็นแสนโล ตื่นตีสี่ขับไปอุตรดิตถ์แล้วไล่ลงมา เจอคนไปเรื่อยแล้วกลับบ้านประมาณสี่ทุ่มเพราะสามีไม่ให้ค้างที่ไหน ทำแบบนี้ทุกวัน ด้วยความที่มีบุคลิกดี ลงพื้นที่เอง ก็เริ่มก่อร่างสร้างตัวมาได้ประมาณนึง
1
เทรนด์ที่สาม Warehouse
พอขายผลิตภัณฑ์พลาสติกมากๆ พี่จูนก็เริ่มเห็นเทรนด์ (อีกแล้ว) ไปอ่านไปได้ยินว่าต้นทุนค่า logistic เมืองนอกคือไม่ถึง 10% แต่ของธุรกิจไทยเกือบ 20% แล้วตั้งคำถามกับประสบการณ์ของลูกค้าที่สั่งของจากพี่จูนแต่ต้องไปเก็บหลายโกดัง แต่ละโกดังก็ไม่มีคุณภาพ พี่จูนก็เลยมองเห็นว่าน่าจะต้องทำ warehouse ที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนให้ลูกค้าได้ แต่ตัวเองก็ไม่เคยทำ และที่น่าตื่นเต้นคือ การสร้าง warehouse ต้องใช้เงินเป็นพันล้าน แต่พี่จูนเริ่ม WHA ที่ทุนจดทะเบียนสิบล้านบาทเท่านั้น
แล้วพี่จูนทำได้อย่างไร ก็เช่นเคย ลงรายละเอียดในระดับงานก่อสร้างเอง เข้าใจต้นทุนทุกอย่าง คุยกับลูกค้าพลาสติกจนเข้าใจความต้องการของเขาจนเขาไว้ใจให้สัญญามา 15 ปีพอที่จะเอาสัญญาไปกู้เงินได้ แล้วพี่จูนก็สร้าง warehouse ที่ทันสมัยที่สุด ตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด จนเป็นจุดเริ่มต้นของ WHA ขึ้นมา เป็นธุรกิจที่พี่จูนไม่มีความรู้ ไม่เคยทำมาก่อนเช่นกัน
ทำได้ซักพักพี่จูนก็เริ่มติดเรื่องเงินทุน ต้องขายหุ้นให้กับต่างชาติบางส่วนเพื่อมาขยายงาน จนไปพบนวัตกรรมการเงิน property fund และ REIT จนทำให้เป็นเสือติดปีก เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาทเมื่อสิบกว่าปีก่อน
เทรนด์ที่สี่ นิคมอุตสาหกรรม
การทำ warehouse ต้องไปเช่าที่ในนิคมอุตสาหกรรม พี่จูนเริ่มเห็นเทรนด์การลงทุนจากต่างประเทศ (อีกละ) ว่าเริ่มเข้ามาที่ไทย และนิคมอุตสาหกรรมน่าจะบูม พี่จูนก็ทำไม่เป็น ไม่เคยทำ และไม่มีความรู้อีกเช่นเคย แต่คิดว่ามันคือเทรนด์ เริ่มเองก็ใช้เวลา เลยมีความคิดที่จะซื้อกิจการของบริษัทเหมราชที่มีขนาดใหญ่กว่า WHA ในตอนนั้น พยายามทุกวิถีทางจนไปรวมกิจการมาได้ แล้วได้คนเก่งคนดีมาร่วมงาน กลายเป็นธุรกิจหลักของ WHA ในปัจจุบัน
พอทำนิคมอุตสาหกรรม พี่จูนก็ได้พบกับเทรนด์โดยตรงจากบริษัทระดับโลก จากเดิมเป็นญี่ปุ่น เมื่อเจ็ดปีก่อนก็ได้รับรู้เทรนด์จีนก่อนใคร ได้มีโอกาสคุยกับบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ ทำให้พี่จูนผู้หากินกับเทรนด์เป็นอาหารเริ่มขยายสู่พลังงาน เริ่มเห็นโอกาสของ EV และขยายเข้าสู่ green tech เป็นคนแรกๆ รวมถึงไปสู่ภูมิภาคในหลายประเทศ จน WHA น่าจะมีมูลค่าการตลาดสองแสนล้านในปัจจุบัน
จากหนึ่งมาเป็นแสน ในเวลาหนึ่งชั่วอายุพี่จูน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถึงอายุเกษียณเลยด้วยซ้ำ..
พอได้สัมภาษณ์พี่จูน ทางหนึ่งก็เหมือนว่าพี่จูนจะตามเทรนด์ตามเทคโนโลยีอย่างมาก แต่ลึกๆ พี่จูนก็มีความเป็น “old school” ที่เชื่อในเรื่องการทำงานหนัก การรู้จริง ลงพื้นที่จริง ขายเองทำเองก่อนถึงจะสอนลูกน้อง แล้วค่อยวางระบบ
พี่จูนเชื่อเรื่อง work life purpose มาก พี่จูนบอกว่า “พอ”ในเรื่องเงินตั้งแต่หลักร้อยล้านแล้ว แต่ที่สนุกทุกวันก็คือการสร้างโอกาสให้คน การทำให้ประเทศดีขึ้นจากการดึงบริษัทเก่งๆ เข้ามาในไทยแล้วมีธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย
Trendspotter Courage และ Old school เป็นคำนิยามของผมจากการฟังพี่จูนที่ไม่น่ามีใครเหมือนและไม่เหมือนใครในหมู่นักธุรกิจไทยในวันนี้
2
ฟังพี่จูนแล้วเหมือนได้ดื่ม triple expresso ที่ทั้งเข้มข้นและ “ดีด” มากๆ พลังของพี่จูนล้นเหลือ จุดไฟให้ทุกคนที่ได้มาฟังว่า เมกกะเทรนด์นั้นสำคัญที่สุด ไม่จำเป็นว่าเราทำเป็นหรือไม่ แต่ถ้าเห็นเทรนด์ อะไรๆ ก็ทำได้หมด
ทำให้ผมนึกถึง elon musk ในประเด็นนี้ด้วยซ้ำ ที่ elon สร้างจรวดที่ reusable ได้ทั้งๆ ที่ตอนเริ่มก็ไม่รู้อะไรเลย แต่คิดว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น แล้วทำได้โดยศึกษาด้วยตัวเอง อ่านหนังสือสามเล่มก็ทำได้แล้ว elon บอกแบบนั้น…
และที่สวยงามที่สุดในการสัมภาษณ์พี่จูนในวันนี้ คือน้องเกรซ ลูกสาวคนเดียวของพี่จูนที่เพิ่งเริ่มงานที่ WHA ได้สี่เดือนมานั่งฟังอยู่ด้วย ผมถามน้องเกรซว่าประทับใจโมเม้นท์ไหน อยากบอกแม่ว่าอะไรบ้าง
1
น้องเกรซเล่าว่าในตอนที่ยากลำบากที่สุด ที่ธุรกิจอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ต้องทำงานอย่างหนัก ในตอนนั้นสามีก็เสีย พี่จูนต้องแบกโลกไว้คนเดียว ภาระเต็มไปหมด แต่พี่จูนก็จะมีเวลาให้ลูกสาว และเป็นห่วงน้องเกรซเสมอ เป็นเรื่องที่เกรซเล่าให้ฟังว่าซึ้งใจกับแม่แค่ไหน
พี่จูนก็เสริมว่า เกรซเองก็เป็นลูกที่น่ารัก ไม่เคยต้องดุ ไม่เคยต้องห่วงอะไรเลย เขากลับมาบอกแม่ด้วยซ้ำว่า รักคนอื่นดูแลคนอื่นมามากแล้ว อยากให้แม่รักตัวเองให้เยอะๆ เห็นแม่ลูกคู่นี้แล้วก็ได้แต่คิดถึงลูกสาวตัวเองเช่นกัน
เป็นโมเม้นท์ที่น้ำตาคนฟังหยดลง triple expresso โดยไม่รู้ตัวเลยครับ…
โฆษณา