19 พ.ย. เวลา 11:39 • ประวัติศาสตร์

การรัฐประหารที่ได้รับการยกย่องว่า ”โง่เง่า“ ที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อพระประมุขสวรรคต การสืบทอดราชบัลลังก์หรือการหากษัตริย์องค์ใหม่ย่อมเกิดขึ้น และเกิดขึ้นโดยเร็ว
ในบางครั้ง การสืบทอดราชบัลลังก์ก็กลายเป็นความวุ่นวายและนำไปสู่ความรุนแรง เช่นเดียวกับที่เกิดในจักรวรรดิไบแซนไทน์ดังที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟัง
1
“จักรพรรดินีธีโอโดรา พอร์ฟิโรเจนิตา (Theodora Porphyrogenita)“ จักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ได้สวรรคตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1056 (พ.ศ.1599) ด้วยพระชนมายุ 76 พรรษา และปราศจากองค์รัชทายาท
จักรพรรดินีธีโอโดรา พอร์ฟิโรเจนิตา (Theodora Porphyrogenita)
เมื่อไม่มีองค์รัชทายาท ราชสำนักไบแซนไทน์จึงต้องหารือเรื่องการเลือกผู้ที่จะขึ้นเป็นพระประมุของค์ต่อไปโดยเร็ว และผู้ที่เป็นตัวเต็งจะได้รับเลือกก็คือ “ไมเคิลที่ 6 บริงกัส (Michael VI Bringas)” หนึ่งในขุนนางในราชสำนัก
บริงกัสอายุมากกว่า 60 ปีแล้ว และไม่มีบุตร หากแต่ก็เป็นผู้ที่ดูจะฝากความหวังไว้ได้มากที่สุด
หากแต่มีชายผู้หนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยและต่อต้านอย่างรุนแรงที่จะให้ขุนนางไร้ชื่อคนหนึ่งมาสืบทอดราชบัลลังก์
1
ไมเคิลที่ 6 บริงกัส (Michael VI Bringas)
ชายผู้นั้นคือ “ธีโอโดซิออส โมโนมาโชส (Theodosios Monomachos)“ พระราชนัดดาของ “จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 9 โมโนมาโชส (Constantine IX Monomachos)” อดีตจักรพรรดิแห่งจักรวรรรดิไบแซนไทน์
3
โมโนมาโชสนั้นกริ้วหนักที่ขุนนางแก่ๆ คนหนึ่งกำลังจะได้ขึ้นบัลลังก์ ทั้งๆ ที่บัลลังก์นั้นควรจะเป็นของตน เนื่องจากตนนั้นเป็นถึงพระราชนัดดาของอดีตจักรพรรดิ เป็นเชื้อเจ้า ดังนั้นบัลลังก์นั้นไม่ควรตกเป็นของขุนนางที่ไหนก็ไม่รู้
โมโนมาโชสจึงวางแผนการรัฐประหาร ยึดอำนาจ
โดยปกติแล้ว หากจะยึดราชบัลลังก์นั้น ก็มีแนวทางอยู่สองทาง
หนึ่งก็คือ หากผู้ก่อการได้รับแรงสนับสนุนจากกองทัพมากพอ ก็จะสามารถนำทัพมายังกรุงคอนสแตนติโนเปิลและหวังว่าชาวเมืองจะเกลียดชังจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน ยอมเปิดประตูเมืองให้นำทัพเข้าไปยึดอำนาจโดยดี
แรงสนับสนุนจากประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ หากประชาชนไม่ยอมทรยศต่อองค์จักรพรรดิ การยึดอำนาจก็จะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
แนวทางที่สองนั้นจะรุนแรงกว่าแนวทางแรก นั่นคือลักลอบเข้าไปในพระราชวังหลวง และทำการปลงพระชนม์องค์จักรพรรดิ
1
แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริง โมโนมาโชสไม่ใช่แม่ทัพที่เก่งกาจ ไม่มีทุนหรือบารมีเพียงพอที่จะดึงกองทัพเข้าเป็นพวก และหากจะเข้าไปสังหารบริงกัส ก็ต้องฝ่าด่านทหารหลวงกว่า 6,000 นายเข้าไปถึงตัวบริงกัส
ไม่ไหว
2
แต่ด้วยความใจร้อน โมโนมาโชสก็ไม่ยอมแพ้และรีบดำเนินการโดยเร็ว โดยในค่ำคืนวันเกิดเหตุ โมโนมาโชสออกจากบ้านพักและดำเนินการรัฐประหารขั้นแรก โดยมีผู้ร่วมก่อการคือญาติๆ ทาสของตน และเพื่อนบ้านเพียงไม่กี่คน
2
ทั้งหมดนี้มีอาวุธครบมือ หากแต่ประสบการณ์รบทัพจับศึกแทบจะเป็นศูนย์
1
เมื่อนำทัพมายังคอนสแตนติโนเปิล โมโนมาโชสก็ชักชวนชายหนุ่มที่พบเจอตลอดทางให้เข้าร่วมกับกองทัพ ซึ่งก็มีหลายคนเข้าร่วมกับโมโนมาโชส เกิดเป็นม๊อบย่อมๆ
เมื่อนำทัพมาถึงเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในคอนสแตนติโนเปิล โมโนมาโชสและพรรคพวกก็บุกเข้าไปปลดปล่อยนักโทษ และยังมอบอาวุธ เช่น ดาบ ไม้กระบอง ให้เหล่านักโทษ ก่อนจะนำทัพมุ่งไปยังพระราชวังหลวงเพื่อยึดอำนาจ
แต่ความพินาศก็มาถึง เนื่องจากกองทัพของโมโนมาโชสเริ่มจะเละเทะ คนในทัพต่างแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง เข้าปล้นบ้านและร้านค้าต่างๆ อีกทั้งในกองทัพของโมโนมาโชสก็ประกอบด้วยเหล่านักโทษจำนวนมากซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกมา และต่างก็เป็นนักโทษร้ายแรงที่สันดานโจรแก้ไม่ได้ และโมโนมาโชสก็เพิ่งจะให้อาวุธกับคนเหล่านี้
1
เมื่อกองทัพโมโนมาโชสมาถึงพระราชวังหลวง ก็มีข่าวมาว่าราชสำนักได้สั่งการให้กองทัพหลวงเข้าสลายการชุมนุมและทำลายกองทัพกบฏให้สิ้นซาก
เมื่อทราบเช่นนี้ โมโนมาโชสจึงเปลี่ยนไปแผนสอง นั่นคือนำทัพบุกไปหาพระสังฆราช และบังคับให้แต่งตั้งตนเป็นจักรพรรดิ
หากแต่พระสังฆราชนั้นก็ไม่เอาด้วย และสั่งให้ปิดประตูวิหารอย่างแน่นหนา ไม่ต้อนรับกลุ่มกบฏ
2
เมื่อเป็นเช่นนี้ กองทัพกบฏก็แตกตื่น ทำให้เหล่ากบฏต่างหวาดกลัวว่ากองทัพหลวงกำลังจะบุกมาฆ่าพวกตน จึงแตกฮือกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง
เมื่อกองทัพหลวงมาถึง สิ่งที่พบก็คือ โมโนมาโชสนั่งจ๋องอยู่อย่างเดียวดายหน้าวิหาร มีเพียงบุตรชายอยู่ข้างกาย ส่วนคนอื่นๆ แตกหนีไปคนละทิศละทางแล้ว
4
การรัฐประหารนี้เริ่มต้นขึ้นในตอนเย็น แต่ยังไม่ทันถึงเที่ยงคืน แผนการก็ล่มเสียแล้ว
เมื่อโมโนมาโชสถูกนำตัวมาให้บริงกัสลงโทษ ตัวบริงกัสเองก็ถึงกับสังเวชในสภาพที่เห็น
บริงกัสไม่สั่งประหาร ไม่ให้ทรมานหรือทำอะไรโมโนมาโชสทั้งสิ้น เพียงแค่สั่งเนรเทศไปอยู่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้อย่างสุขสบายในกรีซ โดยในสายตาของบริงกัส การรัฐประหารครั้งนี้น่าสมเพชเกินกว่าจะใช้คำว่า “กบฏ” ได้ด้วยซ้ำ
7
ในประวัติศาสตร์ของไบแซนไทน์ พระประมุขหลายองค์ก็มีพระสมัญญานามต่อท้าย โดยดูจากพระลักษณะนิสัยของแต่ละพระองค์ เช่น “ผู้โหดร้าย” หรือ “ผู้เฉลียวฉลาด” เป็นต้น ซึ่งโมโนมาโชสก็มีสมัญญานามต่อท้ายและเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน
1
“ธีโอโดซิออส โมโนมาโชสผู้ “โง่เง่า” (Theodosios Monomachos “The Moron“)“
2
โฆษณา