20 พ.ย. เวลา 07:00 • อาหาร

'แมลง' โปรตีนสูง หนทางสู่ความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์โลก

☝️Click >> 'แมลง' ทางรอดวิกฤตขาดแคลนอาหารของมนุษย์ แถมช่วยแก้วิกฤตโลกร้อน
🔎Clear >> ปัจจุบัน 'แมลง' เริ่มกลายเป็นอาหารชั้นเลิศที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในจังหวะที่โลกเริ่มห่วงสภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารดั้งเดิมของมนุษย์
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่า แมลงเป็นแหล่งอาหารทางเลือกใหม่ของโลก เพราะมีโภชนาการสูง ให้โปรตีนสูงกว่าเนื้อวัวและช่วยลดต้นเหตุก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกแถลงการณ์ขึ้นทะเบียน 'ตั๊กแตน' เป็นอาหารชนิดใหม่ที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยสำหรับการบริโภคแล้ว
ขณะที่รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก เมื่อปี 2561 กล่าวว่า สหรัฐอเมริกานิยมบริโภคแมลงสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยกลุ่มคนที่นิยมบริโภคเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน คนหนุ่มสาว และมักจะบริโภคทั้งในรูปแบบแมลงสดแช่แข็งเพื่อนำไปประกอบอาหาร หรือแบบทอดอบสำเร็จพร้อมทาน หรือแม้แต่ผงโปรตีนแมลงเพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหารหรือขนม
สำหรับแมลงที่ได้รับความนิยม ได้แก่ จิ้งหรีด, รถด่วน, ตั๊กแตน, ดักแด้, ปลวก, หนอนนก และจักจั่น ซึ่งการบริโภคแมลงนั้น ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า แมลงสามารถบริโภคได้แต่ต้องได้มาตรฐานความสะอาด มีสลากที่แจ้งส่วนผสมอย่างชัดเจน ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ และอนุญาตเฉพาะแมลงเลี้ยงเท่านั้น
ส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขของไทยแนะนำให้ชุมชน / ชนบทบริโภคแมลงเพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการ และยังได้รับความนิยมในตลาดในเมืองด้วย โดยมีการใช้สูตรอาหารต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของแมลง เช่น การย่างจิ้งหรีดและด้วง และการทอดตั๊กแตน ซึ่งแมลงยังถูกนำมาผสมในอาหาร โดยคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคแมลงแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม ศาสนา และภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ในประเทศ ความหลากหลายของอาหารแมลงจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในเขตเมือง ซึ่งผู้คนบริโภคแมลงเป็นอาหารทั้งจานหลัก อาหารว่าง หรือทั้งสองอย่างมากขึ้น
สำหรับประโยชน์ของการบริโภคแมลงนั้นมีมากมาย เนื่องจากแมลงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยให้สารอาหารที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของแมลง เช่น...
1.ตั๊กแตน ให้พลังงาน 152.9 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 20.6 กรัม ไขมัน 6.1 กรัม มีแร่ธาตุฟอสฟอรัส และวิตามินบี 3
2.มดแดงกินตัวอ่อน ดักแด้มดงาน ไข่มดแดง ให้พลังงาน 82.8 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 3.2 กรัม มีแร่ธาตุฟอสฟอรัส
3.จักจั่น ให้พลังงาน 90-150 กิโลแคลอรี / แมลงกินูน แมลงปีกแข็ง ให้พลังงาน 77.8 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 13.4 ไขมัน 1.4 มีแร่ธาตุฟอสฟอรัส และวิตามินบี 3
4.จิ้งหรีด ให้พลังงาน 121.5 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 12.9 กรัม ไขมัน 5.5 กรัม มีแร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินบี 2
5.หนอนไม้ไผ่ หนอนผีเสื้อ กินเยื่อไผ่ในกระบอกไม้ไผ่ ให้พลังงาน 231 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 9.2 กรัม ไขมัน 20.4 กรัม มีแร่ธาตุฟอสฟอรัส และวิตามินบี 3
6.ดักแด้ไหม ดักแด้ผีเสื้อหนอนไหม ให้พลังงาน 98 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 9.6 กรัม ไขมัน 5.6 กรัม มีแร่ธาตุฟอสฟอรัส และแคลเซียม
7.แมลงกระชอน ให้พลังงาน 125.1 กิโลแคลอรี มีโปรตีน 15.4 กรัม ไขมัน 15.4 กรัม มีแร่ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก
ถึงแม้ว่าแมลงจะเป็นแหล่งอาหารในอนาคต แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการรับประทานสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืด ซึ่งมีโอกาสในการแพ้ส่วนประกอบของแมลง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูก และหญิงมีครรภ์ เนื่องจากในแมลงปีกแข็งจะมีสารไคตินส่งผลถึงการดูดซึมแคลเซียม หรือก่อให้เกิดความผิดปกติของการเจริญของทารกในครรภ์ได้ ส่วนแมลงที่ผ่านการทอดเพื่อทำเป็นอาหารนั้น ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงต้องระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงโรคอ้วนและภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด
'แมลง' นอกจากจะเป็นอาหารของมวลมนุษยชาติในอนาคตแล้ว การบริโภคแมลงยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพราะการเพาะเลี้ยงแมลงใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์อื่น ๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย
โฆษณา