20 พ.ย. 2024 เวลา 01:38 • ธุรกิจ

นิ่งและฟังหาจังหวะเดียวกันให้เจอ กับ 6 วิธีโน้มน้าวใจคนให้คิดดูใหม่

จะเปิดใจใครสักคนให้ตาสว่างอย่างประสบผลสำเร็จ ขอให้เขายอมรับฟังเราไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าคุณพูดหว่านล้อมได้อย่างมีศิลปะตาม 6 ขั้นตอนต่อไปนี้ บางทีเขาอาจจะเอะใจฉุกคิดขึ้นมาได้บ้าง
2
6 วิธีโน้มน้าวใจคนให้คิดดูใหม่
1. เต้นเข้าจังหวะเดียวกันกับเขา
1
เก็บข้อเท็จจริงชุดใหญ่ที่เรามีเอาไว้ในมือก่อน ไม่มีทางที่เราจะไปเปลี่ยนความเชื่อของคนอื่นได้โดยใช้วิธีการทื่อๆ ถึงคุณจะโยนชุดข้อมูลทั้งหมดให้อีกฝ่าย และแม้ว่ามันจะจริงสำหรับคุณแค่ไหนก็ตาม พวกเขาก็คงไม่สามารถรับทั้งหมดนั้นได้ในคราวเดียว
1
ลองนึกถึงยุคที่ยังเชื่อกันว่า ‘โลกแบน’ ดูสิ ถึงคุณจะยืนยันว่า ‘โลกกลม’ แค่ไหน ก็ไม่มีใครกล้าพอจะเชื่อตามคุณแน่ เพราะไม่มีใครคิดสงสัยมาก่อน แถมยังขัดแย้งกับความเชื่อตามหลักศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนสูงมากด้วย เมื่อเห็นน้ำเชี่ยวก็ไม่ควรเอาเรือไปขวาง
2. นิ่งฟังเขาและจับใจความสำคัญ
จุดไหนทำให้เราหงุดหงิดต้องระวังและยั้งตัวเอง พยายามสงบใจ นิ่งฟัง พูดให้น้อยที่สุด เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายแสดงความคิดความเชื่อที่มีอยู่เดิมของเขาออกมาตีแผ่ให้คุณเห็นทั้งหมด แล้วค่อยๆ ลองพิจารณาตามว่าจุดไหนที่เขากำลังเข้าใจต่างจากเราอยู่ แล้วคุณยังสามารถประเมินได้คร่าวๆ ด้วยว่าเขาพร้อมจะรับฟังความจริงอีกด้านหนึ่งแค่ไหน ถ้าสามารถล่วงรู้ไปถึงต้นตอที่ทำให้เขาเชื่อแบบนั้นได้ยิ่งดี คุณจะได้กลับไปทำการบ้านให้ดีๆ ก่อนจะกลับมาคุยกับเขาในคราวต่อไป
3. โน้มน้าวจากจุดร่วม
จริงๆ แล้วเราอาจยึดหลักความจริงเดียวกันอยู่ โดยพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ต่างต้องมีจุดเชื่อมโยงบางอย่าง บ่อยครั้งที่คุณอาจพบว่า ความตั้งใจของเรากับเขาจริงๆ นั้นเหมือนกัน เราอยากได้ผลลัพธ์เดียวกัน เพียงแต่เรามีวิธีคิดวิธีทำกันไปคนละแบบ
ถ้าคุณค้นเจอจุดร่วมใหญ่ๆ นั้นได้ ให้ลองเริ่มต้นมองจากมุมของเขา แล้วค่อยๆ โน้มน้าวอีกฝ่ายให้เห็นว่าเราต่างก็มีความเชื่อเดียวกัน ต้องพยายามทำให้เขาเห็นว่าเราคือพวกเดียวกันกับเขาให้ได้ก่อน
4. ชวนเขาเอะใจด้วยการถามกลับ
จะใส่ความคิดใหม่ได้ ต้องสั่นคลอนความเชื่อเดิมของเขาให้ได้ก่อนด้วยการลองตั้งคำถามกลับอย่างนุ่มนวลและใจเย็น เลือกใช้คำพูดให้ดี เปลี่ยนคำถามจาก WHY เป็น HOW เพื่อให้เขาได้แสดงข้อเท็จจริงออกมามากกว่ามุมมองความคิดเห็นส่วนตัว
2
ที่ผู้ตอบอาจนำเรื่องเขาเล่าว่า หรือตำนาน ความเชื่อต่อๆ กันมา มาตอบมากกว่าอธิบายอย่างมีหลักการ ซึ่งทำให้ไม่อาจหาข้อสรุปร่วมกันหรือหักล้างความเชื่อซึ่งกันและกันได้ เช่น ถ้าเราเชื่อว่าโลกแบน ให้ลองถามอีกฝ่ายว่า มีข้อสังเกตไหนที่บ่งบอกว่าโลกของเรากลมบ้าง เป็นต้น ถ้าเขาสามารถอธิบายได้ มีสมมติฐานและข้อพิสูจน์ที่ทำให้เราคล้อยตาม บางทีอาจเป็นเราเองที่เข้าใจผิดก็เป็นได้
5. พิสูจน์ให้อีกฝ่ายเห็นความจริง
ศิลปะของการโน้มน้าวใจนั้นยากก็ตรงนี้ คุณต้องเริ่มป้อนข้อมูลที่เขาพอจะรับได้ทีละน้อยก่อน ให้เขาค่อยๆประจักษ์แจ้งจนเริ่มเปิดใจรับฟังความคิดของคุณ
คุณแค่คอยสะท้อนกลับความคิดความเชื่อผิดๆ ของเขาบ่อยๆ โดยหลีกเลี่ยงที่จะใส่อารมณ์ลงไป เพื่อให้เขาไม่รู้สึกอยากจะต่อต้าน หรือรู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้เชื่ออยู่
เราต้องเปิดโอกาสให้เขาคิดและสังเกตเห็นความจริงอีกด้านด้วยตัวของเขาเอง จนกระทั่งเลือกที่จะเปลี่ยนความเชื่อของตัวเขาเองจนได้ในที่สุด
6. เว้นพื้นที่ให้เขาเลือกที่จะเชื่อ
เมื่อคุณแน่ใจว่านำเสนอทางเลือก เป็นคำตอบที่แข็งแรง สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ หาอะไรมาค้านหรือหักล้างแทบไม่ได้แล้ว ก็แค่ปล่อยให้เขาได้มีพื้นที่ที่จะตรึกตรองและทบทวนความจริงด้วยตัวเขาเอง
คุณอาจต้องเว้นระยะการติดตามความคืบหน้า ค่อยๆ ถามไถ่เขาเพื่อตรวจสอบความคิดอ่านและความรู้สึกของเขาแต่ละครั้ง ในจังหวะเวลาที่ต่างฝ่ายต่างอารมณ์ดี เพื่อคุณเองก็จะได้เห็นถึงความคืบหน้าของกระบวนการโน้มน้าวใจว่าเข้าใกล้ความจริงหรือยัง
กระบวนการเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากการต่อบทสนทนาชวนคิดระหว่างนักปราชญ์สมัยกรีกโบราณ หรือถ้าเทียบให้ใกล้ตัวขึ้นมาก็เหมือนเวลาเราไปปรับทุกข์ให้นักจิตบำบัดฟังนั่นล่ะ
พวกเขาจะคอยสะกิดให้เรารับรู้ถึงความคิดอันบิดเบี้ยวที่เราปรุงแต่งขึ้นมา แล้วค่อยๆ พาเราสำรวจลึกลงไปในใจตัวเอง และออกมายืนมองในมุมของคนอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อที่จะค่อยๆ กระตุ้นต่อมคิดให้อีกฝ่ายเอะใจ รู้สึกตัวว่าเขามองอยู่ในมุมอับ และกำลังเข้าใจผิดมาโดยตลอด
จนกว่าจะถึงเวลาที่ดอกไม้บาน เขายอมรับฟังและตั้งคำถามกับตัวเอง ยินดีเลือกที่จะ ‘Think Again’ เปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิด รับสิ่งใหม่ที่จะมอบทางออกที่ดีกว่าสำหรับทุกฝ่ายได้เสียที
✍🏻 เรียบเรียง 🎨 ภาพประกอบ: พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ
🎨 ภาพประกอบ: ชนสรณ เวชสิทธิ์
โฆษณา