5 ธ.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

มีคนถามว่า นักเขียนใหม่ควรเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยายดี

บางคนคิดว่านวนิยายดูมีราคากว่าเรื่องสั้น ถ้าพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ก็หนาและดูเท่กว่า
แต่จริงๆ แล้วการเขียนเรื่องสั้นชั้นครูยากกว่าเขียนนวนิยาย เหตุเพราะมันสั้น ไม่อนุญาตให้น้ำท่วมทุ่ง ต้องกระชับ รัดกุม และมีความเป็นศิลปะกว่า
สมัยก่อนเรานิยมเรียกนักเขียนนวนิยายว่า ‘นักประพันธ์’ ภาษาฝรั่งเรียก novelist ฟังดูเท่ บางทีก็เรียก author
แต่เดี๋ยวนี้บ้านเราเรียกรวมเป็นนักเขียนหมด
กลับมาที่คำถาม นักเขียนใหม่ควรเริ่มเขียนเรื่องสั้นดี หรือนวนิยายดี
1
หลังจากทำงานมานานปี ผมก็ยืนยันคำแนะนำของนักเขียนรุ่นครูรุ่นก่อนคือ นักเขียนใหม่ควรเริ่มเขียนเรื่องสั้นก่อน อย่าริเขียนนวนิยายเมื่อยังไม่พร้อม
จนเมื่อชำนาญเรื่องสั้นแล้ว จึงค่อยเริ่มเขียนนวนิยาย
ทำไม?
เพราะใครก็ตามที่คุมเรื่องสั้นได้ดี ก็มักจะคุมนวนิยายได้ดี แต่คนที่คุมนวนิยายได้ดี อาจคุมเรื่องสั้นไม่ได้เลย
นักเขียนชื่อก้องโลก วิลเลียม ฟลอคเนอร์ เคยเขียนว่า “บางทีนักประพันธ์ทุกคนเริ่มต้นต้องการเขียนบทกวี แล้วพบว่าทำไม่ได้ จึงลองเขียนเรื่องสั้น ซึ่งยากรองจากบทกวี เมื่อทำไม่ได้อีก ก็เลยเขียนนวนิยาย”
เขียนเรื่องสั้นยากกว่า แต่ในระยะยาวได้ประโยชน์มากกว่า
ลองดูโครงสร้างของนวนิยาย
โครงสร้างของนวนิยายคือมีแกนหลักหนึ่งแกน แล้วมีซับพล็อตหลายๆ อันมาปะรวมกัน
พูดง่ายๆ คือนวนิยายก็คือเรื่องสั้นหลายเรื่องมารวมกัน
มองแบบนี้ เรื่องสั้นก็คือซับพล็อตหนึ่งเรื่องที่จบในตัว
ดังนั้นหากยังเขียนซับพล็อตเดียวไม่เก่ง ไยจึงหาเหาใส่เฮดเขียนซับพล็อตทีละสิบเรื่องพร้อมกันเล่า?
ส่วนใหญ่แล้วถ้ายังไม่สามารถเขียนเรื่องสั้นหนึ่งเรื่องให้ดี ก็ยากจะเขียนนวนิยายทั้งเรื่องได้ดี
1
และที่สำคัญคือ หากสามารถทำงานยากกว่าได้ดี กลัวอะไรกับงานง่ายกว่าเช่นนวนิยาย
นักกอล์ฟผู้มีชื่อเสียงระดับโลกคนหนึ่ง (ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว) เคยบอกว่า เขาเริ่มต้นฝึกท่ายากที่สุดในวงการกอล์ฟ เหตุผลเพราะ “ถ้าคุณเล่นสิ่งที่ยากที่สุดแล้ว ที่เหลือก็ง่ายนิดเดียวว่ะ”
ย่อมมีคนแย้งว่า มีนักเขียนจำนวนมากไม่เขียนเรื่องสั้น ทั้งชีวิตเขียนแต่นวนิยายที่ขายดิบขายดี กิมย้งงี้ พนมเทียนงี้...
ก็จริงนะ แต่นั่นมันเขา ไม่ใช่เรา
1
โฆษณา