วันนี้ เวลา 03:00 • การตลาด

อธิบาย 8 คำศัพท์ การทำ Segmentation ไว้ใช้แบ่งกลุ่มลูกค้า ทำการตลาดให้เหมาะสม

Segmentation (การแบ่งกลุ่มผู้บริโภค) คือกลยุทธ์การตลาดสำหรับการแบ่งผู้บริโภคออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามลักษณะบางประการที่มีเหมือนกัน
เพื่อให้แบรนด์สามารถทำการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความเหมาะสม โดยไม่ได้ทำการตลาดแบบหว่านแห
การทำ Segmentation มีหลายวิธีที่ทำได้ ในโพสต์นี้ MarketThink รวมมาให้แล้ว
1. Demographic Segmentation
การแบ่งตามลักษณะประชากร คือการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจะได้ยินกันบ่อยที่สุด และทำได้ง่ายที่สุด
เช่น
- เพศ (ชาย / หญิง / อื่น ๆ)
- อายุ (ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 20 ปี / 21-30 ปี / 31 ปีขึ้นไป)
- อาชีพ (พนักงานบริษัทเอกชน / เจ้าของกิจการ / ข้าราชการ / อาชีพอิสระ)
- รายได้ (ไม่มีรายได้ / รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท / 15,000-25,000 บาท / รายได้มากกว่า 25,000 บาท)
- ระดับการศึกษา (ต่ำกว่าปริญญาตรี / ปริญญาตรี / ปริญญาโท / ปริญญาเอก)
- ศาสนา (ไม่นับถือศาสนา / พุทธ / คริสต์ / อิสลาม)
- สถานภาพการสมรส (โสด / สมรส / หย่าร้าง)
- ลักษณะของที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว / คอนโดมิเนียม / ตึกแถว / บ้านขนาดเล็ก / บ้านขนาดใหญ่)
เป็นการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ทำได้ง่ายที่สุด และทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยการตีความ หรือวิเคราะห์ให้ยาก
เหมาะกับแบรนด์ที่มีสินค้าหลายระดับราคา
เช่น แบรนด์สมาร์ตโฟน รุ่นเรือธง อาจต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง ในขณะที่สมาร์ตโฟนรุ่นกลาง ๆ อาจต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ไม่มาก
2. Geographic Segmentation
แบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
เช่น
- ทวีป (อเมริกา / ยุโรป / เอเชีย / ออสเตรเลีย)
- ประเทศ (ไทย / จีน / ญี่ปุ่น / เกาหลีใต้)
- ภูมิภาค (ภาคกลาง / ภาคตะวันออก / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ / ภาคใต้ / ภาคตะวันตก)
- จังหวัด (กรุงเทพมหานคร / นนทบุรี / เชียงใหม่ / นครราชสีมา)
- พื้นที่ตามความหนาแน่นของประชากร (พื้นที่หนาแน่นมาก / พื้นที่หนาแน่นน้อย)
- พื้นที่ตามลักษณะของเมือง (พื้นที่เขตเมือง / พื้นที่ชนบท)
- พื้นที่ตามสภาพอากาศ (พื้นที่อากาศอบอุ่น / พื้นที่อากาศหนาว / พื้นที่อากาศร้อน)
โดยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จะส่งผลต่อพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ของผู้บริโภค เช่น พฤติกรรม ความคิด ความต้องการ ทัศนคติ
สมมติให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่า ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ อาจมีความต้องการซื้อรถเก๋ง แต่ในขณะที่คนในพื้นที่ชนบท อาจต้องการซื้อรถกระบะมากกว่า เพราะผู้บริโภคทั้งสองกลุ่ม มีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน
ดังนั้น การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ จึงเหมาะกับธุรกิจที่ต้องการขายสินค้า ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่
3. Psychographic Segmentation
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามการศึกษาทางด้านจิตวิทยาของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลิกภาพ นิสัย ค่านิยมและความเชื่อ และความสนใจ
เช่น
- บุคลิก (ยิ้มแย้ม / จริงจัง / เคร่งขรึม / ตลก)
- ไลฟ์สไตล์ (ชอบออกกำลังกาย / ชอบเที่ยวแอดเวนเจอร์ / ติดแกลม)
- ความสนใจ (สนใจเรื่องการเล่นหุ้น / ชอบเทคโนโลยี / ชอบตามข่าวการเมือง)
- งานอดิเรก (สะสม Art Toy / ชอบแต่งรถ / ชอบไปคาเฟ / ชอบปลูกต้นไม้ / ชอบดู Netflix)
- รวมถึงค่านิยม เป้าหมายในชีวิต ความเชื่อ และทัศนคติ แล้วแต่ว่าจะแบ่งกลุ่มแบบใด
เหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการแบ่งกลุ่มผู้บริโภค มากกว่าการมองว่าผู้บริโภคที่ต้องการเป็นใครตามลักษณะประชากร
แต่ลงลึกไปถึงจิตวิทยา ทำให้สามารถขายสินค้าได้เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคอย่างแท้จริง
4. Behavioral Segmentation
มีความคล้ายกับการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคแบบ Psychographic Segmentation แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Behavioral Segmentation จะแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการซื้อสินค้าโดยเฉพาะ
เช่น
- พฤติกรรมการซื้อสินค้า (ซื้อที่หน้าร้าน / ซื้อที่แพลตฟอร์มออนไลน์ / ดูสินค้าครั้งเดียว / ดูสินค้าหลายครั้ง)
- พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย (ใช้เพื่อความบันเทิง / ใช้เพื่อหาความรู้ / ใช้เพื่อหาแรงบันดาลใจ)
- พฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน (ประหยัด / ฟุ่มเฟือย / ชอบเปย์คนอื่น / ชอบของถูก / ชอบของแพง)
- Brand Loyalty หรือความภักดีที่มีต่อแบรนด์ (ไม่มีเลย / มีน้อย / มีมาก)
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคแบบนี้ เหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการทำการตลาดแบบ Personalized ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม
5. Technographic Segmentation
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคโดยการใช้พฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีของผู้บริโภค เป็นปัจจัยในการตัดสิน
เช่น
- พฤติกรรมการใช้สมาร์ตโฟน (ใช้เพื่อความบันเทิง / ใช้เพื่อสร้างรายได้ / ใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน)
- พฤติกรรมการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ (ไม่เปิดรับเทคโนโลยี / เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ได้ง่าย)
- เว็บเบราว์เซอร์ที่ใช้ (Microsoft Edge / Safari / Google Chrome)
- ระบบปฏิบัติการที่ใช้ (Android / iOS / Windows / macOS)
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคแบบนี้ เหมาะกับการทำตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
เช่น ผู้บริโภคที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ง่าย ก็อาจเหมาะกับแบรนด์ที่กำลังออกสินค้ารุ่นใหม่ล่าสุด ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น Apple Vision Pro
หรือลูกค้าที่ใช้เว็บเบราว์เซอร์ Safari ก็อาจเหมาะกับแบรนด์ที่ขายอุปกรณ์เสริมสำหรับสินค้า Apple โดยเฉพาะ
6. Firmographic Segmentation (for B2B)
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคสำหรับแบรนด์ที่ทำธุรกิจแบบ B2B โดยเฉพาะ
เช่น
- ประเภทของธุรกิจ (ธุรกิจเทคโนโลยี / ธุรกิจบริการ / ธุรกิจการเกษตร / ธุรกิจสื่อ / ธุรกิจค้าปลีก)
- สถานที่ตั้ง (กรุงเทพฯ / ชลบุรี / สมุทรปราการ)
- ขนาดของธุรกิจตามรายได้ (รายได้ต่ำ / รายได้ปานกลาง / รายได้สูง)
- ขนาดของธุรกิจตามจำนวนพนักงาน (ธุรกิจขนาดเล็ก / ธุรกิจขนาดกลาง / ธุรกิจขนาดใหญ่)
เหมาะสำหรับแบรนด์ที่มีโมเดลธุรกิจแบบ B2B ขายสินค้าหรือบริการให้กับธุรกิจอื่น ๆ ไม่ใช่ผู้บริโภคทั่วไป
7. Needs-Based Segmentation
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามความต้องการ ของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม
เช่น
- ความต้องการด้านราคา
- ความต้องการด้านคุณภาพ
- ความต้องการด้านบริการ
- ความต้องการฟีเชอร์และการใช้งาน
- ความต้องการด้านชื่อเสียงของแบรนด์
8. Social Media Segmentation
การแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่กลุ่มผู้บริโภคใช้ในการรับสื่อ
เช่น
- กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ Facebook
- กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ Instagram
- กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ TikTok
- กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ YouTube
- กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ X
โดยผู้บริโภคในแต่ละแพลตฟอร์มย่อมมีพฤติกรรม ความต้องการในสินค้าหรือบริการ รวมถึงการเปิดรับสื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการทำการตลาดของแบรนด์
โฆษณา