20 พ.ย. เวลา 14:51 • ศิลปะ & ออกแบบ

นิทรรศการ "Preserving The Happenings" การบันทึกภาพศิลปะไว้บนเซรามิก

งานนิทรรศการที่ชวนให้คุณมา 'สัมผัสความคงทนที่อยู่เหนือกาลเวลา' เพราะ ‘เซรามิก’ สามารถบันทึกความทรงจำของคุณไปได้อีกเป็นร้อยๆ ปี
นิทรรศการ "Preserving The Happenings" จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงพลังแห่งศิลปะและความทรงจำที่คงอยู่ตลอดไป
⚪ ในนิทรรศการนี้เราสามารถ “จับภาพ” ได้โดยไม่กลัวสีหลุด
โดยปกติแล้วเราไม่ควรใช้มือเปล่าจับภาพ เพราะความร้อนและคราบไขมันจากมืออาจทำให้สีหลุดลอกผิดเพี้ยนไปได้ แต่ทว่ากฎนั้นใช่ไม่ได้กับเซรามิกสมัยใหม่ที่พัฒนาไปมาก
เซรามิกกลายเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ใช้ในการ ‘ถนอม’ และ ‘บันทึก’ ความทรงจำของเราได้อย่างยืนนานเหนือกาลเวลา
ด้วยเทคนิคพิเศษ Hi-Res Ceramax การค่อยๆ สกรีนสีทีละสี ทีละชั้นจนได้สี และเนื้อเซรามิกที่ต้องการ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อออกจากเตาเผาแล้วเซรามิกจะออกมาเป็นอย่างไร งานนี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทั้งในแง่ของเนื้อดิน สูตรสี และประสบการณ์การเผาชิ้นงาน เพื่อให้ได้ผลงานที่ตรงกับต้นฉบับภาพของศิลปินมากที่สุด
⚪ Preserving the Happening นิทรรศการนี้เชิญชวนให้ผู้ชมเห็นคุณค่าของการรักษาช่วงเวลาสำคัญในชีวิต ให้กลายเป็นความทรงจำที่งดงามและยืนยาวตลอดไป และเป็นการโชว์ผลงานที่ชวนคุณมาสัมผัสผลงานได้อย่างไม่หวง (แต่อย่าไปทุบมันล่ะ)​ อยากลองชวนไปจ้องผลงานใกล้ๆ มาก เพราะเกรนของสีมันแนบเนียนราวกับภาพวาดเลยล่ะ ถ้าไม่เอียงหน้าดูอาจไม่รู้ว่านี้คือผิวกระเบื้อง
ด้วยเทคนิคพิเศษของ Pixcera Gallery ที่เชี่ยวชาญด้านเซรามิกอาร์ตทำให้ได้ชิ้นงานที่ออกมาเป็นกระเบื้องลวดลายพิเศษ เฉพาะตัวของแต่ละศิลปินกว่า 10 คนที่มาร่วมโปรเจ็ค บันทึกเรื่องราวเศษเสี้ยวของประสบการณ์ของแต่ละคนลงในผลงานครั้งนี้
⚪ โพสต์นี้พาไปดูผลงานของศิลปินทั้ง 10 ท่าน
ใครสนใจไปงานก็แวะไปกันได้เลย เดินทางสะดวกใกล้รถไฟฟ้าอารีย์ แนะนำไปช่วงบ่ายแสงดีมากๆ ผลงานสามารถลูบจับสีได้ แต่อย่ารุนแรงนักนะ ทุบเซรามิกก็แตกได้
Siripong Kitjawat หรือ The Flow
ศิลปินเจ้าของผลงาน Pop Art ที่หยิบเอาวัฒนธรรมไทยแบบ cult มาเล่นแบบสนุกสนาน
เป็นผลงานที่มีกลิ่นอายแบบงาน Commercial Art ที่เข้าถึงผู้คนได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้คนทั่วไปเกิดความคุ้นเคยกับสิ่งที่นำเสนอ แถมยังเคลือบความสนุกสนาน หยอกล้อขำขัน สอดไส้ความกวนเล็กน้อย (เจ้าของผลงานใส่เสื้อมาเหมือนผลงานตัวเองเด๊ะเลย 😂)
โดยงานต้นฉบับแบบดิจิทัลอาร์ต ถูกเอามาแปลงเป็นงานเซรามิก ลองทายกันดูว่าชิ้นไหนทำยากที่สุด ?
คำตอบคือภาพสาวสายมู ที่ใช้สีเหลืองและแดง เพราะเป็นสีที่ทำการสกรีนและเผาให้ตรงตามเฉดสีที่ต้องการยากมาก กว่าจะได้ภาพนี้มาจึงต้องทำการทดลองหลายครั้ง
Surat Tomornsak​ หรือ Try2benice
Try2benice ในบทบาท​ของการเป็นนักวาดภาพประกอบ ศิลปินมีที่มาและวิธีคิดที่เชื่อมโยงจากการทำงานเป็นนักออกแบบ​กราฟิกเขามักสร้างผลงานจากรูปทรงเรขาคณิต​ที่เข้าใจง่าย
เช่น เขาเริ่มวาด cat02chan (แคททูจัง) แมวสีดำหน้าตาอยากรู้อยากเห็น​ชื่อและเพื่อนๆ จากการวางวงกลม วงรี และเส้นตรง จากความคุ้นมือที่ศิลปินชอบขึ้นรูปทรงพื้นฐานในการออกแบบโลโก้ และกราฟิกต่างๆ
เขามักจะชื่นชอบในเรื่องเล่าของความสงบยามพักผ่อนหลังการทำงาน ขณะขี่จักรยานเล่นในเมืองชิซูโอกะ (Shizuoka)​ ประเทศญี่ปุ่น (และไม่ใช่ ชิซูกะ แห่งโดเรมอน)​
น้องแคททูจัง เต็มไปด้วยชีวิตชีวา อากัปกิริยาต่างๆ ของน้องแมวถูกบันทึกลงบนแผ่นเซรามิกทางกลม ล้อไปกับความกลมของน้อง
เหมือนน้องจะกลิ้งได้อยู่แล้ว
Nakrob Moonmanas
ชื่อนี้คนในวงการน่าจะรู้จักกันดี เพราะเป็นศิลปินสายคอลลาจที่โดดเด่นในแง่ของการผสมผสานงานตะวันตกกับวัฒนธรรมตะวันออกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานของนักรบมักเป็นการเล่าถึงสิ่ง ที่เหมือน / สิ่งที่แตกต่าง ในภาพเดียว เช่นในภาพขวา ที่สองวัฒนธรรมามาเทียบกัน บอกเล่าถึงจุดรุ่งเรืองและการล่มสลาย
โดยการหยิบเอาภาพประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่พบที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาจัดวางประกอบกับ Venus de Milo ให้เห็นถึงจุดสูงสุดและการแตกหักที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
งานที่มีกลิ่นอายของความเก่าแบบนี้เหมาะกับเซรามิกมากเลยว่าไหม เหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านการใช้ภาพกระเบื้องในสมัยโบราณ
YOON Phannapast
คุณยูน ปัณพัท เตชเมธากุล เป็นอีกหนึ่งศิลปินแนวหน้าของไทยที่ได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Gucci ซึ่งงานคุณยูนนั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะด้วยลายเส้นที่พริ้วและการใช้สี
ครั้งนี้เป็นภาพวาดของตัวละครสัตว์เเละดอกไม้ใน Collection Dragon Year มีความหมายพิเศษคือ จุดประกายการเฉลิมฉลองกับพลังเชิงบวก การขอให้สมหวังและสมปรารถนาในทุกๆ เรื่อง
จะเห็นว่าปกติเซรามิกปกติมักจะทำเป็นแผ่นเหลี่ยมหรือกลม ไม่มีรอยหยักเข้ามาข้างในเพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแตกร้าวที่อาจเกิดตามมาได้
เพื่อให้ได้ผลงานนี้ออกมาจึงต้องใช้เทคนิคและความเชี่ยวชาญในการช่วยตัดให้ได้รูปทรงแบบ Free Form แบบนี้เลยล่ะ ไม่ใช่ง่ายๆ เลย
Yuree Kensuku
ยุรี เกนสาคู ศิลปินนักออกแบบลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น มีชื่อเสียงอย่างมากในวงการศิลปะร่วมสมัยทั้งในไทย และนานาชาติ ผลงานของคุณยุรีโดดเด่นด้วยคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ สีสันที่สดใส อีกทั้งยังมีเข้าร่วมแสดงผลงานนิทรรศการเดี่ยวหลากหลายงาน
เช่น BLEU BLANC ROUGE, Centre Intermondes, La Rochelle ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2020 The Lady on a White Horse, Tang Contemporary Art กรุงเทพฯ, Hawai’i Triennale 2022, Bangkok Art Biennale 2020, Thailand Biennale 2018 เป็นต้น
นอกจากนี้ผลงานของคุณยุรียังเป็นส่วนหนึ่งของคลังสะสมในพิพิธภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่ Mori Art Museum กรุงโตเกียว และ Yokohama Museum of Art กรุงโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น, Singapore Art Museum และ MAIIAM Contemporary Art Museum อีกด้วย นอกจากจะมีผลงานมาสเตอร์พีซมากมายแล้ว ยังได้ไปเป็นศิลปินพำนัก (Artist Residency) ที่ฝรั่งเศสอีกด้วย
ในคอลเลกชันนี้คุณยุรีได้แรงบันดาลใจจากงานเซรามิกสีน้ำเงินในอดีต คือ ‘ภาพวิหคเพลิง’ จากเทพปกรณัมผู้เป็นอมตะ เกิดขึ้นใหม่เฉิดฉายหลังผ่านความร้อน แผดเผา และ ‘ภาพมังกรธารา’ ผู้แช่แข็งกาลเวลาได้ เสมือนเครื่องเซรามิกที่ทนทาน ตราบนานเท่านาน
ซึ่งถือเป็นคอลเลกชันพิเศษสำหรับ PixCera เป็นความท้าทายในรูปแบบการทำงานเซรามิก เพราะนอกจากรูปทรงการตัดเซรามิกที่ล้อมกรอบแบบตามคาแรคเตอร์แล้ว ยังมีการซ้อนชั้นทำให้ภาพมีมิติด้วย หากไม่บอกคงไม่รู้ว่าทำมาจากเซรามิก
POD Thanachai Ujjin หรือ ‘ป๊อด โมเดิร์นด็อก’
งาน abrtarct ของนักร้องชื่อดัง คุณป๊อด นอกจากด้านดนตรีแล้วรู้ไหมพี่เขายังทำงานด้านศิลปะด้วยนะ
ซึ่งคอลเลกชัน EVIDENCE จริงๆ มี 35 ภาพ ทั้งหมด 5 อิดิชั่น ซึ่งตอนนี้เหลือแค่ 3 ภาพนี้จากอิดิชั่น สุดท้ายและพิเศษตรงคุณป๊อดอยากให้แยกจำหน่ายให้คนที่อยากเก็บงานชุดนี้ได้ง่ายขึ้น
คอลเลกชันนี้คุณป๊อดได้นำเอางานผลที่ทำงานบนมือถือโดยใช้แอพพลิเคชั่น Paint ซึ่งภาพที่เขียนเกิดจากความอยากวาดของคุณป๊อด คือ แทบทุกชิ้นไม่ได้พูดเรื่องราวเลย เพราะเกิดจากความรู้สึก เลยออกมาเป็นงานนามธรรม
ทุกภาพจะมีชื่อเป็นตัวเลข วัน เดือน ปี ที่วาด บางภาพวาดเสร็จในวันเดียว บางภาพสองวัน ภาพเขียนมันอยู่กับปัจจุบัน บางทีเหมือนการดูตัวเองทุกครั้งที่เราหยิบสีคือสีที่เรารู้สึก เส้นที่เราลาก เป็นเส้นที่เรารู้สึก ไม่ว่าจะหนัก เบา สั้นอะไรก็แล้วแต่ อยากจะนำเสนอ
นำเสนอความรู้สึกนึกคิดของเราผ่านสื่ออีกแบบจากที่คนคุ้นเคย เป็นงานที่ให้ทุกคนได้สัมผัส และถือเป็นครั้งแรกที่พี่ป๊อดนำงานมาอยู่บนเซรามิก
RUKKIT Khunhawate
รักกิจ ควรหาเวช ศิลปินสตรีทอาร์ตที่โด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ คุณรักกิจจะชอบสร้างสรรค์งานศิลปะรูปสัตว์หลากหลายชนิด ที่ผลงานจาก block stencil และได้ร่วมงานกับหลายแบรนด์ดังหลากหลาย เช่น Nike, Casio, G Shock, Toyota, Siam Center, Bearbrick และอีกมากมายหลายแบรนด์
ซึ่งใน Collection นี้ถือเป็นครั้งแรกที่คุณรักกิจนำงานมาอยู่ในรูปแบบของเซรามิก ซึ่งจริงๆ มีทั้งหมด 3 ภาพ คือ Dog, Wolf และ Eagle ซึ่งภาพ Eagle เป็นชิ้นสุดท้ายจากทั้งหมด 5 อิดิชั่น
JACKKRIT Anantakul
คุณเหนือ จักรกฤษณ์ อนันตกุล หรือคนส่วนใหญ่รู้จักในนาม helloIamJK ซึ่งได้รับตำแหน่ง Designer of the Year 2019 สาขา Illustration Design ผู้เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังๆ ทั้งในและต่างประเทศหลายแบรนด์
ซึ่งใน Collection นี้คือการหยิบเอาความแตกต่างของสองสิ่ง คือความเก่าในรูปแบบลวดลายกระเบื้อง และงาน Street Art มาผสมผสานในงานแม่สีเช่นแดงกับน้ำเงินมาใช้ ด้วยคาแรคเตอร์ที่น่ารักเป็นกันเอง
ถ้าตอนนี้พวกเราเดินผ่านไปผ่านมาแถว MBK ก็จะเห็นผลงาน installation ที่สะดุดตาตอนนี้ ก็เป็นผลงานของคุณเหนือ จักรกฤษณ์
Sethapong Povathong
คุณเศรษฐพงศ์ โพวาทอง ศิลปินคอลลาจ เป็นที่รู้จักในระดับสากล ผู้สร้างภาพเหนือจริง เรื่องราวเสียดสี
ซึ่ง Collection "Eternal Dream ความฝันที่เป็นอมตะ" ในผลงานชุดนี้มันมีความเหนือจริงอยู่ในงานเพราะนำภาพผู้หญิงมาผสมกับนก และธรรมชาติ ภาพผู้หญิงจะให้ความรู้สึกเซ็กซี่ และเย้ายวนที่ไม่อยากให้มันเชยไปกับกาลเวลา
ซึ่งเห็นได้ชัดว่างานของคุณเศรษฐพงษ์จะมีกลิ่นอายของความทรอปิคอล และความชวนฝัน
ห้องฉายภาพฉายาชาติฉกาจ รศ.๒๓๕ หรือ ชาติฉกาจ ไวกาวี
งานนี้จะแตกต่างกับภาพวาดที่นำเสนอไปก่อนหน้าทั้งหมด เพราะต้นฉบับเอามาจาก ‘ภาพถ่ายฟิล์มกระจก’
ชาติฉกาจ ไวกาวี ในฐานะทั้งเป็นช่างภาพ ที่ได้คัดเลือกจาก Thames & Hudson สำนักพิมพ์เกี่ยวกับภาพถ่ายร่วมสมัยที่มีอิทธิพลที่สุดในโลก ที่เชี่ยวชาญไปจะถึงการล้างฟิล์มชนิดต่างๆ ด้วยตนเอง เขามักจะพูดเสมอถึงเสน่ห์ของภาพฟิล์มกระจกที่คุณไม่อาจรู้ได้เลยว่าภาพที่ค่อยๆ ปรากฎขึ้นในถาดน้ำยาในห้องแดงจะเป็นอย่างไร
ภาพถ่ายฟิล์มกระจกของบุคคลสำคัญ รวมไปถึงภาพเกจิอาจารย์ดังอย่างภาพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ภาพถ่ายฟิล์มกระจกโบราณ พ.ศ.2407 ถูกชุบชีวิตในรูปแบบ Ceramic Art Panel
"ผมว่าความงามเนี่ยมันควรจะคงทน ผมว่าอันนี้คือสิ่งที่ PixCera ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของการรักษาคุณค่าของ 3 ภาพนี้ไว้ได้" คุณชาติฉกาจพูดให้เราฟัง
ครั้งนี้จึงถือเป็นการบันทึกช่วงเวลาที่สำคัญ ผ่านการใช้เซรามิก วัสดุและสีที่ทนทาน ตรงข้ามกับภาพฟิล์มที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด แต่ทั้งสองล้วนเป็นการบันทึกที่ใช้ช่างฝีมือเช่นเดียวกัน
งานแปลงภาพถ่ายในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเจ้าฟ้าหญิง พอทำลงเซรามิกแล้วเหมาะมากๆ ลองดูด้วยตาจะพบว่าความละเอียดใกล้เคียงกับภาพถ่ายเลย
ในงานยังมีให้ทุกคนมาร่วมเขียนข้อความบันทึกความทรงจำหรือความรู้สึกที่มีคุณค่า What is your happening? ลงบนแผ่นเซรามิกเล็กๆ ด้วยนะ น่ารักดี
Preserving the Happening
- 18 พ.ย. 2024 - 1 ธ.ค. 2024
- Pearl Art Space, Pearl Bangkok, กรุงเทพ
โฆษณา