20 พ.ย. เวลา 14:57 • กีฬา

อโมริมผู้จัดการทีมที่จะเข้ามาเขย่าขวัญแฟนบอลลิเวอร์พูล?(ตอนที่ 2)

ว่ากันตามจริงถ้าพูดถึง ‘ลูป’ แบบที่หลายคนเคยดูในหนังมันมักจะวนเป็นวงกลมแบบไม่มีที่สิ้นสุด
แฟนผียุคนี้จะคุ้นชินกับการที่ทีมเล่นดีชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะหลังจากทีมเปลี่ยนผู้จัดการทีมคนใหม่ หรือในยุคหลังเปลี่ยนมาใช้ตรงนี้เป็นตำแหน่ง “เฮดโค้ช” แทนในหลายๆ สโมสร
 
ก่อนที่พวกเขาจะเล่นดีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และสะดุดต่อเนื่องในระยะเวลาต่อมา
มันชัดเจนขึ้นมากในยุคของ โชเซ่ มูรินโญ่, โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ และเอริค เทน ฮาก อาจจะเห็นไม่ชัดในช่วงของเดวิด มอยส์ หรือราล์ฟ รังนิก แต่มันเป็นลูปที่พวกเขาอยากจะออก และเทียบกับฟุตบอลสมัยก่อน ระดับงบประมาณของทีม พวกเขาน่าจะทำได้ง่ายกว่า
เทียบกับลิเวอร์พูลที่รอคอยความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก หรือนับแชมป์ลีกสูงสุดยาวนานถึง 30 ปี เราก็เคยอยู่ในลูปดังกล่าว จนมาสิ้นสุดในยุคของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่เป็นคนหยุดลูปแห่งความล้มเหลวนั้นเอาไว้ แต่เผลอแปบเดียวลิเวอร์พูลก็รอคอยความสำเร็จในลีกเป็นปีที่ 5 แล้วเช่นกัน
มีความเหมือน และแตกต่างที่ผมจะย้อนเปรียบเทียบว่าหลังการเปลี่ยนมือจากเคนนี ดัลกลิชไปเป็นแกรม ซูเนสส์มันอาจจะมีความคล้ายคลึงกับตอนที่ยูไนเต็ดเลือกเดวิด มอยส์คุมทีม แม้ซูเนสส์จะเป็นลูกหม้อเก่า แต่ก็ออกมาหาประสบการณ์ที่อื่นมาก่อน
ลิเวอร์พูลยังพอมีความสำเร็จในเอฟเอ คัพ และตามมาด้วยลีก คัพ ในยุคของรอย อีแวนส์ที่ยังคงอัตลักษณ์การเล่นของทีม แต่การไม่มีความสำเร็จหลายปีต่อเนื่อง ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนไปในผจก.ทีมต่างชาติอย่างเชราร์ อุลลิเยร์ที่เริ่มต้นในฐานะกุนซือคนคู่ก่อน
อุลลิเยร์มีความคล้ายกับยูไนเต็ดในยุคของมูรินโญ่ คือไม่ได้แคร์สไตล์ที่เป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของสโมสร และถ้วยรางวัลเท่านั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด มูรินโญ่ก็คว้าถ้วยยูโรปา ลีก ให้กับแมนฯ ยูไนเต็ดมาได้เช่นกัน คล้ายๆ กับอุลลิเยร์ที่ทำให้ทีมได้ถ้วย 5 ใบในปี 2001
ทั้งคู่สามารถพาทีมคว้ารองแชมป์ในพรีเมียร์ลีกได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ลุ้นแชมป์อย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยเฉพาะแมนฯ ยูไนเต็ดที่ห่างแชมป์ในปีที่พวกเขาได้รองแชมป์แบบภาษาวิ่งว่า ทิ้งเป็นทุ่ง
ราฟาเอล เบนิเตซมีโปรไฟล์คล้ายๆ กับเอริค เทน ฮาก ในแง่ความสำเร็จในลีกบ้านเกิด และผลงานในเวทียุโรป แต่ถ้าเทียบศักดินาจริงๆ การนำบาเลนเซียประสบความสำเร็จในลา ลีกา ถือว่ายากกว่าการนำอาแจ็กซ์คว้าแชมป์เอเรดิวิซี่ ลีกอย่างไม่ต้องสงสัย
 
แต่สุดท้ายทั้งสองคนก็ทำได้แค่เกือบดีในลีก ราฟาอาจจะมีปีที่ได้ลุ้นแชมป์ลีกจริงๆ และถ้วยใหญ่มากอย่างแชมเปียนส์ลีกปี 2005 (รวมถึงเอฟเอ คัพ ในปีต่อมา) ช่วงหนึ่งของเอริค เทน ฮาก มีจังหวะที่ได้ลุ้น 4 ถ้วยเหมือนกัน ก่อนที่เกม 7-0 เหมือนเป็นเกมฉีกแผล
ถ้าเทียบยุครอย ฮ็อดจ์สันที่ลิเวอร์พูลดูว่าแย่ๆ อาจจะดีกว่าเทน ฮาก ตอนก่อนที่จะถูกปลด ลิเวอร์พูลตั้งเคนนี่ ดัลกลิชคุมทีม 1 ฤดูกาล อาจจะไม่มีตัวเทียบตรงๆ
แต่เราเห็นช่วงที่แมนฯ ยูไนเต็ดมีผู้จัดการทีมชั่วคราวอย่าง ไมเคิล คาร์ริค หรือรุด ฟาน นิสเตลรอย ส่วนโซลชาร์มีระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ผมเทียบได้กับช่วงที่อีแวนส์คุมลิเวอร์พูลมากกว่า
ช่วงยิ่งใหญ่ของทั้งสองทีมมีระยะเวลายาวนานเป็นทศวรรษ แน่นอนว่าแมนฯ ยูไนเต็ดหวังจะไม่ตกต่ำยาวนานแบบลิเวอร์พูล ขณะที่แฟนลิเวอร์พูลยังอ้างได้ว่าช่วงที่ตกต่ำพวกเขาก็มักจะมีความสำเร็จบางอย่างสอดแทรกมาอย่างเช่นแชมป์ยุโรปปี 2005 แต่ถ้ามองภาพรวมลูปมันจะเป็นแบบนี้
ยิ่งใหญ่  เปลี่ยนผู้จัดการทีมที่คุมทีมมานาน  คนที่มาแทนทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่า  หาตัวแทนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
แต่ในความเป็นจริงเราไม่มีทางรู้ว่าเส้นทางข้างหน้าจะเป็นแบบไหน กับรูเบน อโมริมตอนนี้ผมมองว่าแมนฯ ยูไนเต็ดมีเส้นทางกึ่งๆ ระหว่างเจอร์เก้น คล็อปป์ กับแบรนแดน ร็อดเจอร์ส
ถ้าไม่เจอคล็อปป์ ลิเวอร์พูลอาจจะไม่มีวันรู้ว่าความสำเร็จในลีกจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่โชคดีในโชคร้ายอย่างน้อยๆ เวลานี้ อาร์เน่อ สล็อต ก็สานต่อผลงานได้ดีมาก หงส์แดงมีประวัติการเปลี่ยนยุคจากแชงคลีย์, เพสลีย์, เฟแกน มาจนถึงดัลกลิช (ไว้จะพูดถึงในโอกาสต่อไป)
 
ไม่นับยุครุ่งเรืองในยุคเก่าก่อนสงครามโลก ตรงข้ามกับแมนฯ ยูไนเต็ดมีความสำเร็จใหญ่ๆ เพียงสองช่วงกุนซือคือ เซอร์แมตต์ บัสบี้ และเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเท่านั้น แปลว่าพวกเขามักจะมีปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านมากกว่า
ก่อนจะไปถึงตรงส่วนของอโมริม กระแสตอนนี้แฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ด ใช้คำว่าทั่วโลกได้อยากจะเห็นพวกเขากลับมาเล่นสไตล์เดิม และเล่นเกมรุก มันมาจากลูป หรือวัฎจักรที่ผมสังเกต นอกจากมองในมุมกุนซือเป็นดังนี้
ทีมรุ่งเรือง หลังจากนั้นไม่สามารถต่อยอดไปได้ ระยะสั้นๆ ทีมก็จะพยายามหาใครก็ได้มาสานต่อความสำเร็จ แน่นอนว่ายุคของซูเนสส์มาจนถึงอีแวนส์ ลิเวอร์พูลมีทำเนียมบูทรูม ใช้คนที่จะต่อยอดมาจากประสบการณ์ในจุดนั้น
แม้ว่าจะคงสไตล์ไว้ได้ แต่การไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องของถ้วยรางวัล จุดหนึ่งสโมสรจะกลับไปถวิลหาถ้วยรางวัลอีก มันเป็นเหตุผลของลูปนรกนั่นเช่นกัน
การเลือกอุลลิเยร์เป็นยุคใหม่ของลิเวอร์พูล แต่เป็นจุดสิ้นสุดของสไตล์การเล่นเกมรุกของทีม ทำให้ลิเวอร์พูลเสียเอกลักษณ์ไปหลายปี แลกกับถ้วยรางวัล และโอกาสลุ้นแชมป์
นั่นเป็นระยะเวลาเดียวกับที่แมนฯ ยูไนเต็ดมีมุมมองในการแต่งตั้งโชเซ่ มูรินโญ่ ตอนนั้นเด็กผีไม่สนอะไรทั้งสิ้นแล้ว พวกเขาไม่อยากรอคอยความสำเร็จยาวนานเกินไป เช่นกันกับหลุยส์ ฟาน กัล ที่พวกเขาได้แต่แชมป์บอลถ้วย
ราฟาไม่ได้ทำให้ลิเวอร์พูลกลับมาเล่นเกมรุกเต็มตัว และมีความสำเร็จพอสมควร รวมถึงในลีกที่แข็งแกร่งไม่น้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณการทำทีมในเวลานั้น แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ทีมของราฟาไปได้ไม่สุด แต่เหตุผลการเลือกราฟามันก็คล้ายๆ กับแมนฯ ยูไนเต็ดในระยะหลัง
จริงๆ ที่น่าแปลกใจที่สุดน่าจะเป็นตอนโอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ที่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับเซอร์อเล็กซ์ แต่ไม่สามารถดึงอัตลักษณ์ของแมนฯ ยูไนเต็ดกลับมาได้ แม้แต่เทน ฮากก็น่าแปลกใจมาก ฟุตบอลของเขากับแมนฯ ยูไนเต็ดไม่มีอะไรเหมือนอาแจ็กซ์ทั้งที่เขาดึงอดีตลูกทีมเก่ามาครึ่งทีม!
ถ้าเป็นสโมสรอื่นที่ร้างถ้วยรางวัล ยกตัวอย่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์! การได้ถ้วยแบบเทน ฮากอาจจะไม่ใช่ความล้มเหลว แต่ ณ จุดที่ผลงานย่ำแย่ พวกเขาจะเริ่มถวิลหาฟุตบอลสไตล์ที่สนุกสนานอีกครั้ง
เหมือนย้อนไปถามแฟนบอลลิเวอร์พูลในยุคที่อุลลิเยร์คุมทีม ว่าเราอยากเห็นทีมเล่นสนุก แต่ไม่มีถ้วย หรืออยากได้แชมป์บอลถ้วย แต่ดูทีมเล่นน่าเบื่อสุดๆ
เทน ฮาก พาแมนฯ ยูไนเต็ดชนะด้วยแท็กติกนัดต่อนัด ไม่ใช่สไตล์แบบที่คล็อปป์ทำให้ลิเวอร์พูลประสบความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่ทีมที่จะประสบความสำเร็จในลีก โดยเฉพาะยุคหลังต้องผลิตผลงานแบบนั้นให้ได้
ในทศวรรษหลัง หรือย้อนไป 4-5 ปี เราจะเห็นว่า 3 ทีมหัวตารางมีสไตล์การเล่นชัดเจน ไม่ว่าทีมของเป๊บ, คล็อปป์ และอาร์เตต้า พวกเขาได้ลุ้นความสำเร็จในลีก และยังเล่นเกมรุกได้สนุกสนาน แม้ว่าจะไม่มีใครสมหวังมากเท่ากับแมนฯ ซิตี้ แต่เทียบกับยูไนเต็ดพวกเขาเหมือนอยู่ไกลหลานล้านปีแสง
ความจริงมันไม่ได้ไกลขนาดนั้น แต่ทั้งการเล่นที่น่าเบื่อ ไม่ชัดเจน แม้สองฤดูกาลก่อนเทน ฮากจะพาทีมจบอันดับดีกว่าลิเวอร์พูลในลีก แต่ฟุตบอลของพวกเขาไม่ได้ดูสนุกเอาซะเลย และฤดูกาลที่ผ่านมามันชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้เข้าใกล้ 3 ทีมหัวตารางขึ้น แม้จะได้ถ้วยเอฟเอ คัพไปแบบพลิกความคาดหมายก็ตาม
วัฎจักรของแมนฯ ยูไนเต็ดหมุนวนอย่างรวดเร็วตามที่เขียนไปก่อนหน้านี้ ถ้าย้อนไปในยุค 80, 90 ผมมั่นใจว่าเทน ฮากจะได้อยู่ยาวกว่านี้ อาจจะรวมถึงมูรินโญ่, ฟาน กัล หรือแม้แต่มอยส์ แต่พวกเขาเลือกจะเสี่ยงเริ่มต้นใหม่กลายเป็นสโมสรที่เปลี่ยนโค้ชเป็นว่าเล่น
ลิเวอร์พูลเคยผ่านเส้นทางคล้ายๆ กันมา แม้จะเป็นทีมคู่อริ แต่ลึกๆ แฟนบอลทั้งสองทีมเห็นตรงกันเรื่องหนึ่ง คือทีมของตนต้องเล่นด้วยสไตล์เกมรุก เพราะรากเหง้าของแมนฯ ยูไนเต็ดส่วนหนึ่งมาจากเซอร์แมตต์ บัสบีที่เคยเป็นอดีตนักเตะลิเวอร์พูล
 
ฉายาปีศาจแดงมาจากสไตล์การเล่นเกมรุกเท่านั้น เมื่อพวกเขาทิ้งสไตล์เหล่านี้ไปในช่วงหลายปีหลัง ทำให้ทีมขาดจิตวิญญาณตรงจุดนี้ มันเหมือนกับลิเวอร์พูลในหลายๆ ช่วงเหมือนกันที่เน้นผลการแข่งขันจนมาถึงความสำเร็จในยุคคล็อปป์
จริงๆ เกมชิงแชมเปียนส์ลีก ระหว่างลิเวอร์พูลกับสเปอร์ส คล็อปป์ยังยอมรับว่าไม่ใช่วันที่ลิเวอร์พูลเล่นในสไตล์ปกติ พวกเขาเรียนรู้จากปีก่อนหน้านั้นว่าผลการแข่งขันในเกมแบบนั้นสำคัญที่สุด แต่ภาพรวมทั้งฤดูกาลลิเวอร์พูลยังคงมีสไตล์ที่ชัดเจน
มันต้องมีสมดุล แต่โดยรวมเราจะนึกภาพในหัวออกทันทีว่าฟุตบอลของคล็อปป์นั้นเป็นแบบใด
การมาถึงของอโมริมจึงเป็นอีกจุดในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก...
โปรดอ่านต่อตอนต่อไปเร็วๆ นี้...
โฆษณา