21 พ.ย. 2024 เวลา 00:51 • กีฬา

วันที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตั้งใจติดสินบนพ่อไมเคิล โอเว่น

ครั้งหนึ่ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยตั้งใจ "ติดสินบน" ให้คุณพ่อของไมเคิล โอเว่น เพื่อให้ฉีกสัญญาอะคาเดมี่กับลิเวอร์พูล แล้วย้ายมาอยู่ทีมเรือใบสีฟ้าแทน
1
เรื่องราวเป็นอย่างไร คุณพ่อตอบตกลง หรือปฏิเสธ เราจะย้อนอดีตไปด้วยกันนะครับ
คุณพ่อของไมเคิล โอเว่น ชื่อว่า เทอร์รี่ เขาเป็นอดีตนักฟุตบอลมาก่อน เคยเล่นอยู่กับเอฟเวอร์ตัน, แบรดฟอร์ด, เชสเตอร์ และ พอร์ทเวล ก่อนที่จะอำลาอาชีพไปในสโมสรระดับนอกลีก
เทอร์รี่ มีอาชีพนักฟุตบอลที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ความฝันที่อยากติดทีมชาติก็ห่างไกลมาก และไปไม่ถึง ดังนั้นเมื่อมีลูกชาย เขาก็เลยอยากปั้นให้เป็นนักเตะอาชีพเหมือนตัวเอง
ลูกชายคนแรก เทอร์รี่ จูเนียร์ กับ ลูกชายคนที่สอง แอนดี้ เล่นฟุตบอลไม่เก่ง แต่ลูกชายคนที่สามที่ชื่อไมเคิลนั้นพอมีแวว เพราะแม้จะตัวเล็กแต่วิ่งเร็วมาก มีศักยภาพพอที่จะปั้นเป็นนักเตะได้
นั่นทำให้คุณพ่อเทอร์รี่เคี่ยวเข็ญไมเคิลตั้งแต่เล็ก และจับส่งลงเล่นทีมเยาวชนระดับ u-10 ที่ชื่อโมลด์ อเล็กซานดรา ตั้งแตไมเคิล โอเว่น อายุแค่ 6 ขวบเท่านั้น คือต้องเล่นบอลแบบ แบกอายุมาตั้งแต่ตัวเล็กนิดเดียว
ความเคี่ยวเข็ญนั้น เพราะอยากเห็นลูกประสบความสำเร็จ โอเว่นเล่าว่า "คุณพ่อจริงจังกับผมมาก แต่ไม่เคยบอกว่าผมเก่งเรื่องฟุตบอลเลยสักครั้ง มีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ที่เขาเผลอ เป็นจังหวะที่เขากำลังเล่นสนุกเกอร์อยู่กับเพื่อน แต่พ่อไม่รู้ว่าผมแอบอยู่ เพื่อนพ่อถามว่า 'ไมค์เล่นฟุตบอลเป็นไงบ้าง พอมีลุ้นไหม?' ผมนั่งอยู่ที่มุมห้องถือถุงขนมอยู่ และได้ยินเขาพูดกับเพื่อนว่า 'ไม่มีข้อสงสัยเลย เขาจะติดทีมชาติอังกฤษในอนาคตแน่นอน' นั่นคือครั้งเดียวในวัยเด็ก ที่ผมได้ยินพ่อชื่นชมอะไรแบบนั้น"
2
ในวัย 7 ขวบ ไมเคิล โอเว่น ย้ายจากทีมเยาวชนโมลด์ อเล็กซานดรา ไปอยู่กับทีม u-11 ชื่อฮาวาร์เดน เรนเจอร์ส ในย่านฟลินท์เชียร์ และเขาก็ต้องเล่นฟุตบอลแบบแบกอายุอีกครั้ง เพราะทั้งทีมเป็นเด็กวัย 10 หรือ 11 หมดเลย
1
แต่ในบอลเด็ก ถ้าคุณมีศักยภาพร่างกายที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะเอาชนะ ในตอนนั้น โอเว่นเร็วกว่าเด็กคนอื่นแบบทาบไม่ติด ทำให้เขากระชากทีหลุดทั้งแผง สามารถทำประตูได้เยอะมากๆ แม้จะอายุน้อยกว่าทุกคนในสนามก็ตาม
ปีแรกของเขาที่ฟลินท์เชียร์ โอเว่น ยิง "92 ลูก" ในซีซั่นเดียว ทำลายสถิติเยาวชนของเอียน รัช ที่เคยทำได้สูงสุด 72 ลูกในซีซั่นเดียว เป็นการถล่มสถิติอย่างขาดลอย
นอกจากอะคาเดมี่ที่ฟลินเชียร์แล้ว โอเว่นยังลงเล่นกับทีมโรงเรียนประถมเร็คเตอร์ ดรูว์ และระเบิดฟอร์มสุดยอด ยิงประตูได้ทุกนัด การยิงได้ 4-5 ลูกต่อเกม เป็นเรื่องปกติ
สิ่งที่น่ากลัวของโอเว่น นอกจากวิ่งเร็วมากที่สุดยิ่งกว่าใครแล้ว นั่นคือเขาเป็นกองหน้าที่ยิงคมมากๆ ใช้โอกาสไม่เปลืองเลย
โอเว่นอธิบายว่า "ถ้าหากคุณก้าวจากเยาวชน ไปเล่นฟุตบอลอาชีพ ผู้รักษาประตูระดับนั้น เขาเก่งมากๆ อยู่แล้ว คุณต้องยิงให้เข้ามุมกริ๊บ ถึงจะเอาชนะได้ ดังนั้นการยิงแค่ให้พอเข้าในสมัยเยาวชนมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย คุณต้องเล็งมุมที่สุด ในมุมที่ยากที่สุดเสมอ ถ้าหากคุณคิดจะเป็นกองหน้าระดับท็อป คุณต้องกล้าเสี่ยงตลอดเวลา"
"ผมเรียนรู้สกิลการยิงประตูในทุกๆ วัน ผมฝึกชิพ ฝึกยิงข้ามตัวผู้รักษาประตูนิ่มๆ ฝึกเลี้ยงหลบโกล์ จากนั้นจดบันทึกสถิติว่า วิธีการยิงแบบไหน ได้ผลดีที่สุด บางจังหวะถ้ายิงชิพอาจจะเข้า 1 ใน 10 ครั้ง ถ้ายิงสวนตัวอาจจะเข้า 6 ใน 10 ครั้ง หรือถ้าล็อกหลบโกล์ อาจจะยิงเข้า 4 ใน 10 ครั้ง"
"ทักษะที่ผมพัฒนาขึ้นจนเป็นสไตล์เฉพาะตัว คือการใช้กระชากบอลด้วยความเร็ว จนดูเหมือนจะจับแรงเกินไป ผู้รักษาประตูจะคิดว่า เขาออกมาตัดบอลได้แน่นอน แต่เขาจะคาดไม่ถึงว่าความเร็วของผม มันเร็วขนาดไหน ผมจะถึงบอลก่อนเขาหนึ่งจังหวะ แล้วยิงเข้าไป นั่นคือท่าไม้ตายที่ผมชอบใช้ที่สุด"
ชีวิตในสนามฟุตบอลของโอเว่น ดูจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ในเวลานั้น ครอบครัวของโอเว่นกลับมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องรายได้ของที่บ้าน
หลังจากเทอร์รี่ รีไทร์จากฟุตบอลแล้ว เขากับ เจเนตต์ แม่ของไมเคิล มาเปิดร้านขายเสื้อผ้าเล็กๆ ในตัวเมืองลิเวอร์พูล
ความลำบากก็คือ ครอบครัวโอเว่น มีลูกทั้งหมด 5 คน จึงมีรายจ่ายประจำเดือนที่ตึงมากๆ
เงินเก็บที่ได้จากการเล่นฟุตบอลของเทอร์รี่ก็ร่อยหรอไปทุกที ค่าเช่าบ้านก็ยังต้องจ่าย นั่นทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมาก และยิ่งธุรกิจร้านขายเสื้อผ้าก็ซบเซา เพราะมีเสื้อผ้าราคาถูกอิมพอร์ตจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ทำให้ร้านท้องถิ่นของเทอร์รี่กับเจเนตต์ก็อยู่ไม่ได้
ลำพังร้านขายเสื้อผ้า หาเงินได้ไม่พอใช้ คุณแม่ต้องออกไปทำงานประจำในห้าง Iceland ส่วนคุณพ่อไปทำงานขายประกัน ในกับบริษัท Co-op แต่รายได้ก็ไม่ค่อยแน่นอน
โอเว่นเล่าว่า "ผมได้ยินเสียงทะเลาะกันของพ่อแม่บ่อยๆ คือพวกเขารักกันมากนะ แต่ความกดดันเรื่องการเงินที่เกิดกับเราตอนนั้น มันรุนแรงเกินไป"
แม้จะสาหัสแค่ไหน แต่พ่อแม่ ก็ยังหาเงินมาให้ลูกๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือ รวมถึงจ่ายเงินให้ไมเคิล โอเว่น ได้เล่นฟุตบอลที่อะคาเดมี่ ซึ่งเมื่อได้เล่นฟุตบอลต่อเนื่อง ไม่มีช่วงเบรก ทำให้ฝีเท้าของโอเว่นเก่งฉกาจขึ้นอีก
สุดท้ายตอนโอเว่นอายุ 11 ขวบ ลิเวอร์พูลจึงยื่นข้อเสนอให้มาร่วมฝึกซ้อม กับอะคาเดมี่ของทีม โดยโอเว่นอยู่ในรุ่นเดียวกับสตีเว่น เจอร์ราร์ด
เจอร์ราร์ดเข้าอะคาเดมี่ก่อนโอเว่น 1 ปี ทั้งสองคนถือเป็นเด็กเก่งในรุ่นนั้น โอเว่นเล่าว่า "เมื่อไหร่ก็ตามที่สตีวี่ได้บอล ผมจะสปรินท์ตัวทันที ไปที่จุดนัดพบ และแน่นอน มันเป็นประตู ถ้าเกมไหนผมยิง 4 ลูก สตีวี่ก็จะได้ 4 แอสซิสต์ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ตอนเราลงสนามด้วยกัน"
การที่คุณเข้าสังกัดเยาวชนของลิเวอร์พูล มันพอจะบอกได้ว่า มีโอกาสที่คุณจะเป็นนักเตะอาชีพได้ โอเว่นบอกว่า "คุณพ่อทุ่มเทกับผมมาก เขารู้ว่า ถ้าผมเป็นนักเตะอาชีพได้ จะเป็นหนทางเดียวที่บ้านของเราจะหลุดพ้นจากภาวะหนี้สิน แล้วพอผมโตขึ้น สักอายุ 12-13 ผมก็รู้เช่นกัน ว่าถ้าผมประสบความสำเร็จไม่ได้ ที่บ้านของเราจะลำบากมากๆ"
สำหรับเรื่องการโยกย้ายผู้เล่นในประเทศอังกฤษนั้น จะอนุญาตให้สโมสรเซ็นสัญญาอาชีพ ตอนเด็กมีอายุ 16 ปี แต่ถ้าอายุยังไม่ถึง เด็กๆ สามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระเลย จะไปไหนก็ได้ สโมสรไม่สามารถเหนี่ยวรั้งได้ ถ้าเด็กอยากไป ต้องปล่อยอย่างเดียว
ในวัย 13 ปี หลังจากเล่นที่อะคาเดมี่มาได้สักระยะแล้ว โอเว่นก็ยอมรับว่า เขาอยากเล่นอาชีพให้กับลิเวอร์พูล เพราะเขาซึมซับกับวัฒนธรรมของสโมสรไปแล้ว และเห็นอนาคตว่าสามารถประสบความสำเร็จที่แอนฟิลด์ได้ รวมถึงไม่อยากอยู่ห่างจากครอบครัวด้วย ถ้าย้ายไปที่อื่น ก็ต้องแยกไปอยู่ลำพังคนเดียว
1
อย่างไรก็ตาม สโมสรอื่นๆ ไม่ยอมง่ายๆ และพยายามโน้มน้าวเต็มที่
ในปี 1993 อาร์เซน่อล เป็นทีมแรกที่เข้ามาทาบทามโอเว่นวัย 13 ปี โดยเจ้าหน้าที่ของทีมปืนใหญ่ ให้ตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง เดินทางจากลิเวอร์พูลไปยังลอนดอน เพื่อพาไปทัวร์สนามไฮบิวรี่ โอเว่นได้เจอกับจอร์จ เกรแฮม ผู้จัดการทีมขณะนั้น ได้รู้จักเอียน ไรท์ ได้เดินทัวร์ห้องแต่งตัว และได้นั่งดูเกมพรีเมียร์ลีกบนบ็อกซ์วีไอพี
จากนั้นอีกไม่นาน เชลซี เป็นทีมที่สองที่ทำแบบเดียวกัน พาไปสแตมฟอร์ด บริดจ์ และแนะนำโอเว่นให้รู้จักกับเกล็น ฮอดเดิ้ล และนักเตะเชลซีทั้งทีม
ทีมที่ 3 คือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ส่งไบรอัน คิดด์ มาดูฟอร์มโอเว่นหลายครั้งแล้ว จนสุดท้ายเชิญครอบครัวโอเว่นไปที่สนามซ้อมเดอะ คลิฟฟ์ เพื่อเข้าไปหาอเล็กซ์ เฟอร์กูสันที่ออฟฟิศ โดยเฟอร์กี้ กับ โอเว่น นั่งอยู่ห่างกันแบบประชิดตัว แล้วเฟอร์กี้ก็ถามขึ้นมาว่า "นายอยากจะเป็นนักเตะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไหม?"
ในวันนั้นโอเว่นไม่ได้ให้คำตอบ เพราะใจของเขาอยากอยู่ลิเวอร์พูลมากที่สุด ตอนแรกโอเว่นเป็นแฟนเอฟเวอร์ตันตามพ่อก็จริง แต่พอมาอยู่อะคาเดมี่ไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มกลายเป็นแฟนหงส์แดงไปแล้ว
3 ทีมยังเกลี้ยกล่อมโอเว่นไม่สำเร็จ จนมาถึงทีมที่ 4 นั่นคือแมนเชสเตอร์ ซิตี้
สิ่งที่ซิตี้ทำ ต่างจากทีมอื่นๆ นั่นคือ หลอกล่อคุณพ่อเทอร์รี่ด้วยเงิน โดยสัญญาว่า จะให้เงิน 5 หมื่นปอนด์ ถ้าย้ายจากลิเวอร์พูล มาอยู่อะคาเดมี่ของแมนฯ ซิตี้แทน และอยู่ไปยาวๆ จนเซ็นสัญญาอาชีพ
ณ เวลานั้น ที่บ้านของโอเว่นอยู่ในภาวะวิกฤติทางการเงิน ถ้าได้เงิน 5 หมื่นปอนด์เข้ามาล่ะก็ คุณพ่อจะหายใจหายคอได้โล่งทันที
5 หมื่นปอนด์เยอะขนาดไหน? ในช่วงก่อนหน้านี้ไม่นาน แมนฯ ยูไนเต็ด ซื้อปีเตอร์ ชไมเคิล มาจากบรอนด์บี้ ในราคา 5 แสนปอนด์ แปลว่าเงินระดับ 5 หมื่นปอนด์ที่ซิตี้ ยื่นให้เป็นเงินก้อนพิเศษ ก็ถือว่าเยอะมหาศาลมาก สำหรับเด็กนักเรียนวัย 13 ปีหนึ่งคน
1
โอเว่นเล่าว่า "พูดตามตรง มันคือสินบนนั่นแหละ แต่แม้จะเป็นสินบน มันก็เป็นโอกาสทองที่สุดของพ่อผมแล้ว ตอนนั้นบ้านเราสาหัสมาก เราแทบไม่เหลือเงินจะจ่ายค่าเช่าบ้าน พร้อมโดนขับไล่ออกไปได้ทุกเมื่อ"
คุณพ่อเทอร์รี่รู้ดีว่าลูกชายอยากเซ็นสัญญากับลิเวอร์พูล ไม่อยากย้ายเมืองไปไหน แต่เขาก็ทำใจทิ้งเงินก้อนนี้ไม่ได้จริงๆ
เทอร์รี่จึงตัดสินใจครั้งสุดท้าย แบบวัดใจไปเลย นั่นคือบอกลิเวอร์พูลตรงๆ เขาโทรหาสตีฟ ไฮเวย์ ผ.อ.อะคาเดมี่ แล้วพูดว่า "ฟังนะ ไมเคิลอยากจะเซ็นสัญญาอาชีพกับลิเวอร์พูล เมื่อเขาอายุถึง แต่ที่บ้านของเราเจอวิกฤติการเงินอย่างหนัก เราต้องการให้คุณยื่นข้อเสนอเท่ากับที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยื่นให้ คุณสามารถทำได้ไหม"
1
ที่ผ่านมา เทอร์รี่ เป็นคนที่ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่เคยขออะไรทั้งสิ้น เขาไม่เคยขอตั๋วฟรีในเกมของเอฟเวอร์ตัน ทั้งๆ ที่เคยเป็นอดีตนักเตะด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้ เขาขอลิเวอร์พูลให้ช่วยหน่อย เพราะอยากให้ลูกชายได้เล่นกับสโมสรที่เขาอยากเล่น
2
การที่ครอบครัวของเด็กวัย 13 ปี มาขอเงินจากสโมสร 5 หมื่นปอนด์ เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องปกตินัก ทางสตีฟ ไฮเวย์ ต้องไปคุยกับผู้บริหารว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่
สุดท้ายสโมสรตัดสินใจตอบตกลง โดยจะให้เงินล่วงหน้ากับโอเว่น 5 หมื่นปอนด์ นอกจากนั้นจะจ้างงานให้เทอร์รี่ โอเว่น มาทำงานเป็นแมวมองของสโมสรอีกด้วยไม่ต้องไปขายประกันอีกแล้ว
ทั้งหมดนี้ น่าจะทำให้สถานการณ์การเงินของครอบครัวโอเว่นเบาลง
ในทางทฤษฎีนั้น โอเว่นสามารถรับเงินของลิเวอร์พูลมาได้ และอยู่กับสโมสรไประยะหนึ่ง แต่เมื่ออายุครบ 17 ปี ก็ค่อยไปเซ็นสัญญาอาชีพกับทีมอื่นก็ได้ แต่สโมสรกับนักเตะ อยู่กันด้วยความเชื่อใจ สโมสรมองว่าเราให้เงินคุณก้อนหนึ่งไปจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายก่อน แล้วถึงเวลา คุณก็ค่อยเซ็นสัญญาอาชีพกับเรากับที่สัญญาใจกันไว้
1
บทสรุปของเรื่องนี้ คือครอบครัวโอเว่น ปฏิเสธข้อเสนอจากทั้งอาร์เซน่อล, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก่อนจะอยู่กับลิเวอร์พูลต่อไป และสุดท้ายในวัย 17 ปี เขาก็เซ็นสัญญาอาชีพกับทีมหงส์แดงในที่สุด
ขณะที่สถานะทางการเงินของที่บ้านโอเว่น นับจากวันนั้นมา ก็ไม่เคยมีปัญหาอีกเลย ในที่สุดครอบครัวก็หายใจหายคอได้โล่ง และการมีลูกชายเป็นนักบอลอาชีพหนึ่งคน ปัญหาเศรษฐกิจทุกอย่างก็เคลียร์ได้ทันที
ส่วนเรื่องความสำเร็จในสนามก็ไม่ต้องพูดถึง โอเว่นกลายเป็นตัวหลักของลิเวอร์พูลอย่างรวดเร็ว และเป็นนักเตะลิเวอร์พูลคนสุดท้าย ที่ได้รางวัลบัลลงดอร์ จนถึงวันนี้ด้วย
ในวงการฟุตบอลนั้น ตั้งแต่อดีตแล้ว ที่การแย่งชิงเยาวชนพรสวรรค์เต็มไปด้วยความดุเดือดมาก
แต่ละสโมสรจะใช้ทุกกลเม็ดเพื่อดึงตัวผู้เล่นมาอยู่ด้วยกันให้ได้ บางทีมให้เงินก้อนโต บางทีมให้ข้อเสนอทางอาชีพ อยู่ที่ว่าคุณจะโน้มน้าวอย่างไร ถึงจะรั้งใจนักเตะเอาไว้ได้
1
สำหรับเคสของโอเว่น แมนฯ ซิตี้ อ่านเกมได้ดี ศึกษาข้อมูลว่าที่บ้านของโอเว่นมีปัญหาเรื่องการเงิน จึงใช้เงิน 5 หมื่นปอนด์ ในการโน้มน้าว และก็เกือบจะได้ผลด้วย
แต่ฝั่งลิเวอร์พูลยังโชคดี ที่คุณพ่อไม่รีบตกลงกับซิตี้ แต่เลือกมาคุยกับสโมสรก่อน ขณะที่สตาฟฟ์โค้ช รวมถึง ผ.อ.อะคาเดมี่ ก็ตาถึง ที่มองเห็นศักยภาพในตัวโอเว่น ว่าไปต่อได้ จึงพร้อมจะลงทุนเงิน 5 หมื่นปอนด์ให้เด็กวัย 13 ปี จนโอเว่นอยู่กับทีมต่อไป
ผู้เล่นดาวรุ่งพรสวรรค์ในแต่ละยุค มีค่ายิ่งกว่าทองคำ ถ้าหากคุณพบเจอแล้ว ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้นักเตะคนนั้น อยู่กับทีมให้ได้นานที่สุดนั่นเอง
จริงๆ ก็น่าคิดเหมือนกัน ว่าถ้าวันนั้นโอเว่นย้ายไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เขาจะได้เป็นเลเจนด์ของทีมเรือใบสีฟ้า แล้วก้าวไปถึงบัลลงดอร์ได้หรือเปล่า?
โฆษณา