21 พ.ย. เวลา 07:00 • อาหาร

ในวันที่ตลาดสุกี้แข่งเดือด แต่ความใส่ใจดั้งเดิมจาก MK 'คุณภาพวัตถุดิบ-ความสะอาด' ยังมั่นคง

☝️Click >> มาตรฐานแบบ MK ในวันที่ตลาดหม้อสุกี้แข่งเดือด
🔎Clear >> ตลาดหม้อสุกี้ในวันนี้จะเดือดแค่ไหน? การแข่งขันด้วยกลยุทธ์ราคา (ถูก) เป็นตัวชูจะแรงเพียงใด? แบรนด์ที่มาไวแต่ไม่รู้จะไปไวหรือไม่? จะเติบโตแบบยั่งยืนหรือฉาบฉวย? สิ่งหนึ่งที่ยังคงเบาใจได้ คือ แบรนด์สุกี้ของไทยที่ชื่อว่า MK ก็ยังเคร่งครัดในมาตรฐานเรื่องของความสะอาดได้ไม่เปลี่ยน
ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะในวันที่ตลาดหม้อสุกี้ (สารพัดหม้อ) กำลังแข่งเดือด จนสะเทือนเจ้าตลาดอย่าง MK ที่กำลังทำให้ถูกมองว่าอยู่ในช่วงขาลงนั้น ฟังแล้วก็ดูแปลก ๆ หากเพียงเพราะเอาตัวเลขกำไรกับรายได้มาหักลบแล้วดูกะจิ๊ดริดเมื่อเทียบกับคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา
ทั้ง ๆ ที่ในวันนี้ บริษัท 'เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป' ซึ่งมีสาขา MK มากกว่า 400 แห่ง (ยังไม่รวม ยาโยอิ / แหลมเจริญซีฟู้ด และอื่น ๆ) ยังคงรายได้และมีกำไรอยู่ แม้จะผ่านช่วงแย่ ๆ อย่างโควิดและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
- ปี 2563 รายได้ 13,655 ล้านบาท กำไรสุทธิ 907 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 11,368 ล้านบาท กำไรสุทธิ 130 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 15,782 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,439 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 16,973 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,681 ล้านบาท
- ปี 2567 (9 เดือน) รายได้ 11,735 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,088 ล้านบาท
ดู ๆ แล้วจะใช้คำว่า 'ยอดหาย-กำไรหด' ตามกระแสสื่อช่วงนี้ ก็น่าจะยังไม่น่าใช่สักเท่าไร
อันที่จริง ทุกตลาด ทุกธุรกิจ ทุกสินค้า มักมีวัฏจักรขึ้นลงตามสมัยนิยม เพียงแต่ถ้ายังมีกลุ่มเป้าหมายแท้จริงที่ยังรักและอุดหนุนอย่างมีลอยัลตี้ ธุรกิจนั้น ๆ ก็จะยังอยู่ข้ามกาลเวลาไปได้หลายยุค ซึ่งนั่นหมายความว่า ธุรกิจนั้น ๆ ต้องมีข้อดีที่เป็นจุดขายแบบยากที่จะหาคู่แข่งทดแทนได้
เราคงไม่พูดเทคนิคการขาย โปรโมชัน หรือกิมมิคทางการตลาดใด ๆ ของ MK แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดขายสำคัญ คือ การเป็นแบรนด์ที่เคร่งครัดมากในเรื่องของมาตรฐานความสะอาดของอาหาร ยกตัวอย่าง ไม่ใช่ว่าพนักงานคนไหนหรือใครจะเข้าครัวกลางได้ง่าย ๆ พนักงานทุกคนที่จะเข้าไปยังพื้นที่ครัวกลางแห่งนี้ต้องเปลี่ยนชุดที่ผ่านการซักฆ่าเชื้อที่ทาง MK เตรียมไว้ให้ จากนั้นก็ต้องผ่านการดูดฝุ่นต่าง ๆ ออกจากตัวชุดอีกรอบหนึ่ง เพื่อมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรเล็ดลอดไปในพื้นที่ครัวกลาง
นอกจากนี้ ยังห้ามนำสิ่งของที่อาจจะมีชิ้นส่วนตกหล่นเข้าไปได้ ขนาดปากกาที่มีปลอกยังห้ามเอาเข้าไป ต้องใช้ปากกาแบบกดเท่านั้น และที่สำคัญคือต้องเดินผ่านพื้นที่น้ำยาล้างรองเท้าบูททุกครั้ง ให้มั่นใจว่าจะไม่มีการเอาเชื้อโรคจากข้างนอกติดเข้ารองเท้าหลุดเข้าไปในครัวถึงอาหารแน่นอน และเมื่อทำงานเสร็จก็ต้องมาถอดชุดคืนแล้วใส่ชุดเดิมของตัวเองที่ถอดไว้กลับบ้านไป จากนั้นทาง MK เขาก็จะเอาชุดที่พนักงานใส่เข้าไปซักทำความสะอาดฆ่าเชื้ออีกครั้ง
ส่วนวัตถุดิบ กว่า 80% ของผักสดที่ใช้สำหรับร้านอาหารในเครือ MK ทั้งหมดมาจากโครงการหลวง แถมยังส่งตรงจากดอยทุกวันตั้งแต่ตอนกลางคืน มาถึงครัวกลางตอนเช้า ดังนั้นไม่ว่ามื้อไหนที่ไป MK ก็มั่นใจได้ว่าจะได้กินผักสดใหม่เสมอ แถมยังเป็นการช่วยชาวเขา/ชาวบ้านให้มีอาชีพความเป็นอยู่ที่ดีไปในตัวด้วย
1
นอกจากนี้ MK ยังมีการดีไซน์อ่างจากุชชี่พิเศษสำหรับการล้างผักทุกชนิดที่ทาง MK คิดค้นขึ้นมา โดยใช้แรงดันน้ำในการช่วยขจัดสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับผัก เป็นเทคนิคพิเศษเฉพาะของ MK เท่านั้นที่ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีเศษอะไรที่ไม่ต้องการหลุดรอดไป พอได้รู้แบบนี้ยิ่งเข้าใจเลยว่าที่ MK เขาใส่ใจในผักทุกต้นทุกใบเป็นพิเศษจริง ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของผักกาดยังมีเบื้องหลังซ่อนอยู่ นั่นก็คือ การแกะล้างทีละใบ ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผักกาดที่พร้อมเสิร์ฟจะมีความสดสะอาดจริง ๆ ด้วย
นี่ยังไม่พูดถึงมาตรฐานการตรวจรับผักของ MK ที่มีสูงมาก เพราะมีห้องแลปเฉพาะสำหรับตรวจสอบสารเคมีตกค้าง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าทุกคนจะได้รับประทานผักปลอดภัยจาก MK รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มีรายละเอียดยุบยับไปหมด
โดยสรุปแล้ว แม้วันนี้ MK สุกี้ จะต้องเจอกับคู่แข่งจำนวนมาก แต่สิ่งที่ทำให้ MK ยังคงยืนอยู่ได้ในตลาดนี้ เพราะจุดแข็งของแบรนด์ที่ดูเป็นมากกว่าร้านอาหาร แบรนด์ที่ใส่ใจลูกค้าในทุก ๆ ด้าน เป็นแบรนด์ที่เพื่อน คนรู้ใจ คนวัยทำงาน และกลุ่มครอบครัว สามารถมาล้อมวงมอบสิ่งดี ๆ ให้กัน ผ่านการเอ็นจอยในวัตถุดิบคุณภาพต่าง ๆ รวมทั้งยังทำให้นึกถึงกันในวันที่ไม่รู้จะกินอะไร เพราะ "กินอะไรๆๆ ไปกิน MK" เป็นวลีที่ฝังหัว ที่ต่อยังไม่ใช่ตัวเลือกตอนนี้ ตอนหน้าก็ยังมีโอกาสไปแวะเวียน...
อ้างอิง: การตลาดวันละตอน
โฆษณา