21 พ.ย. 2024 เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

FIDF คืออะไร? ทักษิณ ถึงมองว่าจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถแก้หนี้ได้

กองทุน FIDF คืออะไร? ทำไม ทักษิณ ถึงมองว่าถ้าธนาคารพาณิชย์ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถแก้หนี้ให้กับประชาชนได้
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยพูดในเวทีหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหา "หนี้ของคนไทย" สังเกตเห็นคนไทยไม่ค่อยยิ้มเหมือนเดิม เพราะหนี้สินเยอะ ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และการที่จะถอดโซ่ตรวนเพื่อให้ทุกคนวิ่งได้ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวของโดยตรงต่อธนาคารพาณิชย์ และแนวทางหนึ่งที่จะปลดล็อกให้ธนาคารเหล่านนั้นสามารถออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของตนเองได้ คือ
ภาระหนี้นับเป็นหนี้สาธารณะ โดยมีการกำหนดแหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากการออกพันธบัตร
เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดเงินจ่ายเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF และเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมอยู่ที่ 0.46-0.47% ลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.23% เพื่อที่ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปใช้เป็นต้นทุนไปบริหารหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสียก้อนใหญ่ขึ้น
ซึ่งสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ตามที่สภาพัฒน์ เปิดเผยข้อมูล พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 อยู่ที่ 89.6% ลดลงเล็กน้อยจาก 90.9% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงสูงกว่า 82.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน คุณภาพของสินเชื่อยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 อยู่ที่ 3.2% ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมด สูงสุดในรอบ 4 ปี ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
PPTVWealth เลยไปหาข้อมูลว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF นั้นคืออะไรและมีบทบาทหน้าที่อย่างไร
FIDF คือ กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นนิติบุคคล มีสินทรัพย์และหนี้สินแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพโดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน
หลังจัดตั้ง กองทุนฯ ได้เข้ามาสานต่อการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตาม "โครงการ 4 เมษายน 2527" เป็นกลไกช่วยเหลือสภาพคล่อง รวมถึงฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวิกฤตทางการเงินในปี 2540 (ต้มยำกุ้ง)
ที่กองทุนฟื้นฟูมีภารกิจสำคัญในการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องสถาบันการเงินเพื่อนำไปจ่ายคืนผู้ฝากเงินเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและลดความตื่นตระหนกของประชาชน การฟื้นฟูกิจการด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนและการรับซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งการรับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ทางการเงินของประเทศดีขึ้น
และมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปี 2551 กองทุนฟื้นฟูฯจึงได้ยกเลิกการประกันเจ้าหนี้และยุติบทบาทการประกันผู้ฝากเงิน
ปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีภารกิจสำคัญ 3 ด้าน คือ
- การบริหารจัดการหนี้ FIDF ตาม พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้ฯ ปี 2555
- การติดตามและบริหารทรัพย์สินคงเหลือจากการเข้าแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในอดีต
- การเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินการตามแผนแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินได้อย่างทันการณ์หากเกิดวิกฤตสถาบันการเงินในอนาคต
รายงานการบริหารหนี้ตาม พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ พ.ศ. 2555 หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2567
FIDF มีหน้าที่อย่างไร
ความเสียหายจากการเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินตามนโยบายของทางการ ในวิกฤตปี 2540 ทำให้ FIDF มีความเสียหายก้อนใหญ่ โดยรัฐบาลมีการออก พ.ร.ก. 2 ครั้ง เพื่อออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ รวม 1.21 ล้านล้านบาท (FIDF1 และ FIDF3) และมีมติ ครม. เพื่อค้ำประกันพันธบัตรที่ออกโดยกองทุนฟื้นฟูฯ อีก 1.12 แสนล้านบาท (FIDF2) รวมเป็น 1.32 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ภาระหนี้ดังกล่าวนับเป็นหนี้สาธารณะ โดยมีการกำหนดแหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากการออกพันธบัตรดังกล่าวไว้
ซึ่งการเก็บ FIDF ในปี 2555 รัฐบาลต้องการลดภาระการจ่ายดอกเบี้ย FIDF ที่มีอยู่จำนวนสูง เพื่อจะนำงบประมาณไปใช้ฟื้นฟูประเทศภายหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จึงได้ตรา พรก. บริหารหนี้ฯ ปี 2555 เพื่อเพิ่มแหล่งเงินอีก 2 แหล่ง มาใช้ชำระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ที่คงเหลือในขณะนั้น 1.14 ล้านล้านบาท (หนี้ FIDF2 ชำระเสร็จสิ้นเมื่อปี 2549) คือ
1. เงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูฯ
2. เงินที่เก็บจากธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.46% ของฐานเงินรับฝาก (FIDF Fee)
ซึ่งถือเป็นต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ในการประกอบธุรกิจ โดยกองทุนฯ จะกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อจ่ายดอกเบี้ยรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับจัดการหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ส่วนเงินที่เหลือจะส่งไปจ่ายเงินต้น ซึ่งสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะตัดเงินต้นในส่วนไหน
โดยกองทุนฯ ไม่สามารถนำเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นได้ทำให้ยอดหนี้เงินต้นลดลงต่อเนื่อง โดย ณ 15 ก.ย. 67 มีหนี้เงินต้นคงเหลือรวม 5.5 แสนล้านบาท (FIDF1 = 2.6 แสนล้านบาท FIDF3 = 2.9 แสนล้านบาท) โดยคาดว่าจะชำระหนี้เงินต้นหมดภายในปี 2574
แล้วทำไมรัฐบาลจึงต้องเข้ามารับผิดชอบหนี้ที่เกิดจากการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงิน
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกไว้ว่า หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินปี 2540 ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นร่วมกันว่าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ เป็นปัญหาระดับประเทศ จึงร่วมกันออกมาตรการต่าง ๆ โดยดำเนินการผ่านกองทุนฟื้นฟูฯ รวมทั้งมีการประกาศค้ำประกันเต็มจำนวนแก่เจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และให้ภาคธุรกิจดำเนินการต่อได้และไม่ทำให้ผู้ฝากเงินได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ การดำเนินการต่าง ๆ หากส่งผลให้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้รับความเสียหาย รัฐบาลจึงต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่จำเป็นแก่กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ขอรับความช่วยเหลือมาเป็นลำดับ รวมจำนวนเงินชดเชยความเสียหายทั้งสิ้น 1.32 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะ
จึงเป็นหลักปฏิบัติสากลที่การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนับเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะเป็นผู้มีอำนาจเก็บภาษีและจัดสรรทรัพยากรในประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปในช่วงปี 2551 ถึง 2555 หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในช่วงต้นปี 2566 ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป (SVB และ Credit Suisse)
สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,627,853.5 ล้านบาท คิดเป็น 63.3% ของ GDP ลดลงจาก 63.4% ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2567 โดยหนี้สาธารณะ ประกอบด้วย เงินกู้ภายในประเทศ 11,505,765.8 ล้านบาท ( 99.0% ของหนี้สาธารณะ)
และเงินกู้จากต่างประเทศ 122,087.7 ล้านบาท ( 1.0% ของหนี้สาธารณะ) ทั้งนี้ แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล 10,259,126.2 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,066,825.8 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 189,252.9 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 112,648.6 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 88.2% 9.2% 1.6% และ 1.0% ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาลดเงินจ่ายเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะรับลูกเรื่องนี้ เพราะมองว่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถจะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียของธนาคารด้วยการ ออกมาตรการ ‘พักหนี้-ลดภาระหนี้’ ลูกหนี้รายย่อยที่มีปัญหาชำระหนี้ (NPL) เป็นเวลา 3 ปี ด้วยการใช้เงินส่วนนี้เป็นทุนให้กับธนาคาร
1
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/237020
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา