21 พ.ย. เวลา 10:45 • ข่าวรอบโลก

นักวิทย์พบ โลมามีพฤติกรรม “คุยกับตัวเอง” เวลารู้สึกเหงา

นักวิจัยศึกษาพฤติกรรมโลมาปากขวดตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่โดดเดี่ยวลำพัง และพบว่ามันมีพฤติกรรมที่คล้าย “การคุยกับตัวเอง” ของมนุษย์
พฤติกรรม “การคุยคนเดียว” เป็นสิ่งที่หลายคนมักทำเวลาอยู่คนเดียวแต่ไม่มีเพื่อนคุย แต่ทราบหรือไม่ว่า ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่คุยคนเดียวแก้เหงา แต่ “โลมา” เอง ก็อาจมีพฤติกรรมแบบนี้เช่นกัน
ทีมวิจัยจากเดนมาร์กได้ทำการสังเกตการณ์โลมาตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในทะเลบอลติก และพบว่า ดูเหมือนมันจะกำลังคุยกับตัวเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเกิดจากเหตุผลเดียวกับมนุษย์ คือรู้สึกเหงา
โลมาปากขวด (แฟ้มภาพ)
โลมาตัวดังกล่าวเป็น โลมาหัวขวด (Tursiops truncatus) ซึ่งปกติเป็นสัตว์สังคมที่มักอาศัยอยู่เป็นฝูง แต่ในเดือน ก.ย. 2019 โลมาหัวขวดตัวหนึ่งได้เริ่มมาวนเวียนอยู่แถวช่องแคบสเวนบอร์กซุนด์ (Svendborgsund) ทางใต้ของเกาะฟูเนน ประเทศเดนมาร์ก ชาวบ้านแถวนั้นตั้งชื่อให้มันว่า “เดลล์”
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกอาณาเขตปกติของโลมาหัวขวด และไม่พบโลมาตัวอื่นในบริเวณใกล้เคียงเลยนอกจากเดลล์
นักวิจัยได้วางอุปกรณ์บันทึกเสียงใต้น้ำเพื่อศึกษาพฤติกรรมของโลมาหัวขวดที่อยู่ตัวเดียวว่าจะเป็นอย่างไร โดยสังเกตจากเสียง
ทั้งนี้ โลมาสามารถสร้างเสียงได้หลัก ๆ 2 ประเภท คือเสียงหวีดคล้ายเสียงผิวปาก (whistle) และเสียงสั้น ๆ คล้ายกับคลื่นที่ระเบิดออกมา (burst-pulse)
ทีมวิจัยพบว่า เดลล์ส่งเสียงดังกว่าที่คาดคิดไว้มาก
โอลกา ฟิลาโตวา นักชีววิทยาโลมาทะเลจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า “ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ฉันจึงตัดสินใจเพิ่มเครื่องบันทึกเสียงที่สามารถบันทึกเสียงจริงได้ ... ฉันคิดว่าเราอาจจะได้ยินเสียงนกหวีดในระยะไกลหรืออะไรทำนองนั้น ฉันไม่ได้คาดคิดว่าจะได้ยินเสียงที่แตกต่างกันเป็นพัน ๆ เสียง”
ทีมวิจัยได้เก็บเสียงของเดลล์เป็นเวลา 69 วัน ระหว่างวันที่ 8 ธ.ค. 2022 ถึง 14 ก.พ. 2023 โดยตรวจพบเสียงถึง 10,833 เสียง ซึ่งหลายเสียงในนี้มักเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร
เสียงที่พบได้แก่ เสียงหวีด 2,291 เสียง เสียงสั้นเป็นคลื่น ๆ 2,288 เสียง เสียงโทนความถี่ต่ำ 5,487 เสียง และเสียงคล้ายเสียงเคาะ 767 เสียง
ในบรรดาเสียงเหล่านี้ โลมาได้เปล่ง “เสียงหวีดประจำตัว” ที่แตกต่างกันถึง 3 เสียง
ฟิลาโตวาบอกว่า “โลมาปากขวดมีเสียงที่เรียกว่าเสียงหวีดประจำตัว ซึ่งเชื่อกันว่าไม่ซ้ำกันในโลมาแต่ละตัว เป็นเหมือนกับชื่อคน ถ้าเราไม่ทราบว่าเดลล์อยู่ตัวเดียว เราก็อาจสรุปว่ามีกลุ่มโลมาอย่างน้อย 3 ตัวกำลังมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่าง ๆ กัน”
เธอเสริมว่า “โดยทั่วไปแล้ว เสียงเหล่านี้ถือเป็นการสื่อสารประเภทหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า มันควรมีปลาโลมาอย่างน้อย 2 ตัวที่กำลังพูดคุยกันจึงจะได้ยินเสียงนี้ แต่เดลล์อยู่ตัวเดียว”
ในตอนแรก นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า โลมาตัวนี้อาจพยายามสื่อสารกับนักพายเรือแพดเดิลบอร์ดในท้องถิ่นหรือไม่ แต่พวกเขายังบันทึกเสียงในเวลากลางคืนได้ด้วย “ไม่มีมนุษย์อยู่ในน้ำในเวลานั้นอย่างแน่นอน”
เหตุใดปลาโลมาตัวเดียวจึงส่งเสียงประจำตัวที่แตกต่างกันถึง 3 เสียงยังคงเป็นปริศนา แต่ฟิลาโตวาตั้งสมมติฐานว่า เดลล์อาจกำลังพูดกับตัวเองหรืออาจเป็นเสียงที่ไม่ได้ตั้งใจซึ่งเกิดจากอารมณ์บางอย่าง “คล้ายกับบางครั้งที่เราหัวเราะเมื่ออ่านเรื่องตลก แม้ว่าจะไม่มีใครอยู่แถวนั้นได้ยินก็ตาม”
อีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ โลมาส่งเสียงร้องเพื่อหวังจะดึงดูดความสนใจจากโลมาตัวอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง แม้ฟิลาโตวาจะบอกว่า “ดูไม่น่าเป็นไปได้” ก็ตาม เธอบอกว่า “โลมาตัวนี้ใช้เวลา 3 ปีในบริเวณนั้นและน่าจะรู้แล้วว่าไม่มีโลมาตัวอื่นอยู่ที่นั่น”
ฟิลาโตวากล่าวว่า โดยปกติแล้ว นักวิจัยจะไม่บันทึกเสียงโลมาที่อาศัยอยู่ตัวเดียว “โลมาที่โดดเดี่ยวมักถูกมองว่านอกคอกและเป็นตัวประหลาด และไม่มีใครคาดหวังว่าโลมาจะเปล่งเสียงออกมาให้เราบันทึก”
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมากที่ต้องเรียนรู้ ก่อนที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเหตุใดโลมาจึงเปล่งเสียงต่าง ๆ ออกมา และหากพิสูจน์ได้ว่ามันเกิดจากความเหงาจริง ก็คงเป็นเรื่องน่าเศร้าไม่น้อย
เรียบเรียงจาก Live Science
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/237003
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา