21 พ.ย. เวลา 05:30 • การเมือง

ทอดเวลา รื้อ รธน.60 ‘เพื่อไทย’ถือธง ‘วิน-วิน’

มติ "กมธ.ร่วม" ยืนยันใช้เกณฑ์ผ่านประชามติแบบ2ชั้น ผลที่ตามมาคือ ทางเดินไปสู่การพักร่างกฎหมาย180วัน เท่ากับต้องทอดเวลารื้อรธน.ด้วย แต่ "พท." ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะถือไพ่วิน-วิน ในมือแล้ว
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ในชั้นกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... มีข้อสรุปต่อประเด็นหลักเกณฑ์ผ่านประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญ
คือ คงเกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น ตามที่ “มติวุฒิสภา” แก้ไข คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ “ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง” และ “มีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามตินั้น”
แม้ว่าในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม มีผู้พยายามเสนอทางประนีประนอม ลดเพดานขั้นสูงของ สว. และขยับเพดานขั้นต่ำของ สส. ที่ต้องการใช้เกณฑ์ผ่านประชามติเพียงแค่ “เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ”
ทว่า ในผลการชี้ขาดที่ต้องใช้การลงมติ พบว่า “กมธ.ฝั่ง สว.” เอาชนะไปได้ หลังแพ็กกันแน่น 13 เสียง จาก สว.14 คนที่เป็น กมธ.
โดย พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชรเต็ม สว. ฐานะประธานกมธ. งดออกเสียง ส่วน กมธ.ฝั่ง สส.เสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่ยืนตาม “มติสภาฯ” ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวมี 9 คน ทั้งนี้ มีฝ่ายที่งดออกเสียง 2 คน มาจาก “พรรคภูมิใจไทย” ขณะที่อีก 2 เสียงสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นสายกลาง
ขั้นตอนต่อไปคือ การนำเข้าสู่ที่ประชุมของแต่ละสภาฯ โหวตว่าจะเห็นด้วยกับการพิจารณาของ “กรรมาธิการร่วมกัน” หรือไม่ ในช่วงการเปิดประชุมสภาฯ เดือน ธ.ค. นี้
หาก “สองสภาฯ” เห็นพ้องต้องกันได้ จะนำไปสู่ขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่หากใดสภาหนึ่งยังเห็นแย้งกัน จะนำไปสู่ขั้นตอน “พักร่างกฎหมาย” ไว้ 180 วันหรือ 6 เดือน ก่อนที่จะคืนสิทธิให้ “สภาผู้แทนราษฎร” ยืนยันเนื้อหาตามที่สภาฯมีมติ และส่งเรื่องไปตามกระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า จะใช้เวลารอให้กฎหมายประชามติประกาศใช้ราวๆ เดือนส.ค. หรือต้น ก.ย. 2568
เท่ากับว่า กระบวนการ “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ตามที่รัฐบาล-พรรคเพื่อไทยประกาศไว้เป็นสัญญาประชาคม ต้องทอดเวลาออกไป จนกว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับแก้ไข ประกาศใช้
เพราะในห้วงที่ไม่มีมติคณะรัฐมนตรี ของ “แพทองธาร ชินวัตร” ที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลง มติ ครม. ยุค “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ซึ่งประกาศไว้ว่า จะเริ่มทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ หลังจากที่แก้ไขกฎหมายประชามติแล้วเสร็จ คำสัญญานั้น ยังคงเป็นไปตามเดิม ยกเว้นมีการทบทวน แก้ไข และเปลี่ยนแปลง
ขณะนี้ มีความพยายามใช้กลไกของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ให้ “ครม.” ทบทวนประเด็นดังกล่าว ผ่านการเดินเกมของ “กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน” นำโดย “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.พรรคประชาชน ที่ขอเข้าพบ ประธานรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายกฯ
ในความพยายามรอบนี้ อาจทำได้มากสุดคือ ยอมให้ “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” เป็นรายมาตราเท่านั้น เพราะหากลุยไฟ แก้ใหญ่ ปลดล็อก มาตรา 256 เพื่อแก้ไขหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” นั้น “สว.” จะโหวตไม่เห็นด้วย
หากไม่ผ่านการทำประชามติ ขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อน เพราะถือเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
แม้ว่า “พรรคประชาชน” จะยอมเสี่ยง เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ต่อรัฐสภา เพื่อแก้ไขบทบัญญัติ เปิดทางให้มี “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งขณะนี้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ยอมบรรจุเรื่องไว้ในวาระแล้ว
แม้ว่า “ฝ่ายกฎหมายของประธานรัฐสภา” ให้ความเห็นเป็นหมายเหตุต่อรัฐสภา ไว้ว่า “ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องถามความยินยอมจากประชาชน ผ่านกระบวนการ “ประชามติ” ก่อน
ลำพังเสียงของฝ่ายข้าราชการประจำไม่อาจยับยั้งได้ ต้องใช้มติของ “รัฐสภา” ชี้ขาด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า “สว.” อาจไม่ให้ความเห็นชอบตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องหลังจากนี้ ทั้งในประเด็นการแก้ไขกฎหมายประชามติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ต่อการเดินไปสู่การรื้อรัฐธรรมนูญของ “คสช.” จะเป็นอย่างไร?
คำตอบที่ได้คือ การเริ่มต้นรื้อใหญ่ แก้ใหม่ทั้งฉบับ อาจต้องรอไปจนถึง “สิ้นปี 2568” หรือ “ต้นปี 2569” ส่วนการเปิดทางให้มี “สสร.” นั้น อาจต้องรอไปจนเกือบสิ้นปี 2569 เลยทีเดียว
เมื่อนับไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ ตามวาระของ “รัฐบาล-แพทองธาร” ที่จะสิ้นสุดในเดือนส.ค. 2570 แล้ว อาจไม่มีความจำเป็นต้อง “เร่งรีบ” เพราะยามนี้ “พรรคเพื่อไทย” ยังมีแต้มต่อเหนือพรรคการเมืองอื่นๆ ในสมรภูมิการเมือง.
โฆษณา