Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โรงพยาบาลเพชรเวช
•
ติดตาม
6 ชั่วโมงที่แล้ว • สุขภาพ
โรงพยาบาลเพชรเวช
ปวดหัวข้างเดียว สัญญาณเฉพาะจุดของไมเกรน
ปวดหัวข้างเดียว หรือปวดศีรษะครึ่งซีก เป็นอาการของ “โรคไมเกรน (MIGRAINE)” ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกวัยโดยเฉพาะวัยทำงาน เนื่องมาจากปัจจัยรอบตัวทั้งแสงจากจอคอมพิวเตอร์ หรือความเครียดจากการทำงาน ถึงแม้ว่าโรคนี้จะสามารถบรรเทาได้ด้วยการพักผ่อนและการทานยา แต่หากละเลยการดูแลตนเองอาจทำให้อาการหนักขึ้นเกินกว่าจะรักษา หรือบรรเทาอาการลงได้
ไมเกรนเกิดจากอะไร ?
อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนเป็นผลมาจากระบบไฟฟ้าบริเวณพื้นผิวสมองเกิดความผิดปกติ เป็นผลให้เกิดการกระตุ้นได้ง่าย และการกระตุ้นนี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือด และระบบประสาทของสมองเกิดความผิดปกติ อาการเหล่านี้จะแสดงออกมาให้เรารู้สึกได้ผ่านอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวได้อีกด้วย ได้แก่
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการนอนหลับมากเกินไป
- สภาวะความเครียด
- การดื่มแอลกอฮอล์, คาเฟอีน และสูบบุหรี่มากเกินไป
- การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในเพศหญิง
- ถูกกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น มีแสง กลิ่น หรือเสียงมากเกินไป
ปวดศีรษะแบบไหนถึงเป็นไมเกรน ?
หลายคนอาจสับสนเนื่องจากอาการปวดศีรษะมีอยู่หลายรูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบต่างมีความหมายที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าอาการปวดแบบไมเกรนนั้นย่อมมีความเฉพาะอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนี้
- ปวดศีรษะครึ่งซีก (ปวดข้างเดียว) สามารถสลับข้างใดข้างหนึ่งไปมาได้
- อาการปวดจะอยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป การเดิน หรือการขึ้นบันไดสามารถทำให้ปวดมากขึ้นได้
- การปวดจะเป็นลักษณะคล้ายจังหวะของชีพจร หรือที่เราเรียกกันว่าปวดแบบ “ตุบ ๆ”
- โดยปกติอาการปวดจะอยู่ได้ราว 4 – 72 ชั่วโมง หากไม่ทำการรักษา
จากอาการที่กล่าวมาผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน ไม่ต้องการเจอแสงจ้า หรือกลิ่นเหม็น เป็นต้น ซึ่งการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้นสามารถเกิดได้ทั้งแบบมีสัญญาณเตือน (Migraine with aura) คือมีปัญหาด้านการมองเห็น มือแขน และปากชา กับอีกประเภทคือแบบไม่มีสัญญาณเตือน (Migraine without aura) ซึ่งพบได้มากกว่าแบบแรก
ทำไมคนวัยทำงานจึงเสี่ยงไมเกรน ?
ความจริงแล้วไมเกรนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยโดยรอบ และการทำงานของสมองเป็นตัวกระตุ้นด้วย ตรงจุดนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนวัยทำงานมีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น เพราะเมื่อเราสังเกตดี ๆ การเจอแสงจากจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การสะสมความเครียดจากการทำงาน หรือการทำงานมากเกินไปจนมีเวลาพักผ่อนน้อย สาเหตุเหล่านี้นี่เองที่ยากจะหลีกเลี่ยงสำหรับคนวัยนี้ และส่งผลให้เกิดความเสี่ยงไมเกรนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
เมื่อเป็นไมเกรนควรทำอย่างไร ?
หากเป็นไมเกรนแล้วเราต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองมากยิ่งขึ้น เพื่อให้อาการปวดบรรเทาลง ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีดังนี้
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
- ทานยาพาราเซตามอล เมื่อเริ่มมีอาการปวดใหม่ ๆ เนื่องจากหากปล่อยไว้แล้วค่อยทานยาจะมีส่วนช่วยได้น้อย และไม่ควรทานติดต่อกันมากจนเกินไป เพราะจะส่งผลข้างเคียงได้
- หากเคยเป็นไมเกรนมาก่อนให้พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้น เช่น สภาพแวดล้อมที่เสียงดัง เป็นต้น
- งดดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เนื่องจากการสูบมาก ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ และเกิดอาการไมเกรนในเวลาต่อมา
- ประคบเย็นบริเวณศีรษะที่ปวด
- ทำกิจกรรมที่เกิดความผ่อนคลายเพื่อหลีกหนีความเครียด
หากปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวไปแล้วยังคงมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป
ไมเกรนรักษาอย่างไร ?
อาการปวดชนิดนี้ไม่สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้อาการปวดบรรเทาลดลงจนหายในช่วงเวลานั้น ๆ ได้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่
- การปวดแบบเฉียบพลัน รักษาได้ด้วยการรับยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้สำหรับอาการไมเกรนโดยเฉพาะ เช่น ยากลุ่มทริปแทน เป็นต้น
- การปวดแบบเรื้อรัง สำหรับผู้ที่เป็น ๆ หาย ๆ ต้องทำการป้องกันไม่ให้ปวดซ้ำจะได้รับยาเฉพาะทาง และต้องทานติดต่อกันทุกวัน เช่น กลุ่มยากันชัก เป็นต้น
นอกจากการรักษา 2 ประเภทนี้แล้ว ยังสามารถรักษาได้ด้วยการรับยาต้านซึมเศร้าช่วยได้ด้วย อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยการทานยานอกจากพาราเซตามอลแล้ว ยาชนิดอื่น ๆ ผู้ป่วยไม่ควรตัดสินใจทานเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
ปวดศีรษะแบบไมเกรนเป็นอาการที่ยากจะหลีกเลี่ยง เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเรา และไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีทั่วไป ควรรีบเข้ามาพบแพทย์ก่อนที่อาการจะรุนแรง เนื่องจากหากปล่อยให้เป็นบ่อยครั้งอาจเป็นไมเกรนเรื้อรังได้นั่นเอง
เรื่องเล่า
ไลฟ์สไตล์
สุขภาพ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย