การลงทุนโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2568 - 2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ140,000 ล้านบาทภายในปี 2572
ซึ่งนอกเหนือไปจาก google ที่ประกาศโครงการลงทุนนี้แล้ว จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังพบว่า ปัจจุบันอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจัดตั้ง Data Center 37 โครงการ มูลค่าเงิน ลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง
โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ ก่อนหน้านี้ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 มีกำหนดว่าในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท
และไม่เพียงบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS เป็นต้น
เหตุผลสำคัญที่บิ๊กเทค ตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานที่มั่นในการลงทุน Data Center มากจากความปลอดภัยของไทยซึ่งอยู่ในโลเคชั่นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติน้อยกว่าบางพื้นที่ และที่สำคัญไทยยังเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนา Data Center ไทยตอบโจทย์ทั้งเรื่องปริมาณ และราคาค่าไฟ และยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐอย่างมาก
ปูพรมในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม การลงทุน Data Center ไม่เพียงแต่จะบูมในประเทศไทยเท่านั้น แต่หากสำรวจข้อมูลการลงทุนประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนในปี 2567 นี้จะพบว่า บิ๊กเทคโลกได้ประกาศการลงทุนรวมกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว อาทิ Microsoft ลงทุน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6.2 หมื่นล้านบาท ในอินโดนีเซียเป็นเวลา 4 ปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และ AI ด้าน AWS ประกาศลงทุนใน AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ส่วน Google ประกาศลงทุน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.3 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้าง Data Centerแห่งแรกในมาเลเซีย
“Data Center” (ดาต้าเซ็นเตอร์) คืออะไร?
คำถามคือ “Data Center” คืออะไร และผู้ประกอบการ 'คนตัวเล็ก' หรือ SME จะมีโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงการเหล่านี้หรือไม่อย่างไร
ซึ่งเกือบทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์นั้นเกิดขึ้นใน Data Center บางครั้งอาจจะได้ยินผู้คนพูดว่า สำรองข้อมูล "ในคลาวด์" ซึ่งเป็นคำทั่วไปที่ใช้พูดถึง Data Center “ก้อนเมฆบางเบา” และล่องลอยอยู่ทั่วไปในอากาศ แต่ก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับจริงจัง
ความต้องการ Data Center เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนเสริมให้ Data Center เติบโต ก็มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการใช้เวลาบนออนไลน์มากขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ทุกคนต้องทำงานจากบ้าน (Work From Home)
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) ขนาด Data Center ต่อจำนวนประชากรในไทยเติบโตไปแล้วกว่า 54% และไทยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน พร้อมคาดว่า ในช่วงปี 2567-2570 การลงทุน Data Center ของไทยจะมีมูลค่ามากกว่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.1% ของ GDP แต่ยังเป็นรองมาเลเซีย
โดยตลาดบริการ Data Center ไทย น่าจะเติบโตเฉลี่ยกว่า 31.2% ต่อปี ซึ่งอัตราการเติบโตระดับนี้บ่งชี้ถึงโอกาสที่เป็นไปได้สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการ “Data Center” ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ยังได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลไทยที่สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ 5G อย่างเต็มที่ ทั้งยังมีการกำหนดให้พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve อย่าง อุตสาหกรรม AI sinv หุ่นยนต์ที่กำลังเติบโตอย่างมาก เทคโนโลยีการจัดการข้อมูลจำนวนมาก อย่าง Edge Computing และ Internet of Things (IoT) ทำให้เกิด BIG DATA มหาศาล ที่จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ Data Center มากขึ้น
เป็นโอกาสของเอสเอ็มอีในการเติบโตด้วยเทคโนโลยี เพราะที่สำคัญโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์และศูนย์ข้อมูลของ Google ในกรุงเทพฯ และชลบุรีจะช่วยรองรับความต้องการการใช้งาน Google Cloud และนวัตกรรม AI อีกทั้งบริการต่าง ๆ ของ Google ที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ Google Search, Google Maps และ Google Workspace เป็นต้น
ส่วนประโยชน์จาก Cloud Region ซึ่งเป็นการรวบรวมทรัพยากรการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูลโดยมีการเชื่อมต่อเครือข่ายประสิทธิภาพสูงระหว่างกัน แม้ว่าฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการดำเนินการจะคล้ายคลึงกับศูนย์ข้อมูล แต่ Cloud Region จะให้บริการ Google Cloud เฉพาะสำหรับองค์กรทุกขนาดรวมถึง SME ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบดิจิทัล
เหตุผลสำคัญที่ต้องมองถึงการใช้ประโยชน์จาก Data Center เพราะในโลกอนาคต Data Center จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบริษัทไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กจำเป็นต้องพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์ขับเคลื่อนการทำงาน รวมถึงต้อง เข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก (Big Data) ซึ่งหากบริหารจัดการได้ไม่ดี อาจจะประสบปัญหาระบบ หรืออาจจะบานปลายไปถึงความปลอดภัยของข้อมูล ที่เสี่ยงต่อการถูกแฮ็กได้
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อต้นปี 2567 ระบุว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มใช้บริการ Data Center ส่วนใหญ่คือองค์กรที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการ (R&D) หรือต้องการข้อมูลแบบ Real-time หรือต้องการความปลอดภัยทางข้อมูลสูง เช่น
เห็นได้ว่าประโยชน์ของการมี Data Center ที่ได้มาตรฐาน จะช่วยให้ธุรกิจมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรมจากข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้เป็นดิจิทัลได้เร็วขึ้น ส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลก แต่สิ่งสำคัญ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร? ให้แรงงานปรับตัวพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อคว้าโอกาส ต่อยอดธุรกิจจากประโยชน์ของ Data Center ให้ได้