9 ชั่วโมงที่แล้ว • สุขภาพ

จะเกิดอะไรเมื่อ "ไทย" กลายเป็นเป้าการตลาด "บุหรี่ไฟฟ้า" ผชช.หวั่นอัตราสูบพุ่ง สินค้าเถื่อนกระจายทั่ว

ผู้เชี่ยวชาญ WHO ชี้ "ไทย" ตกเป็นเป้าการตลาด "บุหรี่ไฟฟ้า" หวังดูดเยาวชนเป็นลูกค้าระยะยาว พร้อมใช้อ้างประเทศที่ควบคุมเข้มแข็ง ยังเปลี่ยนนโยบาย หวั่นเป็นเหมือน "แคนาดา" อัตราสูบเยาวชนพุ่ง 74% ขณะที่สหรัฐฯ พบวัยรุ่นหันใช้บุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่นผิด กม.ถึง 87.6% ซ้ำสินค้าเถื่อนกระจายทั่วประเทศ เตือนบริษัทบุหรี่พร้อมใช้ทุกกลยุทธ์แทรกแซงนโยบาย เป็นอุปสรรคอันดับ 1 ของทั่วโลก
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น จตุจักร ศูนย์ความรู้เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทบุหรี่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีเสวนาบทเรียนยกเลิกการห้ามขายและประเทศที่ให้ขายได้แต่ควบคุมมาตรฐานบุหรี่ไฟฟ้าและการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่
ศ.สเตลลา บีอลอส (Stellar Bialous) ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เกือบ 40 ประเทศทั่วโลกห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยในอดีต "แคนาดา" เคยห้ามขายเช่นกัน แต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าและใช้ระบบการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า (Tobacco and Vaping Products Act) แทน
ศ.สเตลลา บีอลอส
ส่งผลให้ปี 2018 เยาวชน 16-19 ปี ที่เมืองอัลเบอร์ตาสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นมากถึง 74% จากอัตราการใช้ 8.4% ในปี 20.17 เป็น 14.6% ในปี 2018 และอัตราการสูบสูงต่อเนื่องหลายปี เป็นกลุ่มผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และปี 2021-2022 มีเยาวชน 11% ใช้บุหรี่มวนควบคู่ไปด้วย
รัฐบาลแคนาดาจึงออกมาตรการทางกฎหมายควบคุม โดยการจำกัดปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายไม่ให้เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และรณรงค์ให้ความรู้อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนอายุ 13-18 ปี โดยช่วง 3 ปีแรกคือ 2017-2020 ใช้เงินมากกว่า 12 ล้านดอลลาร์ โดยใช้ถึง 9.5 ล้านดอลลาร์มุ่งเน้นในกลุ่มเยาวชน ถือเป็นตัวอย่างประเทศจากห้ามขายมาเปิดขายก็ประสบปัญหา
ส่วนสหรัฐอเมริกา จะมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) เป็นองค์กรควบคุม ต้องได้รับอนุญาตถึงขายได้ เมื่อเปิดให้ตรวจมาตรฐานจึงมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 6 ล้านผลิตภัณฑ์มาขอใบอนุญาตขาย ปัจจุบันได้รับอนุมัติเพียง 34 ผลิตภัณฑ์จาก 3 ยี่ห้อ แม้จะมีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแบบมีกลิ่นรสหรือกลิ่นหอม แต่วัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า 87% ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีกลิ่นรส ซึ่งเป็นสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีการจำหน่ายในทุกช่องทางอย่างแพร่หลาย
ศ.สเตลลา บีอลอส
อย่างไรก็ตาม หลังจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนพุ่งสูงถึง 27.5% ในปี 2019 ปัจจุบันหลังสถานการณ์โควิดแนวโน้มเริ่มลดลงเหลือ 5.9% ในปี 2024 ทั้งนี้ มีการรณรงค์ใหญ่ในปี 2016 โดย 2 ปีแรกใช้เงินไป 250 ล้านดอลลาร์ (8,657 ล้านบาท) เน้นเข้าไปรณรงค์ในโรงเรียนทั่วประเทศ
"ถึงได้จะอนุญาตขาย 34 ผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย โดยห้ามไปอ้างว่าปลอดภัยและห้ามว่าอ้างช่วยเลิกบุหรี่ได้ ย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีมากชนิด แต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน นอกจากมีนิโคตินที่เสพติดรุนแรง ก็มีสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งต่อสมอง ปอด ฯลฯ
ปัญหาใหญ่คือคนที่สูบบุหรี่มวนที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่สูบทั้งสองอย่าง ไม่ได้เลิกสูบบุหรี่แล้วไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว ซึ่งอันตรายจากการสุบสองอย่างก็เกิดโรครุนแรงกว่า ที่น่าห่วงคือ ประเทศจำนวนมากไม่มีความพร้อมในการตรวจสารต่างๆ เหล่านี้ในบุหรี่ไฟฟ้า และไม่มีความสามารถเพียงพอในการควบคุม" ศ.สเตลลากล่าว
นายแอนดรู แบลค (Andrew Black) ผู้นำทีมสำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า บุหรี่เป็นสินค้าอันตรายทำให้เสียชีวิตได้ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่างๆ และการบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขที่กำหนดไว้ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) เหตุผลหลักหนึ่งมาจากการแทรกแซงขัดขวางนโยบายและมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของบริษัทบุหรี่มากว่าหลายทศวรรษ
เราควรจะระลึกว่าบริษัทบุหรี่มีวัตถุประสงค์หลักคือการทำกำไร ซึ่งมาจากการเจ็บป่วยและชีวิตของผู้คน และสร้างภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคและการดูแลสุขภาพ ด้วยเป้าหมายที่จะทำผลกำไรจึงสามารถใช้ทุกกลยุทธ์ให้บรรลุเป้าหมาย จึงเป็นเหตุผลที่สำนักงานอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ร่วมกับศูนย์วิชาการฯ จัดอบรม 17 ประเทศถึงเรื่องการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ในการควบคุมยาสูบ เพราะผลสำรวจทุก 2 ปีพบว่า การขัดขวางแทรกแซงจากบริษัทบุหรี่เป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งของทุกประเทศทั่วโลก
แอนดรู แบลค
นายแอนดรูกล่าวว่า สาเหตุที่มีกรอบอนุสัญญาฯ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้นซึ่งเป็นฉบับเดียวของโลกที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งทำคนป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร โดยอนุสัญญาฯ กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีมาตรการที่ครอบคลุมในการปกป้องประชาชนจากอันตรายของการสูบบุหรี่ เช่น การปกป้องจากควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ ห้ามโฆษณาต่างๆ ควบคุมลดการสูบบุหรี่ ไปจนถึงเรื่องบุหรี่เถื่อน
โดยมีมาตรา 5.3 เรื่องการปกป้องนโยบายสาธารณะจากบริษัทบุหรี่ ขณะนี้มี 183 ประเทศที่เป็นภาคี มีพันธกรณีปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ในอนุสัญญารวมถึงประเทศไทยด้วย โดยมีการจัดทำร่างแนวปฏิบัติของมาตรา 5.3 ที่มีข้อแนะนำที่ครบถ้วนในการป้องกันการแทรกแซงนโยบายโดยบริษัทบุหรี่ มีรายละเอียดข้อแนะนำให้ประเทศต่างๆ นำไปปฏิบัติ คือ
แอนดรู แบลค
อันดับแรก การให้สังคมทุกภาคส่วนรู้อันตรายของยาสูบ และรู้กลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายบริษัทบุหรี่ ต่อมาคือ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต้องจำกัดการติดต่อกับบริษัทบุหรี่ให้เหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ และการติดต่อต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีที่สำหรับบริษัทบุหรี่ในการตัดสินนโยบายควบคุมยาสูบหรือนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสามารถมาให้ข้อมูลได้ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการที่จะตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลจริง
เพราะบริษัทจะไม่พูดความจริงทั้งหมดหรือมีการบิดเบือน และต้องไม่มีกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนทุกกรณี รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องไม่รับข้อเสนอความช่วยเหลือใดๆ จากบริษัทบุหรี่ เช่น การรักษาความสะอาด การจะให้วัคซีนต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำไปเพื่อผลประโยชน์การโฆษณาภาพลักษณ์ธุรกิจ
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการที่พรรคประชาชนเสนอจะให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะที่ไม่มีกลิ่นรส ซึ่งจะเห็นว่า สหรัฐอเมริกาก็ห้ามเช่นกัน แต่วัยรุ่นหันมาสูบแบบมีกลิ่นรสถึง 87% และการที่ ส.ส.หลายคนบอกว่าให้ขายได้แล้วเน้นการตรวจผลิตภัณฑ์ก่อนอนุญาตจำหน่าย ตรงนี้เรายังไม่มีแม้แต่ห้องปฏิบัติการ ขณะที่สหรัฐฯ กว่าจะตั้งปฏิบัติการตรวจต้องใช้เวลา 10 ปี
ศ.นพ.ประกิจ วาทีสาธกกิจ
ส่วนการห้าม CSR บริษัทบุหรี่ในกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 จะเห็นว่า แม้แต่สหประชาชาติที่มีโครงการชวนธุรกิจใหญ่ๆ ทั่วโลกนับหมื่นบริษัท ให้บริจาคเงินช่วยเหลือความอดอยากในแอฟริกา ก็ไม่รับบริจาคจากบริษัทบุหรี่ กาชาดสากลก็ไม่รับเช่นกัน เพราะกิจการบริษัทบุหรี่ขัดกับเป้าหมายกาชาดที่ช่วยชีวิต หลายๆ ประเทศรวมประเทศไทยก็ออกกฎหมายห้ามบริษัทบุหรี่สปอนเซอร์ทุกอย่าง
ถามว่าหากประเทศไทยยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดอะไรขึ้นและจะฝากอะไรถึงรัฐบาล  ศ.สเตลลากล่าวว่า ไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในไทยได้ แต่จากประเทศอื่นที่เปลี่ยนจากห้ามให้มาขายได้ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ จะมีเครือข่ายการขายถูกกฎหมายไปทั่วประเทศ และยังจะมีสินค้าเถื่อนตามไปทั่วประเทศด้วย ขณะที่อัตราการสูบก็พุ่งขึ้นโดยเฉพาะเยาวชน
ถามว่าประเทศไทยกำลังเป็นเป้าหมายในการทำการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่  ศ.สเตลลากล่าวว่า ใช่ ประเทศไทยเป็นเป้าหมาย และทุกประเทศที่มีประชากรอายุน้อยเยอะก็จะเป็นเป้าหมายด้วย เพราะเป็นลูกค้าที่จะเสพติดได้นาน และอีกเหตุผลที่ประเทศไทยเป็นเป้าหมายคือ ไทยมีภาพผู้นำในการควบคุมยาสูบในระดับนานาชาติและระดับโลก ถ้าเขาสามารถเปิดตลาดในประเทศไทยได้ ก็จะเป็นข้ออ้างว่า แม้แต่ประเทศไทยยังเปลี่ยนจากห้ามมาให้ขายได้
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เมื่อปี 2560 มีเป้าหมาย 40 ประเทศแรกในโลก หนึ่งในนั้นคือไทย เพราะไทยมีกำลังซื้อ และเป็นประเทศผู้นำในอาเซียน ถ้าเข้ามาได้ก็สามารถกระจายต่อในหลายประเทศอาเซียน ซึ่งตอนนี้สามารถเปิดตลาดไปได้ใน 84 ประเทศ และตั้งเป้าในปี 2025 หรือปีหน้าว่าจะเปิดให้ได้ 100 ประเทศ ซึ่งเชื่อว่าไทยก็อยู่ในนั้น
นายแอนดรู กล่าวว่า ตอนแรกบริษัททำบุหรี่ไฟฟ้าให้มีนิโคตินน้อย แต่พบว่าขายได้น้อย จึงต้องเพิ่มปริมาณนิโคตินเพิ่ม ก็พบว่าการขายกระจายตัวขึ้นสูงมาก เลยต้องมีนิโคตินสูงถึงขายได้ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดรุนแรงมาก รุนแรงกว่าและติดหนักกว่าบุหรี่มวน
#บุหรี่ไฟฟ้า #แทรกแซง #นโยบาย #ยาสูบ #องค์การอนามัยโลก
โฆษณา