Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
24 พ.ย. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“Puma” แบรนด์กีฬาสัญชาติเยอรมนี ผู้ไม่เคยได้ขึ้นอกเสื้อทีมอินทรีเหล็ก
เปิดประวัติ “Puma” แบรนด์กีฬาเบอร์ 3 ของโลก อีกหนึ่งแบรนด์ในตำนานจากพี่น้องดาสเลอร์ เจ้าของปรัชญาการสร้างรองเท้าที่เร็วที่สุดในโลก
“เสือภูเขา” (Puma concolor) เป็นสัตว์ป่าที่ขึ้นชื่อเรื่องความรวดเร็ว แข็งแกร่ง นุ่มนวล อดทน และคล่องตัว จนไม่แปลกที่คุณสมบัติดังกล่าวจะถูกนำมาใช้นิยามรองเท้า “พูมา” (Puma) แบรนด์เครื่องแต่งกายและรองเท้ากีฬาเบอร์ 3 ของโลก
ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงกันไปแล้วกับความขัดแย้ง “adidas vs Puma” ซึ่งเกิดจากความบาดหมางของสองพี่น้องดาสเลอร์ แต่ยังคงเป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่ดีเมื่อคิดว่าแบรนด์รองเท้าของสองพี่น้องที่เป็นคู่แข่งกันนี้สามารถหยัดยืนในตำแหน่ง Top 3 ของวงการได้ทั้งคู่
Puma แบรนด์กีฬาเบอร์ 3 ของโลก
หากใครเคยอ่านเส้นทางความสำเร็จของอาดิดาสมาแล้ว วันนี้เรามาดูอีกเส้นทางความสำเร็จหนึ่งที่เกิดคู่ขนานกันไปในฝั่งของพูมากันบ้าง
สายเลือดช่างทำรองเท้า
ต้นกำเนิดของรองเท้าพูมาคือชายที่ชื่อ “รูดอล์ฟ ดาสเลอร์” (Rudolf Dassler) ลูกชายของช่างทำรองเท้าในเมืองเล็ก ๆ ของเยอรมนีอย่าง แฮร์โซเกเนาฮัค (Herzogenaurach) ในแคว้นบาวาเรีย เขาเป็นพี่ชายของ “อดอล์ฟ ดาสเลอร์” ผู้ก่อตั้งอาดิดาส
แต่ในขณะที่อดอล์ฟได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ที่มีความสนใจในการเล่นกีฬาหลายชนิด จนมองเห็น Pain Point ของการขาดรองเท้าที่เหมาะสมกับกีฬาแต่ละประเภท และกลายเป็นหลักคิดการพัฒนารองเท้ายอดนิยม ตัวของรูดอล์ฟนั้นกลับไม่มีข้อมูลชัดเจนนักว่า ความสนใจหรือหลงใหลในการทำรองเท้าของเขามาจากไหน
สิ่งที่พอจะเป็นคำตอบได้ คือข้อมูลที่ว่า ในวัยเด็ก รูดอล์ฟต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยพ่อทำงานในโรงงานรองเท้า นั่นอาจทำให้เขาได้ซึมซับทักษะและประสบการณ์การทำรองเท้ามาจากบิดาไม่น้อย
ต่อมารูดอล์ฟยังได้รับการฝึกสอนเรื่องทักษะการขาย นั่นทำให้เขาถูกมองว่าเป็นนักพูดนักขายมากกว่าช่างทำรองเท้าเสียอีก
กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้น รูดอล์ฟและอดอล์ฟต่างต้องไปเป็นทหารรับใช้ชาติทั้งคู่ และสามารถกลับมาได้อย่างปลอดภัย ในช่วงเวลานั้น อดอล์ฟสนใจเปิดธุรกิจทำรองเท้าของตัวเองขึ้นมา และได้รับการสนับสนุนจากคนในบ้าน รวมถึงรูดอล์ฟเอง
บริษัท “Gebrüder Dassler Sportschuhfabrik” (โรงงานรองเท้ากีฬาพี่น้องดาสเลอร์) จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในปี 1919 เพราะช่วงแรกพวกเขายังทำรองเท้ากันอยู่ในห้องซักล้างหลังบ้านเท่านั้น จนปี 1923 จึงขยับขยายตั้งโรงงาน นั่นเองจึงถือว่าตั้งโรงงานอย่างเป็นทางการ
รูดอล์ฟปล่อยให้อดอล์ฟเป็นหัวหอกด้านเทคนิคในการพัฒนารองเท้า ส่วนตัวเขาเองรับผิดชอบงานฝ่ายขายและการตลาด ยิ่งตอกย้ำภาพความเป็นนักธุรกิจมากกว่านักพัฒนารองเท้าของเขา และมีเพียงความเป็นสายเลือดช่างทำรองเท้าเท่านั้นที่ถูกจดจำ
รูดอล์ฟ ดาสเลอร์ ผู้ก่อตั้ง Puma
ความสำเร็จและการล่มสลายของโรงงานดาสเลอร์
โรงงานดาสเลอร์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หลังจากสองพี่น้องดาสเลอร์พยายามเทียวไล้เทียวขื่อ “เจสซี โอเวนส์” นักวิ่งชาวอเมริกันให้สวมรองเท้าของพวกเขาในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1936 และผลกรากฏว่า โอเวนส์คว้าเหรียญทองได้ถึง 4 เหรียญจากการวิ่งด้วยรองเท้าดาสเลอร์
นอกจากนี้ เมื่อรวมกับผลงานของนักกีฬาระดับโลกคนอื่นที่สวมรองเท้าดาสเลอร์ สรุปแล้วปีนั้นพวกเขาทำลายสถิติโลกไป 2 รายการ ทำลายสถิติโอลิมปิก 3 รายการ ได้เหรียญทองรวม 7 เหรียญ เงิน 5 เหรียญ และทองแดงอีก 5 เหรียญ
นั่นทำให้ทั่วโลกได้รู้จักรองเท้าดาสเลอร์ ทำบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดและขายรองเท้าได้ปีละมากถึง 200,000 คู่!
ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น รูดอล์ฟถูกเรียกเกณฑ์ทหารอีกครั้ง เขาจึงต้องปล่อยให้อดอล์ฟบริหารโรงงานดาสเลอร์ตามลำพัง แต่เขาต้องการให้น้องชายส่งจดหมายแจ้งเกี่ยวกับการตัดสินใจทางธุรกิจทุกครั้ง และยังแนะนำให้ภรรยาของเขาทำหน้าที่แทน แต่อดอล์ฟปฏิเสธ กลายเป็นคามบาดหมางทางธุรกิจที่ดูเหมือนจะขยายไปสู่ความบาดหมางในเรื่องอื่น ๆ ตามมา
หลังสงครามสิ้นสุด ความสัมพันธ์ของสองพี่น้องดาสเลอร์ดำเนินมาถึงจุดแตกหักที่ต่อไม่ติด ซึ่งจนถึงปัจจุบันไม่เคยมีใครทราบเหตุผลแท้จริงของความขัดแย้ง บ้างว่า รูดอล์ฟเคยหนีทัพและถูกฝ่ายสัมพันธมิตรจับกุมตัวไว้ได้ และเขาสงสัยว่าอดอล์ฟเป็นคนให้เบาะแสที่อยู่ของเขากับฝ่ายสัมพันธมิตร หรือบ้างว่าเกิดจากภรรยาของทั้งสองทะเลาะกัน และบางว่ารูดอล์ฟอาจมีความสัมพันธ์กับภรรยาของอดอล์ฟ
แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ โรงงานดาสเลอร์ได้ล่มสลายลงในปี 1948 และสองพี่น้องตัดสินใจแยกทางกันดำเนินธุรกิจของตน
โลโก้ Puma บนเสื้อ
อัจฉริยภาพที่เพิ่งมีโอกาสส่องประกาย
ในขณะที่อดอล์ฟแยกตัวออกไปตั้งอาดิดาส ทางรูดอล์ฟก่อตั้งบริษัท “รูดา” (RUDA) ขึ้นมา โดยใช้คำแรกของชื่อและนามสกุลมาเป็นชื่อบริษัท มีพนักงานเพียง 14 คนซึ่งเขาพามาด้วยจากโรงงานเดิม
แต่เพียง 6 เดือน รูดอล์ฟติดสินใจเปลี่ยนแบรนด์เป็น “พูมา” ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการที่ชื่อรูดาไม่ค่อยติดหูและไม่เป็นที่จดจำ ประกอบกับต้องการนำเสนอหลักปรัชญาของแบรนด์ที่สร้างรองเท้าที่แข็งแกร่งและว่องไวเหมือนเสือภูเขา
หลังตั้งบริษัทใหม่ รูดอล์ฟได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านการพัฒนารองเท้าที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน แม้จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แต่พูมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วตั้งแต่รองเท้าฟุตบอลรุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 1950 นั่นคือ “พูมาอะตอม” (Puma Atom) ซึ่งนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมันตะวันตกหลายคนใส่ลงแข่งฟุตบอลโลกปี 1950
Puma Atom รองเท้ารุ่นแรกสุดของ Puma
จากนั้นรูดอล์ฟได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหลายคน เช่น เซปป์ แฮร์แบร์เกอร์ โค้ชทีมชาติเยอรมนีตะวันตก เพื่อพัฒนา “พูมาซูเปอร์อะตอม” (Puma Super Atom) รองเท้าสตั๊ดแบบขันเกลียวคู่แรกของโลก และการเปิดตัวในปี 1952 ได้ทำให้เกิดกระแสความนิยมไปทั่ว เมื่อ โจซี บาร์เธล นักวิ่ง 1,500 เมตรจากลักเซมเบิร์กคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเฮลซิงกิเกมส์ด้วยรองเท้าของพูมา
ต่อมาปี 1958 พูมาจดสิทธิบัตร “ฟอร์มสตริป” (Formstrip) หรือลายด้านข้างรองเท้า ซึ่งนอกจากจะสร้างภาพจำให้คนจดจำรองเท้าพูมาได้ในแวบแรกที่เห็นแล้ว มันยังได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงของโครงสร้างรองเท้าและช่วยล็อกเท้าให้มั่นคงด้วย โดยฟอร์มสตริปยังคงปรากฏอยู่บนรองเท้าพูมาจนถึงปัจจุบัน
ในปีเดียวกันนี้ บราซิลยังคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกด้วยการสวมใส่รองเท้าพูมาอีกด้วย และหลังจากนั้นมา รองเท้าของพูมาได้สร้างจุดยืนอันแข็งแกร่งในวงการฟุตบอล โดยเฉพาะการได้ราชาลูกหนัง “เปเล่” มาสวมใส่รองเท้า “พูมาคิง” (Puma King) ไปคว้าแชม์ฟุตบอลโลกสมัย 3 ในปี 1970
Puma เซ็นสัญญานักเตะดัง เปเปล่ ให้สวมรองเท้า Puma King
ขณะที่ราชาในยุคต่อมาอย่าง ดิเอโก มาราโดนา เอง ได้สวมพูมาคิงในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1986 และแม้ฉายาหัตถ์พระเจ้าของเขาจะสร้างความกังขาให้ทั่วโลก แต่ฝีเท้าของเขาในแมตช์ที่พบกับอังกฤษด้วยการรุกฝ่าแนวรับนักเตะแดนผู้ดีไปได้ถึง 6 คนและทำประตูสำเร็จจนเป็น “ประตูแห่งศตวรรษ” ก็ยิ่งทำให้พูมากลายเป็นแบรนด์ที่สมกับฐานะราชาลูกหนังอย่างปฏิเสธไม่ได้
แบรนด์รองเท้าเจ้าความเร็วยังจดสิทธิบัตรเพิ่มอีกหลายรายการ โดยเฉพาะการพัฒนารองเท้าอัจฉริยะเป็นเจ้าแรกของโลก ด้วยระบบ Running System Computer ที่สามารถเก็บข้อมูลการวิ่งของผู้สวมใส่ได้ หรือระบบ DISC ที่สามารถผูกเชือกรองเท้าโดยอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว
ความสำเร็จเหล่านี้ล่วนเกิดจากวิสัยทัศน์ของรูดอล์ฟที่เชื่อมันในความเร็ว และต้องการสร้างรองเท้าที่เร็วที่สุดในโลก สมกับการนำชื่อเสือภูเขามาเป็นแบรนด์ และไม่เสียชื่อที่เขาเองก็เป็นลูกหลานของช่างทำรองเท้าคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้อาจจะขาดโอกาสในการแสดงฝีมือเพราะถูกรัศมีของน้องชายบดบัง
ครองใจทั้งวงการกีฬาและแฟชั่น
นอกจากวงการกีฬาแล้ว พูมายังสร้างอิทธิพลเชิงวัฒนธรรมเมื่อศิลปินฮิปฮอปและแฟชั่นแนวสตรีทเลือกใส่พูมาเป็นไอเทมสำคัญ พวกเขาจึงเริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดไลฟ์สไตล์เต็มตัว หลังคอลแลบกับนักออกแบบ จิล แซนเดอร์ ที่ได้สร้างสรรค์พูมาคิงเวอร์ชันไลฟ์สไตล์ออกมาและได้รับความนิยมอย่างสูง
พูมายังขยายไปวงการวิ่ง บาสเกตบอล เทนนิส กอล์ฟ และแข่งรถ โดยแบรนด์ได้ยกระดับความร้อนแรงของตัวเองด้วยการพัฒนารองเท้ากันไฟและความร้อนสำหรับนักแข่งรถฟอร์มูลาวัน (F1) และกลายเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ชั้นนำสำหรับอุปกรณ์และสินค้าฟอร์มูลาวันมาโดยตลอด
นอกจากรองเท้าแล้ว พูมายังผลิตเสื้อและเป็นสฟอนเซอร์ให้นักกีฬาหรือทีมกีฬาหลายรายการ เช่น ชุดที่ เซเรนา วิลเลียมส์ ใส่ในการแข่งขันเฟนช์โอเพน 2002 หรือเสื้อทีมชาติอิตาลี 2006 ชุดคว้าชัยฟุตบอลโลก รวมถึงเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมแข่งรถเฟอร์รารีด้วย
รองเท้า Puma ที่ ยูเซน โบลต์ ใส่วิ่งทำลายสถิติโลก
ที่โดดเด่นที่สุดคือ เสื้อและรองเท้าที่ “ชายที่เร็วที่สุดในโลก” ยูเซน โบลต์ ใช้วิ่ง 100 เมตรทำลายสถิติ ด้วยเวลาเพียง 9.58 วินาที เมื่อปี 2009 เรียกได้ว่า ชายที่เร็วที่สุดในโลก ต้องคู่กับรองเท้าที่เร็วที่สุดในโลกเท่านั้น
พูมายังได้ขึ้นอกเสื้อฟุตบอลทีมชาติหลายประเทศ เช่น ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก กานา เซเนกัล โมรอกโก อียิปต์ สวิตเซอร์แลนด์ ปารากวัย เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นแบรนด์สัญชาติเยอรมัน แต่พูมากลับไม่เคยได้ขึ้นอกเสื้อฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีเลย โดยตำแหน่งดังกล่าวตกเป็นของอาดิดาสตั้งแต่ปี 1982 จนถึงปัจจุบัน ส่วนก่อนหน้านั้นเป็นแบรนด์ Erima, Umbro และ Leuze
เสื้อทีมชาติอิตาลี 2006 ที่มีตรา Puma
เสือภูเขาที่ยังรวดเร็วร้อนแรงจนถึงปัจจุบัน
พูมาเปิดขายหุ้นต่อสาธารณชนเมื่อปี 1986 ในตลาดหลักทรัพย์แฟรงก์เฟิร์ต โดยตลอดเวลามากกว่า 75 ปีที่ผ่านมา เคยมีมูลค่าสูงสุดช่วงเดือน พ.ย. 2021 ที่ราคาราว 114 ยูโร (ราว 4,400 บาท) ต่อหุ้น แต่มีแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง โดย ณ มิ.ย. 2024 อยู่ที่ระดับ 47 ยูโร (ราว 1,800 บาท) ต่อหุ้น
ในปี 2023 พูมามียอดขายและรายรับที่แข็งแกร่ง มียอดขายรวม 8.6 พันล้านยูโร (ราว 3.39 แสนล้านบาท) โตขึ้น 6.6% จากปีก่อนหน้า ถือเป็นอันดับ 3 ในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายกีฬา เครื่องประดับ และรองเท้า เป็นรองไนกีและอาดิดาส
ยอดขายดังกล่าวมาจากสินค้ากลุ่มรองเท้ามากที่สุด คือ 4.58 พันล้านยูโร (1.8 แสนล้านบาท) มาจากเครื่องแต่งกาย 2.76 พันล้านยูโร (1.08 แสนล้านบาท) และจากเครื่องประดับ 1.25 พันล้านยูโร (4.94 หมื่นล้านบาท)
ตลาดใหญ่ที่สุดของพูมาคือโซนยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา คิดเป็น 40% ของยอดขาย และโตขึ้น 13.4% รองลงมาคือตลาดทวีปอเมริกา สัดส่วน 39% แต่ปี 2023 หดตัวลง 2.4% ส่วนตลาดเอเชียแปซิฟิกคิดเป็น 21% ของยอดขาย แต่โตมากที่สุด คือ 13.6%
สำหรับประเทศไทยเอง ปัจจุบันมีสโตร์ของพูมาทั้งหมด 11 แห่ง ที่ใหญ่ที่สุดคือ PUMA Central World Flagship Store
สำนักงาน Puma ที่เมือง Herzogenaurach ประเทศเยอรมนี
ผลงานดังกล่าวของพูมาเรียกว่าได้ว่ายอดเยี่ยมแล้วในยุคคสมัยและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความผันผวน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งหมดทั่วโลกนี้
และพูมาไม่คิดจะหยุดอยู่แค่การเป็นที่ 3 เพราะในรายงานผลการดำเนินงานปี 2023 พูมาประกาศกร้าวต่อทั้งโลกว่า พวกเขาพร้อมที่จะเป็น “ผู้ท้าชิง”
พูมาระบุว่า “ปี 2024 จะเป็นปีแห่งกีฬา จะเป็นอีกปีที่สำคัญสำหรับพูมา โดยเราจะเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม เช่น รองเท้าฟุตบอลที่เร็วที่สุดของเรา Puma Ultra และรองเท้าวิ่งที่เร็วที่สุดของเรา Puma Fast-R2 และ Puma Deviate NITRO Elite 3”
บริษัทเสริมว่า “นอกจากนี้ เราจะเปิดตัวแคมเปญแบรนด์แรกในรอบ 10 ปีเพื่อตอกย้ำตำแหน่งของเราในฐานะแบรนด์กีฬาที่เร็วที่สุดในโลก และกระชับความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้บริโภคของเราให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ปี 2024 จะเป็นอีกปีที่เราจะแสดงให้เห็นว่า พูมาคือผู้ท้าชิงในตลาด”
หลักปรัชญาของพูมายึดโยงกับ “ความเร็ว” มาตลอดตั้งแต่ยุคของรูดอล์ฟ นำมาสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคง จนเป็นสิ่งที่น่าติดตามเหลือเกินว่า พูมาจะใช้ความเร็วอันโดดเด่นของพวกเขา แซงหน้าราชาทั้งสองที่นั่งคอยอยู่บนบัลลังก์ได้หรือไม่ และอย่ากระพริบตา เพราะมันอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด...
ประวัติการกำเนิดแบรนด์ Puma
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/226656
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealth
รองเท้า
ธุรกิจ
การลงทุน
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย