23 พ.ย. เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รากฐานความคมชัดระดับ “Leica” เพราะเคยทำ “กล้องจุลทรรศน์” มาก่อน!

ย้อนเส้นทางก้าวเดินที่มั่นคงของ “Leica” แบรนด์กล้องถ่ายรูปสัญชาติเยอรมันที่นวัตกรรมความคมชัดถือเป็นหนึ่งในใต้หล้า
คนไทยจำนวนมากเป็น “นักเล่นกล้อง” ไม่ว่าจะระดับมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นก็ตาม บ้างถ่ายภาพเพื่อบันทึกความทรงจำ บ้างถ่ายภาพเพื่อสร้างงานศิลปะ และบ้างถ่ายภาพเพื่อหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น “กล้องถ่ายรูป” ที่คมชัด จึงเป็นสิ่งที่นักเล่นกล้องเหล่านี้จะขาดไปไม่ได้ในฐานะอาวุธคู่มือคู่ใจ
ชื่อหนึ่งที่เป็นตัวแทนของความคมชัดคงหนีไม่พ้น “Leica” (ไลกา) แบรนด์กล้องและเลนส์จากเยอรมนี
Leica กล้องถ่ายรูปสัญชาติเยอรมัน
ประสิทธิภาพของไลกาได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในใต้หล้า ถึงขนาดมีคำพูดว่า “ความคมชัดระดับไลกา” จนหลายคนยอมเสียเงินเป็นแสน ๆ เพื่อให้ได้เจ้ากล้องแบรนด์นี้มาครอง
ประเทศไทยถือได้ว่าตลาดที่มียอดขายสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนของไลกา โดยมี บริษัท เอลิส ไพรเวต จำกัด เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายกล้องไลกาเพียงรายเดียวตั้งแต่ปี 2016
ในปี 2017 ไลกาประเทศไทยทำรายได้ไป 147 ล้านบาท ปีต่อมาเพิ่มเป็น 152 ล้านบาท และปี 2019 เพิ่มเป็น 167 ล้านบาท ส่วนปี 2020 รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 138 ล้านบาทเนื่องจากโควิด-19 ทำให้บริษัทไลกาที่ประเทศแม่ผลิตสินค้าไม่ทัน
แล้วทราบหรือไม่ว่า ที่กล้องไลกาคมชัดจนประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะพวกเขาเคยทำ “กล้องจุลทรรศน์” มาก่อน!
สำนักงาน Leica ที่เมืองเวตซลาร์ ประเทศเยอรมนี
จากเลนส์ส่องโลกใบเล็ก สู่เลนส์ที่จับโลกไว้ได้ทั้งใบ
เรื่องราวของไลกาต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1849 เมื่อช่างกลหนุ่มวัย 23 ปี “คาร์ล เคลล์เนอร์” ตัดสินใจก่อตั้งโรงงาน Optisches Institut (Optical Institute) ขึ้นที่เมืองเวตซลาร์ (Wetzlar) ทางตะวันตกของเยอรมนี เพื่อผลิตกล้องจุลทรรศน์ให้กับสถาบันต่าง ๆ สำหรับศึกษาจุลินทรีย์หรือโครงสร้างขนาดเล็กใด ๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
กล้องจุลทรรศน์ของ Optisches Institut มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพและความคมชัดมาตั้งแต่ยุคนั้น อย่างไรก็ตาม เคลล์เนอร์เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอายุเพียง 29 ปี ทำให้ภรรยาและลูกศิษย์ของเขาทำหน้าที่ดูแลโรงงานแทน
ในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กหนุ่มที่ชื่อ “เอิร์นสต์ ไลต์ซ” ได้ออกจากโรงเรียนและไปฝึกวิชาช่างกลที่บริษัท Swiss แบรนด์นาฬิกาชั้นนำระดับโลก จนกระทั่งปี 1864 จึงได้มาทำงานให้กับ Optisches Institut และเพียงปีเดียว ไลต์ซในวัย 22 ปีได้กลายเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของโรงงาน
ต่อมาในปี 1869 ไลต์ซได้กลายเป็นเจ้าของและเปลี่ยนโรงงานเป็นบริษัท “Ernst Leitz Optische Werke” ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของไลกา แต่ในยุคนั้นเขายังคงเดินหน้าผลิตกล้องจุลทรรศน์ขายอยู่ และประสบความสำเร็จมากจนเปิดสำนักงานที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ได้ในปี 1892
ไลต์ซวนเวียนอยู่ในวงการกล้องจุลทรรศน์อยู่นานเกือบ 30 ปี กระทั่งช่วงหลังปี 1900 เป็นต้นมาจึงเริ่มสนใจขยับขยายธุรกิจไม่ใช่แค่กล้องที่ส่องแต่โลกขนาดจิ๋วอีกต่อไป และเปิดไลน์ผลิต “กล้องส่องทางไกล” ในปี 1907
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อบริษัทไลต์ซสามารถดึงตัว “ออสการ์ บาร์นัค” นักประดิษฐ์วัย 32 ปีมาเข้าเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาและวิจัยได้ และผลลัพธ์ที่ได้ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเพียง 2 ปี ในปี 1913 เขาได้พัฒนากล้องคอมแพกต์รุ่นต้นแบบที่ใช้ฟิล์ม 35 มม. สำหรับถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปฏิวัติวงการอย่างมากในขณะนั้น เพราะไม่มีใครคิดว่ากล้องถ่ายภาพนิ่งจะใช้ฟิล์มของกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้มาก่อน
บาร์นัคตั้งชื่อกล้องต้นแบบดังกล่าวว่า “Ur-Leica” (อูร์-ไลกา) โดยคำว่า Leica นั้นเกิดจากการผสมตัวอักษรจากชื่อ ไลต์ซ (Leitz) และกล้อง หรือคาเมรา (Camera) นั่นเอง
Ur-Leica มีเวอร์ชันที่ถูกนำมาทดลองขายในชื่อ Leica 0-Series ด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าทั้งโลกมีอยู่เพียง 25 ตัวเท่านั้น
กระนั้น การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้โครงการพัฒนากล้องสุดล้ำสมัยนี้ต้องล่าช้าออกไป รวมถึงเกิดการเปลี่ยนผ่าน เมื่อ เอิร์นสต์ ไลต์ซ เสียชีวิต ทำให้ลูกชายคือ เอิร์นสต์ ไลตซ์ ที่ 2 เข้ามาบริหารบริษัทแทน
1
จนสุดท้ายในปี 1925 Ur-Leica ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นกล้อง “Leica I” และออกสู่ตลาดในที่สุด กลายเป็นกล้องถ่ายรูปตัวแรกของโลกที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. ได้
ฟิล์ม 35 มม. ช่วยให้ช่างภาพสามารถถ่ายภาพจำนวนมากได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม นับเป็นการปฏิวัติที่สร้างมาตรฐานให้กับผู้ผลิตกล้องรายอื่น ๆ และมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อโลกแห่งการถ่ายภาพ
นอกจากนี้ ไลกายังพัฒนาเลนส์ตัวแรกของบริษัทขึ้นมาได้สำเร็จโดยฝีมือของ ศ.มักซ์ เบเรค นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ โดยเป็นเลนส์ 50 มม. f/3.5
ราคาของกล้องไลกาในยุคนั้นอยู่ที่ 88 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบเท่ากับราคากว่า 1,100 ดอลลาร์สหรัฐในยุคปัจจุบัน (มากกว่า 40,000 บาท)
ขณะที่กล้องตัวต้นแบบของบาร์นัคที่เขาเคยใช้เองตั้งแต่ปี 1923/24 ได้ถูกประมูลไปด้วยราคาทุบสถิติโลกที่ 14.4 ล้านยูโร (570 ล้านบาท) ในงานประมูล Leitz Photographica ครั้งที่ 40 เมื่อปี 2023 และกลายเป็นกล้องที่แพงที่สุดตลอดกาลของไลกา
กล้อง Leica 0-Series
อุปกรณ์ถ่ายภาพนิ่งที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
แม้จะประสบความเร็จอย่างล้นหลาม แต่บาร์นัคยังคงไม่หยุดนิ่ง และเดินหน้าพัฒนากล้องของไลกาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการออกแบบเรนจ์ไฟน์เดอร์ (Rangefinder) หรือระบบหาระยะภาพ ของไลกา ที่ให้โฟกัสและองค์ประกอบภาพที่แม่นยำอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ทำให้ไลกากลายเป็นผู้บุกเบิกและสร้างรากฐานแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมการถ่ายภาพ
ที่สุดแล้วในปี 1932 เรนจ์ไฟน์เดอร์เกิดขึ้นจริงใน Leica II หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กล้องโฟกัสอัตโนมัติ” หรือ “กล้องคู่เรนจ์ไฟนเดอร์” เป็นไลกาตัวแรกที่มีการติดตั้งเรนจ์ไฟน์เดอร์ไว้ภายในตัวกล้อง
ปีต่อมาไลกาเปิดตัว Leica III ที่มาพร้อม Slow Speed Dial ลดความเร็วชัตเตอร์ลงเหลือ 1 วินาที และในปี 1935 เปิดตัว Leica IIIa ซึ่งความเร็วสูงสุดในการจับภาพเปลี่ยนจาก 1/500 วินาทีเป็น 1/1000 วินาที
ปี 1935 ยังเป็นปีแรกที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทไลต์ซมาจากกล้องถ่ายรูปมากกว่ากล้องจุลทรรศน์
ระหว่างที่สถานการณ์กำลังไปได้ดี กลับเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ไลต์ซขายผลิตภัณฑ์ได้แค่ในบางประเทศที่เป็นกลางทางสงครามเท่านั้น เช่น สเปน และสวิตเซอร์แลนด์
แต่ในขณะที่ไลต์ซเป็นบริษัทสัญชาติเยอรมัน พวกเขากลับมีบทบาทสำคัญในขบวนการ “The Freedom Train” โดยไลต์ซสาขาเยอรมนีจะส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวยิวไปยังสาขาที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ เพื่อช่วยให้ชาวยิวเหล่านี้ไม่ถูกนำตัวไปยังค่ายกักกัน ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเป็นลานสังหารหมู่ชาวยิวโดยนาซี
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม้จะเป็นแบรนด์จากเยอรมนี แต่ผลิตภัณฑ์ไลกาของไลต์ซกลับได้รับการตอบรับอย่างดีในสหรัฐฯ เป็นเพราะบทบาทในการปกป้องผู้ลี้ภัยนี้เอง
หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ไลต์ซเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมของตัวเองต่อเนื่อง โดยนอกจากกล้องแล้ว ไลต์ซยังพัฒนาและผลิตอุปกรณ์เสริมที่น่าทึ่งมากมาย ซึ่งรวมถึง Visoflex ที่เปลี่ยนกล้องเรนจ์ไฟน์เดอร์เป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (SLR) ได้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการถ่ายงานระยะใกล้
ไลต์ซเปิดตัวไลการุ่นใหม่จนถึงปี 1950 ที่มีการเปิดตัวกล้อง Leica IIIf เป็นกล้องเลนส์สกรูว์รุ่นสุดท้ายก่อนที่ไลกาจะนำพาอุตสาหกรรมถ่ายภาพไปสู่ยุคใหม่ ด้วยการเปิดตัว Leica M3 ในปี 1954
คุณสมบัติใหม่ที่สำคัญหลายประการของ M3 คือ การติดเลนส์แบบดาบปลายปืน (Bayonet) ซึ่งทำให้สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายมากขึ้น รวมถึงเรนจ์ไฟน์เดอร์ที่มีฐานยาวกว่าเพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น และช่องมองภาพที่ไม่เพียงแต่ใหญ่ขึ้นและใช้งานได้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมเฟรมที่ปรับตามเลนส์ที่ใช้งานโดยอัตโนมัติอีกด้วย
และเมื่อวงการถ่ายภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสไปตามเวลา ไลกายังคงปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวตามให้ทัน ทั้งเมื่อตอนที่เกิดกระแสความนิยมกล้อง SLR ไลกาได้พัฒนา Leica R Series ขึ้นมา หรือเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไลกาได้เปิดตัว Leica S1 กล้องดิจิทัลรุ่นแรกของบริษัท มีเซ็นเซอร์สแกน
S1 เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไลกาในการรักษาคุณภาพของภาพในระดับสูงแม้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากฟิล์มไปสู่ดิจิทัล
จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ “กล้องโทรศัพท์” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้ใช้พิจารณาในการเลือกซ้อ ทำให้มีแบรนด์มือถือหลายเจ้านำเทคโนโลยีกล้องของไลกาไปใช้ เช่น Xiaomi และ Huawei รวมถึงไลกายังออกสมาร์ทโฟนของตัวเองด้วย คือซีรีส์ Leica Leitz Phone ซึ่งปัจจุบันตีตลาดอยู่แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
การไม่หยุดนิ่งในวงการภาพนิ่งนี้เอง ที่ทำให้ไลกายังคงสถานะตำนานที่ยังมีชีวิตของวงการถ่ายภาพเอาไว้ได้ จนแม้จะผ่านมานานกว่า 100 ปี (นับจากปี 1925 ที่เริ่มผลิตกล้องถ่ายรูปอย่างเป็นทางการรุ่นแรก) แต่ไลกายังคงเป็นกล้องและเลนส์อันดับ 1 ในใจช่างภาพหลายคนทั่วทุกมุมโลก
กล้องถ่ายรูปของ Leica
ยังปรับตัวต่อไปอย่างมั่นคงในโลกยุคปัจจุบัน
บริษัทไลต์ซเปลี่ยนชื่อเป็น “ไลกา” อย่างเป็นทางการในปี 1986 โดยใช้ชื่อว่า Leica Camera GmbH เนื่องจากชื่อแบรนด์ที่ติดลมบนและเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากกว่าชื่อเดิมของบริษัท
ต่อมาไลกาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน จึงแยกออกเป็น 3 บริษัทที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันอีกต่อไปในแง่ของการบริหาร ประกอบด้วย
- Leica Camera AG ผลิตกล้องถ่ายรูปและเลนส์ มีผู้ถือหุ้นคือบริษัทออสเตรีย ACM Projektentwicklung GmbH และบริษัทอเมริกัน The Blackstone Group
- Leica Geosystems AG ผลิตอุปกรณ์การวัดและการสำรวจพื้นที่ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Swedish Hexagon Group
- Leica Microsystems GmbH ผลิตกล้องจุลทรรศน์ เป็นเจ้าของโดยบริษัทอเมริกัน Danaher Corporation อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า การไม่หยุดนิ่งทำให้ไลกายังคงประสบความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านตัวเลขรายได้
ไลการายงานรายได้ปีงบประมาณ 2022/2023 (1 เมษายน 2022 ถึง 31 มีนาคม 2023) ทำลายสถิติใหม่ โดยรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน จาก 444 ล้านยูโร (ราว 1.76 หมื่นล้านบาท) เป็น 485 ล้านยูโร (ราว 1.92 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 9%
แมทเธียส ฮาร์ช ซีอีโอของ Leica Camera AG กล่าวว่า “แบรนด์ไลกายืนหยัดในความเชี่ยวชาญด้านการมองเห็นและด้านนวัตกรรมทางเทคนิคมาโดยตลอด รวมถึงนวัตกรรมล่าสุดในด้านเทคโนโลยีการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ด้วยการเปิดตัว Leica M11-P สู่ตลาด”
เขาเสริมว่า “ไลกาได้สร้างตัวอย่างในการต่อสู้กับภาพถ่ายปลอมและรูปภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในฐานะกล้องตัวแรกของโลกที่มีระบบ รับรองความถูกต้องเนื้อหา (Content Credentials) ซึ่งรับประกันความถูกต้องของภาพดิจิทัล” ถือเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เต็มไปด้วยภาพตัดต่อและข้อมูล Deepfake
ไลกาประเมินว่า เห็นการพัฒนาในเชิงบวกในการขายออนไลน์และการขยายเครือข่ายการขายและการค้าปลีกทั่วโลกของ เช่น การเปิดตัวร้านไลกาสาขาใหม่ในปารีส เม็กซิโกซิตี อัมสเตอร์ดัม และนิวยอร์กในปี 2023 และ 2024 โดยยอดขายเฉพาะในร้านค้าเพิ่มขึ้น 16 ล้านยูโร (633 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
การเดินทางของไลกาจากกล้องคอมแพกต์ฟิล์มขนาด 35 มม. จนถึงปัจจุบัน เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมาย ตอกย้ำความโดดเด่นของไลกาในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และปรับตัว นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ช่างภาพที่หลากหลาย ตั้งแต่มืออาชีพไปจนถึงคนทั่วไปที่ชอบถ่ายภาพ จนยังสามารถคงสถานะหนึ่งในผู้เล่นหลักของวงการถ่ายภาพไว้ได้
พนักงาน Leica กำลังทำความสะอาดกล้อง Leica M9
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/226153
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา