23 พ.ย. เวลา 06:33
สระบุรี

ผมเป็นเด็กสระบุรี..... พ.ศ.2508-2520

พ.ศ.2504 เกิดที่กรุงเทพฯ....... 2505 หัดพูด-หัดเดินที่อุบลฯ........ 2508-2520 เรียนรู้ที่สระบุรี
แม่คลอดผมที่ศิริราช พอออกจากโรงพยาบาลก็มาพักอยู่ที่ดาวคะนองที่เป็นบ้านของตาอยู่ไม่นานก็ย้ายตามพ่อไปรับราชการที่อุบลฯ
ที่บ้านตาที่ดาวคะนอง น้ากำลังชื่นชมความน่ารักของผมอยู่
ผมไปอยู่อุบลฯ ตอนที่อายุไม่ถึงขวบ เริ่มหัดเดินด้วย “กระแตเวียน” จนกระทั่งวิ่งเล่นได้ ภาพจำภาพนึงที่จำได้คือการเอาใบไม้แห้งมาผูกเชือกสมมุติว่าเป็นว่าวแล้วก็วิ่งไป ผมไปหัดพูดที่นั่นด้วย แม่บอกผมว่าตอนนั้นผมพูดได้ทั้งไทยกลางและไทยอีสานซึ่งเรื่องพูดนี่ผมจำไม่ได้เลย แม่ยังเล่าว่าผมไปเริ่มกินปลาร้าที่นั่น กินครั้งแรกตั้งแต่เด็กมากจนท้องเสีย แต่มันก็ทำให้ผมติดปลาร้ามาจนถึงบัดนี้
กระแตเวียน Credit: ลักษณะไทย เล่ม 4 : วัฒนธรรมพื้นบ้าน / แสงอรุณ รัตกสิกร นิจ หิญชีระนันทน์ และจุลทัศน์ พยาฆรานนท์
ภาพจำตอนเด็กอีกสามภาพก็คือ ภาพที่ทำให้ผมรู้จักกับความกลัวครั้งแรก ผมไม่เคยถูกใครหลอกให้กลัวอะไรตั้งแต่เด็ก แต่ตอนนั้นมันเกิดขึ้นมาเอง เกิดจากผู้ชายสองสามคนนุ่งผ้าเตี่ยวทาตัวดำแล้วทาปากแดง แต่งหน้ายังไงหรือเปล่าจำไม่ได้ เข้ามาทำท่าหลอกผมที่แม่กำลังจูงอยู่ จำได้ว่าขนลุกซู่จนติดตามาถึงตอนนี้
ภาพที่สองคือภาพที่พ่อนั่งห่มผ้าห่มสีแดงสั่นอยู่ในผ้าห่ม ใช้มือสั่นๆ ประคองขันน้ำเข้าปาก ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นอะไร จนกระทั่งโตขึ้นมาเรื่อยๆ เห็นภาพคล้ายๆ กันนี้เป็นระยะๆ ถึงได้รู้ว่าเป็นอาการของคนที่พยายามอดเหล้า ซึ่งจะเป็นช่วงที่พ่ออารมณ์เสียมากกว่าช่วงที่กินเหล้าปกติ ตอนผมอายุราว 10 ขวบผมเคยโดนไม้ตะพดอันใหญ่ตีที่ตัว เป็นการตีที่หนักและเจ็บมากทั้งที่ก่อนหน้านี้พ่อไม่เคยตี แผลกายอยู่ไม่นาน แต่มันทำให้เกิดแผลทางใจติดมาตั้งแต่ตอนนั้น
ภาพถ่ายบนรถ Jeep ประจำตำแหน่งของพ่อที่ จ.อุบลฯ
ภาพที่สามคือภาพที่ผมแอบเข้าไปห้องเก็บของที่พ่อเก็บขวดเหล้า ที่จำยี่ห้อได้คือ “กวางทอง” ผมจะรวบรวมเหล้าที่เหลือก้นขวดมาเทใส่ฝาได้สักหน่อยนึงก็เทเข้าปาก มันก็แค่หวานๆ ร้อนๆ แล้วก็จำไม่ได้ว่าทำไปกี่ครั้ง
กวางทองน้องแม่โขง Credit: Facebook ย้อนอดีต
ราวๆ ปี 2508 พ่อย้ายกลับมาบ้านเกิดคือ จ.สระบุรี พ่อเป็นคนหินกอง บ้านปู่ย่าอยู่ตรงข้ามซุ้มประตูวัดเขาพนมยงค์ไม่ไกลมากจากตลาดแป้นพัฒน์ในปัจจุบัน พักอยู่กับปู่ย่าที่หินกองไม่นานก็เข้าไปเช่าบ้านอยู่ในเมือง เพราะทำงานที่สำนักงานอนามัยจังหวัด หลังศาลากลางจังหวัด
ภาพแรก: ชุมชนหินกองด้านติดถนนพหลโยธิน  ภาพสอง: จุดทางเข้าไปสู่บ้านปู่ย่า ซึ่งตอนนั้นเป็นที่นา  ภาพสาม: เดิมเคยเป็นสำนักงานอนามัยจังหวัด ที่พ่อทำงาน
บ้านหลังแรกอยู่ตรงข้ามโรงฆ่าสัตว์ เยื้องๆ สำนักงานประปา เป็นบ้านเช่าไม้พื้นสูงหลังเล็กๆ เจ้าของบ้านชื่อคุณป้าประทวน คัมภิรานนท์ เท่าที่จำได้มีลูกสาวสองคนอายุมากกว่าผมร่วมสิบปีชื่อพี่ต๋อย-พี่แจ๋ว ผมได้รู้จักทีวีครั้งแรกก็คือการดูทีวีที่บ้านป้าประทวน จำหนังได้ 1 เรื่องคือเรื่อง “ทหารเรือมาแล้ว”
ภาพแรกเป็นบริเวณที่คาดว่าเป็นบ้านของคุณป้าประทวนในตอนนั้น  ภาพที่สอง เป็นหนังทีวีเรื่อง "ทหารเรือมาแล้ว" ตอนนั้นยังไม่มีทีวีสี แค่มีทีวีขาวดำนี่ก็คือรวยจริงแท้
บ้านหลังนี้มีรั้วสังกะสี ที่ด้านนอกติดรั้วจะมีกองแกลบเอาไว้เก็บน้ำแข็งที่จะมีคนมาส่งเป็นก้อนขนาดใหญ่พอดีมือถือได้เรียกกันว่าขนาด 1 มือ ด้านซ้ายก็จะเป็นบ้านป้าประทวน ด้านขวาจำไม่ได้ว่าติดอะไร ส่วนด้านหลังที่ใช้รั้วไม้ไผ่แผงเดียวกันเป็นบ้านสองชั้นหลังใหญ่มีสาวๆ อยู่กันหลายคน น่าจะทุกคนในบ้านเป็นลูกค้าของพ่อผม ตอนนั้นพ่อผมทำงานอยู่หน่วยควบคุมกามโรค นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่พ่อเลือกมาเช่าบ้านที่นี่
กระติกน้ำแข็งตรานกยูงที่ครอบครัวผมใช้อยู่ตอนนั้น เหมือนกันเด๊ะราวกับเป็นอันเดียวกันเลย
เลยบ้านคุณป้าประทวนไปจะเป็นร้านขูดมะพร้าว ร้านก๋วยเตี๋ยว-โอยั๊วะ ราคาก๋วยเตี๋ยวตอนนั้นน่าจะราว 50 สตางค์หรือไม่เกิน 1 บาท เวลาไปซื้อก๋วยเตี๋ยวน้ำก็ต้องเอาหม้อเคลือบไปใส่ ถ้าเป็นแห้งเขาก็จะเอากระดาษหนังสือพิมพ์แล้วรองด้วยใบตองผูกเชือกหิ้วกลับได้ และพวกโอยั๊วะเขาก็จะใส่กระป๋องนมที่ใช้หมดแล้วผูกฝาด้วยเชือกกล้วยมาให้
ตอนนั้นเหมือนว่าจะไม่ค่อยได้กินน้ำแข็งกัน คงยังไม่แพร่หลาย และการขนส่งทำได้ไม่ไกลจากโรงน้ำแข็งนัก ส่วนพลาสติกนั้นไม่รู้มันมีหรือยัง หรือมีแล้วแต่ยังมาไม่ถึงสระบุรี
ภาพแรก เครื่องขูดมะพร้าว ตอนนั้นมีมอเตอร์ไฟฟ้าแล้ว เครื่องในภาพขาดมอเตอร์และฟันขูดไป  ภาพที่สอง หม้อเคลือบที่ต่อมาถูกแทนที่ด้วยถุงพลาสติก  ภาพสาม การห่อก๋วยเตี๋ยวด้วยใบตองและหนังสือพิมพ์ ภาพสี่ กระป๋องนมข้นที่หมดแล้วเอาไว้ใส่โอยั๊วะกลับบ้าน Credit: ฤทธิ์ รณริทธิ์, บ้านเจ้าพลุเฟอร์นิเจอร์
ตอนที่อยู่บ้านคุณป้าประทวนผมได้เข้าโรงเรียนแล้ว โดยไปเรียนอนุบาล 1 ที่โรงเรียนเพิ่มพิทยา เรียนได้ 1 ปีก็ออกไปเรียนอนุบาล 1 ที่โรงเรียนอนุบาลสระบุรีอีก 1 ปี ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอายุยังน้อยเกินไปหรือว่าความฉลาดยังไม่ถึงเกณฑ์กันแน่ที่ทำให้ต้องเรียนซ้ำชั้น ตอนนั้นมีคนขับรถประจำที่จะมารับส่งไปกลับบ้านและโรงเรียน แกชื่อลุงนง แกจะใส่กางเกงขาสั้นสีดำและเสื้อแขนสั้นสีดำเป็นเครื่องแบบ และที่จ๊าบมากก็คือแกจะใส่แว่นกันแดดสีดำซึ่งไม่ค่อยเห็นใครใส่ในเวลานั้น ช่วงกลางวันแกก็จะถีบรับจ้างทั่วไป เย็นก็จะมารับ
Credit: Lopburi.org
อยู่บ้านคุณป้าประทวนน่าจะราวสองปีก็ย้ายออก ไม่รู้สาเหตุว่าออกเพราะอะไร หรือเพราะแม่ไม่อยากให้พ่อทำงานนอกเวลาก็ไม่รู้ มีภาพหนึ่งที่จำได้ว่าแม่พาไปสถานีตำรวจ แจ้งความว่าถูกสาวหลังบ้านด่า ตำรวจถามว่าเขาด่าว่าอะไร แม่ตอบว่า “เอ่อ.... ไม่กล้าพูดค่ะ”
แค้นถีงขนาดมาแจ้งตำรวจเลยนะแต่ไม่กล้าพูด ก็แม่ผมเป็นลูกคุณหนูไง....
ตอนย้ายมาอยู่บ้านใหม่ บ้านเลขที่ 1861/9 ตอนนั้นผมอยู่อนุบาลสระบุรีแล้ว พ่อก็ทำงานอยู่สำนักงานอนามัยใกล้บ้านมาก ไม่น่าเกิน 700 เมตร แค่เดินจากบ้านแล้วข้ามทางรถไฟข้ามถนนเทศบาลสาย 3 ก็ถึงที่ทำงานเลย ส่วนผมก็เดินไปโรงเรียนเองได้ง่ายๆ พอผมข้ามถนนเดินบนทางเท้าแล้วก็เดินเลียบถนนเทศบาลสาย 3 ก็จะเจอบ้านแดง-บัญชา ประทับศักดิ์ที่หัวมุม เดินไปอีกนิดนึงก็เจอบ้านจุ๋ม-วิชุดา และบ้านอัญชลี ปานเพชร เลี้ยวซ้ายหน้าภัตตาคารยิ้มยิ้มนิดเดียวก็ข้ามทางม้าลายข้ามถนนพหลโยธินไปยังตลาดแล้วก็จะถึงโรงเรียนอนุบาล
ภาพที่หนึ่งถึงสาม ทางเดินจากหน้าสถานีอนามัยตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายหน้าภัตตาคารยิ้มยิ้ม  ภาพที่สี่น่าจะเป็นคณะครูของโรงเรียนอนุบาล  ภาพที่ห้าเป็นรูปตอนกรกฎาคม 2567 กลายเป็น ก.ศ.น. ไปแล้ว
บ้านที่เช่าอยู่เจ้าของบ้านชื่อ ลุงชูไว้-ป้าทองดี มาลิก มีลูกสาวทั้งหมด 4 คน คือ น้าทวี น้าทวาย น้าทวัน พี่เจี๊ยบ-ทิวา ที่เรียกพี่คนเดียวเพราะเป็นคนสุดท้องที่อายุห่างกันแค่ราว 10 ปีเท่านั้น น้าทวัน-น้าสันติภาพ ปากเพรียว มีลูกสาวสองคนที่อยู่ในวัยที่เล่นขายของด้วยกันได้ เปิ้ล-ธัญญาภรณ์ ปากเพรียว คนโตอายุน้อยกว่าผมราว 3 ปี และคนเล็ก-ปาล์ม-ปาริชาติ เธอบอกว่าโตขึ้นจะแต่งงานกับผม แต่เธอลืมไปแล้วมั้ง
ภาพที่หนึ่งถึงสาม เป็นทางเดินปัจจุบันที่จะเข้าไปยังบ้านเก่าที่เคยเช่าคุณป้าทองดี ตอนนี้บ้านคุณป้าปิดไว้เฉยๆ ส่วนบ้านหลังแรก (1861/9) ที่ผมเคยอยู่ถูกรื้อไปแล้ว
ผมเคยโดนอัลเซเชี่ยนสองตัวที่อยู่บ้านป้าทองดีกัดถึงสองครั้ง ที่หัวครั้งนึงและที่แขนครั้งนึง ทำให้แขยงกับหมาตัวใหญ่ๆ จวบจนบัดนี้
บ้านหลังแรกนี้ (1861/9) ตอนนั้นน่าอยู่มาก มีรั้วมะขามเทศปลูกสลับกับกระถิน แล้วก็มีสนามหญ้าญี่ปุ่นเล็กๆ กลางสนามมีต้นมะยมที่ก้านของมันเคยชิมเลือดผมไปครั้งนึง ด้านซ้ายบ้านปลูกพืชสวนครัว พวก พริก มะเขือ ฟักทอง กระเพรา ใต้ถุนบ้านเป็นห้องน้ำ และมีเปลนอนเล่นที่ทำด้วยผักตบชวา
มีบันไดสูงชันสำหรับเด็กในตอนนั้น บนระเบียงหน้าบ้านปลูกแคทรียา และหน้าวัว ซีกนึงเป็นห้องนอนพ่อแม่และที่แต่งตัว อีกซีกเป็นห้องนอนเล็กๆ ของผมที่อยู่ติดกับครัว ข้างหลังประตูครัวจะมีครอบครัวตุ๊กแกประจำอยู่ แม่มันตัวบักเอ้ก มักจะมีไข่แปะติดฝาให้เห็นอยู่เสมอ แต่ก็น่าสงสัยว่าทำไมมันไม่ขยายพันธ์มากขึ้น อย่างมากก็เห็นแค่ 4-5 ตัว และก็ต่างคนต่างอยู่ นานๆ ก็เปิดประตูจ้องตากันระยะประชิดให้ระทึกใจเล่น
Credit: Siamensis.org, ปศุสัตว์.คอม
สมัยนั้นผมยังไม่เคยเห็นมุ้งลวด ไม่รู้ว่าบ้านคนรวยจะมีหรือเปล่า แต่คนทั่วไปก็จะนอนมุ้ง ผมมีประสบการณ์ถูกมุดมุ้งครั้งแรกก็ที่ห้องนอนนี้แหละ
ถือว่าเป็นแมวตัวแรกที่ผมเลี้ยงด้วยเหมือนกัน มันเป็นแมวหลงสามสี ตั้งชื่อมันว่า “อีกลอย” ตอนนั้นเพลง “คุณนายโรงแรม” กำลังดัง ครั้งแรกที่มันหลงมาก็ให้มันกินเส้นหมี่ราดหน้า แล้วมันก็ไม่ไปไหนเลย ตอนกลางคืนให้มันอยู่ข้างนอก คืนแรกมันก็เริ่มแหกมุ้ง ก็เลยต้องยอมให้มันมานอนด้วย พอคืนที่สองผมก็เอาหนังสติ๊กมามัดรูเอาไว้ ตกดึกก็เจอว่ามันทำรูใหม่อีกรูนึงเข้ามาได้ คืนต่อไปก็ต้องยอมแพ้มัน ไม่งั้นคงได้เพิ่มอีกคืนละรู
...ก่อนอยู่บ้านนา เขาเรียกเธอว่าอีกลอย..... Credit: pet.kapook.com, 10ขายดี.com
ผมอยู่บ้านนี้หลายปี ตั้งแต่อยู่อนุบาล 1 ที่โรงเรียนอนุบาลสระบุรีจนจบประถม 4 และไปต่อประถม 5 ที่โรงเรียนเพิ่มพิทยา ซึ่งตอนนั้นแม่ของผมก็ไปเป็นครูที่โรงเรียนเพิ่มฯ ด้วย เรื่องการเรียนและเพื่อนที่โรงเรียนอนุบาลสระบุรีและโรงเรียนเพิ่มพิทยาผมจะไปบันทึกทีหลังเพราะมีรายละเอียดเยอะ
ทั้งสามภาพถายเมื่อ กรกฎาคม 2567 ภาพแรกเป็นบริเวณที่เคยเป็นหน้าโรงเรียนเพิ่มพิทยา ภาพที่สองจะเห็นเรือนไม้หลังเดิมที่ผมจำไม้ระเบียงที่เป็นวงกลมเจาะรูได้  ภาพที่สามเป็นที่ตั้งของเรือนไม้ที่ผมเคยเรียนเมื่อปี 2515 ไม่รู้ว่าใช้โครงสร้างเรือนไม้เดิมหรือเปล่า
ในส่วนของเพื่อนที่อยู่ฝั่งเดียวกันไล่มาตั้งแต่ต้นทางใกล้ถนนพหลโยธิน คือ กุ้ง-สัจจะ แสนท้าว อยู่ใกล้ธนาคารกรุงเทพ, ทัศนีย์ ปุวรัตน์ อยู่ที่ซอยแรกลึกเข้ามา, แล้วก็เป็นบ้านผม, เลยบ้านผมก็เป็นบ้านหมีก-วิทวัส นุตคำแหง
ภาพแรก บ้านกุ้ง-สัจจะ แสนท้าว อยู่ในซอยข้างธ.กรุงเทพ ริมถนนพหลโยธิน ภาพสองและสามเป็นซอยของครอบครัวปุวรัตน์ ตอนนี้อยู่เรียงกันไปในซอย ภาพที่สี่ บ้านสีชมพูคือบ้านหมึก-วิทวัส นุตคำแหง
บ้านที่อยู่จะได้ยินเสียงรถไฟแล่นผ่านจนเพลินชวนนอน แถมเวลามีงานเทศกาลที่ศาลากลางจังหวัดก็จะได้ยินเสียงผ่านเครื่องขยายเสียงชัดเจน งานที่ศาลากลางที่ชอบมากก็จะเป็นงานปีใหม่ ชอบกลิ่นหญ้าที่เขาเอามาตกแต่งบูธของส่วนราชการ ได้เห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับเด็ก ที่จำได้ก็มี มีชิงช้าสวรรค์ โชว์เมียงู ยิงปืน ปาลูกโป่ง สอยดาว สาวน้อยตกน้ำ วงดนตรี ลิเก ไก่ย่างจีระพันธ์ ส่วนเทศกาลอื่นๆ นี่ผมจำไม่ได้อาจจะเพราะยังเด็กเกินไปสำหรับเทศกาลอื่น
Credit: Pizza.com, postjung.com, เอนก นาวิกมูล, today.line.me
สำหรับเด็กตอนนั้นที่ไม่มีอะไรเล่น ก็มักจะไปอ่านหนังสือห้องสมุด ก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดผมถึงชอบอ่านหนังสือ และห้องสมุดแห่งนั้นก็ไม่ค่อยมีหนังสือเด็กเท่าไหร่ หนังสือผู้ใหญ่ที่ผมอ่านแน่ๆ คือ ราชาธิราช อีกเรื่องถ้าจำไม่ผิดคือ เชอร์ลอคโฮล์ม ซึ่งเป็นชุดมีหลายตอน ห้องสมุดแห่งนั้นบรรณารักษ์ชื่อครูสุทิน เป็นรุ่นพี่ของแม่ที่เขมะสิริฯ ทำให้เหมือนผมมีสิทธิ์พิเศษได้รับการเสิร์ฟน้ำหวานระหว่างการอ่านในห้องสมุดด้วย
Credit: สุ หนังสือเก่า, Book-dd.com
ส่วนหนังสือที่พ่อซื้อมาอ่านเอง แล้วผมก็อ่านด้วยแล้วชอบก็มี เสียงเรียกจากเหมืองแร่ ซึ่งมีหลายเล่มๆ ละ 5 บาทของ อาจินต์ ปัญจพรรค์, ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เรื่องนี้ชอบมาก ส่วนที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่องคือ บัวบานในอะมาซอน ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เหมือนกัน ช่วงที่อ่านหนังสือเยอะน่าจะราวประถม 3-5 เพราะโตพอที่จะเดินไปห้องสมุดได้เองแล้ว
ด้านขวาของห้องสมุดก็จะเป็นสำนักงานเทศบาล ถัดไปก็เป็นธนาคารออมสิน และก็โรงพัก ถ้าเดินออกจากห้องสมุดแล้วข้ามถนนไปก็จะเจอร้านกาแฟที่พ่อมากินประจำชื่อร้าน “สิลิ้มเฮง” ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปวัดศาลาแดง ถ้าเลี้ยวขวาจะเจอร้านตัดผม “ท่านชาย” ของ ตู่-โยธิน อิ่มฤทัย, ร้านขายยา, คลินิกหมอฟัน ยุทธพงษ์ จุนเจือ ตอนนั้นจำไม่ได้ว่ามีร้านศุภมิตรหรือร้านนิวสไตล์หรือยัง
กรกฏาคม 2567 ธนาคารออมสินกับเทศบาลน่าจะเป้นอาคารเดิม ส่วนห้องสมุดน่าจะเป็นอาคารใหม่และเป็นอะไรไปแล้วไม่รู้  บริเวณหน้ารั้วเทศบาลตอนค่ำๆ จะมีรถเข็นสาคู-ข้าวเกรียบปากหม้อที่ผมซื้อบ่อยอยู่
เดินตรงไปอีกถึงสี่แยก แรกๆ ผมไม่แน่ใจว่าเคยเห็นน้ำพุตรงกลางสี่แยกที่เรียกว่าสี่แยกน้ำพุหรือเปล่า ตอนหลังเรียกสี่แยกหอนาฬิกาเพราะมีหอนาฬิกาอยู่ที่หัวมุมที่ติดกับรั้วโรงเรียนอนุบาล
สีแยกน้ำพุ
เดินตรงไปอีกนิดเดียวทางด้านซ้ายมือจะมีโรงหนัง “ศรีสราภรณ์เธียเตอร์” ทางเข้าโรงหนังจะมีร้านอาหารร้านขนมน่านั่งตอนกลางคืน ผมไม่เคยดูโรงหนังนี้แต่พ่อเคยพาไปนั่งกินแถวทางเข้า ตอนนั้นเข้าใจว่าโรงหนังนี้ครอบครัวของ “โอ๊ต-ฉัตรทิพย์ ไอน้ำทิพย์” เป็นเจ้าของ โรงหนังนี้น่าจะถูกไฟไหม้ไปเมื่อคราวไฟใหม้ใหญ่สระบุรีเมื่อปี 2513
เกิดไฟใหม่สระบุรีตอนที่ผมอยู่ประถม 3 ที่โรงเรียนอนุบาลสระบุรี ไฟไหม้ใกล้โรงเรียน ดูเหมือนว่าเกิดความร้อนจนอิฐแก้วที่ผนังตึกร้าวจนเห็นได้ มีเพื่อนคนนึงเป็นผู้ประสบภัยคือ “น้อยหน่า-วาสนา คลังวิเชียร” แต่ด้วยความเป็นเด็กเราจีงไม่รู้จักที่จะไปแสดงความเสียใจกับเพื่อนคนนี้ และอีกครอบครัวผู้ประสบภัยที่รู้จักก็คือ ครอบครัวของป๋าหริ-สิริ ปากเพรียว ซึ่งน้าภาพ-สันติภาพ ได้มาแต่งงานกับน้าทวันลูกเจ้าของบ้าน ทำให้ผมรู้เรื่องนี้ด้วย
คำบรรยาย(ของคุณฺธิติวัฒน์) : “ภาพถ่ายนี้ตอนอายุ 15 ปี ในขณะนั้นเป็นเวลาเช้า ไฟเริ่มไหม้จากโกดัง ใกล้โรงเจ แล้วไฟลามข้ามถนนมาติดในบ้านช่องที่เป็นไม้เป็นตึก แถวนั้นมีร้านขายปืนมีเสียงปืนดัง แล้วไฟไหม้ ลุกลาม ไปจนถึงที่แยกไฟแดง (ในขณะนั้นเป็นสี่แยกน้ำพุ) และกว่าไฟไหม้จะสงบก็เป็นเวลาเย็น” สถานที่ถ่ายภาพ : ตลาดใน ตรงสี่แยกจะไปโรงเจ วันที่ถ่ายภาพ : 15 ธ.ค. 2513 ผลงานโดย : นายธิติวัฒน์ บุตรชัยเจริญ
เยื้องๆ โรงหนังนี้คือตลาดสุขุมาล ด้านหัวมุมตลาดด้านนอกที่อยู่ติดถนนพิชัยณรงค์สงครามกับหลังโรงเรียนอนุบาลจะเป็นร้านตาหนวก ที่พ่อผมชอบไปตัดเสื้อผ้าและซื้อลอตเตอรี่ที่นี่ ภายในตลาดจะมีร้านประจำที่พ่อมักซื้อหมูแดงราดซีอิ๊วใส่กระทงใบตองแห้ง เป็นหมูแดงที่หอมอร่อยมากกินกับข้าวเหนียว และมีร้านข้าวมันไก่ที่ผมจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหนชื่อร้านอะไร เป็นเจ้าแรกที่ผมได้รู้จักกับข้าวมันไก่ น้ำซุปจะใส่มะนาวดอง รสชาติข้าวมันไก่เจ้านี้ได้กลายเป็นมาตรฐานความอร่อยของข้าวมันไก่ในเวลาต่อมา
ด้านนอกและด้านในตลาดสุขุมาลไม่ค่อยเปลี่ยนมากแม้จะผ่านมาเกือบ 50 ปี
ความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งก็คือการดูหนัง นึกไปนึกมาก็พบว่าผมได้ดูหนังเยอะมาก มีบางเรื่องไม่ได้อยากดูแต่แม่ก็พาไปดูเป็นเพื่อน ดูตั้งแต่ปี 2511-2515 คือ เดชผีดิบ, อีแตน, เป็ดน้อย, ละครเร่, โทน, เรือมนุษย์, มนต์รักลูกทุ่ง, ชู้, แว่วเสียงซึง, แก้วขนเหล็ก, เพชรพระอุมา เรื่องที่ไม่ชอบคือ ชู้ และ เรือมนุษย์ รู้สึกว่ามันหนักเกินไปสำหรับเด็กวัยนั้น
แว่วเสียงซึง, อีแดน, และ วิทยุเทปของบ้านป้าทองดีที่ผมได้มีโอกาสอัดเสียงร้องเพลง "แว่วเสียงซึง" ลงเทป  เป็นอะไรที่มหัศจรรย์มากสำหรับปี 2515 Credit:  Thai Movie Posters, หอภาพยนตร์, Shopee
มีการบันเทิงพิเศษอย่างนึงที่จำได้ดี คือการที่วงดนตรีสุนทรภรณ์มาเล่นที่โรงหนังไพโรจน์ที่ผมจำปีไม่ได้ ราคาบัตรแพงมาก ไม่รู้ว่าใบละ 100 หรือใบละ 50 บาท ไปดูกันทั้งพ่อแม่ลูก รู้สึกมันแพงมากๆ เพราะตอนนั้นทองคำบาทละประมาณ 500 บาท
ช่วงแรกดูหนังแต่ที่โรงหนังไพโรจน์ ต่อมาก็มีการสร้างโรงหนังใหม่คือสระบุรีรามา ซึ่งชั้นล่างเปิดเป็นที่เล่นโบว์ลิ่งด้วย ซึ่งผมก็ได้ดูที่สระบุรีรามาในช่วงหลัง
ภาพแรก โรงหนังไพโรจน์ กลายเป็นไพโรจน์ชอปปิ้งมอลล์ กรกฎาคม 2567  ภาพสอง สระบุรีรามา น่าจะปิดร้าง ภาพเมื่อ เมษายน 2565
พอจบชั้นประถม 5 จากโรงเรียนเพิ่มพิทยาผมก็ถูกส่งให้เข้าไปเรียนประถม 6 ที่กรุงเทพฯ โดยทีแรกให้ไปอยู่บ้านตา แล้วก็ถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างบ้านตาที่ดาวคะนองกับบ้านปู่ที่สะพานพุทธ เกิดเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตอยู่สามปีในช่วงปี 2516-2518 ตั้งแต่ ป.6 ถึง ม.ศ.1 จนกระทั่งได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่สระบุรีอีกครั้งหนึ่ง
ตอนปี 2519 พอได้กลับมาสระบุรี ตอนนั้นที่บ้านก็ย้ายไปเช่าบ้านอีกหลังที่ใหม่กว่าหลังเก่าแต่เป็นเจ้าของบ้านเดิมคือคุณป้าทองดี เป็นบ้านเลขที่ 1861/42 บ้านเป็นไม้ทาสีกันปลวกสีแดงเหมือนๆ กับอีกหลายๆ หลัง มีใต้ถุนสูงเหมือนเดิมแต่ไม่ได้แยกเป็นสองซีกเหมือนหลังเก่า ผมก็กางมุ้งอยู่ส่วนหน้าบ้านใกล้หน้าต่าง พ่อกับแม่ก็อยู่ในห้อง
บ้านเช่าหลังสุดท้ายที่สระบุรี เลขที่ 1861/42 ผมนอนอยู่ที่ห้องติดหน้าต่าง
อยู่ได้สักพักก็เริ่มไปเล่นเทนนิส และก็เริ่มไปเรียนม.ศ.1 ซ้ำอีกปีหนึ่งที่ร.ร.สระบุรีวิทยาคม (สบว.) โรงเรียนจะอยู่ไกลจากบ้านต้องนั่งรถสองแถวหรืออะไรไปก็ไม่รู้ พวก ม.ศ.1 จะอยู่คนละฝั่งกับโรงเรียนสบว. ดังนั้นก็ไม่ค่อยได้เจอตู่-โยธิน หรือ แดง-บัญชา หรือคนอื่นๆ ที่เคยเรียนร่วมอนุบาลด้วยกันมา เด็กสระบุรีส่วนใหญ่ถ้าไม่ไปเรียนกรุงเทพฯ ก็มักจะมารวมกันอยู่ที่สบว.แห่งนี้
....เคยร่วมกันเป็นนักกีฬาสนุกสนาน เคยรักกันเหมือนดังน้องพี่ไม่มีขื่นขม.... Credit: ลีแคะแตงโม
ผมไม่แน่ใจว่าครูประจำชั้นคือครูมะลิวัลย์ หัตถพร หรือไม่ เพื่อนร่วมชั้นจำชื่อได้คนเดียวคือ ทองแดง สุวรรณ ตอนนั้นผมก็ละเลิกการโดดเรียนได้อย่างเด็ดขาด โดดไปก็คงหนีไปไหนไม่ได้ มันไม่ได้สะดวกเหมือนอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนเท่าไหร่ เรียนพอผ่านๆ แต่ด้วยความที่เกเรียนจนซ้ำชั้นมาปีนึง พ่อผมก็เลยตั้งรางวัลไว้ว่าถ้าได้เกรด 4 วิชาใดวิชาหนึ่งเขาก็จะซื้อเสื้อแจ็คเก็ตยีนส์ของ GQ ที่ผมอยากได้ให้
ตอนนั้นนับว่าผมถนัดวิชาภาษาอังกฤษมากที่สุด เพราะมีพื้นฐานที่ดีจากการเรียนที่โรงเรียนวัลยา และแล้วผมก็ทำได้ 4 วิชาภาษาอังกฤษวิชาเดียวที่ผมตั้งใจ ผมก็ได้เสื้อ GQ ที่สวยบาดใจสมใจอยาก มันราคาตัวละ 500 บาท ในขณะที่พ่อเงินเดือนๆ ละ 1,800 บาท แล้วมันก็มาสะท้อนใจหลังจากนั้นไม่นานว่าพ่อต้องไปยืมเงินคุณป้าทองดีเจ้าของบ้านเพื่อซื้อเสื้อตัวนี้ให้ผมแล้วก็ผ่อนคืนให้ป้าทองดีรายเดือน
เมษายน 2520 พ่อก็จากไปเนื่องจากอุบัติเหตุ หลังจากนั้น 1 เดือนหลังแม่และผมก็ย้ายกลับไปอาศัยบ้านตาที่ดาวคะนองอีกครั้ง และหลายปีต่อมาทางพี่สาวก็ได้ปลูกบ้านให้แม่กับผมอยู่เยื้องๆ บ้านตาที่เคยอยู่ และได้อยู่มาถึงปัจจุบันในปี 2567
บ้านปัจจุบัน พฤศจิกายน 2567
ถึงแม้ว่าผมจะใช้เวลาในชีวิตส่วนใหญ่เกือบ 50 ปีอยู่ที่กรุงเทพฯ มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ แต่ช่วงชีวิตที่มีความหมายมากในการกำหนดลักษณะนิสัย.... การอบรมจากครูที่โรงเรียนหลักคือโรงเรียนอนุบาลสระบุรี.... การมีเพื่อนอนุบาลที่ยังติดต่อกันจนบัดนี้...ความสุขความประทับใจต่างๆ ที่ผมได้พบที่สระบุรี.... การรู้สึกว่าสระบุรีคือบ้านจริงๆ ของผม ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยมีบ้านที่นั่นเลย... ทำให้ผมถูกหลอมรวมตัวตนจนผมรู้สึกว่า.
........ผมเป็นเด็กสระบุรี....
โฆษณา