21 พ.ย. เวลา 16:31 • ข่าวรอบโลก

ปูตินยกระดับ "สงครามนิวเคลียร์" หลังไบเดนทิ้งทวนไฟเขียวให้เซเลนสกีใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซีย

สนามสงครามรัสเซีย-ยูเครน กลับมาร้อนระอุอีกครั้งด้วย "ขีปนาวุธ" ทำให้ทั่วโลกวิตกว่า การตอบโต้ของรัสเซียจะบรรลุไปถึงการใช้ขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ ?
.
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับการใช้ขีปนาวุธ ATACMS ที่สหรัฐอเมริกาจัดหาให้ยูเครน โดยอ้างแหล่งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยชื่อ อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธบทความของนิวยอร์กไทมส์ ดังกล่าว
.
ต่อมาในวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน กระทรวงกลาโหมของรัสเซียรายงานว่ายูเครนได้ยิงขีปนาวุธ ATACMS พิสัยไกล ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา จำนวน 6 ลูกเข้าไปในพื้นที่ชายแดนเมืองบรีอันสค์ (Bryansk) ของรัสเซีย และระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียสกัดกั้นขีปนาวุธได้จำนวน 5 ลูก ส่วนขีปนาวุธอีกลูกหนึ่งได้รับความเสียหายแล้วตกลงสู่พื้นใกล้กับฐานทัพทหาร และเศษซากจากขีปนาวุธทำให้เกิดไฟไหม้ที่ฐานทัพทหาร โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินแต่อย่างใด
ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพ (ATACMS) สามารถเข้าถึงระยะสูงสุด 300 กม. (186 ไมล์) และยากต่อการสกัดกั้นเนื่องจากมีความเร็วสูง
และในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1000 วัน ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ได้ลงนามกฤษฎีกาฉบับแก้ไขปรับปรุงหลักการยับยั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งคาดว่ามีการเตรียมการก่อนที่ยูเครนจะลงมือยิงขีปนาวุธ ATACMS เข้ามาในดินแดนรัสเซีย
พระราชกฤษฎีกาที่เผยแพร่บนเว็บไซต์เครมลินระบุว่า การรุกรานโดยรัฐใดๆ ในกองกำลังผสมหรือกลุ่มทหารต่อรัสเซียหรือพันธมิตรจะถือเป็นการรุกรานโดยกลุ่มทหารทั้งหมด และการรุกรานจากรัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ โดยการมีส่วนร่วมหรือการสนับสนุนจากมหาอำนาจนิวเคลียร์จะถือเป็นการโจมตีรัสเซียร่วมกัน ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้มุ่งเป้าไปที่ประเทศที่อนุญาตให้ใช้ดินแดนและทรัพยากรของตนเพื่อรุกรานรัสเซียเป็นสำคัญ
โดยหลักการนี้ได้รับการตีความอย่างกว้างขวางว่ารัสเซียจะใช้หลักการนี้กับกรณีการโจมตีของยูเครนด้วยอาวุธที่จัดหาโดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
.
ประเด็นเรื่องการอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลที่สหรัฐอเมริกาจัดหาให้โจมตีรัสเซียนั้น อยู่ในการพิจารณาของทำเนียบขาวมานานกว่า 2 ปีแล้ว
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 หนังสือพิมพ์ Politico อ้างแหล่งข่าวของตนเอง รายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีความพยายามจะอนุญาตให้รัฐบาลยูเครนใช้อาวุธที่สหรัฐอเมริกาจัดหาให้เพื่อโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย โดยได้สั่งการให้ทีมงานของเขาตรวจสอบให้แน่ใจว่ายูเครนสามารถใช้อาวุธของสหรัฐอเมริกา เพื่อวัตถุประสงค์ในการตอบโต้กองกำลังรัสเซียที่กำลังโจมตีในพื้นที่ติดกับภูมิภาคคาร์คอฟทางตะวันตกเฉียงเหนือของยูเครนได้หรือไม่
ส่วน The New York Times รายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แอนโทนี บลิงเกน กล่าวว่าเขาวางแผนที่จะเสนอแนะให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยกเลิกการห้ามใช้อาวุธของอเมริกาต่อเป้าหมายในรัสเซีย
.
มีรายงานว่าการเปลี่ยนใจของไบเดนเกิดขึ้นหลังจากกองกำลังเกาหลีเหนือส่งทหารไปสนับสนุนกองกำลังรัสเซียในการต่อสู้กับยูเครน
.
เชื่อว่าปูตินได้คาดการณ์ไว้แล้ว จึงตัดสินใจลงนามแก้ไขหลักการยับยั้งนิวเคลียร์ครั้งนี้ ภายในห้วงสถานการณ์สุญญากาศทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่า 3 เดือนก่อนการขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ไบเดนจะเร่งตัดสินใจและอาจทำข้อตกลงใด ๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อรัฐบาลทรัมป์ ที่สัญญาว่าจะเจรจาเพื่อยุติสงครามยูเครนโดยเร็ว
เงื่อนไขของรัสเซียสำหรับการยิงอาวุธนิวเคลียร์กำลังจะเปลี่ยนแปลง...เราจะพิจารณาความเป็นไปได้นี้เมื่อได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการยิงอาวุธโจมตีทางอวกาศครั้งใหญ่และการข้ามพรมแดนประเทศของเรา...มอสโกจะสงวนสิทธิ์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในกรณีที่เกิดการรุกรานรัสเซียหรือเบลารุส...
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อ กันยายน 2567
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ เซเลนสกี อ้างว่าประเทศตะวันตกหลายแห่งอนุญาตให้เคียฟใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีดินแดนรัสเซีย และเป็นฉันทานุมัติในระดับนานาชาติ
มีรายงานระบุว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสได้ยกเลิกข้อจำกัดการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลที่ส่งไปยังเคียฟแล้วเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่ได้ยืนยันการดำเนินการดังกล่าวก็ตาม อย่างไรก็ตาม เยอรมนีและอิตาลีได้ออกมาประกาศต่อสาธารณะว่านโยบายของตนยังคงเหมือนเดิม และอาวุธของตนสามารถใช้ได้เฉพาะบนดินแดนยูเครนเท่านั้น
.
เดิมนโยบายเกี่ยวกับการยับยั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ที่เรียกว่า “หลักคำสอนนิวเคลียร์แห่งชาติ” (Nuclear Doctrine) มีลักษณะเชิงป้องกันโดยมุ่งเป้าไปที่การรักษาศักยภาพของกองกำลังนิวเคลียร์ เพื่อการปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ และยับยั้งศัตรูที่อาจเกิดขึ้นจากการรุกรานรัสเซียและ/หรือพันธมิตร ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางทหาร
ภายหลังจากการประกาศกฎแก้ไขใหม่ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลิน อธิบายว่าหลักคำสอนใหม่นี้ให้สิทธิแก่รัสเซียในการพิจารณาตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ต่อการใช้ขีปนาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ซึ่งจัดหาโดยชาติตะวันตกให้แก่ยูเครนเพื่อโจมตีดินแดนของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม นายวลาดิมีร์ บูลาวิน หัวหน้าคณะกรรมการป้องกันและความมั่นคงของสภาสหพันธรัฐ กล่าวกับ สำนักข่าว TASS ว่า รัสเซียยังคงมองอาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการยับยั้ง และจะพิจารณาใช้อาวุธเหล่านี้เป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น
.
20 พฤศจิกายน กองทัพยูเครนเปิดฉากใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล “สตอร์มชาโดว์” (Storm Shadow) จากอังกฤษโจมตีเป้าหมายภายในดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก หลังจากส่งขีปนาวุธ ATACMS ไปยังรัสเซียเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน
.
สื่อรัสเซียบนแพลตฟอร์มเทเลแกรมเปิดเผยว่า มีขีปนาวุธสตอร์มชาโดว์จำนวน 12 ลูกถูกยิงเข้าสู่ภูมิภาคเคิร์สก์ในช่วงบ่ายวันที่ 20 พ.ย. แต่ทั้งหมดถูกสกัดเอาไว้ได้โดยระบบป้องกันภัยทางอากาศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษยังไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อรายงานเรื่องการใช้ Storm Shadow โดยยูเครน
กระทรวงกลาโหมในกรุงมอสโกรายงานว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียได้สกัดกั้นขีปนาวุธ Storm Shadow ได้จำนวน 2 ลูก
.
ขีปนาวุธ ATACMS (อ่านว่า “แอทแท็ค 'เอมส์”) ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาคืออะไร?
ATACMS (Army Tactical Missile System) พัฒนาโดยบริษัท Lockheed Martin ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการป้องกันประเทศสัญชาติอเมริกา มีพิสัยการโจมตีสูงสุด 300 กิโลเมตร (186 ไมล์) แม้ว่าจะถูกเรียกว่าเป็น "ขีปนาวุธพิสัยไกล" แต่ ATACMS สามารถโจมตีได้ไกลกว่าขีปนาวุธอื่นๆ ของยูเครน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นขีปนาวุธร่อนหรือขีปนาวุธข้ามทวีป
ขีปนาวุธ ATACMS มีมูลค่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามเย็นเพื่อทำลายเป้าหมายของสหภาพโซเวียต และถูกใช้ครั้งแรกในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปีพ.ศ. 2534 มีความแม่นยำสูง และสามารถโจมตีได้ดีในแนวลึก เชื่อกันว่ากองทัพยูเครนได้รับขีปนาวุธ ATACMS จากสหรัฐอเมริกา เพียงประมาณ 50 ลูกเท่านั้น การที่ยูเครนตัดสินใจยิง ATACMS ไม่ใช่เพราะข้อได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ แต่เป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ซึ่งก็กระตุ้นกำลังความสนใจในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ให้เป็นที่สนใจได้อีกครั้ง
.
ขีปนาวุธ Storm Shadow คืออะไร ?
Storm Shadow คือขีปนาวุธร่อนของอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่มีพิสัยการยิงสูงสุดประมาณ 250 กิโลเมตร (155 ไมล์) ผลิตโดยบริษัท MBDA ชาวฝรั่งเศสเรียกมันว่า Scalp อังกฤษและฝรั่งเศสส่งขีปนาวุธเหล่านี้ไปที่ยูเครน ภายใต้เงื่อนไขว่ายูเครนสามารถยิงได้เฉพาะเป้าหมายภายในพรมแดนของตนเองเท่านั้น
ขีปนาวุธจะถูกปล่อยออกจากเครื่องบิน จากนั้นบินด้วยความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วเสียง พุ่งเข้าสู่เป้าหมายแล้วจุดชนวนระเบิดหัวรบที่มีพลังทำลายล้างสูง Storm Shadow ถือเป็นอาวุธที่เหมาะสำหรับเจาะเข้าไปในบังเกอร์และคลังกระสุนที่แข็งแกร่ง สนนราคาลูกละ 767,000 ปอนด์ (ประมาณ1 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส และผลิตโดยบริษัทร่วมทุนที่มีอิตาลีร่วมลงทุนด้วย โดยใช้ส่วนประกอบที่จัดหาโดยสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ทั้งสี่ประเทศจะต้องลงนามในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้งาน แม้ว่าประเทศทั้งสี่จะไม่ใช่ซัพพลายเออร์โดยตรงก็ตาม
.
Ballistic Missiles คือขีปนาวุธที่ขับเคลื่อนด้วยจรวดในตอนแรก แบ่งประเภทตามระยะทางสูงสุดที่ขีปนาวุธสามารถเดินทางได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความแรงของเครื่องยนต์ของขีปนาวุธ (จรวด) และน้ำหนักของขีปนาวุธที่บรรทุกอยู่ ดังนี้
- ขีปนาวุธพิสัยใกล้ เดินทางน้อยกว่า 1,000 กิโลเมตร (ประมาณ 620 ไมล์)
- ขีปนาวุธพิสัยกลาง บินได้ระยะทางระหว่าง 1,000–3,000 กิโลเมตร (ประมาณ 620–1,860 ไมล์)
- ขีปนาวุธพิสัยกลาง เดินทางได้ระยะทางระหว่าง 3,000–5,500 กิโลเมตร (ประมาณ 1,860–3,410 ไมล์) และ
- ขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) เดินทางมากกว่า 5,500 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (ไม่ระบุชื่อ) ได้เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา ยินยอมที่จะมอบทุ่นระเบิดต่อต้านบุคคลให้กับยูเครน เพื่อชะลอกองทหารรัสเซียที่เคลื่อนพลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในภาคตะวันออกของยูเครนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยจะมีการส่งมอบในเร็วๆ นี้
.
สหรัฐอเมริกา เป็นซัพพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ที่สุดให้กับยูเครน โดยระหว่างช่วงเริ่มต้นสงครามจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2024 สหรัฐฯ ได้ส่งมอบหรือให้คำมั่นที่จะส่งอาวุธและอุปกรณ์มูลค่า 55,500 ล้านดอลลาร์ (41,500 ล้านปอนด์) ตามข้อมูลของสถาบัน Kiel Institute for the World Economy ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของเยอรมนี
.
สถานการณ์นี้ประธานาธิบดีปูตินมองว่า สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ได้เข้าแทรกแซงสงครามโดยตรงแล้ว
.
ภาพถ่ายแฟ้มภาพ RS-24 Yars ของรัสเซีย ขีปนาวุธข้ามทวีปติดอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ที่ติดตั้ง MIRV © Getty Images / Vlad Karkov ; SOPA Images; LightRocket
ล่าสุดมีข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า วันนี้รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) โจมตีเมืองดนิโปรเพื่อตอบโต้ยูเครน อย่างไรก็ตาม โฆษกเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว.
โฆษณา