Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
VI Style by MooDuang
•
ติดตาม
22 พ.ย. 2024 เวลา 08:21 • การศึกษา
ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลักการที่สำคัญของแต่ละฐานภาษี >>>
ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย มี 4 ฐาน ด้วยกัน ดังนี้
1.ฐานกำไรสุทธิ ฐานภาษีนี้เราจะพบเห็นกันได้บ่อย ๆ ผู้ประกอบการที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด , บริษัทจำกัด, บริษัทมหาชนจำกัด เป็นต้น
หลักการสำคัญของฐานกำไรสุทธิ คือ การคำนวณภาษี จากยอดรายได้ หัก ค่าใช้จ่าย (ตามมาตรา 65 ทวิและมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร) เหลือเป็น กำไรสุทธิทางภาษี คูณอัตราภาษี (SMEs หรือ Non SMEs)
อัตราภาษี SMEs คือ ขั้นที่ 1 (กำไรสุทธิ 300,000 บาทแรกได้รับยกเว้นภาษี) ขั้นที่ 2 (กำไรสุทธิ 300,001 ถึง 3 ล้านบาท อัตราภาษี 15%) และ ขั้นที่ 3 (กำไรสุทธิ 3 ล้าน 1 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 20%)
อัตราภาษี Non SMEs คือ กำไรสุทธิทางภาษี คูณอัตรา 20%
SMEs เพื่อการลดอัตราภาษี คือ ต้องเข้า 2 เงื่อนไข (1) มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท และ (2) ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยจะต้องไม่มีปีใดปีหนึ่ง ไม่เข้าเงื่อนไข ข้อใดข้อหนึ่ง หรือ ทั้ง 2 ข้อ
ยื่นแบบ ภงด.51 และ แบบ ภงด.50
2. ฐานรายรับก่อนหักรายจ่าย ฐานนี้โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่ใช้ คือ มูลนิธิ และ สมาคม
หลักการสำคัญของฐานรายรับก่อนหักรายจ่าย คือ รายได้ (ประเภทไหนได้รับยกเว้น ประเภทไหนไม่ได้รับยกเว้น) รายได้ที่ได้รับยกเว้น เป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร ระบุไว้ว่า “มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ไม่ต้องนำเงินค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิกหรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา แล้วแต่กรณี มารวมคำนวณเป็นรายได้”
อัตราภาษี ของมูลนิธิ และ สมาคม คือ เงินได้ทุกประเภทเสียภาษีอัตรา 10% ของยอดรายได้ ยกเว้นเงินได้ประเภท 40(8) เสียภาษีอัตรา 2% ของยอดรายได้
ยื่นแบบ ภงด.55
หมายเหตุ: มูลนิธิ และ สมาคม ที่เป็นองค์กรสาธารณะกุศล (ตามประกาศกระทรวงการคลัง) รายได้ทั้งหมด ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
3. ฐานเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศ ฐานนี้ใช้เก็บภาษีจากนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในไทย
หลักการสำคัญของฐานเงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศ คือ เป็นการจัดเก็บภาษี เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(2),(3),(4),(5),(6)
ซึ่งเป็นการจัดเก็บตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีและนำส่งให้กรมสรรพากร คือ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในไทยที่มีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(2),(3),(4),(5),(6)ไปให้นิติบุคคลต่างประเทศ
อัตราภาษี เงินได้ตามมาตรา 40(2),(3),(4),(5),(6) ในอัตรา 15% ยกเว้นเงินปันผล (เงินได้มาตรา 40(4)(ข)) ในอัตรา 10%
ทั้งนี้ หากนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย อัตราภาษีที่จัดเก็บตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องไม่เกินอัตราเพดานที่ถูกกำหนดไว้ในอนุสัญญาภาษีซ้อนของแต่ละฉบับ (ปัจจุบัน ประเทศไทย มีอนุสัญญาภาษีซ้อนรวมทั้งหมด 61 ฉบับ, 61 ประเทศ)
ยื่นแบบ ภงด.54
4. ฐานการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย
หลักการสำคัญของฐานนี้คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจำหน่ายเงินกำไรหรือเงิน ประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยให้เสียภาษีเงินได้โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่าย ตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เช่น เงินกำไรที่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ (ประกอบกิจการในไทย) ได้ส่งเงินกำไรไปยังบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น
อัตราภาษี 10% ของเงินกำไรที่โอนออกไปจากประเทศไทย
ยื่นแบบ ภงด.54
#VIStylebyMooduang #สำนักงานกฎหมายภาษีสยามลอว์ #ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย