23 พ.ย. 2024 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์

ทำไม “ฮากา” ถึงทรงพลัง จน ส.ส.พรรคเมารีใช้เต้นประท้วงกลางสภานิวซีแลนด์?

“Kāwana!, ka whakamanuwhiritia koe e au!” (ท่านเจ้าเมืองเอ๋ย ท่านมิใช่ใครเลยนอกจากเป็นเพียงผู้มาเยือน) ฮานา-ราฟิติ ไมปิ-คลาร์ก (Hana-Rawhiti Maipi-Clarke) ส.ส. จากพรรคเมารีเกริ่นนำก่อนที่จะเข้าสู่ท่อนฮากา “Ka Mate, Ka Mate, Ka ora, Ka ora” (เราจะตาย, เราจะตาย, เราจะรอด, เราจะรอด) พร้อม ๆ กับฉีกร่างกฏหมายลง ท่ามกลางเสียงกู่ร้องจากสมาชิกพรรคเมารีคนอื่น ๆ ที่ลุกขึ้นยืน บ้างก็ร้องตาม บ้างก็เต้นต่อหน้าเหล่าส.ส.ผิวขาวในขณะที่กำลังโหวตรับร่างกฏหมายเพื่อตีความสนธิสัญญาอายุ 180 กว่าปีเสียใหม่
เมื่อสัปดาห์ก่อนมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ในการเมืองนิวซีแลนด์อย่างการร่างกฎหมายเพื่อตีความใหม่ของสนธิสัญญาไวตางิซึ่งจะส่งผลให้เกิดการตัดสวัสดิการของชาวเมารีที่พึ่งได้รับจากสนธิสัญญานั้นไป ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมารี จนส.ส.ชาวเมารีถึงกับเต้นฮากากันกลางสภานิวซีแลนด์เพื่อเป็นการประท้วงถึงร่างกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งยังฉีกร่างกฏหมายทิ้งแล้วโยนลงพื้นสภา
ทันทีที่คลิปฮากาดังกล่าวถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ก็กลายเป็นไวรัลทันทีถึงอำนาจของบทเพลงที่ขับขานออกมาจากปากส.ส.หญิง ที่ทำให้ผู้ชมหลายคนถึงกับขนลุก แต่.. “ฮากา” คืออะไร? แล้วมันสำคัญอย่างไรกับวัฒนธรรมของชาวเมารี? ทำไมถึงเลือกที่จะเต้นฮากาเพื่อแสดงการประท้วงในรัฐสภากัน? แล้วเนื้อหาในฮากานั้นพูดถึงอะไรกันบ้าง?
⭐ ตำนานฮากา คุณค่าทางวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมของชาวเมารี
ฮากาเป็นการเต้นในแง่ของพิธีกรรมหรือพิธีการโดยชาวเมารี พบเห็นได้ในเผ่าย่อยต่าง ๆ ของเมารี โดยมักจะเป็นการเต้นเป็นหมู่ ด้วยท่าทางที่ดูแข็งแรง พร้อมกับกระทืบเท้าเป็นจังหวะ ซึ่งฮากาก็ใช้งานในหลายโอกาสและหลากวัตถุประสงค์ ตั้งแต่การต้อนรับ, งานศพ, ไปจนถึงการแสดงให้เกียรติต่อโอกาสสำคัญต่าง ๆ, การข่มขู่ฝั่งตรงข้าม เป็นต้น
ฮากาเกิดจากความเชื่อของชาวเมารีที่เล่าต่อกันมาว่าฮากาเป็นการที่ตาเน-โรเร บุตรแห่งสุริยเทพทามานูอิเตรา กับเทพีแห่งฤดูร้อน ฮิเนราอูมาติ เต้นรำให้กับมารดาของเขา (คือเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Heat haze ที่เราจะเห็นภาพเบลอ ๆ ในบริเวณที่มีความร้อนสูง) ซึ่งชาวเมารีมองว่าปรากฏการดังกล่าวเป็นเหมือนกับการสั่นมือ เลยเป็นที่มาของฮากานี่เอง
⭐ คา มาเต
ฮากาที่เหล่าส.ส.จากพรรคเมารีเต้นกลางสภานี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งฮากาที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และเป็นเนื้อฮากาที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยคา มาเต เป็นฮากาที่ถูกประพันธ์ขึ้นราวปี 1820 โดยเต ราอูปาราฮา (Te Rauparaha) หัวหน้าเผ่างาติ โตอา เจ้าของฉายานโปเลียนแดนใต้ โดยเขาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในช่วงสงครามปืนคาบศิลา ซึ่งเป็นสงครามระหว่างเผ่าของชาวเมารีในช่วงที่พวกเขาได้รู้จักกับอาวุธสงครามแบบใหม่ที่ได้มาจากอังกฤษอย่างปืนคาบศิลา
ในช่วงสงคราม เต ราอูปาราฮา ถูกศัตรูไล่ต้อนมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาก็ขอความช่วยเหลือจากคนในหมู่บ้าน ซึ่งได้พาเต ราอูปาราฮาไปซ่อนอยู่ในหลุมเก็บมันหวานของหญิงสาวผู้หนึ่งนาม รางิโคอายอา (Rangikoaea) ซึ่งก็โชคดีที่รอดพ้นจากความตายมาได้ พอเขาออกจากหลุมมาเห็นแสงอาทิตย์อีกครั้งหนึ่งก็เกิดบทฮากานี้ขึ้นมาว่า
Ka mate, ka mate! Ka ora, ka ora! (เราจะตาย, เราจะตาย, เราจะรอด, เราจะรอด)
Ka mate, ka mate! Ka ora, ka ora! (เราจะตาย, เราจะตาย, เราจะรอด, เราจะรอด)
Tēnei te tangata pūhuruhuru (นี่คือชายขนดก)
Nāna nei i tiki mai whakawhiti te rā (ผู้นำพาทิวาให้คล้อยเคลื่อนมาอีกครั้ง)
Ā, upane! ka upane! (และจะก้าวข้างหน้า เราจะก้าวข้างหน้า)
Ā, upane, ka upane, whiti te rā! (และจะก้าวข้างหน้า เราจะก้าวข้างหน้า จนทิวาคล้อยเคลื่อนมาอีกครั้ง)
⭐การล้มล้างที่ไม่สำเร็จของปาเกฮา
ด้วยความที่ว่าฮากามันเปรียบเสมือนกับตัวตนของชาวเมารี ทำให้ในช่วงอาณานิคมนั้น มีความพยายามอย่างมากที่จะกลืนกินและลบฮากาให้หายออกไป โดยทางบาทหลวงพยายามที่จะนำเอาบทเพลงสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้ามาแทนที่ฮากา แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยฮากาเริ่มได้รับการยอมรับโดยปาเกฮามากขึ้นหลังจากที่มีการแสดงเพื่อต้อนรับเจ้าชายอัลเฟรด ดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งถูกมองว่าการเต้นฮากาเป็นเหมือนกับการแสดงความดีใจที่เจ้าชายอัลเฟรดเสด็จมาเยือน
⭐ ฮากา เครื่องมือแห่งสันติ
ในปัจจุบันนี้ฮากาได้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายโอกาส โดยหนึ่งในผู้ที่ทำให้ฮากาเป็นที่รู้จักในระดับโลกก็คือทีมรักบี้ออลแบล็ก หรือทีมชาตินิวซีแลนด์นี่เอง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันผู้คนจะรู้จักฮากาในฐานะของการข่มขู่ศัตรูแต่เพียงอย่างเดียวมากกว่าซึ่งเป็นการนำเสนอโดยทีมออลแบล็ก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะฮากาเพื่อข่มขู่ศัตรูชาวเมารีจะต้องถืออาวุธด้วย ถ้าไม่ถูกอาวุธจะเป็นฮากาเนื่องในโอกาสอื่นแทน เช่นการให้เกียรติเป็นต้น ฮากาได้รับการโปรโมทว่าเป็นวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เกิดการนำเอาฮากาไปใช้แบบผิด ๆ โดยผู้คนที่ไม่ใช่ชาวเมารี ทำเอาชาวเมารีส่ายหน้าอับอาย ขอร้องให้หยุดไปตาม ๆ กัน
ฮากาเป็นมากกว่าเพียงแค่การแสดง กลับกันมันเป็นวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นเสมือนกับตัวตน เป็นตัวตนที่ทำให้ชาวเมารีเป็นชาวเมารีอยู่ได้ เป็นมรดกที่บรรพบุรุษเมารีหลงเหลือเอาไว้ให้เป็นสิ่งตกทอด, เป็นความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีของชาวเมารีเริ่มมา
ในส่วนของการเต้นฮากาในรัฐสภานิวซีแลนด์นี้ แน่นอนว่ามันไม่มีอาวุธซึ่งเราก็อาจจะตีความได้หลายแบบอยู่เหมือนกัน ส.ส.ชาวเมารีอาจจะเต้นฮากาเพื่อเป็นการข่มขู่จริง ๆ แต่ปราศจากอาวุธมันจึงอาจจะมองในแง่ของการให้เกียรติมากกว่าความอาฆาตมาดร้าย ก็เป็นไปได้เหมือนกัน มันอาจจะเป็นการบ่งบอกว่าเราให้เกียรติคุณที่คิดจะแก้ไขไวตางิ แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะสู้เพื่อสิทธิของเราในดินแดนของเราเองอะไรแบบนั้น
1
เสียงที่กู่ร้อง จังหวะเสียงกระทืบ และความพร้อมใจกันของส.ส.เมารี ก็อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจ เป็นความสามัคคี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาวเมารี จากที่ในอดีตพวกเขาเคยทะเลาะกันกันเอง แต่หลังการเข้ามาของปาเกฮา พวกเขาก็จับมือกันเพื่อความอยู่รอดของเมารีเหมือนกัน เหมือนดังในบทฮากาคา มาเต ที่กู่ก้องออกมา ทั้งตาย ทั้งรอด แต่ในท้ายที่สุดพวกเขาจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อไปสู่วันใหม่อยู่ดี
#Bnomics #นิวซีแลนด์ #เมารี #ฮากา #การเมือง
โฆษณา